ลูกเอ๋ย..ปู่ย่าตายายจะบอกให้ ปิดเทอมเรียนรู้สร้างสัมพันธ์


เพิ่มเพื่อน    

        หน้าร้อนถือเป็นช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนของน้องๆ วัยประถมและมัธยมศึกษา ทั้งนี้คงจะดีไม่น้อยหากว่าเด็กๆ นั้นใช้เวลาให้เป็นประโยชน์มากกว่าการเล่นเกมในโทรศัพท์มือถือ หรือติดอยู่กับโลกออนไลน์ตลอดทั้งวัน เพราะนอกจากทำให้เกิดปัญหาสายตา โดยเฉพาะโรคต้อกระจกแล้ว อาจทำให้ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างสูญเสียไป ที่สำคัญยังทำให้ผู้ใหญ่ต้องคอยเป็นห่วงเรื่องสุขภาพของบุตรหลานช่วงปิดเทอม มีคำแนะนำจากคนวัยเก๋าที่เลี้ยงและผูกพันกับลูกหลานมาแนะนำการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์กับน้องๆ หนูๆ ในช่วงปิดภาคเรียน ทั้งนี้บางกิจกรรมเป็นสิ่งที่เด็กๆ อาจไม่เคยทำมาก่อน หรือบางคนก็ทำจนเกิดความเคยชิน และชักชวนเพื่อนมาร่วมงานยามว่างดังกล่าว ที่สำคัญบางกิจกรรมยังสอดแทรกการดูแลกันและกันของสมาชิกในครอบครัวได้อีกด้วย

(บุษกร พรหมมา)

      เริ่มจาก ป้าบุษ-บุษกร พรหมมา ประธานวัฒนธรรมหมู่บ้านหนองสาหร่าย จ.กาญจนบุรี ที่บอกว่า ป้าบุษเป็นคนที่ชอบร้องรำทำเพลง ดังนั้นทุกครั้งที่ปิดภาคเรียนก็จะชวนเด็กๆ ที่มีอายุตั้งแต่ 5-12 ปี ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ด้วยการรำกลองยาว ในกลุ่มเด็กเล็กอายุ 5-7 ปี ส่วนเด็กในหมู่บ้านที่โตขึ้นมาอีกนิดอายุประมาณ 12 ปี ก็จะชักชวนให้บวชเณรภาคฤดูร้อน ทั้งนี้เพื่อป้องกันเด็กไปเล่นน้ำและจมน้ำ อีกทั้งได้ใช้เวลาว่างในการศึกษาธรรมะ ทำให้เด็กสงบและซุกซนน้อยลง ส่วนกลุ่มเด็กเล็กที่มาเรียนรำกลองยาว ถ้าคนไหนที่สามารถเล่นได้ก็จะพาไปรำกลองยาวในงานสงกรานต์ที่หน้าอำเภอ เด็กก็จะได้เงินค่าขนมคนละ 100-200 บาท ตรงนี้เด็กๆ ก็จะเกิดความภูมิใจค่ะ ก็ถืองานอดิเรกที่มีประโยชน์ แม้ว่าเด็กบางคนจะเคยเรียนรำกลองยาว หรือบวชเณรเป็นครั้งแรกก็ตามค่ะ

(กุลยา ศรีลิโก)

      ต่อกันที่ คุณป้ากุลยา ศรีลิโก ครูเกษียณราชการวัย 70 ปี แนะนำว่า กิจกรรมที่เหมาะกับเด็กช่วงปิดเทอมควรเป็นสิ่งที่เด็กๆ ชอบและสนใจ หากเป็นเด็กเล็กหรือเด็ก ป.1 และ ป.2 ที่ต้องอยู่กับพ่อแม่ เช่น การวาดรูป การเลี้ยงสัตว์ ให้อาหารปลา ส่วนเด็กโตนั้น ผู้ปกครองก็ ต้องคอยสังเกตว่าลูกชอบอะไร และสนับสนุนในเรื่องนั้น เช่น ถ้าลูกชอบดนตรี หรือต้องการที่จะเรียนพิเศษเนื่องจากเด็กอ่อนในวิชานั้นๆ ก็ควรลูกไปเรียนติวเตอร์ หรือถ้าเขาชอบวาดรูปก็พาไปเรียนศิลปะ เพราะจะทำให้เด็กมีสมาธิ และอยู่กับเพื่อนและคนในสังคมได้ หรือหากน้องๆ หนูๆ อยากทำงานพิเศษ พ่อแม่ก็ต้องคอยดูว่าลูกๆ จะมีความปลอดภัยแค่ไหน ซึ่งถ้ามองว่าทำแล้วปลอดภัยก็ให้ทำ เพื่อที่ว่าเด็กๆ จะได้รู้คุณค่าของเงิน ว่าเงินนั้นหายากค่ะ

(อ.ศรีสมร คงพันธุ์)

      ทว่างานอดิเรกอย่างการทำอาหารถือได้ว่าเป็นกิจกรรมช่วงปิดเทอมที่ช่วยปลูกฝังงานครัวเรือนให้กับเด็กๆ คำแนะนำจาก อ.ศรีสมร คงพันธุ์ เจ้าของโรงเรียนสอนทำอาหาร โรงเรียนการเรือน ยิ่งเจริญ บอกว่า ในช่วงปิดเทอมอย่างนี้ พ่อแม่สามารถจูงใจลูกให้เข้าครัวในวันหยุด เพราะการทำอาหารนั้นจะสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในครอบครัว และปลูกฝังการดูแลกันและกัน โดยเลือกอาหารง่ายๆ ที่เด็กๆ ชอบอย่าง ส้มตำ โดยทำรสชาติตามใจเด็ก ใส่น้ำปลา น้ำมะนาว แต่ไม่ต้องใส่พริก หรือแม้แต่การต้มไข่หรือเจียวไข่สำหรับเด็ก 7-8 ปี ตรงนี้มันอยู่ที่พ่อแม่ว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้ลูกรู้จักการเข้าครัว เพราะคนยุคใหม่มักจะชอบออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน แต่ลืมไปว่าในช่วงปิดเทอมอย่างนี้ เราสามารถเติมความรักให้แก่กันด้วยการทำอาหารร่วมกับเด็กๆ ค่ะ

(สุพร เลือกกันดี)

      ไม่ต่าง คุณป้าสุพร เลือกกันดี วัย 68 ปี ที่บอกคล้ายกันว่า งานบ้าน เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเด็กมากที่สุด และเป็นเครื่องมือสำหรับในการดึงเด็กออกจากการเล่นเกมในโทรศัพท์มือถือ ที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพสายตา บอกว่า ป้ามีหลาน 2 คน อายุ 15 ปีและ 9 ปี ทุกวันนี้หลานก็ชอบเล่นโทรศัพท์มือถือจนดึก แต่ตอนนี้เป็นช่วงปิดเทอม เราก็จะให้หลานๆ ทั้ง 2 คนช่วยกันทำงานบ้าน เช่น กรอกน้ำเข้าตู้เย็น ล้างชามหลังจากกินข้าวเสร็จ และช่วยกันเก็บกวาดบ้าน แม้ว่าจะทำให้เด็กละสายตาได้ 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง ก็ยังดีกว่าปล่อยให้เล่นมือถือตลอดทั้งวัน เพราะอย่างน้อยก็จะทำให้เขารู้จักรับผิดชอบตัวเองเมื่อโตขึ้นค่ะ หรือหากบ้านไหนที่พ่อแม่ขายของ เด็กๆ ก็สามารถไปช่วยขายได้ เพราะจะทำให้เด็กรู้จักการหาเงินว่าเป็นอย่างไร และไม่ฟุ่มเฟือย เพราะทุกวันนี้เด็กขอเงินจากผู้ปกครองเพียงอย่างเดียวค่ะ

(นงลักษณ์ แซ่จง)

      เด็กยุคใหม่มักพบปัญหาติดเกม ดังนั้นการดึงความสนใจไปรับประทานอาหารนอกบ้าน และการปลูกฝังการรับผิดชอบงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ก็ถือเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ในช่วงปิดเทอมของน้องๆ หนูๆ มุมมองจาก คุณป้านงลักษณ์ แซ่จง วัย 67 ปี ครูสอนภาษาจีน ที่บอกว่า ผู้ปกครองต้องหมั่นสังเกตว่าเด็กๆ ชอบรับประทานอาหารอะไร และให้พาออกไปกินข้าวนอกบ้าน ยิ่งใกล้บ้านมากเท่าไรก็ยิ่งดี เพื่อให้เด็กห่างไกลจากโซเชียล เนื่องจากอยู่บ้านมากๆ เด็กก็จะยิ่งติดมือถือ ตรงนี้ผู้ปกครองเองก็ต้องแบ่งเวลาให้ลูกในช่วงปิดเทอมด้วย นอกจากนี้ การใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมอย่างการทำงานบ้านขณะอยู่บ้านอย่าง การล้างชาม และเก็บกวาดห้องตัวเองแล้ว ก็เป็นการปลูกฝังการช่วยเหลือตัวเองและรับผิดชอบในหน้าที่เช่นกัน แต่ถ้าลูกๆ อยากออกไปหาเพื่อนในช่วงปิดเทอม แนะนำว่าให้ผู้ปกครองไปด้วย เพื่อคอยช่วยสังเกตเพื่อนของลูกว่าเป็นอย่างไร สามารถคุยได้ไหม ก็จะช่วยสกรีนให้เด็กเลือกคบเพื่อนที่ดี ไม่ชวนกันทำสิ่งไม่เหมาะสมช่วงปิดเทอมค่ะ”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"