ผมสัมภาษณ์ท่าน “หลู่เจี้ยน” เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้หลายประเด็น เช่น เรื่องที่คนไทยเป็นห่วงว่าธุรกิจจีนจะเข้ามาครอบงำเศรษฐกิจไทยหรือไม่อย่างไร
ผมคัดเอาบางตอนของการสนทนานั้นมาให้อ่านกันครับ
สุทธิชัย : คนไทยบางคนเป็นห่วงว่าทุนจีนอาจจะกำลังเข้ามาครอบงำเศรษฐกิจไทย ท่านทูตมีความเห็นอย่างไรครับ
ท่านทูต : น่าจะมีความเข้าใจผิดในบางประเด็น สำหรับบริษัทจีนที่มาลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทย รัฐบาลจีนจะกำชับให้เคารพและปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบของประเทศไทย หาหุ้นส่วนที่ดีๆ แล้วธุรกิจความร่วมมือจึงจะไปด้วยดี เราอยากจะเพิ่มความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในด้านนี้ ร่วมกันปราบปรามนักธุรกิจที่พยายามหลบหนีกฎหมายหรือทำผิดกฎหมาย ร่วมกันสร้างภาวะแวดล้อมธุรกิจที่ดีๆ ไม่ว่านักธุรกิจไทยหรือจีนก็สามารถทำธุรกิจภายใต้กรอบกฎหมาย และต่างคนต่างได้ประโยชน์เหมือนกัน ความร่วมมือแบบนี้ถึงจะยั่งยืนได้
การท่องเที่ยวก็เหมือนกัน โดยเฉพาะปีที่แล้ว เกิดเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เราเจ็บช้ำสุดๆ เราหวังว่าโศกนาฎกรรมครั้งนี้จะกลายเป็นโอกาสที่จีนไทยทั้งสองฝ่ายเพิ่มมาตรการในการบริหารอย่างเข้มงวด เรื่องการตรวจสอบต้องมีการปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อให้นักท่องเที่ยวจีนจะได้เที่ยวอย่างปลอดภัย และเชื่อว่าก็จะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้นๆ และมีความสุขกับการเที่ยวในเมืองไทย นี่ก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาการท่องเที่ยวในอนาคตอีกด้วย
สุทธิชัย : ท่านทูตมองแนวโน้มนักท่องเที่ยวจีนมาประเทศไทยอย่างไรครับ
ท่านทูต : ก็กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่อาจไม่ได้เพิ่มเร็วอย่างเมื่อก่อน ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็คือ ถ้าประเทศไทยอยากจะพัฒนาการท่องเที่ยวให้ใหญ่กว่าปัจจุบันนี้ เรื่องทั้งโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และการคุ้มครองความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวก็ต้องมีการปรับปรุงพัฒนาไปด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในเมื่ออุปกรณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะเมื่อเมืองท่องเที่ยวที่เป็นเมืองรองหรือเมืองเล็กๆ อื่นๆ พัฒนาไปข้างหน้า และความเชื่องโยงกันในภูมิภาคต่างๆ สมบูรณ์และทันสมัยยิ่งขึ้น ย่อมจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
สุทธิชัย : แนวโน้มการลงทุนของจีนในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้างครับ
ท่านทูต : การลงทุนที่ประเทศจีนในประเทศไทย ถ้ามองในแง่ประวัติศาสตร์ตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นต้นมา นับได้ว่าเริ่มจากศูนย์และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลายปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว
ปีที่แล้วการลงทุนโดยตรงจากประเทศจีนมาสู่ประเทศไทยอยู่ที่ 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นสองเท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งถือว่าเพิ่มเร็วมาก ตอนนี้มูลค่าการลงทุนจากประเทศจีนอยู่ในอันดับที่ 3 ของการลงทุนต่างประเทศในประเทศไทย และกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อนึ่ง การลงทุนของเราจะเน้นในสาขาเศรษฐกิจใหม่ รวมทั้งดิจิทัลและเคมีภัณฑ์ ซึ่งก็เป็นสาขาที่รัฐบาลไทยก็ให้ความสำคัญในการพัฒนาด้วย
สุทธิชัย : ความริเริ่มเรื่อง One Belt One Road ของจีนมีความคืบหน้าในประเทศไทยอย่างไรบ้างครับ
ท่านทูต : ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เสนอ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เมื่อปี ค.ศ.2013 ประเทศรอบข้างจึงเป็นหุ้นส่วนที่ต้องดำเนินความร่วมมือกันในเริ่มแรก ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนมีข้อได้เปรียบโดยธรรมชาติ เรามีความผูกพันกันอย่างใกล้ชิดในประวัติศาสตร์ ในทางภูมิศาสตร์เราก็มีความใกล้เคียงกัน ความร่วมมือระหว่างเรามีพื้นฐานที่ดี เพราะฉะนั้น สำหรับประเทศไทย ไม่เพียงแต่มีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์เท่านั้น ยังมีข้อได้เปรียบทางอื่นๆ อีกด้วย ไม่ว่านโยบายและยุทธศาสตร์ความร่วมมือของเราเชื่อมต่อกันได้ก็ตาม หรือถ้าพูดถึงทางด้านสังคมและประชาชน คำว่าจีนไทยมิใช่อื่นไกล พี่น้องกัน ก็เป็นข้อได้เปรียบ เหล่านี้ล้วนนำมาใช้ประโยชน์ในการเพิ่มความร่วมมือระหว่างเรา
ในงานวันชาติจีนปีที่แล้ว ข้าพเจ้าได้พูดถึงความร่วมมือจีนไทยภายใต้กรอบ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” สรุปเป็น 4 ประโยค ความร่วมมือจีนไทยมีประวัติศาสตร์ยาวนานถึงพันปี ความร่วมมือของเรามีรากฐานอย่างมั่นคง ซึ่งหมายถึงฐานในประชาชนเหนียวแน่นมาก เราสนิทสนมเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน และความร่วมมือจีนไทยก็มีจุดเด่นต่างๆ ผู้นำเอาใจใส่ ประชาชนเป็นมิตรต่อกัน ทางด้านภูมิศาสตร์อยู่ใกล้กัน ทฤษฎีการพัฒนาใกล้เคียงกัน ทั้งหมดนี้ได้ร่วมกันกำหนดแล้วว่า ความร่วมมือจีนไทยย่อมมีอนาคตอย่างกว้างไกล
สุทธิชัย : ดูเหมือนว่าโครงการรถไฟไทย-จีนจะยังคืบหน้าไม่ได้มากเท่าที่ควรใช่ไหมครับ
ท่านทูต : ความจริงเมื่อเดือนกันยายน ปี ค.ศ.2017 ที่การประชุม BRICS ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เชิญท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าร่วมในการประชุม และได้จัดการพบปะทวิภาคีกับท่านนายกฯ ด้วย ซึ่งผู้นำทั้งสองประเทศร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามสัญญาฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทยระยะที่ 1 ส่วนสัญญาฉบับที่ 3 ของโครงการระยะ 1 นั้น การประชุมร่วมกันว่าด้วยความร่วมมือรถไฟจีน-ไทยกำลังเจรจาอยู่ จะเจรจาเสร็จในสิ้นเดือนนี้หรือต้นเดือนเมษายน และพร้อมที่จะลงนาม
สุทธิชัย : การประชุมระหว่างสองประเทศในเรื่องนี้ค่อนข้างจะยืดเยื้อใช่ไหมครับ
ท่านทูต : น่าจะเป็นครั้งที่ 27 ซึ่งเพิ่งจบลงไปเมื่อเร็วๆ นี้ ตรงนี้มีสาเหตุหลายๆ ด้านด้วยกัน ในด้านหนึ่ง เพื่อนๆ คนไทยบอกว่าเป็นครั้งแรกที่ไทยจะร่วมมือสร้างรถไฟความเร็วสูงกับต่างประเทศ ต้องเรียนรู้ใหม่ เพราะฉะนั้นเวลาการเจรจาก็อาจจะนานหน่อย แน่นอนเราอยากเห็นโครงการได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เพราะยิ่งสร้างเสร็จเร็ว พี่น้องประชาชนที่อยู่ตามเส้นทางก็จะได้ประโยชน์เร็ว
เมื่อไม่นานมานี้ผมเพิ่งไปเยี่ยมภาคอีสานและภาคเหนือมา ไปจังหวัดหนองคายและเชียงราย ประชาชนที่โน่นก็อยากเห็นรถไฟสร้างเสร็จเร็วๆ และเชื่อมต่อกับประเทศลาวและประเทศจีนได้ สร้างความร่วมมือและพัฒนาการค้า ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีหลายพรรคการเมืองได้เสนอว่า ถ้าสามารถตั้งรัฐบาลได้จะพยายามเร่งก่อสร้างรถไฟ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ซึ่งก็สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
ความจริงถ้าคิดย้อนกลับไป ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจจีนเริ่มพัฒนาได้อย่างรวดเร็วก็เริ่มจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยงกันนั่นเอง
สำนวนจีนมีว่า “รถไฟดังขึ้นเมื่อไหร่ ทองคำไหลมาเมื่อนั้น” ซึ่งหมายความว่า ถ้ารถไฟไปถึงที่ไหน การค้าขายก็จะไปถึงที่นั่น เศรษฐกิจที่นั่นก็จะดีขึ้นทันที เพราะฉะนั้นโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยงกันเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐบาลจีนมีความตั้งใจและมีความสามารถที่จะร่วมมือกับประเทศไทยสร้างรถไฟเส้นนี้ให้เสร็จโดยเร็ว ทำให้ประเทศไทยเชื่อมต่อกับประเทศรอบข้างรวมทั้งประเทศจีน และบรรลุการพัฒนาร่วมกัน มีสถิติแสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ความร่วมมือภายใต้กรอบ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เริ่มดำเนินการ ประเทศตามเส้นทางที่สามารถเชื่อมต่อนั้น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะสูงกว่าประเทศที่ยังไม่ได้เชื่อมโยงกัน
(พรุ่งนี้ : สงครามการค้าจีนกับสหรัฐ)
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |