ปชป.จ่อซบพปชร.ก่อน9พ.ค.


เพิ่มเพื่อน    

 ประชาธิปัตย์หารืออนาคตทางการเมืองเครียด "ถาวร" ลั่น การเข้าร่วมรัฐบาลไม่ใช่เป็นการผิดอุดมการณ์ ไม่ใช่สนับสนุนผู้สืบทอดอำนาจ เพราะ "บิ๊กตู่" มาตามรัฐธรรมนูญ ด้าน "พีระพันธุ์" ยันอุดมการณ์ของพรรคปฏิเสธเผด็จการทุกรูปแบบ แต่ต้องดูความหมายของคำว่าเผด็จการว่าหมายถึงอะไร  ขณะที่ พปชร.ตั้งทีมเก็บหลักฐานเอาคืนพวกป้ายสีพรรค

    เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่พรรคประชาธิปัตย์ เวลา 09.30 น. แกนนำพรรคบางส่วน อาทิ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์, นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ กรรมการที่ปรึกษาพรรค, นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู รักษาการรองหัวหน้าพรรค รวมทั้งว่าที่ ส.ส.พรรค และสมาชิกพรรค อาทิ นายถาวร เสนเนียม, นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม, นายชุมพล จุลใส, น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร, นายแทนคุณ จิตต์อิสระ, นายชัยวุฒิ ผ่องแพ้ว, นายมนตรี ปาน้อยนนท์, นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์, นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์, นายประกอบ รัตนพันธ์, นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เป็นต้น เข้าหารือถึงทิศทางของพรรค 
          แต่เป็นที่สังเกตว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค, นายจุติ ไกรฤกษ์ รักษาการเลขาธิการพรรค, นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค, นายกรณ์ จาติกวณิช รักษาการรองหัวหน้าพรรค, นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ อดีตรองหัวหน้าพรรค ไม่ได้เข้าหารือด้วย 
    ก่อนเริ่มการหารือดังกล่าว ได้มีการพูดคุยกันนอกรอบระหว่างนายชวนกับนายถาวร เสนเนียม ที่เรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ นานประมาณ 15 นาที บรรยากาศเป็นไปอย่างเคร่งเครียด โดยมีสมาชิกพรรคบางส่วนนั่งฟังอยู่ด้วย เช่น นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม, นายชุมพล จุลใส, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์, น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร, นายมนตรี ปาน้อยนนท์, นายแทนคุณ จิตต์อิสระ เป็นต้น
    กระทั่งช่วงบ่ายการหารือดังกล่าวก็ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด นายชวนเดินทางกลับไปก่อนแล้ว โดยระบุว่า ตนมาเพื่อรับฟัง และไม่ทราบว่าจะมีการหารือครั้งหน้ากันอีกเมื่อไหร่
    ต่อมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ว่าที่ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะผู้ดำเนินการประชุม ให้สัมภาษณ์หลังการหารือว่า วันนี้เป็นการร่วมกันของอดีต ส.ส.และว่าที่ ส.ส. นัดหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาและการทำงานของพรรค 
    อย่างไรก็ตาม สรุปภาพรวมวันนี้คิดว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องทำตามอุดมการณ์ คือ ทำงานเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เหนือสิ่งอื่นใด นอกเหนือจากนี้ไม่อาจร่วมทำงานได้ ดังนั้นการทำงานของ ส.ส.จะเดินในแนวนี้เท่านั้น ส่วนเรื่องร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลนั้น ยังไม่อยากพูดอะไรในตอนนี้ เพราะจำนวนส.ส.ยังไม่นิ่ง
อุดมการณ์คืออะไร
    เมื่อถามว่า ประชาชนที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้นำนโยบายของพรรคไปปฏิบัติได้จริง นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ในส่วนของแนวนโยบายก็เป็นส่วนหนึ่ง เป็นธรรมดาที่อยากให้ผู้แทนที่เขาเลือกนำนโยบายไปปฏิบัติ แต่อีกส่วนที่ประชาชนต้องการคือ ความมั่นคง ความปรองดอง และความยั่งยืนของประเทศชาติ ดังนั้นในฐานะ ส.ส. เราก็ต้องนึกถึงประเทศเหนือการเมือง หมายความว่าการทำงานของส.ส.จะไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางการเมืองมาก่อน อะไรที่เป็นประโยชน์ที่ทำให้ประเทศเดินหน้า แม้พวกเราไม่ได้ประโยชน์ เราจะยึดชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เหนือการเมือง
    "อุดมการณ์ของพรรคที่ปฏิเสธเผด็จการทุกรูปแบบนั้น ต้องดูความหมายของคำว่าเผด็จการว่าหมายถึงอะไร แต่ที่สำคัญเราอย่าตกอยู่กับวาทกรรมทางการเมืองของคำว่าประชาธิปไตยและเผด็จการ เพราะทำให้แบ่งแยกประชาชน แบ่งแยกสังคม"
    ขณะที่นายถาวรกล่าวว่า เราหารืออย่างไม่เป็นทางการ มีผู้เข้าร่วมกว่า 30 คน ความเห็นจากการรับฟังประเด็นสำคัญคือจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์อยากร่วมรัฐบาล ที่สำคัญเกือบครึ่งของที่ประชุมต้องการให้ประกาศท่าทีในนามพรรคประชาธิปัตย์ก่อนวันที่ 9 พ.ค.นี้ เพราะเห็นว่าขณะนี้ใกล้งานพระราชพิธีสำคัญอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่ควรดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันที่เราเทิดทูนอย่างสูงยิ่ง แต่การร่วมรัฐบาลเป็นเรื่องความอยู่รอดของชาติบ้านเมือง  เราไม่คำนึงถึงการต่อรองตำแหน่ง แต่สิ่งที่เราให้ความสำคัญคือนโยบาย แก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน  การตัดสินใจนำเสนอของทุกท่านที่ต้องการให้ร่วมรัฐบาลต้องการให้ชาติอยู่รอด 
    เมื่อถามว่า ใครจะเป็นผู้ประกาศท่าทีร่วมรัฐบาล นายถาวรตอบว่า คณะกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการสามารถเชิญอดีต ส.ส.ปี 54 และว่าที่ ส.ส.เพิ่มเข้ามาในปี 62 รวมทั้งกรรมการบริหารชุดรักษาการของพรรค รวมทั้งองค์ประชุมที่ข้อบังคับพรรคเขียนเอาไว้มาประชุมกันได้ ตนไม่อยากประเมิน แต่เท่าที่ฟังความต้องการประชาชนและผู้มาแสดงความเห็นในวันนี้ ต่างเรียกร้องตรงกัน และพูดเป็นเสียงเดียวกันว่านี่เป็นความต้องการของพี่น้องประชาชน ไม่ใช่เป็นความต้องการของเขา
ไม่หนุนบิ๊กตู่ไม่ใช่มติพรรค
    "คงใช้ดุลพินิจแบบมีวุฒิภาวะ อย่าตกใจ อย่าคาดการณ์ แต่นักการเมืองของประชาธิปัตย์จะคำนึงถึงความอยู่รอดของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประโยชน์ประชาชน การเข้าร่วมรัฐบาลไม่ใช่เป็นการผิดอุดมการณ์ ไม่ใช่สนับสนุนผู้สืบทอดอำนาจ หรือไม่ได้สนับสนุนเผด็จการแน่นอน เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาตามเส้นทางของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ผ่านการทำประชามติมาแล้ว 16 ล้านเสียง คนที่เล่นแง่การเมืองบางคนอาจจะคิดว่านี่เป็นการยอมเข้าร่วมรัฐบาลที่จะทำให้เสียเปรียบไหม ซึ่งอยู่ที่คนจะคิด แต่คิดว่าประชาชนจะได้เปรียบ"
    ถามถึงกรณีนายอภิสิทธิ์เคยประกาศท่าทีไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ไปก่อนหน้านี้เเล้ว นายถาวร กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ลาออกจากหัวหน้าพรรคเเล้ว การพูดของท่านไม่ได้พูดจากมติของที่ประชุมพรรคไปพูด เป็นความคิดเห็นส่วนตัว เเม้ว่าเราจะเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน แต่เมื่อไม่เป็นมติพรรค ก็จะไม่ผูกพันพรรค 
    ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ฟังจากชาวบ้านพรรคที่เป็นตัวแทนนายทักษิณ ชินวัตร กับ พล.อ.ประยุทธ์ เขาบอกว่า เขาเอา พล.อ.ประยุทธ์มากกว่า ไม่มีความเป็นกลางในทางการเมือง ทางพฤตินัยต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นในปี 2531 พรรคพลังธรรมบอกว่าตัวเองเป็นกลาง ก็เท่ากับคะแนนเป็นศูนย์ เช้าไปอย่างเย็นไปอย่าง รัฐบาลก็ไม่ได้ ฝ่ายค้านก็ไม่ได้ เป็นคะแนนที่พึ่งพาไม่ได้ ในทฤษฎีทางการเมืองไม่มี เป็นเรื่องของพวกโลกสวย    
    ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐนั้น  นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค เปิดเผยว่า ขณะนี้พรรคมีมติให้เพิ่มคณะทำงานขึ้นมาเพื่อจะมาดูแลเรื่องการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ โดยมอบหมายให้นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง กทม. เป็นหัวหน้าคณะ เพื่อทำความเข้าใจบทบาทของพรรคต่อสาธารณชน 
    นอกจากนี้ จะมีการแต่งตั้งรองโฆษกพรรคอีก 2 คน คือ นายไกรเสริม โตทับเที่ยง และ น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. เพื่อรับผิดชอบภารกิจที่แตกต่างกัน และจะนำบุคลากรที่เป็นคนรุ่นใหม่ของพรรคมาร่วมในคณะทำงานด้านต่างๆ เพื่อให้มีบทบาทมากขึ้น 
ตั้งทีมเล่นงานกลับ
    นายสนธิรัตน์เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าวันที่ 6 เม.ย. ตนและนายพุทธิพงษ์จะเดินทางไปร่วมแสดงความยินดีเนื่องในวันคล้ายวันเกิดพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย เพราะถือว่าเป็นพรรคการเมืองด้วยกัน เมื่อเป็นวันสำคัญเราต้องไปร่วมแสดงความยินดี  
    ผู้สื่อข่าวถามว่า จะถือโอกาสเทียบเชิญทั้งสองพรรคมาร่วมรัฐบาลอย่างไม่เป็นทางการเลยหรือไม่ นายสนธิรัตน์กล่าวว่า เพียงแต่ไปแสดงความยินดีเฉยๆ ไม่ได้มีอะไรลึกซึ้งขนาดนั้น มีพรรคอื่นเกิดก็จะไป เพราะตนมองว่าเป็นสิ่งที่เราอยู่ในวงการเดียวกัน เมื่อถึงวันสำคัญของพรรคต่างๆ ถ้าเราไปร่วมได้ก็ยินดีไปร่วม
    นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า บรรยากาศทางการเมืองหลังการเลือกตั้งเริ่มที่จะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ มีการโจมตีใส่ร้ายป้ายสีกันทางโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐนั้นถูกกลุ่มการเมืองต่างๆ โจมตีเพื่อดิสเครดิตทั้งบนดินและใต้ดิน สร้างความเสื่อมเสียให้กับพรรค ดังนั้นพรรคจึงสั่งการให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคเก็บรวบรวมข้อมูล หากเห็นว่ามีมูลก็จะให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคดำเนินคดีทันที นอกจากนี้ พรรคยังให้ฝ่ายกฎหมายช่วยดูแลเรื่องร้องเรียนต่างๆ ให้กับผู้สมัครในเขตที่มีปัญหาด้วย
    นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยรายงานสถิติการให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตทางโทรศัพท์ สายด่วน 1323 ในรอบเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2562 ที่ผ่านมา พบว่ามีการให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต รวมจำนวน 13,229 ครั้ง 
    เขาบอกว่า หากวิเคราะห์ข้อมูลในรายเดือนจะพบว่าผู้ที่โทรศัพท์ปรึกษาเฉพาะเรื่องความเครียดและวิตกกังวลจากการเมือง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีจำนวน 22 ราย และเดือนมีนาคม 2562 มีจำนวน 37 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 68 เนื่องจากเป็นช่วงการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม ส่วนใหญ่เกิดความเครียดจากการมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันทางการเมืองระหว่างคนใกล้ชิด คนในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงาน ทำให้รู้สึกเครียด จึงโทรศัพท์มาปรึกษาพูดคุยเพื่อระบายความเครียด โดยขณะนี้กรมสุขภาพจิตกำลังติดตามเรื่องความเครียดจากการเมืองอย่างใกล้ชิด.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"