คณะอนุกรรมาธิการพิจารณา "เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ" ของปรีดี พนมยงค์ ได้จัดประชุมขึ้นในวันที่ 12 มีนาคม 2476 โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธาน ที่ประชุมมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเสนอให้ดำเนินการทางเศรษฐกิจอย่างรัฐบาลเก่า คือ ขยายสหกรณ์ประเภทเครดิต และขจัดคนกลาง เลือกทำในบางเรื่องตามโอกาสอำนวย และที่สำคัญคือ ไม่ต้องมีการวางแผนเศรษฐกิจ ส่วนฝ่ายของปรีดี พนมยงค์ เสนอให้รับหลักการที่จะดำเนินตาม "เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ" แต่งตั้งสภาเศรษฐกิจสำรวจและวางแผนจัดดำเนินการ "เมื่อมีแรงทุนเท่าใดทำเพียงเท่านั้น" การประชุมในวันนั้น ฝ่ายปรีดี พนมยงค์ พยายามรุกให้ที่ประชุมตกลงว่า จะเอาอย่างไรให้แน่นอน แต่ฝ่ายพระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็เบี่ยงบ่ายด้วยความคิดที่ว่า โครงการนั้นจะดำเนินการไม่ได้ และถ้าหาก ปรีดี พนมยงค์ ประกาศโครงการเศรษฐกิจในนามของตนเอง ก็อย่าทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่าเป็นของรัฐบาล
วันที่ 28 มีนาคม 2476 ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเรื่องนี้อีก ในที่ประชุม พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ถามว่า นโยบายทางเศรษฐกิจได้จัดการอย่างไรบ้าง ปรีดี พนมยงค์ ได้เล่าถึงการเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวของตน จากนั้น พระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็ได้นำเอาบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 7 เกี่ยวกับเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ มาเสนอต่อที่ประชุมและให้ปรีดี พนมยงค์อ่าน การกระทำดังกล่าวทำให้ความขัดแย้งต้องยุติลง พระบรมราชวินิจฉัยดังกล่าวนี้บ้างก็เชื่อว่าเป็นของรัชกาลที่ 7 บ้างก็ว่าพระยามโนปกรณ์นิติธาดากับพวกทำขึ้นแล้วให้รัชกาลที่ 7 ลงพระนาม แต่พระบรมราชวินิจฉัยดังกล่าวโต้แย้งปรีดี พนมยงค์ รุนแรงมาก
เช่นบางตอนกล่าวว่า "โครงการนี้นั้นเป็นโครงการอันเดียวอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือหลวงประดิษฐฯ จะเอาอย่างสตาลินก็ตอบไม่ได้ ตอบได้ข้อเดียวว่า โครงการทั้ง 2 นี้ เหมือนกันหมด" ซึ่งทำให้ ปรีดี พนมยงค์ ถึงกลับกล่าวว่า "เมื่อในหลวงไม่เห็นด้วยแล้วก็มีทางเดียวเท่านั้น คือ ข้าพเจ้าต้องลาออกจากรัฐมนตรี" แต่ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ขอให้ระงับการลาออกไว้ก่อน
ใน พระบรมราชวินิจฉัยเค้าโครงการเศรษฐกิจ ของ ปรีดี พนมยงค์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแสดงความเห็นโต้แย้งแนวคิดทางเศรษฐกิจของ ปรีดี พนมยงค์ แทบจะทุกประเด็น เริ่มตั้งแต่ หมวดที่ 1 ว่าด้วยหลักของคณะราษฎร ทรงก็ "ขอให้ฟังเสียงของราษฎรจริงๆ อย่างได้หักโหมบังคับเอาโดยทางอ้อม หรือทางใดทางหนึ่ง ให้ออกเสียงเห็นด้วยเลย ขออย่างโกรษราษฎรถ้าเขาพากันออกเสียงว่าไม่ชอบวิธีเหล่านี้ ซึ่งย่อมทำให้เกิดความไม่พอใจแก่พวกของผู้เขียนโดยแน่นอน และอย่างได้ว่าราษฎรนั้นถือทิฐิมานะงมงายหรือเป็นอุบาทว์กาลีโลก", ส่วนเรื่องของ "ความไม่เที่ยงแท้แห่งการเศรษฐกิจในปัจจุบัน"
เค้าโครงการเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่อง "ความแร้นของราษฎร" นั้น รัชกาลที่ 7 ทรงโต้แย้งว่า "ราษฎรของเราตลอดจนชั้นคนขอทานยังมิปรากฏเลยว่าอดตาย คนที่อดตายจะมีก็แต่คนที่กลืนไม่ลงเพราะความเจ็บไข้เท่านั้น แม้แต่สุนัขตามวัดก็ปรากฏยังไม่มีอดตาย...ราษฎรของเรามีน้อยคนหรือเกือบจะไม่มีก็ได้ที่นอนกลางคืนแล้วนึกว่ารุ่งขึ้นเช้าจะหากินไม่ได้ นอกจากผู้นั้นจะกระดุกกระดิกตัวไม่ได้ หาไม่ฉะนั้น คงหากินได้เสมอ"
เรือง "ราษฎรชอบเป็นข้าราชการ" นั้น พระองค์ก็โต้แย้งว่า "ความข้อนี้อาจเป็นจริงได้ แต่ไม่ใช่จริงอย่างตลอด เพราะเหตุว่าความหมายของราษฎรให้คำว่า 'ข้าราชการ' นั้นมิได้หมายดังที่ผู้เขียนหมาย 'ข้าราชการ' ตามความจริงของราษฎรนั้น คือผู้นั่งชี้นิ้วอำนวยการงาน หรือผู้นั่งโต๊ะเป็นเสมียน กินน้ำชาและ
งานเบาๆ ในประเภทเช่นว่านี้ ข้าราชการเช่นนั้น ข้าพเจ้ายอมรับว่าราษฎรอยากเป็นจริง เพราะสบายดี ไม่ต้องเหนื่อยยากอันใด แต่ถึงกระนั้นเองก็ยังไม่เป็นการจริงทั้งสิ้น เพราะมีราษฎรหลายคนที่ไม่พึงประสงค์จะเป็นแม้แต่เสมียน เขาชอบประกอบการอาชีพทำการอิสระ ดั่งนี้มักมีจำนวนอยู่มากไม่น้อย"
เรื่อง "แรงงานที่สูญเสียไปและพวกหนักโลก" นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโต้แย้งว่า "การที่จะจัดให้ราษฎรมาทำงานให้แก่รัฐบาลดังนี้ได้ โดยรัฐบาลมีอำนาจเต็มที่จะสั่งอะไรก็ได้ ในเวลากำหนดเท่าใดก็ได้ ดังแผนนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ถ้าจะทำได้ก็คงต้องถึงใช้การบังคับกันอย่างหนัก ถึงกับต้องยิงกัน อย่าลืมว่าคนไทยนันรักเสรีภาพความเป็นอิสระอยู่ในเลือดแล้ว เขาย่อมสละเสรีภาพมาให้ง่ายๆ ไม่ได้แน่ ถ้าจะต้องบังคับกันอย่างนี้แล้ว จะสมควรละหรือ เราหวังจะให้ความสุขสมบูรณ์แก่ราษฎรทั่วไป การต้องบังคับกดคอให้เขาทำงานนั้น จะจัดว่าให้ความสุขสมบูรณ์แก่เขาอย่างไร มันจะกลายเป็นให้ทุกข์สมบูรณ์เสียมากกว่า" ส่วนบทที่ 4 ที่ว่าด้วยเรื่อง "แรงงานที่เสียไปเพราะบุคคลที่เกิดมาหนักโลก" นั้น ทรงวิจารณ์ว่า
ปรีดี พนมยงค์
"ความหนักโลกดังผู้เยนกล่าวนี้ ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าจะหมดไปได้ นอกจากนั้นใครจะยอมว่าใครหนักโลก ตัวก็พูดว่าคนอื่นหนักโลก เรามักเห็นตัวเราไม่ถนัด เขาหนักเสมอ ต่างก็นึกเช่นนั้นเสมอเป็นธรรมดา เราเห็นว่าเราทำความดีให้ชาติ คนอื่นเขาก็คงมีเหตุผลอย่างเดียวกันที่จะนึก ดังนั้น คนเราย่อมมีใจคิดด้วยกัน ใครจะมาเป็นผู้ตัดสินว่า ใครผิดใครถูกโดยไม่มีข้อพิสูจน์อย่างใดชัดย่อมไม่ได้ เช่น พวก
ปรปักษ์ของรัฐบาลบางจำพวกที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เขาอาจเห็นตัวเขาไม่หนักโลก แต่เห็นคนอื่นหนักก็ได้"
เรื่อง "วิธีซึ่งรัฐบาลจะหาที่ดิน แรงงาน เงินทุน" ที่ปรีดี พนมยงค์ เน้นย้ำว่า "หลักการสำคัญที่ควรคำนึงก็คือ รัฐบาลต้องดำเนินการวิธีโดยละม่อม ไม่ประหัตประหารคนมั่งมี" นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเตือนว่า "ข้าพเจ้าขอให้เป็นดังนั้นจริงๆ เถิด ลงท้ายเข้าเกรงจะหันเข้าหาวิธีรัสเซียใช้ คือ เก็บภาษีสูบเลือดไปทีละเล็กละน้อย ให้ใบบอนด์ซึ่งมีราคาเกินกระดาษ จัดการเข้าประหารคนมั่งมี หาว่าคนมั่งมีหนักโลกเสียละกระมัง"
เรื่อง "รักชาติหรือรักตัว" พระองค์ก็ทรงโต้แย้งว่า "การที่จะพูดว่า คนที่เช่าที่เขาหรือคนที่มีที่ดินของตัวเองว่าใครจะรักชาติมากกว่าใครนั้นเฉยๆ ไม่ได้ เราจะรู้ได้ว่าใครจะรักมากกว่าใคร กลับจะต้องไปพิสูจน์เสียอีกว่า ถ้าชาติพังทะลายเสียแล้ว ผู้ใดจะเสียประโยชน์มากกว่ากันเป็นคะแนนวัดความรักชาติเสียอีก เพราะคนย่อมรักของๆ ตัวและประโยชน์ของตัวเป็นใหญ่จึงจะมีความรักใคร่ส่วนรวม คือ ชาติ" ส่วนที่ปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า "ข้าราชการบางคนเกียดกันไม่อยากให้ราษฎรเป็นข้าราชการ" นั้น พระองค์ก็ทรงโต้แย้งว่า "คำพูดเช่นนี้เป็นการกล่าวโทษข้าราชการโดยไม่ยุติธรรม"
เรื่อง "การจัดทำรายได้และรายจ่ายของรัฐบาลเข้าสู่ดุลยภาพ" โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อที่ว่าด้วยเรื่อง "การจัดการเศรษฐกิจโดยรัฐบาลต้องระวังไม่ให้มนุษย์กลายสัตว์" นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวิจารณ์ว่า "การที่จะไม่ให้คนกลายเป็นสัตว์นั้น ย่อมอยู่ที่คอยเพ่งเล็งมิให้เขาเสียเสรีภาพของเขาเป็นส่วนใหญ่ แต่ตามโครงการเศรษฐกิจที่ผู้เขียนกล่าวไว้แล้วนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าจะทำให้เป็นผลสำเร็จไม่ได้เลยถ้าไม่ใช้การบังคับ" ซึ่งก็จะทำให้ราษฎรกลายเป็นทาสเช่นเดียวกับในช่วงก่อนที่รัชกาลที่ 5 จะทรงประกาศเลิกทาส "แทนที่จะเรียกว่าข้าราชการก็กลายเป็นรัฐทาสเสียมากกว่า สัตว์นั้นอดหยากได้ยากกว่ามนุษย์ เพราะมันหาหย้ากินได้สบายกว่า แต่รัฐทาสนี้ไม่มีทางใดจะหากินทีเดียวนอกจากเป็นทาส"
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงวิจารณ์หลัก 6 ประการข้ออื่นๆ ด้วย เรื่อง "ความเสมอภาค" ทรงวิจารณ์ว่า "จะมีความเสมอภาคได้อย่างไร ข้าราชการส่วนหนึ่งต้องทำงานเป็นทาส และอีกส่วนหนึ่งเป็นนายผู้ชำนาญทำงานชี้นิ้ว ความเสมอภาคที่ผู้เขียนกล่าวนั้นไม่ใช่มีแต่บนกระดาษ เป็นแต่เพียงเสมอภาคด้วยชื่อ", เรื่อง "เสรีภาพ" ทรงวิจารณ์ว่า "เมื่อห้ามปรามขัดขวางไม่ให้ราษฎรทำตามสมัครใจได้ดังกล่าวแล้ว ก็เท่ากับตัดเสรีภาพ ก็เมื่อรัฐบาลตั้งใจจะตัดเสรีภาพเช่นนี้ ก็นับว่าเป็นการนำความสุขสมบูรณ์มาให้แล้วก็จะทิ้งคนให้มีชีวิตอยู่ทำไม ประหารชีวิตมันเสียให้หมดก็แล้วกัน มันจะได้ไม่ตายดีกว่าที่จะสละทิ้งเสรีภาพของตน" และสุดท้าย เรื่อง "การศึกษา" ทรงวิจารณ์ว่า "การบังคับให้เรียนหรือการบังคับต่างๆ นี้ ทำไมผู้เขียนจึงชอบนัก ก็จะการชักชวนแทนมิได้หรือ ถ้าจะจัดการศึกษาควรจะต้องชักชวนให้ราษฎรรักการศึกษา และให้ความสะดวกในการศึกษา ทำไมจะต้องใช้แต่ไม้บังคับตลอดไป"
พระยาพหพลพยุหเสนา
ควรกล่าวด้วยว่า ใน พระบรมราชวินิจฉัยเค้าโครงการเศรษฐกิจ ของ ปรีดี พนมยงค์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงวิจารณ์ "เค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร" และ "เค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ" อย่างละเอียดด้วย จากนั้นในท้ายที่สุด พระองค์ได้ทรง "สรุปความ" ว่า
"เรื่องที่ได้พิจารณามาแล้วนี้ย่อมเป็นความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้า ซึ่งจะเป็นการถูกต้องหรือไม่นั้นก็เป็นแต่ความคิดของข้าพเจ้าเท่านั้น การที่จะรู้ว่าใครเป็นคนถูกหรือผิดก็ต้องทดลองดูเท่านั้นจึงจะเห็นได้
แต่มีข้อสำคัญอันหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนอย่างไม่ต้องเป็นสิ่งสงสัยเลยว่า โครงการนี้นั้นเป็นโครงการอันเดียวอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือหลวงประดิษฐ์ฯ จะเอาอย่างสตาลินก็ตอบไม่ได้ ตอบได้ข้อเดียวว่า โครงการทั้ง 2 นี้เหมือนกันหมด เหมือนกันจนรายละเอียดเช่นที่ใช้และรูปแบบของวิธีการกระทำ จะผิดกันก็แต่รัสเซียนั้นแก้เสียเป็นไทย หรือไทยนั้นแก้เป็นรัสเซีย ถ้าสตาลินเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ ข้าวสาลีแก้เป็นข้าวสาร หรือข้าวสารแก้เป็นข้าวสาลี รัสเซียเขากลัวอะไร ไทยก็กลัวอย่างนั้นบ้าง รัสเซียเขาหาวิธีตบตาคนอย่างไร ไทยก็เดินวิธีตบตาคนอย่างนั้นบ้าง".
--------------------
อ้างอิง : สถาบันพระปกเกล้า
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |