กรธ.ย้ำ สูตรคำนวณบัญชีรายชื่อมีสูตรเดียว กกต.ต้องคิดตามสูตร พรรคการเมืองไม่สามารถแปรกฎหมายสร้างสูตรใหม่ได้ ยันหลักคิดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งให้ทุกคะแนนที่ประชาชนออกเสียงมีความหมายไม่ถูกทิ้งเสียเปล่า ขณะที่ทีมสู้แล้วจนพรรคเพื่อชาติบุกที่ทำการพรรคร้องขอเยียวยา หลังเป๋าแฟบ หัวหน้าพรรคหัวเรือใหญ่หายหัวเหมือนเดิม ไร้เงา "จตุพร"
เมื่อวันที่ 3 เมษายน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เชิญนายประพันธ์ นัยโกวิท อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อดีต กกต. และนายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มาให้ความเห็นวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ ที่ถูกต้อง รวมถึงสอบถามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 การคำนวณหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง และมาตรา 128 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยเฉพาะ (5) (6) (7) เช่น กรณีพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.ระบบเขตเลือกตั้งมากกว่าจำนวน ส.ส.ที่พึงได้ หรือโอเวอร์แฮงก์ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับ กกต. ในการคำนวณ ส.ส. ก่อนจะประกาศรับรองอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้
นายประพันธ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมหารือว่า อำนาจในการคิดคำนวณ ส.ส. เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ซึ่งใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 วรรคท้าย ให้ กกต.เป็นผู้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด
เมื่อถามว่า ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ การคิดคำนวณบัญชีรายชื่อทุกคะแนนเสียงมีความหมายหรือไม่ อดีต กกต.ผู้นี้ตอบว่า หลักคิดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งให้ทุกคะแนนที่ประชาชนออกเสียงมีความหมายไม่ถูกทิ้งเสียเปล่า เพื่อเป็นการสะท้อนถึงสิ่งที่ประชาชนคิด และวิธีการคิด ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตารางการคิดก็ไม่ได้พึ่งมาคิดในขณะนี้ มีการเสนอมาตั้งแต่ในชั้นของ กกต.ชุดที่แล้วเสนอมาที่ กรธ. และเสนอต่อไปที่คณะกรรมาธิการร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งในชั้นของกรรมาธิการยกร่างฯ กฎหมายลูก ก็ได้มีการนำตารางการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อมาพิจารณาและยกร่างเป็นกฎหมาย ดังนั้นตารางการคิดคำนวณ ส.ส.มีอยู่รัฐสภา ไม่ได้เป็นความลับ สามารถขอได้
“ในการหารือ ผมได้ชี้แจงถึงที่มาที่ไปของการคิดคำนวณว่าเป็นมาอย่างไร ได้เรียนว่ามีอยู่แล้วในร่างเดิม เสนอมาจากสำนักงาน กกต.เอง และก็มีการพิจารณาใน กรธ.ร่างที่เสนอ สนช.ก็มีการเสนอไป และมีการปรับปรุง ในวาระขอคณะกรรมาธิการฯ ก่อนที่จะออกมาเป็นกฎหมาย”
กรธ.ยันมีสูตรเดียว
เมื่อถามว่า กรรมการยกร่างฯ พิจารณามีการตั้งสมมุติฐานว่าจะมีพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้ง ส.ส.ในระบบเขตมากกว่าจำนวน ส.ส.พึงมี นายประพันธ์ชี้แจงว่า เราพิจารณาหมดว่าถ้ากรณีไม่มีโอเวอร์แฮงก์จะทำอย่างไร หรือมีโอเวอร์แฮงก์จะคิดคำนวณอย่างไร รวมทั้งพิจารณาไปถึงว่าถ้าต้องประกาศ ส.ส.ร้อยละ 95 เพื่อให้เปิดประชุมสภาได้ การคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะคิดอย่างไร ซึ่งก็เขียนออกมาเป็นมาตรา 128 และ 129 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งรายละเอียดของตารางการคำนวณก็อยู่ที่รัฐสภา และเปิดเผยได้ ซึ่งในส่วนของคณะกรรมาธิการฯ พิจารณากฎหมาย ส.ส.ก็ดูตามตารางนั้น
ถามว่า ทำไมกฎหมายต้องเปิดช่องให้ กกต.มาทำสูตรตอนหลัง ทำไมไม่กำหนดไปเลยว่าอันไหนเป็นสูตรที่ถูกต้อง นายประพันธ์ตอบว่า เพราะตารางการคำนวณมีอยู่หมดแล้ว ว่าการคำนวณ ส.ส.ทำอย่างไร อยู่ที่สภา แต่มาตรา 128 เขียนว่าให้ กกต.เป็นผู้คิด หมายความว่า กกต.ก็ต้องไปดูสูตรแล้วคิดออกมาว่าจะออกมาอย่างไร พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตมาไม่ได้ยอมรับในสูตรนี้
"ในการยกร่างฯ มีสูตรและวิธีการคำนวณอยู่ก่อนแล้ว และมีสูตรเดียว"
ซักว่าจะต้องยึดสูตรนี้ และพรรคการเมืองไม่สามารถไปตีความกฎหมายแล้วคิดเป็นสูตรอื่นออกมาใช่หรือไม่ อดีต กรธ.แจงว่า อันนี้เป็นสูตรการคำนวณที่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. และมีสูตรเดียว
ส่วน 12 พรรคเล็กจำนวนพึงมีไม่ควรได้ แต่กลับได้ ส.ส.อยู่ในสูตรที่ กรธ.คิดหรือไม่ นายประพันธ์ กล่าวว่า อยู่ในสูตรที่มีอยู่ในกรรมาธิการ และมีปรากฏมาตั้งนานแล้ว
มีรายงานว่า ในที่ประชุม กรธ.ยืนยันว่า ในชั้นการยกร่าง การคิดสูตรคำนวณอยู่บนพื้นฐานว่าไม่ต้องการให้ทุกคะแนนเสียงถูกทิ้งน้ำ และยังมีการกำหนดตารางการคำนวณ ซึ่งได้เผยแพร่หน้าเว็บไซต์ของ กรธ.มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 ส่วนในประเด็นอื่นๆ ทาง กรธ.ไม่ได้ให้ความชัดเจนกับ กกต.
พรรคการเมืองที่จะได้รับการจัดสรรคือพรรคการเมืองที่มี ส.ส.เขตเท่านั้น, ทุกคะแนนเสียงมีความหมายไม่ทิ้งน้ำ จึงต้องนำคะแนนของพรรคทั้ง 74 พรรคไปคำนวณ ทำให้พรรคที่ได้คะแนนไม่ถึงจำนวนส.ส.พึงมี มีสิทธิได้รับการจัดสรร ส.ส.ด้วย โดยเรียงตามหลักทศนิยมจากมากไปหาน้อย ว่าแบบใดตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 91 (3) บัญญัติว่า นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตาม (2) ลบด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์คือจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ
(4) บัญญัติไว้ว่า ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับ หรือสูงกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ให้พรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจำนวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และให้นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตาม (2)
สำหรับพรรคที่ไม่ได้ ส.ส.เขตเลย เช่น พรรคเสรีรวมไทย หรือพรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรครักษ์ผืนป่า พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคพลังชาติไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวอย่างการสูตรคำนวณที่ กรธ.เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายนปี 61 นั้น ไม่ได้นำพรรคที่ไม่ได้ ส.ส.เขตมาคิดแต่อย่างใด
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่าการที่ กกต.คำนวณสัดส่วนแล้วพรรคเล็กที่คะแนน 3-4 หมื่นได้ ส.ส.ตรงนี้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ กกต.ต้องออกมาอธิบายให้ชัดเจน ส่วนกรณีที่มีการล่ารายชื่อเพื่อถอดถอน กกต. ที่อ้างสาเหตุว่าทำหน้าที่ไม่ยุติธรรมนั้น วันนี้ กกต.ต้องพยายามสร้างความเข้าใจและทำให้ชัดเจน และเปิดเผยรายละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะวิธีการคำนวณตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 นั้นเป็นเช่นไร เพื่อไม่ต้องให้มีใครมาวิพากษ์วิจารณ์ และมีคนโจมตีอยู่ทุกวัน
“ผมขอแนะนำว่า กกต.ควรเชิญตัวแทนและผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญในด้านคณิตศาสตร์ รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ มาร่วมกันช่วยแก้ปัญหาการคำนวณที่แต่ละคนแต่ละฝ่ายมีสูตรการคำนวณไปคนละอย่าง เรื่องนี้ต้องช่วยกันทำให้จบ ไม่ให้เกิดความแคลงใจ ผมคิดว่าวิธีนี้จะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลาย ไม่ต้องมาวิจารณ์กันว่าวิธีไหนกันแน่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย” นายสมศักดิ์กล่าว
"ธนาธร"ยันแก้ รธน.
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์ว่า นี่เป็นการเลือกตั้งที่แปลกประหลาดมาก 10 วันผ่านไปแล้วผลอย่างเป็นทางการก็ยังไม่ออก แม้แต่วิธีการคิด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ก็ไม่มีใครรู้ว่าแบบไหนถูกต้อง ทั้งที่นักวิชาการและสื่อมวลชนหลายแห่งก็บอกแล้วว่าวิธีถูกต้องเป็นอย่างไร แต่ กกต.ก็ยังไม่เปิดเผย ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย นี่เป็นวิกฤติศรัทธาที่ใหญ่ที่สุดที่มีกับองค์กรภาครัฐในประเทศไทย การล่ารายชื่อถอด กกต.ในออนไลน์มากกว่า 8 แสนคนนั้น ไม่เคยมีองค์กรหรือบุคคลสาธารณะคนไหนถูกล่ารายชื่อถอดถอนเยอะขนาดนี้มาก่อน นักศึกษามากกว่า 20 มหาวิทยาลัยร่วมกันล่ารายชื่อ
หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่กล่าวว่า ขอเป็นกำลังใจให้ กกต. เพราะยังมีทางทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ได้รับการยอมรับอยู่ นั่นคือเริ่มเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน เริ่มยอมรับความผิด เริ่มทำงานกับภาคประชาสังคม หน่วยไหนเขตไหนไม่ปกติ นับใหม่หรือเลือกตั้งใหม่อย่างโปร่งใส ถ้าการเลือกตั้งไม่ได้รับการยอมรับแล้ว ประเทศไทยเดินหน้าต่อลำบาก
"การนำพาประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยต้องเริ่มจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 นี่ขนาดยังไม่ได้เริ่มใช้ แค่การเลือกตั้งอย่างเดียวก็ทำให้เห็นแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหามากน้อยแค่ไหน ดังนั้นต้องยอมรับความจริงกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่มาเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตย ใช้งานจริงไม่ได้ อนาคตใหม่มีจุดยืนเรื่องนี้ชัดเจน ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยไปข้างหน้าได้ ต้องแก้ทั้งฉบับ ไม่ช้าก็เร็ว" นายธนาธรกล่าว
เมื่อถามว่า หาก กกต.ใช้สูตรคิดที่ทำให้ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ลดลงกว่าจำนวน ส.ส.พึงมี รับได้หรือไม่ นายธนาธรกล่าวว่า ขอดู กกต.ก่อนว่าจะประกาศอย่างไร
ที่ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว ที่ทำการพรรคเพื่อชาติ นายพนาสันต์ สุนันต๊ะ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 สุโขทัย พร้อมด้วยผู้สมัคร ส.ส.เขตทุกภูมิภาค พรรคเพื่อชาติ ที่ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากไม่ได้รับงบสนับสนุนหาเสียงเลือกตั้ง ทยอยเดินทางมารวมตัวกันมากกว่า 60 คน ทวงถามความชัดเจนจากคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อชาติอีกครั้ง เรื่องงบสนับสนุนหาเสียงเลือกตั้ง
ขณะที่ฝั่งผู้บริหารและแกนนำพรรคเพื่อชาติ มีนายอารี ไกรนรา, นายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล รองหัวหน้าพรรคและว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายรยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ, นายยศวริศ ชูกล่อม ผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อชาติ เป็นต้น เดินทางมาร่วมรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของผู้สมัคร ส.ส.เขต และได้เชิญให้ไปพูดคุยยังห้องประชุม ก่อนเข้าไปพูดคุย ทางแกนนำพรรค ได้ให้ผู้สมัคร ส.ส.ทุกคนฝากโทรศัพท์มือถือเอาไว้ข้างนอก และกำชับห้ามให้ข้อมูลกับบุคคลภายนอก โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปทำข่าว ขณะที่บริเวณหน้าประตูห้องประชุมมีชายฉกรรจ์ยืนเฝ้าหน้าประตูตลอดเวลา
แกนนำพรรคหายหัว
นายพนาสันต์ให้สัมภาษณ์ว่า พรรครับปากว่าจะจ่ายเงินเยียวยา แต่ยังตอบไม่ได้ว่าจะเยียวยาในวงเงินเท่าไหร่ เยียวยาเมื่อไหร่ ตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ที่ประชุมได้นัดกันเพื่อหารืออีกครั้ง ทั้งนี้ที่ผ่านมามีการรับปากเรื่องค่าใช้จ่ายมาหลายรอบ และเลื่อนมาตลอด ที่มาวันนี้เพราะเรารอมาหลายเดือนแล้ว รอไม่ได้แล้ว ก่อนการเลือกตั้งรับปากบอกให้เราสู้เต็มที่ ค่าใช้จ่ายทุกอย่างเบิกที่พรรคได้ไม่ต้องห่วง ที่ผ่านมาได้เพียงเงินค่าสมัครจำนวน 10,000 บาท และเงินค่าป้ายหาเสียงจำนวน 120,000 บาท ตลอดการหาเสียงมีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยประมาณ 800,000 บาท ถ้ายังไม่ได้คำตอบในวันนี้ เราจะหามาตรการต่อไป ทุกคะแนนที่เราหาให้ เราหาให้ปาร์ตี้ลิสต์หมด
"เราอยากเห็นหัวหน้าพรรคออกมาแสดงความรับผิดชอบ หัวเรือใหญ่หายไปไหนไม่รู้ อยากให้หัวหน้ามาสร้างความเชื่อมั่นให้กับเรา เรือกำลังจะจม จะปล่อยให้ลูกน้องลอยแพแบบนี้หรือ เราต้องการกัปตัน"
ขณะที่นายอารี ไกรนรา รองหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมภาคบ่ายว่า พี่น้องที่มาเดือดร้อน แต่เราช่วยเหลือตามสภาพที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ละภาค มีผู้ดูแลอยู่แล้ว และได้ทำการสรุปข้อมูลในแต่ละภาคเพื่อนำไปประกอบกับเงินเยียวยา ภายในวันที่ 10 เม.ย.จะให้คำตอบ เรารับเงื่อนไข คือครอบครัวเดียวกัน จึงต้องช่วยเหลือเยียวยา ส่วนจะเยียวยาใครก่อน ขึ้นอยู่กับความเดือดร้อนมากหรือน้อย ใครเดือดร้อนก่อนก็มาก่อน ใครเดือดร้อนน้อยก็ทยอยช่วยเหลือ ไม่ใช่ว่ามีคนเดือดร้อน 350 เขต บางคนก็ไม่มา และบางคนมาก็ไม่ได้เรียกร้องอะไร เพราะเข้าใจว่าพรรคประสบปัญหาไม่มีเงิน แต่คนที่มาวันนี้เดือดร้อนจริงๆ ก็ช่วยเหลือตามสภาพและตามที่ข้อกฎหมายกำหนด
นายรยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า เบื้องต้นผู้สมัครทุกคนพอใจที่ได้หารือกัน ผู้สมัครให้เวลา 7 วันเพื่อให้พรรคหารือ และนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมและแจ้งให้หัวหน้าพรรครับทราบ ซึ่งเงื่อนไขที่ผู้สมัคร ส.ส.เสนอมาทางพรรครับทราบ และผู้สมัครส.ส.ยินดีรอคำตอบจากพรรค นายอารียืนยันแล้วว่าจะช่วยเหลือ แต่จะเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ ขอให้เป็นเรื่องที่ทางพรรคพิจารณา บางพื้นที่เสียหายเยอะ เราจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป
นายชัยเกษม นิติสิริ อดีต รมว.ยุติธรรม แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีข่าวถูกเรียกตัวหารือกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อผลักดันให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ แทนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อ้างเนื่องจากนายทักษิณไม่ค่อยพอใจคุณหญิงสุดารัตน์ เพราะไม่ประกาศต่อสู้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีอย่างเต็มที่ว่า ไม่รู้เรื่องอะไรเลย และไม่เคยสไกป์ด้วย ถ้าหมายถึงช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้วตนอยู่ต่างจังหวัด จะไปสไกป์กับนายทักษิณได้ยังไง รับรองได้ไม่มี ถ้าอยากรู้มาตรวจสอบได้เลย
"ผมว่าเจตนาหวังสร้างความแตกแยกให้เกิดในพรรคเพื่อไทยมากกว่า เพราะจริงๆ แล้วเห็นจากข่าวแล้วไม่สบายใจ เดี๋ยวคุณหญิงสุดารัตน์จะเข้าใจผิด ผมไม่ได้อยากไปเป็น อยากให้เสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา อย่าไปเต้าข่าวขึ้นมา มันไม่ถูกต้อง เสียหาย ผมว่าข่าวนี้ตลกร้ายกาจ" นายชัยเกษมกล่าว
อย่าเพิ่งตัดสินใจเป็นฝ่ายค้าน
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เขียนจดหมายถึงหัวหน้าคนใหม่ว่า อย่ารีบฟันธงเป็นฝ่ายค้าน ขณะที่จำนวน ส.ส.ยังไม่นิ่ง ต้องเดินตามหลักการประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยสุจริต ที่ได้เคยพูดไว้ มิเช่นนั้นผลมันจะออกมาได้แค่ 2 ทาง คือ 1.รัฐบาลเผด็จการ คสช.อยู่ต่อพร้อม ม.44 เพราะยังตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยไม่ได้ หรือ 2.สุดารัตน์เป็นนายกฯ ขอย้ำว่าเป้าหมายและกระบวนทัศน์ต้องมั่นคง ทั้งนี้ ขึ้นกับผู้บริหารและ ส.ส.ใหม่ของปชป.ว่าจะพาพรรคไปในทิศทางใด ฝากหัวหน้าคนใหม่ว่าต้องยืนให้มั่นคง ดำรงเป้าหมายให้ดี และมีความกล้าหาญ
ที่หน้าสำนักงาน กกต. นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ พร้อมด้วยนายธนวัฒน์ วงค์ไชย แกนนำแนวร่วมประชาชนเพื่อการเลือกตั้งที่เป็นธรรม เดินทางมารอล่ารายชื่อประชาชนในการยื่นถอดถอน กกต. โดยนายสิรวิชญ์เปิดเผยว่า วันนี้ไม่ได้เดินทางมายื่นเรื่องใดๆ ต่อ กกต. แต่มานั่งรอรับรายชื่อประชาชนที่จะมายื่นถอดถอน กกต.เท่านั้น ซึ่งทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่สามารถตั้งโต๊ะได้ ดังนั้นก็จะมานั่งรอตรงนี้ถึงประมาณช่วง 14.00 น. ก่อนเดินทางไปล่ารายชื่อต่อที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลสำโรงในช่วงเย็น
นายสิรวิชญ์เผยถึงความคืบหน้าการล่ารายชื่อว่า ได้รับแล้วประมาณ 5,000 รายชื่อ จากเป้าที่ตั้งไว้ 20,000 รายชื่อ เราจะทำให้ได้มากที่สุด ส่วนจะมีการนำรายชื่อไปรวมกับกลุ่มอื่นหรือไม่นั้น อาจไม่ได้นำไปรวมกัน เพราะแม้มีแนวทางเดียวกัน แต่รายละเอียดต่างกัน ขณะนี้ทางกลุ่มได้ล่ารายชื่อจากนิสิตนักศึกษารวมประมาณ 20 มหาวิทยาลัย โดยเหตุผลหลักในการยื่นถอดถอนคือการเลือกตั้งไม่โปร่งใส ไม่ชอบมาพากล ซึ่งจะมีหลักฐานประกอบด้วย ก่อนยื่นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อไป และขอให้ ป.ป.ช.เร่งส่งศาลวินิจฉัย ส่วนการล่ารายชื่อในเว็บไซต์ Change.org หนึ่งล้านรายชื่อ แม้จะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่ก็เป็นแรงผลักดันหนุนเสริมให้ ป.ป.ช.ดำเนินการ เบื้องต้นในวันที่ 5 เม.ย.นี้ จะนัดแถลงข่าวปิดกิจกรรมที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ และวันที่ 10 เม.ย.นี้ จะนำรายชื่อไปส่ง ป.ป.ช.
นอกจากนี้ นายสิรวิชญ์และนายธนวัฒน์ยังเผยด้วยว่า ได้รับแจ้งจากประชาชนว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทำการล้วงลูกไปรษณีย์ไทย โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงติดต่อไปยังพนักงานไปรษณีย์ ขอเปิดดูเอกสารรายชื่อขอถอดถอน กกต. ที่มีการส่งเข้ามาที่ไปรษณีย์สามเสนใน ทำให้ผู้ที่ส่งรายชื่อรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย จึงขอให้ทางไปรษณีย์สามเสนออกมาชี้แจงกรณีดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ อยากให้ประชาชนส่งมาถึงมือพวกตนโดยตรงได้ และยังมีกรณีการล่ารายชื่อที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคใต้ หลังดำเนินการเสร็จ ปรากฏเจ้าหน้าที่รัฐขับรถตามมาขณะดำเนินการขนรายชื่อไปส่งที่ไปรษณีย์ด้วย ส่วนรายชื่อดังกล่าวส่งมาถึงหรือไม่ กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |