5เม.ย.62-มข.ปรับตัวครั้งใหญ่ รับมือวิกฤตอุดมศึกษา จำนวนผู้เรียนลดลง ลุยเปิดหลักสูตร AI และ Blockchain อธิการชี้ จะเป็นวิชาที่มีบทบาทสำคัญในอนาคต แต่ไทยยังขาดองค์ความรู้และบุคคลากรด้านนี้
รศ.นพ ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) ได้กล่าวถึงนิโยบายการบริหารและพัฒนา หลังจากรับตำแหน่งอธิการบดีคนที่ 11 ว่า ทิศทางการเปลี่ยนแปลงต่อไปของมข. อยู่ภายใต้แนวคิด KKU Transformation การปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัย เพื่อความก้าวหน้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืนท่ามกลางวิฤตอุดมศึกษา ซึ่งได้มีการกำหนดทิศทางในการบริหารมหาวิทยาลัยให้พร้อมต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบของเสรีภาพทางความรู้และการเข้าถึงแหล่งความรู้รวมไปถึงการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรมด้านดิจิทัลสู่สังคม เนื่องจาก ต้องยอมรับว่า ขณะนี้ เป็นช่วงวิกฤตอุดมศึกษาของไทย เนื่องจากจำนวนผู้เรียนลดลง และยังเป็นช่วงที่เกิดจากเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก (Disruptive technologies)ซึ่งกระทบกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆดังเห็นได้จาก ที่นั่งในระบบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยหรือแอดมิชชั่นเหลือถึง 3 -4 หมืน ทำให้มข.ต้องมีการปรับตัว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากจำนวนผู้เรียนลดลง เนื่องจาก มข.มี3กลุ่มสาขาวิชาหลัก ได้แก่ กลุ่มสาขาแพทย์และสาธารณสุข กลุ่มสาขาสังคมศาสตร์ และกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์ ซึ่งสาขาวิชากลุ่มแพทย์ ยังขาดแคลนเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้มีผู้ต้องการเรียนจำนวนมาก ทำให้ที่นั่งไม่เหลือ แต่ยอมรับว่า มีบางสาขาที่จำนวนผู้เรียนลดลง เช่นที่วิทยาเขตหนองคาย ซึ่งเปิดสอนสาขาประมง และเกษตร ผู้เรียนน้อยกว่าที่นั่ง ทำให้มหาวิทยาลัยต้องมีการปรับปรุงหลักสูตร ให้ตอบสนองกับความต้องการของสังคมต่อไป
อธิการบดีมข.กล่าวอีกว่า แผนการปรับตัวครั้งสำคัญของมข.ในอนาคตคือ การเตรียมเปิดหลักสูตร AI Programmer และ Blockchain programmer, Data science, Machine learning, AI, Robotic engineering, Mechatronics สำหรับ หลักสูตรAI หรือปัญญาประดิษฐ์ มองว่าจะมีบทบาทต่อสังคมในอนาคตมาก มีการทำคาดการณ์ว่า อีก 50ปีข้างหน้า AI จะทำงานเป็นผู้ช่วยมนุษย์ แต่อีก 100ปีAI จะมาแทนมนุษย์ทั้งหมด แต่ปัจจุบันไทยยังขาดแคลนองค์ความรู้เรื่องนี้ โดยเฉพาะการเป็นผู้ผลิตโปรแกรมเอไอ ซึ่งมข.วางแผนที่จะเปิดการเรียนการสอนวิชาปัญญาประดิษฐ์ในอีก 2ปี ข้างหน้า ระหว่างนี้อยู่ระหว่างเตรียมการด้านบุคคลากร และการมองหาความร่วมมือกับสถาบันต่างประเทศ
"ด้านการเรียนการสอนAI เราอาจจะร่วมมือกับสถาบันชั้นนำ อย่างสถาบัน MIT ของสหรัฐอเมริกาหรือมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หรือสถาบันชั้นนำฝั่งยุโรปอื่นๆ หรือญี่ปุ่น รวมทั้ง Blockchain ด้วยเช่นกัน ที่จะมีบทบาท สำคัญต่อไป ซึ่งเดิมจะใช้กับfin tech วงการเงิน แต่ขณะนี้ขยายวงไปด้านวงการแพทย์ โดยเฉพาะระบบเวฃระเบียนของโรงพยาบาล เอ็กซเรย์ที่ใช้ระบบดิจิตอลแทนฟิล์ม นอกจากนี้ ซอฟต์แวร์อื่นๆ ที่ใช้กันอยู่อาจจะล้าสมัยไปแล้ว ถ้าจะปรับต้องทำใหม่ทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก แต่Blockchain จะมาเป็นคำตอบเติมเต็มส่วนนี้ ได้ Blockchain จึงมีความสำคัญในอนาคตมากด้วยเช่นกัน"
รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์ มข.ได้นำAIมาช่วยเรื่องการแพทย์ โดยใช้ในส่วนของผู้ป่วยไอซียู ที่มีความเสี่ยงหัวใจล้มเหลว โดยAIจะทำหน้าที่เตือนก่อนเกิดภาวะวิกฤตล่วงหน้า 15นาทีทำให้สามารถเตรียมแพทย์และพยาบาลได้ทัน และแนวคิดต่อไปคือ การคิดใช้AI มาช่วยในการตรวจวัดเบาหวาน โดยไม่ต้องเจาะเลือดแต่สามารถตรวจน้ำตาลในเลือดได้จากเหงื่อของคนไข้เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรรองรับคนสูงวัย หรือคนวัยทำงาน ที่ต้องการมาอัพเกรดความรู้ เนื่องจาก ความรู้ที่เคยเรียนเมื่อ 5-10ปีก่อน อาจจะไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงต้องมาพัฒนาความรู้ เพื่อรักษาการทำงานของตนเองให้มีประสิทธิภาพไม่ล้าหลัง รวมทั้ง มหาวิทยาลัยยังมีโครงการปรับการรทำงานของบุคคลากร ที่ก็จะต้องเป็นระบบDATA Science มากชึ้น เพื่อให้สอดคล้องเข้ากับทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต .