รวันดาเริ่มการไว้อาลัยนาน 100 วันเมื่อวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนในชาติมากกว่า 800,000 ชีวิตเมื่อปี 2537 สร้างประวัติศาสตร์ดำมืดที่ช็อกผู้คนทั้งโลก
จากซ้าย มุสซา ฟากี ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพแอฟริกา, ประธานาธิบดีพอล คากาเม, เจนเน็ตต์ ภรรยาของคากาเม และฌ็อง-โคลด ยุงเคอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ร่วมกันจุดคบไฟรำลึก 25 ปีการสังหารหมู่ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2562 / AFP
เอเอฟพีรายงานว่า การไว้อาลัยยาวนาน 100 วัน เปิดฉากในวันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2562 เริ่มต้นด้วยกิจกรรมรำลึกนาน 1 สัปดาห์ โดยประธานาธิบดีพอล คากาเม แห่งรวันดา พร้อมด้วยนางเจนเน็ตต์ ภรรยา, มุสซา ฟากิ ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพแอฟริกา และฌ็อง-โคลด ยุงเคอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ร่วมกันจุดคบเพลิงรำลึกที่อนุสรณ์สถานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คิกาลี ที่เชื่อว่ามีเหยื่อมากกว่า 250,000 คนถูกฝังไว้ที่นี่ ส่วนใหญ่นั้นเป็นชาวทุตซี ที่เป็นชนกลุ่มน้อยของรวันดา
เหยื่อที่ถูกฝังที่นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเหยื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มากกว่า 800,000 คน โดยฝีมือของกองกำลังชนเผ่าฮูตู กับพวกทหารเก่าและนักรบอาสามีชื่อเรียกว่า "อินเตราฮัมเว" ที่เริ่มการเข่นฆ่านองเลือดเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2537 หนึ่งวันหลังการลอบสังหารประธานาธิบดีจูเวนัล ฮาเบียริมานา ซึ่งเป็นชาวฮูตู
การเข่นฆ่าชาวทุตซีเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานหลายเดือนจนกระทั่งคากาเม ซึ่งขณะนั้นอายุ 36 ปี นำกองกำลังแนวร่วมรักชาติรวันดาทุตซี (อาร์พีเอฟ) บุกกรุงคิกาลีเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ยุติการสังหารหมู่ แล้วเข้าควบคุมอำนาจปกครองประเทศนี้มาจนถึงปัจจุบัน
ภายหลังพิธีจุดคบเพลิง คากาเมวัย 61 ในปัจจุบัน จะกล่าวสุนทรพจน์ที่ศูนย์การประชุมคิการี อาคารทรงโดมแบบสมัยใหม่ แล้วจากนั้นเขาจะเป็นประธานพิธีไว้อาลัยที่สนามกีฬาแห่งชาติอามาโฮโร ซึ่งมีความหมายว่า "สันติภาพ" ในภาษาคินยารวันดา สนามฟุตบอลแห่งนี้องค์การสหประชาชาติเคยใช้เป็นสถานที่ปกป้องชีวิตชาวทุตซีนับหมื่นคนให้รอดพ้นการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นด้านนอก
คากาเมกุมบริการประเทศแบบเผด็จการอำนาจนิยม แต่ก็สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศแอฟริกาตะวันออกที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลแห่งนี้ ข้อมูลของธนาคารเพื่อการพัฒนาแอฟริการะบุว่า ปี 2561 รวันดามีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ 7.2%
คาดว่าจะมีผู้นำประเทศราว 10 คนมาร่วมพิธีไว้อาลัยในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้นำประเทศแอฟริกา ส่วนเบลเยียมซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมเก่าของรวันดา นายกรัฐมนตรีชาร์ลส์ มิเชล เป็นตัวแทน ขณะที่ฝรั่งเศสนั้นส่งเพียงแอร์วี แบร์วีล สมาชิกรัฐสภาเชื้อสายรวันดาวัย 29 เป็นผู้แทนรัฐบาล
รวันดากล่าวหาฝรั่งเศสว่ามีส่วนร่วมในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา ด้วยการสนับสนุนรัฐบาลที่ฮูตูเป็นผู้นำและยังช่วยให้พวกที่กระทำความผิดหลบหนีด้วย ฝรั่งเศสปฏิเสธคำกล่าวหานี้ แต่อดีตประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี เคยยอมรับเมื่อปี 2553 ว่าฝรั่งเศสเคยตัดสินใจผิดพลาดร้ายแรง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |