จุดฮอตสปอตเหนือลดฮวบ ปชช.9จว.อ่วมค่าใช้จ่ายพุ่ง


เพิ่มเพื่อน    


    “ประยุทธ์” ยังติดตามปัญหาฝุ่นภาคเหนือแม้เป็นวันหยุด ชี้สถานการณ์ดีขึ้นหลังลงพื้นที่จุดฮอตสปอตลดต่อเนื่อง “กอบศักดิ์” ขนคณะลงพื้นที่ก่อนจัดประชุมใหญ่หาแนวทางแก้ยั่งยืน โพลชี้คน 9 จังหวัดรับกระทบสุขภาพ ต้องไปหาหมอพ่วงภาระค่าใช้จ่ายดูแลพุ่ง
    เมื่อวันอาทิตย์ พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ไฟป่าและปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ว่าโดยรวมดีขึ้น แต่ยังคงมีผลกระทบอยู่ 3 จังหวัดคือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และเชียงราย โดยที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ สามารถมองเห็นดอยสุเทพได้ชัดเจนขึ้น
พล.ท.วีรชนกล่าวอีกว่า ในช่วงวันหยุดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์ปัญหาฝุ่น ไฟป่า และหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนืออย่างใกล้ชิด และได้รับรายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าจุดความร้อนหรือ Hotspot โดยรวมวันนี้ลดลงจากวันที่ 2 เม.ย.อย่างมากจาก 1,969 จุด เหลือ 375 จุดใน 9 จังหวัด แต่บางพื้นที่จุด Hotspot มีขึ้นมีลงตามสภาพอากาศและภูมิประเทศ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเร่งปฏิบัติการอย่างไม่หยุดหย่อน
    "นายกฯ ขอบคุณและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกนาย พร้อมกำชับให้จังหวัดดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย" พล.ท.วีรชนระบุ
    ด้านนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเดินทางมารับมอบงบประมาณสนับสนุนในการทำเครื่องฟอกอากาศ จำนวน 100 ชุด เพื่อนำไปใช้ทำเซฟตี้โซนให้กับพื้นที่ซึ่งมีกลุ่มเปราะบางตามโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) จาก พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า และนางอินทิรา โภคปุณยารักษ์ ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า
    โดยนายศุภชัยกล่าวถึงข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ให้เร่งแก้ปัญหาหมอกควันและฝุ่นใน 7 วันว่า ได้ปฏิบัติงานทำเต็มที่ทุกภาคส่วน โดยฮอตสปอต  ลดลงอยู่ในแนวโน้มทิศทางที่ดี แต่เราต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนตระหนักมากขึ้น และเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหา มั่นใจว่าจะสามารถนำไปสู่ความสำเร็จในการระงับยับยั้งปัญหาเรื่องหมอกควันไฟป่าในพื้นที่ได้ ซึ่งจังหวัดยังได้รับความอนุเคราะห์จากเอกชนและหน่วยราชการต่างๆ สนับสนุนติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำชนิดพิเศษ โดยใช้รถเครนขนาดใหญ่ยกอุปกรณ์ขึ้นไปฉีดพ่นละอองน้ำลงมา เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่โดยรอบให้เป็นวงกว้างระยะ 2 กิโลเมตร บริเวณหน้าแขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 1 เพิ่มความชื้นในอากาศ ให้กับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ถนนนิมมานเหมินท์ สนามบิน ตลอดจนชุมชนโดยรอบ เพื่อพ่นละอองน้ำไปจับเศษฝุ่นควันที่อยู่ในอากาศ และสร้างความชุ่มชื้นให้กับเมืองเชียงใหม่
“ข้อเสนอที่ให้เชียงใหม่เริ่มเล่นสาดน้ำสงกรานต์ก่อนเทศกาลจริงนั้น กำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ช่วงนี้ซึ่งมีภาวะหมอกควัน ก็อยากให้พี่น้องประชาชนและหน่วยงานที่มีเครื่องพ่นน้ำช่วยกันฉีดพ่นล้างบ้าน ล้างและรดต้นไม้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เกิดภาวการณ์ปรับเปลี่ยนอากาศ และมีผลต่อสุขภาพสอดคล้องกับแนวทางการแก้ปัญหาพอดี มีประโยชน์ในแค่ความคิด แต่เท่าที่ดูสภาพในตัวเมืองเชียงใหม่ทั้งคูเมือง สะพานนวรัฐ ประตูเมือง และจุดอื่นๆ ขณะนี้มีที่พ่นละอองน้ำ ซึ่งทุกอย่างมีการเตรียมไว้เพื่อเทศกาลสงกรานต์ด้วย เรามีหน้าที่ลดลงภาระฝุ่นละออง แต่ทุกอย่างที่ติดตั้งไว้มีการพ่นละอองน้ำจะคงไว้จนกว่าจะหมดสงกรานต์ยาวไปจนวันที่ 30 เม.ย.เป็นอย่างน้อย และคิดว่าบรรยากาศสงกรานต์ในปีนี้คงจะดี” นายศุภชัยกล่าว
    ขณะที่นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมคณะทำงานด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ไฟป่าและฝุ่นควันที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ โดยได้หารือสถานการณ์และแนวทางการแก้ปัญหาจัดการไฟป่ากับเจ้าหน้าที่ศูนย์กำกับดูแลไฟป่า อ.สะเมิง และได้สอบถามปัญหาด้านสุขภาพกับประชาชนผู้ประสบเหตุในพื้นที่จำนวนมากที่ได้มารอรับบริการตรวจสุขภาพจากสาธารณสุข และมารับการให้การอบรมความรู้เรื่องฝุ่น PM 2.5 และสาธิตวิธีการดัดแปลงพัดลมให้สามารถดักฝุ่นผ่านแผ่นกรอง
    นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองมีผลกระทบอย่างมากกับประชาชนในพื้นที่ โดยเห็นได้จากวันนี้มีผู้ประสบเหตุมารวมตัวเพื่อขอความช่วยเหลือด้านสุขภาพจากทางสาธารณสุขจำนวนมาก ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวทั้งในระยะสั้น กลาง และยาวให้ได้ โดยมลพิษในฝุ่นนั้น สร้างความเสียหายให้กับประเทศปีละหลายหมื่นล้าน ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่เดินไม่ได้ สร้างปัญหาด้านสุขภาพให้กับพี่น้องประชาชนในระยะกลาง และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในระยะยาว
    “ทางทีมนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของพรรคได้หารือแนวทางนโยบายการแก้ปัญหาเบื้องต้นกับนักวิชาการต่างๆ มาระยะหนึ่งแล้ว วันนี้มาลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ รับฟังปัญหาและข้อคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม โดยหลังจากนี้จะเดินทางต่อไปพบนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค เพื่อหารือการบริหารจัดการพื้นที่เซฟโซนและระดมความคิดกับนักวิชาการในหลายภาคส่วนที่ศูนย์ประชุมในพื้นที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่” นายกอบศักดิ์กล่าว
    โฆษกพรรค พปชร.ยังกล่าวถึงการแก้ปัญหาในระยะยาว ว่าจำเป็นต้องแก้ที่ต้นเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการลดความรุนแรงของไฟป่า การลดการเผาฟางจากไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด เป็นต้น โดยปัจจุบันมีตัวอย่างในการนำฟางข้าวโพดให้เกิดประโยชน์และรายได้สูงสุด ซึ่งจะทำให้เกิดการนำฟางข้าวโพดไปใช้ประโยชน์แทนการเผาแล้ว เช่น นำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ ใบอ้อยนำไปทำใช้ผลิตไฟฟ้า นำไปเป็นอาหารให้วัววากิว เป็นต้น ซึ่งในอนาคตควรมีการทำวิจัยต่อยอดและมีมาตรการส่งเสริมให้เกิดการนำวัตถุดิบจากฟางข้าวโพดไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
    วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็น เรื่อง “ปัญหาฝุ่นควันใน 9 จังหวัดภาคเหนือ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4-5 เม.ย. จากผู้ที่พักอาศัยอยู่ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน ลำปาง พะเยา แพร่ และตาก จำนวน 1,253 หน่วยตัวอย่าง 
    โดยผลการสำรวจถึงการได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นควันของผู้ที่พักอาศัยอยู่ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ พบว่า 36.47% ระบุว่าได้รับผลกระทบมาก,  20.51% ระบุว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก, 25.54% ได้รับผลกระทบบ้าง ไม่ถึงกับมาก, 8.22% ระบุว่าได้รับผลกระทบน้อยหรือแทบไม่ได้รับผลกระทบเลย และ 9.26% ระบุว่าไม่ได้รับผลกระทบเลย ทั้งนี้ในผู้ที่ระบุว่าได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นควันใน 9 จังหวัดภาคเหนือ พบว่า 60.51% ระบุว่ามีอาการ แสบจมูก เป็นหวัด น้ำมูกไหล รองลงมา 49.34% ระบุว่าหายใจไม่สะดวก, 48.11% ระคายเคืองตา, 39.23% ไอ จาม เจ็บคอ แสบคอ, 7.12% คันตามร่างกาย, 2.37% อื่นๆ ได้แก่ วิสัยทัศน์การมองเห็นลดลง และ 0.18% ไม่แน่ใจ   
    ส่วนวิธีป้องกันตัวเองของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นควันใน 9 จังหวัดภาคเหนือ พบว่า ส่วนใหญ่ 83.73% ระบุว่าสวมหน้ากากอนามัย, 29.02% หลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน, 21.64% ปิดประตู-หน้าต่างกันฝุ่น, 10.64% งดออกกำลังกายกลางแจ้ง และดื่มน้ำมากๆ ในสัดส่วนที่เท่ากัน,  6.16% ใช้พัดลม-เครื่องฟอกอากาศ, 5.63% งดการเผาขยะ, 4.13% ปิดห้องแอร์ให้สนิท, 3.96% ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ, 1.5% งดสูบบุหรี่, 0.7%เดินทางไปต่างจังหวัดที่ไม่มีฝุ่น, 0.44% ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และ 2.81% ระบุอื่นๆ ได้แก่ ฉีดน้ำบริเวณรอบๆ บ้าน สวมใส่แว่นตา ขณะที่บางส่วนระบุว่าไม่มีการป้องกันใดๆ
      เมื่อถามผู้ที่ได้รับผลกระทบว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องฝุ่นควันจนต้องไปหาหมอหรือไม่ พบว่า 87.95% ระบุว่าไม่ได้ไปหาหมอ, 10.82% ระบุว่าไปหาหมอ และ 1.23% ไปหาหมอแต่ไม่ทราบว่าเกี่ยวกับเรื่องฝุ่นหรือไม่ โดยในจำนวนของผู้ที่ระบุว่าไปหาหมอ พบว่า ส่วนใหญ่ 50.14% ระบุว่าไปหาหมอ 1 ครั้ง รองลงมา 30.08% ไปหาหมอ 2 ครั้ง, 13.82% ไปหาหมอ 3 ครั้ง และ 5.69% ไปหาหมอ 4 ครั้งขึ้นไป 
    “ค่าใช้จ่ายโดยรวมในการไปหาหมอของผู้ที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากปัญหาฝุ่นควันตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พบว่า 45.53% ระบุว่าไม่มีค่าใช้จ่าย/ใช้สิทธิรักษาฟรี 26.83% ไม่เกิน 500 บาท, 13.01% ระบุว่า 501- 1,000 บาท, 2.44% ระบุว่า 1,001-1,500 บาท,  6.50% ระบุว่า 1,501-2,000 บาท และ 5.69% ระบุว่า 2,001 บาทขึ้นไป”
    เมื่อถามผู้ที่ได้รับผลกระทบถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการป้องกันหรือแก้ปัญหาฝุ่นควัน ตั้งแต่ต้นปีมานี้ พบว่า ส่วนใหญ่ 56.9% ระบุว่า มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการป้องกันหรือแก้ปัญหาฝุ่นควัน ขณะที่ 43.1% ระบุว่า ไม่มีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการป้องกันหรือแก้ปัญหาฝุ่นควัน โดยในจำนวนของผู้ที่ระบุว่ามีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการป้องกันหรือแก้ปัญหาฝุ่นควัน พบว่ามีค่าใช้จ่ายรายการใหญ่ๆ เช่น ซื้อเครื่องฟอกอากาศ พบว่า 61.7% ระบุว่า ไม่เกิน 5,000 บาท 14.89% ระบุว่า 5,001-10,000 บาท 4.26% ระบุว่า 5,001-10,000 บาท 8.51% ระบุว่า 15,001-20,000 บาท และ 10.64% ระบุว่า 20,001 บาทขึ้นไป ส่วนค่าใช้จ่ายรายการย่อย ๆ เช่น หน้ากาก เสียค่าเดินทางเพิ่มขึ้น พบว่า ประชาชน 42.44% ระบุว่า ไม่เกิน 100 บาท 23.09% ระบุว่า 101-200 บาท 12.68% ระบุว่า 201- 300 บาท 4.88% ระบุว่า 301-400 บาท และ 16.91% ระบุว่า 401 บาทขึ้นไป. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"