เลือกตั้งดีกว่า : มีเลือกตั้งคือเป็นประชาธิปไตย
ทุกครั้งที่จะเลือกตั้งน่าจะเริ่มด้วยการทบทวนว่าทำไมจึงควรมีการเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลที่แล้วทำหน้าที่ได้ดีหรือเพราะล้มเหลวต่อหน้าที่
ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐล่าสุด หลายคนต่อต้านฮิลลารี คลินตันเพราะคิดว่าเธอจะแย่กว่าโอบามา ในการชิงชัยเพื่อเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน (Presidential primaries) ปรากฏว่านักการเมืองหน้าเก่า ผู้คร่ำหวอดการเมืองพ่ายแพ้โดนัลด์ ทรัมป์ผู้มีภาพลักษณ์เป็นนักธุรกิจ ปลอดจากการเป็นชนชั้นปกครองอเมริกา
การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส มารีน เลอเปน (Marine Le Pen) แม้ไม่ชนะเลือกตั้ง แต่กวาดคะแนนได้มาก ทั้งๆ ที่ชูนโยบายสุดโต่ง ไม่ใช่ปกติวิสัยของประเทศนี้ เอมมานูแอล มาครง (Emmanuel Macron) ผู้ชนะเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ เพิ่งมีบทบาททางการเมืองเพียงไม่กี่ปี
อเล็กซิส ซีปราส (Alexis Tsipras) นายกรัฐมนตรีกรีซปัจจุบันมาจากเดิมที่เป็นพรรคเล็กๆ ไม่มีใครสนใจ ที่ชนะเลือกตั้งเพราะประชาชนเบื่อหน่ายทั้งพรรคฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาที่ต่างเคยเป็นรัฐบาล แต่ผลงานไม่เข้าตาทั้งคู่
ทั้ง 3 กรณี ประชาชนไม่พอใจนักการเมือง พรรคการเมืองหลัก ที่ยังต้องมีเลือกตั้งเพราะประเทศไม่มีรัฐประหารยึดอำนาจ จึงเป็นโอกาสของผู้สมัครที่ปลอดภาพนักการเมืองน้ำเน่า เป็นตัวเลือกที่แย่น้อยที่สุด หรือลองของใหม่เพราะไม่รู้ว่าจะเลือกของเก่าไปทำไม
คำถามว่าทำไมควรเลือกตั้งจะนำสู่คำตอบว่าควรเลือกอย่างไร เลือกพรรค เลือกใคร หรืออย่างไร
ข้อพึงตระหนักคือเลือกแล้วจะได้รัฐบาลที่ดี ใช่หรือไม่
ประเทศที่ไม่มีรัฐประหารหรือไม่นิยมวิธีนี้ ยังวนเวียนอยู่กับการเลือกตั้ง บางประเทศรัฐบาลมีอายุเฉลี่ยเพียงปีสองปีเท่านั้น การมีเลือกตั้งถี่ๆ สะท้อนว่าการเลือกตั้งไม่ตอบโจทย์ประชาชน ส่วนจะสรุปว่าเพราะประเทศนั้นยึดมั่นประชาธิปไตยหรือไม่นั้นต้องดูรายละเอียดว่าเป็นเช่นนั้นหรือไม่ มากน้อยเพียงไร
การเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีกรรม
หากการเลือกตั้งไม่เป็นเหตุให้สังคมมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืน ความเหลื่อมล้ำขยายตัว กำลังชี้ว่าการเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีกรรมให้บางคนบางกลุ่มเข้ามากอบโกยประเทศอีกรอบ
ถ้าอยากรู้ว่าจะเป็นเพียงพิธีกรรมเช่นว่าหรือไม่ ดูได้ง่ายๆ ว่าการเลือกตั้งมีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ใช้กลโกงต่างๆ มากน้อยเพียงไร
ที่น่ากลัวคือการเลือกตั้งที่พวกนายทุนชนะ แต่กรรมการเลือกตั้งยืนยันว่าพวกเขาเข้ามาตามกระบวนการ ไม่ได้ผิดกฎหมายแต่อย่างไร นี่คือการโกงเลือกตั้งที่พัฒนาจนฝีมือแก่กล้า และเป็นวัฒนธรรมการเมืองที่คนส่วนใหญ่ยอมรับ
หมายความว่าคนส่วนใหญ่ยอมรับพิธีกรรม ยอมรับรัฐบาลของพรรคนายทุนกับพวก ที่มาของรัฐบาลจึงไม่ใช่โดยประชาธิปไตยจริงๆ
เสียงจากแกนนำของพวกเหล่านี้คือ มีเลือกตั้งก็เป็นประชาธิปไตยแล้ว
ไม่เลือกตั้งดีกว่า : ผิดหวังกับการเลือกตั้ง นักการเมือง
นักการเมืองอาวุโสผู้คร่ำหวอดคนหนึ่งตัดพ้อว่า เดี๋ยวนี้คนไม่เห็นหัวนักการเมือง มองแง่ลบตลอดเวลา คำพูดนี้สะท้อนว่าประชาชนเห็นว่านักการเมืองส่วนใหญ่ทำเพื่อตัวเอง
ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่า นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะที่สหรัฐ ยุโรปตะวันตก ญี่ปุ่น มีลักษณะตรงกันคือ ประชาชนกว่าครึ่งไม่เชื่อถือรัฐบาล พรรคการเมือง โดยเฉพาะไม่เชื่อถือนักการเมือง
คนเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคลดน้อยลงมาก โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่ให้ความสำคัญต่อพรรคการเมืองแบบเดิมๆ นักวิชาการบางคนให้เหตุผลว่าเพราะพรรคการเมืองปัจจุบันได้พัฒนากลายเป็นพรรคของพวกนักการเมืองอาชีพ ไม่ใช่องค์กรของพวกชาวบ้านหรือมีผู้จิตอาสาอีกต่อไป
น่าตื่นตะลึงถ้ารู้ว่าปัจจุบันพลเมืองอังกฤษร้อยละ 2 เท่านั้นที่เป็นสมาชิกพรรค
Pew Research Center รายงานว่านับจากปี 1958 ถึง 2013 นับวันพลเมืองจะไม่เชื่อถือรัฐบาล คนอเมริกันที่บอกว่า “มักจะเชื่อรัฐบาลหรือเชื่อเกือบทุกครั้ง” ลดลงจากร้อยละ 73 ในปี 1960 เหลือร้อยละ 19 ในปี 2013
ผลสำรวจของ Gallup เมื่อกันยายน 2015 พบว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่วางใจนักการเมือง ร้อยละ 79 เห็นว่าประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงผู้แทนของตน ร้อยละ 69 เห็นว่านักการเมืองทำงานเพื่อผลประโยชน์พิเศษ (แทนการทำหน้าที่ผู้แทนฯ) และร้อยละ 52 เห็นว่านักการเมืองคอร์รัปชัน และทั้ง 3 อย่างมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
ในภาพรวมให้คองเกรสสอบผ่านเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น
เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะนักธุรกิจใหญ่ ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นรู้ว่าพรรคการเมืองคือสถาบันสู่อำนาจการบริหารประเทศ หากได้ถืออำนาจบริหารประเทศย่อมสามารถออกนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อตน บรรดาข้าราชการจะเกรงใจ สามารถส่งคนของตนดำรงตำแหน่งต่างๆ เพื่อควบคุมเบ็ดเสร็จ ให้มั่นใจว่ารัฐบาลและกลไกของรัฐจะทำงานเอื้อประโยชน์แก่พวกตน
บริษัทขนาดใหญ่ ผู้มีบารมีท้องถิ่น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการบริหารระดับชาติ จึงกล้าที่จะ “ลงทุน” การเมืองกลายเป็นการแข่งขันของ “กลุ่มทุน” “ผู้มีอิทธิพล” นานวันเข้าพรรคการเมืองกลายเป็นพรรคคนของเหล่านี้ ชาวบ้านสามัญชนเป็นเพียงไม้ประดับของพรรค ยิ่งเวลาผ่านไป ยิ่งผ่านรัฐบาลหลายชุด ชาวบ้านสัมผัสความแปลกแยกระหว่างนักการเมือง พรรคการเมืองกับตน มีคำถามว่าพรรคการเมืองเดิมๆ ที่มีอยู่นั้นยังเป็นองค์กรของสามัญชนคนธรรมดาหรือไม่
บางคนพาลไม่ไปเลือกตั้ง ตัวอย่างสหรัฐ
เป็นเวลานานแล้วที่จำนวนผู้ไปใช้สิทธิของสหรัฐต่ำกว่าประเทศอื่นๆ เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มยุโรปตะวันตก จำนวนผู้ไปใช้สิทธิของสหรัฐอยู่ที่ราวร้อยละ 50 ประเทศที่ไปใช้สิทธิ์สูงจะอยู่ระหว่าง 80 ถึงเกือบ 90 ส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 60-80
ยิ่งถ้าเป็นการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ (2 ปีหลังเลือกประธานาธิบดี) มีผู้ไปใช้สิทธิเพียงร้อยละ 33 เท่านั้น น่าคิดว่าส.ส. ส.ว.ที่ชนะการเลือกตั้งเช่นว่านี้มีความชอบธรรมมากเพียงไร การเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีกรรมของประเทศใช่หรือไม่
ที่หลายคนไม่ไปเลือกเพราะคิดว่านักการเมืองจะไม่ทำตามที่หาเสียงไว้ จึงไม่สนใจการเมือง เบื่อหน่ายการเมือง ทำไมต้องยอมให้ตัวเองเป็นตรายางไปมอบความชอบธรรมแก่นักการเมืองที่ไม่สมควรได้รับเลือก
เลือกตั้งหรือไม่เลือกก็ไม่ต่างกัน :
ถ้าได้ผู้ปกครองที่ไม่ถือประโยชน์ประชาชน เลือกตั้งหรือไม่เลือกก็ไม่ต่างกัน ในแง่ที่ยังได้ผู้ปกครองผู้สนับสนุนการ “กอบโกย” “โกงกิน”
แม้ได้อำนาจด้วยการรัฐประหาร ประเทศได้ผู้ปกครองหน้าใหม่ แต่ชนชั้นปกครองกับนายทุนทั้งระดับประเทศกับท้องถิ่นยังอยู่ และทำงานร่วมชายคากับผู้ปกครองตามแนวทางเดิมๆ ที่คุ้นเคย
(ผู้อยู่ในกลุ่มชนชั้นปกครองกับนายทุน ไม่ใช่ทุกคนที่สร้างความทุกข์แก่ประชาชน ที่เอ่ยถึงหมายถึงเฉพาะพวกบั่นทอนประเทศชาติ)
การไม่เลือกตั้งได้ชั้นปกครองกับนายทุนเดิมๆ เปลี่ยนแต่เปลี่ยนตัวออกหน้าว่าเป็นผู้นำบริหารประเทศ
ต้องได้ผู้ปกครองที่ยึดประโยชน์สุขของประชาชน :
สิงคโปร์เป็นตัวอย่างที่นักวิชาการตะวันตกเห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตยแท้ อำนาจการเมืองจำกัดอยู่ในพรรครัฐบาลเพียงพรรคเดียว มีการสืบทอดตำแหน่งผู้นำอย่างเด่นชัด พลเมืองถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ พรรคการเมืองฝ่ายค้านเป็นเพียงไม้ประดับหรือตัวตลกในสภา แต่ในอีกด้านหนึ่งไม่อาจปฏิเสธว่าประเทศเจริญก้าวหน้า เศรษฐกิจเติบโตดีกว่าทุกประเทศในภูมิภาค พลเมืองส่วนใหญ่เป็นคนมีคุณภาพ
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงกล่าวต่อประชาชนว่า “งานของผมคือรับใช้ประชาชน” (My job is to serve the people.)
ประเทศต้องการผู้ปกครองที่รับใช้ประชาชน เห็นว่าเป็นงานทรงเกียรติจึงยอมเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อความสุขส่วนรวม ขณะอยู่ในตำแหน่งต้องทุ่มเททำงานรับใช้บ้านเมือง ไม่ใช่เสวยสุขบนตำแหน่ง นักการเมืองที่ร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ชาวบ้านยากจน คนที่มัวเสวยสุขและร่ำรวยขึ้นย่อมต้องสงสัยว่าทำไมจึงรวยขึ้น ได้เสียสละที่เพื่อชาวบ้านมากพอหรือไม่ เพียงแค่เสวยสุขในตำแหน่งก็ไม่สมควรอยู่ในตำแหน่งต่อไป เพราะประเทศชาติต้องก้าวไปข้างหน้า การชักช้าคือเสียโอกาส ผู้มีตำแหน่งต้องขยันขันแข็งอยู่เสมอ
มีหลักฐานมากมายว่าหากได้ผู้ปกครองที่ทุ่มเทเสียสละ ไม่เกิน 1 ชั่วอายุ คนในสังคมจะกินดีอยู่ดี แน่นอนว่าการสร้างสังคมต้องอาศัยมากกว่าผู้นำ แต่ผู้นำคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง
หลายประเทศวนเวียนอยู่กับการเลือกตั้ง รัฐบาลอายุสั้นต้องเลือกตั้งเร็วกว่าที่ควร บางประเทศมีรัฐประหารยึดอำนาจเป็นระยะๆ ทั้งหมดนี้มาจากหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นคือไม่ตอบโจทย์ประชาชน คนในประเทศไม่พอใจ ที่ควรระวังคือสังคมตกอยู่ในมายาคติว่าต้องเลือกตั้งใหม่ ในขณะที่บางคนคิดว่าไม่เลือกตั้งดีกว่า พึงตระหนักว่า “เลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้งเป็นเพียงวิธีการ เป้าหมายคือสังคมอยู่เย็นเป็นสุข” แกนนำการเมือง นักเคลื่อนไหวกลุ่มต่างๆ ผู้ออกมาเรียกร้อง (ให้เลือกตั้งหรือไม่ให้เลือกตั้ง) กำลังไปสู่เป้าหมายนี้จริงหรือไม่ หรือว่าการเคลื่อนไหวเป็นพิธีกรรมให้มายาคติดำรงอยู่ต่อไป.
ภาพ : ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงขณะเยี่ยมเยือนชาวบ้าน
ที่มา : http://www.xinhuanet.com/english/2018-02/13/c_136973607_5.htm
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |