ผลกระทบพรรค ปชป. ถ้าไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล
พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งเพิ่งผ่านการจัดงานวันเกิดครบรอบการก่อตั้งพรรคปีที่ 73 ไปเมื่อวันเสาร์ที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา
โดยการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม หลายฝ่ายพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นการเลือกตั้งที่พรรค ปชป.ประสบความล้มเหลวมากที่สุดครั้งหนึ่ง เห็นได้จากคะแนนที่เคยได้ตอนการเลือกตั้งปี 2554 คือ 11,435,640 คะแนน แต่ปรากฏว่าเลือกตั้งที่ผ่านมาเหลือแค่ 3,947,726 คะแนน ซึ่งการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ปชป.เคยได้ ส.ส.รวมทั้งสิ้น 159 เสียง แต่มารอบนี้กลายเป็นพรรคต่ำร้อย โดยพื้นที่กรุงเทพมหานครไม่ได้ ส.ส.แม้แต่คนเดียวทั้งที่เป็นแชมป์สนาม กทม.มาหลายสมัยติดต่อกัน ส่วนภาคใต้ฐานที่มั่นใหญ่ของ ปชป.ก็เสียที่นั่งไปหลายจังหวัด ส่งผลให้คนในพรรคต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พรรคต้องยกเครื่องครั้งใหญ่ก่อนที่จะทรุดหนักไปกว่านี้
มุมมองเรื่อง 73 ปีของประชาธิปัตย์ ก้าวย่างต่อจากนี้ควรจะเดินไปทางไหน เพื่อให้พรรคกลับมายืนอยู่เป็นพรรคแถวหน้าอีกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องที่หลายฝ่ายจับตามองก็คือการเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.คนใหม่ และท่าทีของพรรคต่อการตัดสินใจทางการเมืองในการจะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อหนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี หลังมีคนในพรรค ปชป.บางส่วนเห็นว่าไม่ควรร่วมรัฐบาลและเสนอให้วางบทบาทเป็นพรรคฝ่ายค้านอิสระ
ทิศทางต่อจากนี้ มุมมองของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา-อดีต รมช.มหาดไทย-อดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป. ให้ทัศนะ-ความเห็นเชิงวิพากษ์ไว้หลายแง่มุม
เมื่อถามถึงท่าทีของพรรคที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยหรือไม่กับการไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ สุดท้ายแล้วการตัดสินใจที่จะเกิดขึ้นจะนำไปสู่ความขัดแย้งภายในพรรคเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตหรือไม่ ที่คนมีความเห็นไม่ตรงกันเช่นสมัยกลุ่ม 10 มกราคม ถาวร-อดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป. บอกว่า คิดว่าให้ถึงวันนั้นเสียก่อน แต่เสียงเรียกร้องให้ร่วมรัฐบาลดังพอสมควร เพราะเราหาเสียงว่าเราจะนำนโยบายไปปฏิบัติ เมื่อหาเสียงแบบนั้นแล้วมีโอกาสแล้ว ก็ต้องนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้ได้ด้วยการร่วมรัฐบาล สิ่งนี้คือสิ่งที่ประชาชนต้องการ ประชาชนเรียกร้อง ประชาชนถึงเลือก เพราะหาเสียงตลอดมาไม่ได้บอกว่าจะไปเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายค้านอิสระ เพราะแม้ในความเป็นรัฐบาลจริงๆ เราก็ตรวจสอบกันได้
-การที่ ปชป.จับมือร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์มากกว่ากันกับประเทศชาติในระยะยาว?
ในระยะยาวถ้าเราไม่ร่วมเป็นรัฐบาล พลังประชารัฐก็ตั้งรัฐบาลได้ โดยเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย แล้วอะไรจะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติ 1.เราต้องการการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญมายาวนานมาห้าปี แล้วทำไมเราไม่ร่วมเมื่อได้โอกาส 2.ตอนหาเสียงพรรค ปชป.หาเสียงว่าจะนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ไม่ได้หาเสียงว่าพรรคไม่มีนโยบายอะไรเลย แต่ต้องการจะเข้าไปค้าน เมื่อหาเสียงว่าแก้จน สร้างคน สร้างชาติ เมื่อมีโอกาสแล้วทำไมไม่เข้าร่วม
…ประการที่ 3 ถ้ามีการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย อยู่ไป 6 เดือน 8 เดือน 10 เดือน 1 ปี ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ถามว่าประชาชนจะด่าใคร นโยบายไม่ต่อเนื่อง พัฒนาประเทศชาติไม่ต่อเนื่อง นักลงทุนไม่อยากมาลงทุนเพราะความไม่มั่นคงของรัฐบาล อะไรจะเกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ คนก็จะด่า คนก็จะไม่เลือก
“เพียงแค่จุดยืนไม่ชัดเจนว่าสู้กับระบอบทักษิณหรือเอาด้วยกับระบอบทักษิณ คนถอนตัวไป 7 ล้านกว่าเสียง ถ้ารอบนี้คุณไม่ร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ นั่นแสดงว่าคุณน่าจะใจเอนเอียงไปทางระบอบทักษิณแล้ว คราวหน้าผมคิดว่าจำนวน ส.ส.จะลดลงไปเยอะ และที่สำคัญอาจมีนักการเมืองบางคนในพรรค ปชป.ออกจากพรรคไปอยู่ที่อื่น ทั้งสอบตกคราวนี้และที่สอบได้”
ตั้งคำถามว่าหากพรรคตัดสินใจผิดพลาด ไม่มีคำตอบที่ดีให้ประชาชน ปชป.อาจกลายเป็นพรรคต่ำสิบได้ไหม ถาวร ตอบว่า จะต่ำสิบหรือไม่-ไม่รู้ แต่จะลดลงไปเยอะ ที่สำคัญก็คือคนมองออกแล้วว่าคุณไม่ได้อยู่ฝั่งตรงข้ามกับระบอบทักษิณจริงๆ แต่อ้างว่าอยากเป็นฝ่ายค้านอิสระ น่ากลัวมากตรงนี้ ณ วันนี้ ภาคใต้เสาไฟฟ้าไม่สามารถปักได้ กรุงเทพฯ เสาไฟฟ้าไม่สามารถปักได้ ปักในที่ดินที่ชื่อประชาธิปัตย์ ไม่จำเป็นต้องเสาไฟฟ้า มีแสงสว่าง คนก่อนหน้านี้บอกว่าปักได้ แต่ ณ วันนี้ไม่ใช่
ฝ่ายค้านอิสระแค่พูดเอาเท่
ถามถึงกรณีความเห็นของคน ปชป.บางส่วนเช่นพวกรุ่นใหม่ หรือพวก New Dem บอกว่าประชาธิปัตย์ไม่ควรไปร่วมรัฐบาล เพราะจะเป็นการเอาพรรคไปเป็นฐานในการสืบทอดอำนาจให้ คสช. ถาวร-แกนนำพรรค ปชป. ตั้งคำถามกลับมาว่า สืบทอดอำนาจตรงไหน ถ้าได้เสียง ส.ส.เกินครึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ในสภา ถามว่าสืบทอดอำนาจตรงไหน เขาก็มาตามรัฐธรรมนูญ คุณอคติกับเขาหรือไม่ บิ๊กตู่ยอมให้เอาชื่อมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เขาก็มาตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติของประชาชน 16 ล้านเสียง แล้วคุณตะแบงอย่างนี้ได้อย่างไร นี่หรือ New Dem
-เคยเป็นฝ่ายค้านมาก็หลายสมัย การเป็นฝ่ายค้านอิสระในความเป็นจริงเป็นไปได้ไหม?
มันก็อิสระทั้งนั้น วาทกรรมให้ดูเท่ดูดี ฝ่ายค้านก็คือฝายค้านและมีความเป็นอิสระจากพรรคอื่นอยู่แล้ว อย่างก่อนหน้านี้ช่วงปี 2538-2539 และช่วงปี 2544-2549 ซึ่งผมเป็น ส.ส.ฝ่ายค้านและเป็นคนลุกขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกครั้ง เวลาเราจะอภิปรายไม่ไว้วางใจใคร เราก็เป็นอิสระจากพรรคอื่นหรือเราจะยกมือ อย่างเช่นสมัยที่รัฐบาลในอดีตเคยจะเสนอกฎหมายต่ออายุราชการให้ผู้พิพากษาท่านหนึ่งในตอนนั้น ประชาธิปัตย์เราก็ค้านอย่างอิสระ หรือตอนที่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย เราก็ค้านอย่างอิสระ ไม่ต้องไปปรึกษาพรรคอื่น ถาวร-แกนนำพรรค ปชป. ย้ำว่า ที่สำคัญคือการร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลที่จะทำให้พรรคเป็นของประชาชน โดยในคะแนนเสียงที่ประชาชนเลือกพรรค ปชป.เมื่อ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งพรรคได้มา 3 ล้านกว่าคะแนน และบวกด้วยอีก 7 ล้านกว่าเสียงเดิมตอนเลือกตั้งปี 2554 ที่แปรผันไม่เลือกพรรค ปชป. จะทำให้เขากลับมาได้อย่างไร เหมือนตอนปี 2554 ที่ ปชป.เคยได้ 11 ล้านกว่าคะแนน ผมฟังเสียงมา ประชาชนบอกว่าอยากให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ เพราะ ณ วันนี้ ถ้าประชาธิปัตย์อ้างว่าจะเป็นฝ่ายค้านอิสระ โดยที่ก็คือเพื่อไทยก็รวมเสียง ส.ส.ได้ไม่ถึง 250 เสียง เช่นเดียวกับพลังประชารัฐ ก็ได้ไม่ถึง 250 เสียง จนทำให้มีการนำ ส.ว.มาร่วมโหวต แล้วเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย
“ประชาชนก็จะด่า ตำหนิพรรคประชาธิปัตย์ว่าเขาเปิดกว้างให้เข้าร่วมรัฐบาลเพื่อจะได้นำนโยบายพรรค แก้จน สร้างคน สร้างชาติ ไปสู่การปฏิบัติ แล้วทำไมไม่ร่วม ทำไมอยากเป็นฝ่ายค้านเท่ๆ ทำไมอยากเป็นฝ่ายค้านอิสระ ต้องการจะให้รัฐบาลนี้เดินไปไม่ได้ ต้องการถ่วงประเทศไม่ให้มีการลงทุน ต้องการสร้างวีรบุรุษจากการอภิปรายในห้องประชุมสภากระนั้นหรือ หรือว่าอิจฉา หรือริษยา คนที่จะได้เป็นนายกฯ คุณไม่คำนึงถึงประชาชนที่เรียกร้องกันทั่วประเทศหรือ ซึ่งทั่วประเทศที่ผมบอกในที่นี้ อย่างน้อยผมมั่นใจว่า 8 ล้าน 4 แสนเสียง ซึ่งพลังประชารัฐได้ popular vote มากที่สุด และในประชาธิปัตย์ที่ประชาชนโหวตให้ 3 ล้านกว่าเสียง ตรวจสอบความเห็นเถอะครับ เขาต่างต้องการให้ประเทศชาติเกิดความสงบ จัดตั้งรัฐบาลได้ มีแม่ยกไม่กี่คนเท่านั้นที่มีความคิดแปลกแยกออกไปที่อยากเห็นประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน”
-หากที่ประชุมพรรคมีมติให้ร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ จะมีงูเห่าตอนโหวตได้หรือไม่?
ผมไม่ทราบ อันนี้ยังไม่เห็นสัญญาณอะไร โดยหากจะมีการอ้างเอกสิทธิ์ก็อ้างได้ แม้จะขัดกับมติพรรคเขาก็สามารถที่จะทำได้ ส่วนพรรคจะดำเนินการอย่างไรกับเขาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
-หากสุดท้าย พปชร.ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยโดย ปชป.ไม่ไปร่วม ก็ต้องไปทำงานเป็นฝ่ายค้านกับเพื่อไทย?
ถ้าเป็นอย่างนั้นผมยิ่งสะอิดสะเอียน ผมไม่ได้สะอิดสะเอียนเพื่อนนักการเมือง แต่สะอิดสะเอียนคนที่อยู่เบื้องหลังเพียงตระกูลเดียวเท่านั้น ส่วนนักการเมืองที่เป็นเพื่อนพ้องน้องพี่ผมทำงานร่วมกันได้ แต่พรรคการเมืองพรรคนี้เราก็รู้ว่ามีผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังแม้แต่เป็นรัฐบาลครั้งสุดท้าย ก็คือทักษิณคิด เพื่อไทยทำ เช่นโครงการรับจำนำข้าว แล้วอย่างมาบอกว่าทักษิณไม่ได้มีอิทธิพล ผมไม่เชื่อ เพราะเพิ่งแสดงออกเมื่อไม่กี่วันว่าแพ้ไม่ได้ แต่มาบอกว่าเลิกเล่นการเมือง ไม่ยุ่งการเมือง อย่ามาพูดดีกว่า
ก่อนจะถามลงลึกให้มากขึ้นเรื่องการตัดสินใจร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล รวมถึงการเลือก หัวหน้าพรรคคนใหม่ ที่จะขึ้นมานำทัพพรรคแทนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะต่อจากนี้ เราถามถึงผลการเลือกตั้งที่ออกมาเมื่อ 24 มีนาคม ที่ ปชป.แพ้การเลือกตั้งหลายพื้นที่โดยเฉพาะ กทม.และภาคใต้ ที่เสียที่นั่งรวมกันหลายสิบเก้าอี้
จุดยืนพรรคคลุมเครือ
ทำแพ้ยับ กทม.-ภาคใต้
ถาวร ส.ส.สงขลา-แกนนำพรรค ปชป.สายภาคใต้ อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรค ปชป.หลังผลการเลือกตั้งที่ออกมา ซึ่งเนื้อหาจะโยงมาถึงการที่พรรค ปชป.จะตัดสินใจจับมือกับพลังประชารัฐตั้งรัฐบาลต่อจากนี้
โดย ถาวร เริ่มต้นกล่าวว่า การเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค.ที่ผานมา เป็นการคาดหวังและเรียกร้องของประชาชนอย่างน้อยที่สุดก็ 3 ปีที่ต้องการเห็นการเลือกตั้งเกิดขึ้น แต่ก่อนที่ประชาชนจะเลือกตั้ง ประชาชนได้ผ่านประสบการณ์ต่อสู้กับระบอบทักษิณ ทั้งพันธมิตรฯ และตามด้วยมวลมหาประชาชน หรือ กปปส.ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีแนวทางเดียวกันคือไม่เอาระบอบทักษิณ เพราะเหตุว่าระบอบทักษิณเป็นระบอบที่ออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการประชานิยม เช่น รถยนต์คันแรก บ้านหลังแรก จนถึงโครงการรับจำนำข้าว ที่บอกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจแล้วก็ใช้นโยบายที่ทุจริต เพื่อดูดเงินจากการที่ประชาชนนิยมชอบใจนิยมระบอบทักษิณ
การที่มีการทุจริตโกงบ้านกินเมืองมโหฬาร เริ่มตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณหนึ่ง และตามด้วยรัฐบาลทักษิณสอง จนมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ยุคทักษิณหนึ่งและทักษิณสอง คนคาดว่าคนรวยแล้วจะไม่โกง จนกระทั่งมีการรัฐประหารปี 2549 ผลปรากฏว่า คตส.ตรวจสอบพบทุจริตพบการทุจริตของคนในระบอบทักษิณ จนมีคดีขึ้นศาลและมีการยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท จนมาถึงยุคยิ่งลักษณ์ ที่ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ ก็เป็นระบอบทักษิณที่เอาความนิยมของคนมาเป็นตัวตั้งแล้วทำรับจำนำข้าวทุกเมล็ด แล้วมีการทุจริตชาติเสียหายไม่ต่ำกว่าห้าแสนล้านบาท
โดยสรุปก็คือระบอบทักษิณโกงกินชาติบ้านเมือง ทำกับชาติบ้านเมืองโดยที่ไม่คำนึงถึงว่าประเทศชาติจะหายนะอย่างไร นี่คือเรื่องการทุจริต แต่อีกเรื่องหนึ่งที่ประชาชนยอมไม่ได้โดยเด็ดขาดก็คือการจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันฯ ซึ่งระบอบทักษิณทำมาอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้ประชาชนเห็นแล้วทนไม่ได้ ดังนั้นเมื่อถึงกำหนดการเลือกตั้ง ประชาชนก็แบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ชอบระบอบทักษิณ กับกลุ่มที่ต่อต้านระบอบทักษิณ
ถาวร-อดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ทำให้ประชาชนเจ็บใจมากก็คือ การพยายามจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมสมัยรัฐบาลเพื่อไทย ที่พยายามจะนิรโทษกรรมผู้ทำผิดกฎหมาย คืนทรัพย์สินให้คนโกง ความพยายามจะฟอกตัวนักการเมืองและย่ำยีกระบวนการยุติธรรม
...จากที่บอกมาสี่ห้าเรื่องข้างต้น คือสิ่งที่มวลมหาประชาชนที่เรียกว่า กปปส.ได้ออกมาเคลื่อนไหว แล้วต่อมามีการรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.57 จนมีการคืนอำนาจให้ประชาชนผ่านการเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ความเด่นชัดในการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้งจึงแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งไม่ว่าผู้สมัคร ส.ส.จะสังกัดพรรคการเมืองใด ประชาชนก็จะเลือกในสองกลุ่มดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กลุ่มระบอบทักษิณก็สร้างวาทกรรมขึ้นมาว่ากลุ่มของเขาคือกลุ่มประชาธิปไตย แล้วมาบอกว่าอีกกลุ่มคือกลุ่มเผด็จการ กลุ่มแนวร่วมเผด็จการ ซึ่งครั้งแรกเขาก็คิดว่าพลเอกประยุทธ์จะไม่ยอมให้พรรคการเมืองเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ ในนามพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่เมื่อพลเอกประยุทธ์ยอมให้พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ เขาก็พยายามมาพูดเรื่องการสืบทอดอำนาจ เพราะเขารู้ว่าประชาชนกลัวเขา กลัวระบอบทักษิณ แต่คนที่จะมาสู้กับระบอบทักษิณได้ก็น่าจะคือผู้มีอำนาจด้านงานความมั่นคง ส่วนพรรคการเมืองเขาแข่งกันมาหมดแล้ว สู้เขาไม่ได้สักพรรคการเมือง ไม่ว่าพรรคไหนก็ตาม รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์
เมื่อเป็นเช่นนั้นฝ่ายเขาก็โหมทำกิจกรรมต่างๆ โดยให้กลุ่มเคลื่อนไหวที่อยู่ฝ่ายเดียวกันออกมาเคลื่อนไหวต่อเนื่อง เช่นกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง นักการเมืองบางคนบางพรรคก็หลงใหลโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่นักการเมืองบางพรรคก็เข้าร่วมกับระบอบทักษิณ อาจด้วยสาเหตุใดก็แล้วแต่ ซึ่งในอดีตเราก็ไม่เคยเห็นนักการเมืองกลุ่มนี้ได้ออกมาอยู่กลุ่มเดียวกับทักษิณ แต่เขาก็เข้าไปร่วม
จากนั้น ถาวร กล่าวมาถึงประเด็นเรื่องการตัดสินใจของอภิสิทธิ์ อดีตหัวหน้าพรรค ปชป.ต่อกรณีทำคลิป ไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ซึ่งมีผลต่อพรรคประชาธิปัตย์ตามมา อันเห็นได้จากผลเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค. โดยระบุว่าเพราะฉะนั้นเมื่อถึงช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ความคิดข้างต้นที่มาก่อนแล้ว ปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ โดยคุณอภิสิทธิ์ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มแรกเหมือนกับว่าจะต่อสู้กับระบอบทักษิณ แต่ตอนหลังการต่อสู้กับระบอบทักษิณค่อยๆ แผ่ว ก็มาต่อสู้กับระบอบเผด็จการ โดยมีความถี่ในการแสดงออก การทำกิจกรรมว่าต่อสู้กับเผด็จการ ต่อสู้กับการสืบทอดอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ จนต่อมามีการออกคลิประบุว่า ”ไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ให้เป็นนายกรัฐมนตรี” แต่เมื่อถูกตั้งคำถามว่าแล้วประชาธิปัตย์จะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ เขาก็ตอบว่าถ้าพลังประชารัฐอยู่ในอุดมการณ์และแนวทางการทำนโยบายของพรรค ปชป. เขาก็พร้อมที่จะจับมือ
ถาวร ย้ำว่า ช่วงดังกล่าวได้สร้างความระแวงให้กับ voter ในการออกเสียงอย่างมาก ในขณะเดียวกันเมื่อท่านคิดขึ้นได้ว่าพูดผิดไปหรือไม่ ก็ได้มาย้ำว่าจะต่อสู้กับระบอบทักษิณ และไม่เอาระบอบทักษิณด้วย
“ปรากฏว่าจุดยืนมันคลุมเครือ เมื่อจุดยืนคลุมเครือว่าตกลงจะสู้กับระบอบทักษิณ หรือจะต่อต้านพรรคพลังประชารัฐ ที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ เมื่อมีการแสดงออกอย่างคลุมเครือ โหวตเตอร์จึงไม่แน่ใจ ไม่ไว้วางใจ ก็หันไปสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ ที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ คะแนนของประชาธิปัตย์ โหวตเตอร์ในกรุงเทพมหานครและในเขตเมืองก็เทให้พรรคพลังประชารัฐไป”
ส่วนพรรคอนาคตใหม่เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีแนวคิดแบบคนรุ่นใหม่ ซึ่งยังขาดประสบการณ์หรืออาจจะเชื่อมั่นโดยสุจริตใจว่าแนวทางของอนาคตใหม่จะทำให้ชาติอยู่รอด เช่นระบอบกษัตริย์ที่นักวิชาการจากตะวันตก หรือนักการเมืองที่นิยมตะวันตกเขาคิดว่าจะเป็นปฏิปักษ์กับระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่จริงๆ ในประเทศไทยควบคู่ไปกันได้ แต่เขาคิดแบบนี้จริงๆ เป็นเหตุให้คนกลุ่มหนึ่งทำกิจกรรมสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ ที่มีความคิดแบบนี้ ถามว่าคนมีความคิดแบบนี้ เกิดจากการถ่ายทอดของใคร ก็คือปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แม้จะถ่ายทอดก่อนจะมาอยู่อนาคตใหม่ก็ตาม แต่ความคิดแบบนี้เป็นความคิดแบบฝังหัว คนก็เข้าใจว่า ความคิดแบบนี้ประสบความสำเร็จในตะวันตก เพราะฉะนั้นประเทศไทยก็น่าจะไม่เป็นปัญหาอุปสรรคเหมือนกัน ก็คิดตามเชื่อตาม จึงจะเห็นได้ว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในโซเชียลมีเดีย หรือในการทำกิจกรรมต่างๆ ออกมาในแนวนี้
...ประกอบกับพรรคการเมืองอย่างพรรคไทยรักษาชาติ ได้แสดงออกถึงสิ่งที่ประชาชนระแวงสงสัย เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ประชาชนมีความคิดว่ากลุ่มระบอบทักษิณเป็นกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบกษัตริย์ ซึ่งเป็นระบอบที่มีคุณูปการกับประเทศไทยมาเป็นระยะเวลา 800 ปี และยังคงมีความสำคัญ อยู่ในหัวใจที่เราเคารพเทิดทูนอยู่ในปัจจุบัน
…เมื่อเป็นเช่นนี้คือ คนแบ่งข้างแบ่งพวก แบ่งความคิดมาหลายปี พอถึงวันออกเสียงเลือกตั้ง เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงจุดยืนไม่ชัดเจน ประชาธิปัตย์จึงพ่ายแพ้ในเขตเมือง และในกรุงเทพมหานคร ฐานที่มั่นของพรรคในภาคใต้ก็ไปด้วย จากการเลือกตั้งปี 2554 ได้ 50 คน การเลือกตั้งที่ผ่านมาเหลือ 22 คน กรุงเทพมหานครจาก 20 คนก็ไม่เหลือเลย ซึ่งในต่างจังหวัดหากไปดูคะแนนเสียงที่ออกมาในเขตเทศบาลนคร เขตอำเภอเมือง รวมถึงเขตเทศบาลตำบลที่มีความเจริญ คนชั้นกลางจะเทคะแนนไปให้พรรคพลังประชารัฐ
พรรค ปชป.ก็ถูกดูดคะแนนไปให้พลังประชารัฐ เป็นเหตุให้อย่างที่จังหวัดสงขลาบ้านผม จากที่ปชป.เคยได้ 8 ที่นั่ง ก็เหลือ 3 ที่นั่ง นครศรีธรรมราช จาก 8 ที่นั่งก็เหลือ 5 ที่นั่ง หรือที่ภูเก็ต 2 ที่นั่งก็แพ้หมด
“ทั้งหมดเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเราพบว่าความผิดพลาดของหัวหน้าพรรคที่ได้ทำคลิป และแสดงออกถึงจุดยืนที่สร้างความคลุมเครือ ทำให้โหวตเตอร์กังวลและมีความไม่แน่ใจว่าตกลงพรรคจะยืนอยู่ฝ่ายไหน”
ถาวร-แกนนำพรรค ปชป. ยืนยันว่า ผลเลือกตั้งที่ออกมาครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากประชาชนไม่ขานรับกับนโยบายพรรคที่ใช้หาเสียง หรือการไม่ยอมรับในตัวผู้สมัคร ส.ส.เขตของ ปชป. เพราะนโยบายพรรคก็จะคล้ายๆ กันทุกพรรค ไม่ว่าพรรคเล็กพรรคน้อยก็คือแก้จน สร้างคน สร้างชาติ และต่อต้านทุจริต กระจายอำนาจ อย่างพลังประชารัฐ ภูมิใจไทยที่ได้คะแนนเสียงในภาคใต้ ประชาธิปัตย์ประกาศนโยบายประกันรายได้ยางพาราอยู่ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม ภูมิใจไทย 65 บาท พลังประชารัฐ 70 บาท หรือนโยบาย เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ-อสม. ไม่ได้ต่างกัน เรื่องนโยบายไม่ใช่สาระสำคัญ
...ส่วนตัวผู้สมัครก็ปรากฏว่าพรรคพลังประชารัฐ ผมไม่ได้ดูถูกเขานะ เขาไม่เคยทำการเมือง ไม่เคยคิดเล่นการเมือง แต่เพิ่งมาตัดสินใจเมื่อพลังประชารัฐไปทาบทาม แล้วก็ได้แบบประเภทที่ว่าเขาก็ไม่ได้คาดคิดเหมือนกัน เรื่องตัวผู้สมัครของพรรคทั้งใน กทม.และต่างจังหวัดที่พรรคเสียที่นั่งไป ผมคิดว่าของพรรค ปชป.ค่อนข้างคร่ำหวอดทางการเมือง ประชาชนรู้จักชื่อมากกว่า
-ก่อนหน้าวันเลือกตั้ง พอจะเริ่มเห็นสัญญาณก่อนหรือไม่ว่าผลเลือกตั้งที่ออกมาจะได้ ส.ส.ไม่เท่าเดิม เสียที่นั่งไปเช่นนี้?
เห็นสัญญาณเลย เห็นจากที่เราเดินเคาะประตูบ้าน เดินพบปะประชาชนในพื้นที่สงขลา เขาบอกว่า “พรรคคุณพูดแบบนี้ ขอโทษเถอะ ขอไม่เลือก”
ถามถึงว่ายุครัฐบาลปัจจุบันก็มีเสียงสะท้อนคนภาคใต้ไม่พอใจการแก้ปัญหาต่างๆ เช่น ราคายางพาราตกต่ำเหลือสี่กิโลร้อยบาท แต่ทำไมภาคใต้คนกลับเลือกพลังประชารัฐ ถาวร-แกนนำ ปชป.ภาคใต้ อธิบายว่า ก็เพราะประชาชนเขาเห็นว่าบิ๊กตู่ไม่เอากับระบอบทักษิณ เป็นปฏิปักษ์กับระบอบทักษิณแน่นอน เพราะฉะนั้นที่ ปชป.หาเสียงว่าจะประกันรายได้ให้กิโลละหกสิบบาท ขณะที่ปัจจุบันราคาอยู่ที่สามสี่กิโลกรัมได้หนึ่งร้อยบาท แต่ประชาชนกลับเลือกคนที่บริหารอยู่ตอนนี้ สิ่งนี้ชี้ให้เห็นเลยว่าความยากจนของเขา เขาทนได้ เขาแก้ปัญหาความยากจนด้วยตัวของเขาเองได้ แต่การสู้กับระบอบทักษิณ เขาสู้ไม่ได้ ต้องให้นายกรัฐมนตรีที่มีความเข้มแข็งพอไปสู้กับระบอบทักษิณได้
-สรุปว่าบางพื้นที่อย่างภาคใต้ คนเลือกให้พลเอกประยุทธ์เป็นตัวแทนไปสู้กับระบอบทักษิณ?
ถูกต้อง จะเห็นเลยว่าคนขึ้นมาร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ และ กปปส.กันมาก เพราะเขาไม่ชอบระบอบทักษิณ
ถาวร ให้ทัศนะหลังถามว่าสิ่งที่พรรค ปชป.ต้องทำเพื่อสรุปบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งนี้จะต้องทำอะไรบ้าง โดยให้มุมมองว่า ต้องฟังเสียงประชาชนให้มากขึ้น อย่าไปฟังอย่างอื่นที่ไม่แม่นตรงหรือเชื่อถือไม่ได้ เช่น บางคนบอกว่าโพลออกมาคนบอกไม่ชอบระบอบเผด็จการ ถามว่าโพลนั้นแม่นตรง เชื่อถือได้หรือไม่ ควรต้องถามผู้สมัครที่เชื่อถือได้ ที่เขาลงพื้นที่และประมวลผล แม้จะนำโพลมาประกอบด้วย ก็ต้องรับฟังสิ่งที่ไม่ใช่โพลด้วย แต่นี้หมายถึงคำชี้แจงของอดีตหัวหน้าพรรค ปชป.ที่บอกว่าท่านเชื่อโพล ผมก็ไม่รู้ว่าโพลไหนใครทำ แม่นตรงเชื่อถือได้หรือไม่
...สิ่งแรก ต้องยอมรับความจริง ถอดบทเรียนกันเสียก่อนว่าเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม เราพ่ายแพ้เพราะอะไร เมื่อยอมรับความจริงแล้วก็ต้องมาปฏิรูปกัน เช่น โครงสร้างองค์กรพรรคควรจะบริหารเป็นกลุ่มภารกิจ สอง-การระดมทุน ควรจะมีกลุ่มภารกิจระดมทุนจากสมาชิกให้มากกว่ากลุ่มทุน เพื่อให้สมาชิกได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ หรือการทำแคมเปญในการรณรงค์หาเสียง ควรฟังให้หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่ออกมาจากคนเพียงไม่กี่คน จะอ้างว่าเก่ง อ้างว่าผ่านประสบการณ์ด้านนี้มา แล้วเป็นยังไง ไม่ได้เก่งจริง ประสบการณ์ที่บอกจึงไม่น่าจะใช่เรื่องจริง จึงได้เกิดความผิดพลาด
…รวมถึงการบริหารองค์กรต้องทำให้เปิดกว้างจริงๆ ให้ประชาชนเป็นเจ้าของพรรคจริงๆ และพรรคต้องมีสาขาพรรคให้ทั่วประเทศให้มากขึ้น เพื่อเป็นปากเป็นเสียง คอยรับฟังความเดือดร้อนประชาชน ความต้องการของประชาชน เพื่อนำข้อมูลมาสู่ผู้บริหารพรรคส่วนกลาง เพื่อผู้บริหารพรรคจะได้นำข้อมูลมาแปรเป็นการแก้ปัญหาและนโยบาย การหาผู้สมัครก็เหมือนกัน ไม่รู้ว่ากระโดดมาจากไหน แล้วไปลงบางเขต ลูกท่านหลานเธอ จบจากต่างประเทศ หน้าตาดี พ่อแม่รวย ใกล้ชิดกับผู้บริหารพรรคบางคน ก็ไปสมัคร ส.ส.เขต ต่างๆ แบบนี้ไม่ได้
...นอกจากนี้ ต่อไปคนที่จะลงสมัคร ส.ส.เขตต้องมีการประเมินกันทุกหกเดือน โดยแจ้งให้คนนั้นทราบด้วย และหากพรรคประเมินแล้วไม่ผ่านก็แจ้งให้ทราบต่อไป เพื่อเปิดโอกาสให้เขาชี้แจงแก้ตัว หากชี้แจงแล้วฟังไม่ขึ้น ไม่ได้ชอบไม่ได้รักประชาชนอย่างแท้จริงก็ต้องเปลี่ยนตัว เพราะผู้จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นตัวแทนประชาชนต้องพิสูจน์ให้เห็นว่ารักประชาชนจริงๆ ไม่ใช่รักตำแหน่งการเป็น ส.ส.
-การทำไพรมารีโหวตเพื่อส่งลง ส.ส.เขตยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ เพราะรอบที่แล้วบางเขตเช่น เขต 1 สงขลา ที่ เจือ ราชสีห์ อดีต ส.ส.เขต 1 ไม่ได้ลง เพราะพรรคบอกว่าทำไพรมารีโหวตแล้วคะแนนไม่ได้?
อันนั้นไม่ใช่ไพรมารีโหวต อะไรก็ไม่รู้ เจือ ราชสีห์ ก็ยังปฏิเสธอยู่ว่าเขาไม่รู้ ความยุติธรรมจะต้องเกิดขึ้นจากผู้บริหารพรรคที่มีต่อการกระทำในทุกเรื่อง กับบุคคลทุกคน การทำไพรมารีโหวตเพื่อคัดคนลงสมัคร ส.ส.ยังจะต้องทำ แต่ต้องเป็นไพรมารีโหวตจริงๆ คราวที่แล้วไม่ใช่ไพรมารีโหวต เป็นการสรรหาโดยคน 11 คน
-การส่งคนลงเลือกตั้งที่ผ่านมาของพรรคมีปัญหาเยอะ?
มีมาก แต่ไม่ต้องลงลึกในรายบุคคลรายเขต แต่บอกได้ว่ามีมาก และนำไปสู่ความแตกสามัคคี และนำไปสู่การรณรงค์หาเสียง คนไม่ได้รับความยุติธรรมจะไปทุ่มเทให้กับอีกคนที่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษได้อย่างไร
…ผมยกตัวอย่างที่สงขลา กรณีของเจือ ราชสีห์ กับลูกของคุณนิพนธ์ บุญญามณี จะให้เจือขึ้นไปปราศรัยบนเวทีว่าสนับสนุนลูกคุณนิพนธ์เป็นไปไม่ได้ เป็นเหตุให้ลูกคุณนิพนธ์พ่ายแพ้ย่อยยับ เพราะปัจจัยนี้ด้วย นอกจากปัจจัยที่อดีตหัวหน้าพรรคได้ทำคลิปออกมา และตัวผู้สมัคร ถ้าไม่ได้รักประชาชนจริงๆ ประชาชนก็จะให้บทเรียนในบางเขต ซึ่งผมเคยเตือนก่อนหน้านี้แล้ว แต่พรรคไม่ฟัง
-พรรคการเมืองบางขั้วพยายามสร้างวาทกรรมว่าเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย โดยบอกว่า ฝ่ายบิ๊กตู่พยายามสืบทอดอำนาจ หากยังมีการสร้างกระแสแบบนี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ การตั้งรัฐบาล จะมีปัญหาหรือไม่?
ก็ยาก เพราะประชาชนบางคนเขาไม่ได้มีเวลาศึกษาอะไรมาก ผมเจอประชาชน เขาก็มาถามว่ารอบนี้ผมลงเลือกตั้งหรือไม่ บางคนก็มาถามว่า เลือกตั้งจบแล้วแฮปปี้หรือไม่ ประชาชนเขายุ่งกับเรื่องการทำมาหากิน เขาจะไม่ค่อยรู้หรอก แต่ถ้ามีอะไรใส่เข้าไปในความรับรู้ของเขา เขาอาจเชื่อตามนั้นก็เยอะเพราะไม่มีเวลาไปติดตาม เมื่อไม่มีเวลา ก็บอกอ้าวนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย เป็นเผด็จการ สืบทอดอำนาจ ก็อยากถามว่าแล้วอีกฝั่ง เป็นเผด็จการรัฐสภาหรือไม่ เช่น พยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิด โดยไม่คำนึงถึงหลักนิติรัฐ นิติธรรม หรือการพยายามจะหาทางคืนทรัพย์สินที่ถูกยึดให้กับคนโกง พยายามฟอกตัวนักการเมืองที่ชั่ว หรือพยายามย่ำยีกระบวนการยุติธรรมในคดีที่ศาลได้พิพากษาไปแล้ว แบบนี้ยิ่งกว่าเผด็จการตามที่บางฝ่ายพยายามสร้างวาทกรรม เพราะคำว่าประชาธิปไตยต้องมีสิทธิเสรีภาพ นิติรัฐ นิติธรรมรวมอยู่ด้วย
-มองว่าพลเอกประยุทธ์มีโอกาสกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง 100 เปอร์เซ็นต์?
100 เปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ดึงเสียงจาก ส.ว.เข้ามา แล้วแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วงไป จนเมื่อเขามีความพร้อมก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ อายุของรัฐบาลจะสั้นหรือยาว ยังไม่แน่ หากเป็นเสียงข้างน้อยจริงๆ ก็อาจอยู่ไม่ยาว ส่วนโอกาสที่ฝ่ายเพื่อไทยจะตั้งรัฐบาลคงยาก ประชาธิปัตย์คงไม่ไปร่วมเมื่อเราไม่ไปร่วม ฝ่ายเพื่อไทยอาจได้แค่ 240 กว่าเสียง ฝ่ายภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา ก็ไม่น่าจะไป โดยในส่วนของฝ่ายขั้วพลังประชารัฐ หากประชาธิปัตย์ไปอยู่ด้วย และรวมพรรคอื่นๆ รวมกันแล้วฝ่ายนี้ก็น่าจะประมาณ 261 เสียงโดยประมาณ ซึ่งเกินครึ่งไป 11 เสียง ก็ยังบริหารยากอยู่ หากได้สัก 280 เสียงถึงจะโอเค ก็อาจใช้วิธีการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี สอง พ.ศ.เลย หากมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้น ถ้ารัฐบาลไปแล้วยังไงก็ต้องเข็นกันมาให้ได้
“แต่คุณต้องเข้าใจว่ารัฐบาลที่มีปัญหาล้มกันไปเกิดจากทุจริต ไม่ใช่มีเสียง ส.ส.น้อย อาจจะมีแค่บางช่วง เช่นยุครัฐบาลชวน 1 ที่พรรคพลังธรรมถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล รัฐบาลที่อยู่ไม่ได้คือรัฐบาลทุจริต ดังนั้นรัฐบาลที่จะตั้งขึ้นต่อจากนี้ต้องขจัดการทุจริตให้หมด หรือที่มีมาแล้วต้องตรวจสอบอย่างโปร่งใส อาจจะมีการสอบย้อนหลังก็ได้”
-การจัดตั้งรัฐบาลอาจเกิดงูเห่าตอนโหวตเสียง?
ก็เกิดขึ้นได้หมด เพราะเป็นเอกเทศในการลงมติ.
………………………….
73 ปี ปชป.กับหัวหน้าพรรคใหม่? คุยภายในให้จบก็รู้ใครเหมาะสม
สำหรับการเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.-กรรมการบริหารพรรค ปชป.ชุดใหม่ต่อจากนี้ ถาวร-แกนนำพรรค ปชป. มองว่า นับจากนี้ไปในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะมีขึ้น ซึ่งจะมีหัวหน้าพรรค ปชป.คนใหม่มารับผิดชอบ ผมไม่ได้ตำหนิตัวเอง ไม่ได้ตำหนิพรรคผม แต่การเลือกตั้งครั้งหน้า เรายังไม่มีโอกาสสนับสนุนให้หัวหน้าพรรคคนใหม่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้ นี่คือความจริง เพราะด้วยระบบตามรัฐธรรมนูญกับระบบการเลือกตั้ง และด้วยระบบที่ให้มี ส.ว. 250 เสียง ดังนั้นก็ต้องทำใจ เมื่อทำใจ ผู้บริหารพรรค ปชป.ชุดใหม่ที่จะเข้ามา จะต้องเข้ามาสร้างความเป็นเอกภาพ สร้างให้พรรคมีความสามัคคี
ความเป็นเอกภาพและความสามัคคีเกิดจากความยุติธรรม การฟังความทุกฝ่าย เกิดจากความคิดก้าวหน้า มีบารมี ที่ก็คือจะต้องมีวิริยบารมี บารมีที่มีความรู้ด้านวิชาการ ด้านบริหารการจัดการ ด้านการเมือง เศรษฐกิจสังคม ความรู้ต้องหลากหลาย สอง-ต้องมีความสัมพันธ์กับคนทุกฝ่ายทุกพรรค คือมีทั้งคนกับภายในพรรคและนอกพรรค ปชป. ต้องมีการสื่อสารกันภายในองค์กรให้เข้าใจกันให้ได้ นอกจากนี้กลุ่มผู้บริหารพรรคต้องระดมทุนจากสมาชิกพรรค จากทุกฝ่าย ไม่ให้ผิดกฎหมาย คือ มีบารมีในการระดมทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ใช่ไปรับเงินจากนายทุนสามานย์ ต้องไปรับใช้เขา คือต้องมีบารมีในการระดมทุนด้วย
-ตัวผู้บริหารพรรคต้องมีหลักพิจารณาเรื่องความอาวุโสหรือมีความเก่งด้านเศรษฐกิจหรือไม่?
ไม่จำเป็น เพราะนโยบายต้องมาจากสมาชิกพรรค จากประชาชน ประเภทข้าเก่งคนเดียว ขี่ม้าขาวมา ไม่จริง ไม่มี นักการเมืองที่เก่งด้านเศรษฐกิจก็ไม่ได้ออกมาจากสัพพัญญู ข้าพเจ้ารู้ได้ด้วยตัวเองเสียเมื่อไหร่ ก็มาจากการระดมความคิดเห็น แต่สิ่งสำคัญคือต้องฟังคนอื่น ไม่แอบแฝงไว้ด้วยการทุจริต
...สิ่งสำคัญมากคือในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เมื่อเราได้รับการเลือกตั้งมาแล้ว สมมุติว่าได้ประมาณ 53-54 คน แต่หลายคนเรียกร้องตรงกันว่าให้รอการรับรองการเลือกตั้ง จาก กกต.เสร็จเสียก่อน แล้วถึงค่อยให้กรรมการบริหารพรรค ปชป.ชุดใหม่ และตัว ส.ส.ของพรรคทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อมาตัดสินใจ โดยมีคะแนนน้ำหนักมากกว่า ส่วนอดีต ส.ส. อดีตผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ถ้าจะนำข้อบังคับพรรคมาใช้ ให้เขาเหล่านั้นได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกผู้บริหารพรรคผมก็ยินดี โดยคำนึงถึงการให้น้ำหนักให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
…ในการระดมความคิดเห็นของคนในพรรค ปชป. ก่อนหน้านี้ผมได้เสนอไว้ว่า เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ ความสามัคคี ให้ยกเลิกการทำไพรมารีโหวตเลือกหัวหน้าพรรคในรอบนี้ และหากไม่มีการแข่งขันกัน กระบวนการจับเข่าคุยที่พวกเราทำมาแล้วครั้งหนึ่งที่โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง เมื่อ 28 ก.พ. และเมื่อ 5 เม.ย. ที่พรรค ปชป. และอาจทำอีก ถ้าตกผลึกว่าใครเหมาะสมก็เป็นคนนั้น ลักษณะแบบนี้ก็จะทำให้ไม่มีการแข่งขันในฟลอร์ ก็จะเกิดความเป็นเอกภาพ ความรักสามัคคีขึ้นมาได้ ไม่มีความรู้สึกว่าฝ่ายใดชนะ ฝ่ายใดแพ้
สิ่งเหล่านี้ผมอยากเห็นในการเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.ครั้งนี้ คือคุยกันโดยไม่ต้องไปโหวตอะไรอีก เพราะแค่คุยกันก็รู้แล้ว เรื่องนี้ไม่ยาก เพราะเราก็รู้ เช่น เช็คกันภายใน คนๆนี้ ได้รับการสนับสนุนมาก คนนี้กลางๆ คนนี้มีน้อย ก็รู้ได้ นอกเสียจากว่าคุยกันแล้วไม่รู้เรื่อง ก็ค่อยโหวตกันเป็นการภายใน
ถามถึงว่า 73 ปชป.จะกลับมาผงาดได้อีกครั้งหรือไม่ หลังจากนี้ ถาวร มองอนาคตพรรค ปชป.ว่า เราเคยตกต่ำ แต่พรรคก็กลับมาโตได้อีก มีโตได้ มีลดได้ เกิดมรสุมได้ แล้วก็กลับมาผงาดได้อีก เป็นเรื่องปกติ ประชาชนยังมีโอกาสที่จะตัดสินใจได้ว่าจะรักใครหรือไม่รักใคร ทั้งนี้อยู่ที่การบริหารของผู้บริหารพรรคในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่จริงใจกับประชาชน จริงใจในการคัดเลือกผู้สมัคร จริงใจในการผลิตนโยบาย จริงใจในการนำนโยบายพรรคไปสู่การปฏิบัติ.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
.................
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |