70 ปีนาโตกับเอกภาพที่สั่นไหว


เพิ่มเพื่อน    

     ปีนี้เป็นปีที่องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation) หรือที่นิยมเรียกว่าองค์การนาโตฉลองครบรอบ 70 ปี ก่อตั้งในยุคเริ่มสงครามเย็น ซึ่งหมายถึงการรวมตัวของชาติประชาธิปไตยตะวันตกต่อต้านค่ายคอมมิวนิสต์ในยุคนั้น ในสมัยนั้นชาติสมาชิกตื่นตัวมาก เป็นยุคที่กลัวความแตกต่างทางอุดมการณ์การเมือง สงครามนิวเคลียร์ 
    นาโตตื่นตัวอีกครั้งจากเหตุก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ที่สหรัฐ มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 ราย รัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประกาศทำสงครามต่อต้านก่อการร้ายทั่วโลก ในช่วงแรกบรรดาชาติสมาชิกให้ความร่วมมือคึกคัก เข้าทำสงครามอัฟกานิสถาน โค่นล้มรัฐบาลตาลีบัน ผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะห์
    2 ปีต่อมาเมื่อรัฐบาลบุชส่งกองทัพบุกอิรักกลับโดนวิพากษ์อย่างหนักว่ารัฐบาลอิรักเกี่ยวข้องกับก่อการร้ายหรือไม่ หรือเพียงเพราะรัฐบาลสหรัฐหวังผลประโยชน์ในตะวันออกกลาง ชาติสมาชิกนาโตส่วนใหญ่จึงไม่เข้าร่วมทำสงครามโค่นล้มรัฐบาลอิรักในปี 2003 พร้อมกับตั้งคำถามว่าจริงหรือไม่ที่รัฐบาลซัดดัม ฮุสเซน เป็นภัยคุกคามโลกตามคำกล่าวหา หรือเป็นเพียงแค่ข้ออ้างที่หยิบยกขึ้นมา
    ในที่สุดโลกได้คำตอบว่ารัฐบาลซัดดัมไม่ได้เป็นภัยตามข้อกล่าวหา Paul Wolfowitz รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐในขณะนั้นยอมรับว่าจำต้องอ้างเรื่องที่อิรักมีอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (weapons of mass destruction) เพราะเป็นข้ออ้างที่สามารถโน้มน้าวนานาชาติร่วมมือจัดการอิรัก
    รัฐบาลบุชกลายเป็นอีกตัวอย่างของรัฐบาลสหรัฐที่โกหกคนทั้งโลก ทำสงครามเข่นฆ่าคนนับแสน เพื่อผลประโยชน์ของตน เป็นช่วงที่ภาพพจน์อเมริกาตกต่ำอย่างมาก
America First กับ Europe First :
    รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ตั้งอยู่บนหลักคิด “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First) หมายถึงการบริหารประเทศที่ถือผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง แม้จะขัดแย้งประเทศอื่น ขัดแย้งศีลธรรมคุณธรรม ตั้งอยู่บนหลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบสัจนิยม (Realism) สุดขั้ว
    ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า รัฐบาลทุกประเทศเป็นเช่นนี้ที่ต้องบริหารประเทศเพื่อผลประโยชน์ของตน ด้วยเหตุนี้แม้เป็นสมาชิกนาโตเหมือนกัน รัฐบาลสหรัฐดำเนินนโยบายหลายอย่างที่ขัดแย้งชาติสมาชิกอื่นๆ กลายเป็นนโยบายที่ดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว บางเรื่องบั่นทอนผลประโยชน์สมาชิกฝั่งยุโรปโดยตรง เช่น การคว่ำบาตรรัสเซีย ขอให้หยุดซื้อก๊าซธรรมชาติรัสเซีย ล้มข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน (JCPOA) กระทบนักลงชาวยุโรปที่ไปลงทุนในอิหร่าน ขอให้ร่วมมือปิดล้อมจีน เป็นตัวอย่างที่ฝั่งยุโรปคิดเห็นแตกต่างจากสหรัฐอย่างชัดเจน
    ประเด็นงบประมาณกลาโหมเป็นอีกเรื่องที่ขัดแย้ง ประธานาธิบดีทรัมป์เคยพูดว่าสหรัฐเสียงบประมาณสนับสนุนมากเกินไป ไม่ยุติธรรมต่อสหรัฐ หากชาติสมาชิกนาโตไม่ช่วยแบกรับภาระค่าใช้จ่าย จะพิจารณาถอนตัวออกจากนาโต และถ้าการทำเช่นนี้เป็นเหตุให้นาโตแตกก็ให้แตกไปเลย
    อันที่จริงแล้วฝั่งยุโรปทยอยขึ้นงบกลาโหมหลังรัสเซียผนวกไครเมียเมื่อปี 2014 (สมัยรัฐบาลโอบามา) กำหนดเป้าว่าภายในปี 2024 จะตั้งงบกลาโหมให้ถึงอย่างน้อยร้อยละ 2 ของ GDP ในยุคทรัมป์หลายประเทศทยอยเพิ่มงบกลาโหมอีกแต่ยังไม่ถึงเป้าที่กำหนด
    เมื่อมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลเยอรมนีแถลงว่าจะคงงบประมาณกลาโหมในสัดส่วนร้อยละ 1.25 ของจีดีพีต่อไปอีก 5 ปี (จนถึง 2024) อาจตีความว่าไม่โอนอ่อนต่อรัฐบาลสหรัฐ เป็นแม่แบบแก่ประเทศสมาชิกอื่นๆ
    ก่อนหน้านี้นายกฯ แมร์เคิลโต้ว่าเยอรมนีเป็นรัฐอธิปไตย ตัดสินใจโดยอิสระ การที่ฝั่งยุโรปเพิ่มงบประมาณไม่ใช่เพราะทำตามคำพูดของทรัมป์แต่ประการใด
ความเห็นต่างเรื่องภัยจากรัสเซีย :
    Jens Stoltenberg เลขาธิการนาโตกล่าวว่า ภัยคุกคามจากรัสเซียกำลังเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเรื่องระงับสนธิสัญญานิวเคลียร์พิสัยกลาง เช่นเดียวกับที่ฝ่ายความมั่นคงสหรัฐมองรัสเซียเป็นศัตรูตัวสำคัญ ย้ำให้สมาชิกชาติอื่นๆ ถอยห่างจากรัสเซีย แต่ตุรกีเป็นอีกตัวอย่างที่ไม่เห็นด้วย เมฟเลิต ชาวูโชลู (Mevlut Cavusoglu) รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่า ตุรกีไม่ต้องเลือกข้างว่าจะอยู่ฝ่ายรัสเซียหรือฝ่ายใด ไม่ว่าประเทศใดก็ไม่อาจถามว่าเราควรคบใคร ตุรกีหวังมีความสัมพันธ์ที่สมดุลกับทุกฝ่าย 
    อันที่จริงแล้ว ไม่ใช่ว่าฝั่งยุโรปจะไม่กังวลรัสเซียเลย กรณีการผนวกไครเมียเป็นตัวอย่าง แต่หากมองให้รอบด้าน เกิดคำถามว่าสหรัฐที่เป็นพันธมิตรนาโตด้วยกันคือตัวภัยคุกคามด้วยหรือไม่ จะดีกว่าไหมหากอยู่กับรัสเซียอย่างเป็นมิตร ลดความหวาดระแวงต่อกัน และให้รัสเซียช่วยถ่วงดุลสหรัฐ เช่นนี้น่าจะดีกว่าปล่อยให้รัฐบาลสหรัฐกินรวบแต่ฝ่ายเดียว
ความสัมพันธ์ที่มากกว่าความมั่นคงทางทหาร :
    แม้บทความนี้มุ่งนำเสนอมิติความมั่นคงทางทหาร แต่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศครอบคลุมทุกมิติและสัมพันธ์กัน
    ความสัมพันธ์การค้าระหว่างประเทศเป็นอีกประเด็นที่ควรเอ่ยถึง ปี 2018 รัฐบาลทรัมป์ขึ้นภาษีเหล็กกับอะลูมิเนียมจากยุโรป พร้อมขู่ว่าอาจขึ้นภาษีรถยนต์จากอียู ด้านอียูเตือนว่าหากขึ้นภาษีรถยนต์ อียูจะตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐเช่นกัน
    ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐทำสงครามการค้ากับยุโรป ฝั่งยุโรปเพิ่มการค้าการลงทุนกับจีน ลงนามสัญญามูลค่ามหาศาล หลายประเทศสนับสนุนการริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI)
    ยกตัวอย่างปลายเดือนมีนาคม รัฐบาลอิตาลีลงนาม MOU กับจีนสนับสนุน BRI เชื่อมโยงท่าเรือ สร้างโรงงานผลิตไฟฟ้า หวังว่าจะส่งสินค้าไปขายตลาดจีนได้มากขึ้น ลดการขาดดุลกับจีน ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวจีนจะช่วยปรับปรุงท่าเรืออิตาลีให้ทันสมัย รัฐบาลอิตาลีย้ำว่าตนยังเป็นสมาชิกนาโตกับอียูไม่เปลี่ยนแปลง แต่จำต้องดูแลเศรษฐกิจของตน “เหมือนที่สหรัฐอเมริกาพูดว่าอเมริกาต้องมาก่อน” (America first) ตอนนี้ขอพูดว่า “อิตาลีต้องมาก่อน” (Italy first) ในด้านการค้าเช่นกัน
    รัฐบาลสหรัฐพยายามกีดกันไม่ให้นานาชาติเข้าร่วม BRI อ้างเหตุผลหลายเรื่อง เช่น โครงการไม่เป็นประโยชน์เท่าที่ควร ติดหนี้สินจีนอย่างหนัก แม้บางโครงการส่งผลเสียจริง แต่ล่าสุดกว่า 150 ประเทศสนับสนุน BRI
    เป็นเรื่องแปลกที่สหรัฐลงทุนและค้าขายกับจีนเป็นล่ำเป็นสันจนขาดดุลมหาศาล แต่กีดกันไม่ให้ประเทศอื่นๆ มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน
    รวมความแล้ว หากเทียบสมัยเริ่มองค์การนาโตกับปัจจุบัน ชาติสมาชิกฝั่งยุโรปแสดงความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เมื่อมี America Frist ยุโรปจึงขอมี Europe First เช่นกัน องค์การนาโตจะยังคงอยู่ต่อไปเพราะต่างมีผลประโยชน์ร่วมมหาศาล แต่ต้องแยกแยะว่าเรื่องใดเป็นผลประโยชน์ของใครด้วย ความเป็นเอกภาพของนาโตขึ้นกับความเห็นชอบร่วมกัน ไม่ขึ้นกับสหรัฐเป็นหลักเช่นเคย
    ความเป็นไปขององค์การนาโตให้ข้อคิดว่าความเป็นพันธมิตรไม่ได้หมายความว่าทุกประเทศจะคิดเห็นตรงกันเสมอ ทุกประเทศพยายามรักษาผลประโยชน์ของตน เมื่อบริบทเปลี่ยนไป สหภาพโซเวียตกลายเป็นรัสเซีย ชาติยุโรปหวังเป็นมิตรกับรัสเซียมากกว่ามองว่าเป็นศัตรู ปัญหาจึงเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลสหรัฐตีตราว่ารัสเซียคือภัยคุกคามตัวร้ายที่ต้องจัดการ กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างชาติสมาชิกฝั่งยุโรปกับสหรัฐ และอีกหลายประเด็นที่เห็นต่าง เพราะผลประโยชน์ที่ได้ต่างกัน
    หลักอเมริกาต้องมาก่อนของประธานาธิบดีทรัมป์เป็นอีกหลักฐานที่ชี้ว่ารัฐบาลสหรัฐไม่ได้มองความเป็นพันธมิตรที่ “เท่าเทียม” พยายามแสวงหาประโยชน์ให้มากที่สุด โดยอ้างว่าทุกประเทศล้วนเป็นเช่นนี้ พร้อมกับเรียกร้องให้ชาติสมาชิกยุโรปเพิ่มงบกลาโหมใช้จ่ายกับนาโตเพื่อความ “เท่าเทียมและยุติธรรม” 
    กลายเป็นที่มาของความสั่นไหวของนาโตในขณะนี้ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกที่ฝ่ายหนึ่งอยู่ข้างสหรัฐ กับอีกฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามองค์การนาโตที่ครบ 70 ปีจึงต่างจากยุคแรกๆ แม้ตัวนาโตจะยังอยู่ก็ตาม.
--------------------------
ภาพ : 
ที่มา : https://www.nato.int/cps/en/natohq/topics_110496.htm
                    --------------------------

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"