มีคำถามมาถึงผมว่า ข้อเสนอให้พรรคประชาธิปัตย์เป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” หรือ “ฝ่ายค้านสร้างสรรค์” จากนักการเมืองรุ่นใหม่บางคนนั้นมีตัวอย่างจากประเทศอื่นหรือไม่
คำตอบคือ มีความละม้าย แต่ไม่เหมือนกันทีเดียว
ผมเข้าใจว่าความหมายของ “ฝ่ายค้านอิสระ” ที่กำลังพูดกันอยู่ขณะนี้เป็นแนวทางของ New Dem บางคนที่ต้องการจะให้พรรค ปชป.ถอยห่างจากบทบาทการเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล ไม่ว่าจะร่วมกับเพื่อไทยหรือพลังประชารัฐ เพราะจะเป็นการทำให้ภาพลักษณ์และทิศทางของพรรคมัวหมองต่อเนื่อง
ในความเห็นของคนกลุ่มนี้ พรรค ปชป.จะต้องถอยมาตั้งหลักใหม่เพื่อกอบกู้และฟื้นฟูพรรคให้ประชาชนเห็นว่ายังยึดมั่นในอุดมการณ์ “เสรีนิยมประชาธิปไตย” ที่ไม่เอาทั้ง “เผด็จการ” และฝ่ายที่อิงแอบกับทักษิณ ชินวัตร
แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้ถูกตราหน้าว่าทำให้การเมืองช่วงหน้าต้องหยุดชะงักหรือถึงทางตัน เพราะวางตัวเป็นฝ่ายค้าน
จึงเป็นที่มาของการถกแถลงอย่างกว้างขวางขณะนี้ว่า แนวทางอย่างนี้เหมาะกับพรรค ปชป.หรือไม่
หลายคนโดยเฉพาะผู้อาวุโสในพรรคยืนยันว่า ปชป.ต้องร่วมกับพลังประชารัฐในการตั้งรัฐบาล แม้จะต้องยอมรับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ (ที่คุณอภิสิทธิ์ประกาศก่อนวันเลือกตั้งว่าไม่ยอมรับ) เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ฝ่ายเครือข่ายทักษิณมีอำนาจบริหารประเทศ
แต่ New Dem หลายคนต้องการให้ ปชป.แสดงจุดยืนที่แข็งขัน ไม่แสวงหาอำนาจ ยืนหยัดในหลักการ ฟื้นความมั่นใจของประชาชน
จึงกลายเป็นความเห็นต่างที่รอการตัดสินจากคณะกรรมการบริหารชุดใหม่
แนวทาง “ฝ่ายค้านอิสระ” อย่างนี้เคยมีในการเมืองอังกฤษ ซึ่งเรียกว่า Confidence and Supply
ความหมายของแนวทางนี้คือข้อตกลงระหว่างพรรคการเมืองที่มีความผูกพันน้อยกว่าการร่วมรัฐบาลผสม
เป็นข้อตกลงระหว่างพรรคการเมืองหนึ่งกับพรรคที่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย
พรรคที่เดินนโยบาย C&S นี้ไม่ส่งคนเข้าร่วมคณะรัฐมนตรี แต่พร้อมจะให้รัฐบาลเสียงข้างน้อยบริหารประเทศด้วยการพร้อมจะยกมือสนับสนุนญัตติสำคัญๆ โดยเฉพาะร่างกฎหมายงบประมาณและญัตติไม่ไว้วางใจ
แต่ขณะเดียวกันพรรคฝ่ายค้านอิสระที่ว่านี้ก็พร้อมจะค้านรัฐบาลในเรื่องที่ตนเองไม่เห็นด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ย่อมแปลว่า ความอยู่รอดทางการเมืองของรัฐบาลเสียงข้างน้อยย่อมอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยง จำเป็นต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากพรรคนอกรัฐบาลนี้
ข้อตกลงเช่นนี้ย่อมเกิดในกรณีพิเศษเท่านั้น และก็คงเป็นพันธกรณีเฉพาะกิจระยะสั้น เพื่อประคองให้รัฐบาลเสียงข้างน้อยทำงานไประยะหนึ่งก่อน
เพื่อรอให้มีการเจรจาให้พรรคอื่นๆ มาร่วมรัฐบาลอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ให้มีเสียงรวมกันแล้วมากพอที่จะมีเสถียรภาพพอสมควร
หรือไม่ก็รอให้มีการยุบสภาฯ เพื่อเลือกตั้งใหม่ ให้ประชาชนตัดสินอีกครั้งหนึ่ง เผื่อว่าพรรคใดพรรคหนึ่งจะได้รับความไว้วางใจเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ จะได้บริหารประเทศด้วยความมั่นคงกว่ารัฐบาลเสียงข้างน้อย
กรณีการเมืองไทยวันนี้ เราก็กำลังเห็นอาการของการตั้งรัฐบาลที่อาจจะเข้าข่ายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะไม่มีแกนนำไหนมีเสียงเกินครึ่งในสภาล่าง คือเกิน 250 เสียง เพื่อป้องกันความพยายามของฝ่ายค้านในอันที่จะคว่ำรัฐบาลได้
แม้จะเชื่อกันว่าพรรคพลังประชารัฐจะได้รับการสนับสนุนของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาและแต่งตั้ง 250 คน แต่หากตั้งรัฐบาลได้ก็จะเป็นเพียงรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร โอกาสที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือแพ้โหวตเรื่องกฎหมายงบประมาณ (ซึ่งใช้เสียงเฉพาะในสภาล่าง) ก็มีสูง จึงตกอยู่ในสภาพที่เสี่ยงต่อการถูกคว่ำได้ตลอดเวลา
นี่คือภาวะ deadlock ที่การเมืองไทยหลังเลือกตั้งกำลังเผชิญอยู่
และเมื่อนักการเมืองรุ่นใหม่ของ ปชป.เสนอให้พรรคตนเองเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” มีบทบาทคล้ายกับ C&S ของอังกฤษในบางจังหวะที่ผ่านมา จึงกลายเป็นประเด็นถกแถลงกันในพรรคและสังคมไทยทั่วไปอย่างคึกคัก
ในท้ายที่สุด ปชป.จะตัดสินอย่างไร จะให้กรรมการบริหารชุดใหม่ตัดสิน หรือจะขยายวงให้สมาชิกพรรคประมาณ 140,000 คน ทำ open primary หรือไม่ จึงเป็นประเด็นที่ควรจะได้รับความสนใจจากคนไทยทั่วไปอย่างยิ่ง
เพราะนี่คือ “นวัตกรรมทางการเมือง” อันเกิดจาก “สถาปัตยกรรมการเมือง” ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญและเขียนกติกาการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างปฏิเสธไม่ได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |