อย่าให้ผลเลือกตั้งเติมเชื้อ ความขัดแย้งระหว่างวัยอีก


เพิ่มเพื่อน    

    ผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้เกิดความร้าวฉานในสังคมไทยเพิ่มขึ้นหรือไม่...อยู่ที่คนไทยกันเองจะต้องปรับวิธีคิดและทัศนคติต่อความเห็นการเมืองที่แตกต่าง
    หลายคนบอกผมว่าบรรยากาศหลังเลือกตั้งที่เกิดผลหลายด้าน ที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการเมืองและสังคมไทยอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ต่อเนื่องจากเดิม และอาจจะรุนแรงกว่าเดิม
    เพราะแต่เดิมอาจจะเป็นความขัดแย้งระหว่างคนที่ชอบและไม่ชอบทักษิณ ชินวัตร ที่แบ่งเป็นสีเหลืองและสีแดง
    แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้มีความปริแยกเพิ่มขึ้น
    บางคนบอกว่าความขัดแย้งใหม่คือความคิดต่างระหว่างคนละวัย คนละรุ่น หรือที่เรียกว่า generation gap
    คนรุ่นใหม่เลือกพรรคที่พวกเขาและเธอเห็นว่าเป็นตัวแทนของความเปลี่ยนแปลง
    คนรุ่นเก่าเลือกพรรคที่พวกเขาและเธอเห็นว่าเป็นตัวแทนของความสงบและความต่อเนื่อง
    เพื่อนของผมบางคนบอกว่า “พูดกับลูกๆ ไม่รู้เรื่องเมื่อต้องคุยกันเรื่องการเมือง”
    หรือบางคนบอกว่า “พอผมชวนลูกคุยเรื่องการเมือง สิ่งที่ได้รับคือความเงียบงัน หรือไม่ก็ได้รับคำตอบว่าคุยเรื่องอื่นดีกว่า”
    แม้คนรุ่นเดียวกัน วันใกล้เคียงกัน เมื่อมีความเห็นเรื่องการเมืองไปคนละทางก็จะไม่คุยเรื่องการเมือง
    มีคนเล่าว่า เพื่อนบางคนถึงกับบอกว่า “ถ้าจะยังรักษาความเป็นเพื่อนอยู่ต่อไป เราอย่าคุยเรื่องการเมืองกันเลยจะดีกว่า”
    นั่นย่อมแปลว่าแม้กาลเวลาจะผ่านมากว่าสิบปีแล้ว แต่คนไทยจำนวนไม่น้อยก็ยังไม่อาจจะสร้างวัฒนธรรมของการเคารพในความเห็นต่างทางด้านการเมืองได้ ต่างคนต่างยืนอยู่คนละจุด และยังไม่ยอมฟังความเห็นอีกด้านหนึ่ง เพราะมีอคติต่อกันจนไม่อาจจะทนฟังข้อมูลหรือความเห็นที่ไม่ไปทางเดียวกับตัวเอง
    ยิ่งถ้าหากมีความเห็นต่างระหว่างวัย ระหว่างพ่อแม่ลูกในเรื่องการเมืองแล้ว ก็ยิ่งจะทำให้น่ากังวลว่าจะเกิดประเด็นสังคมเดินออกห่างจากกัน เพราะการแข่งขันทางด้านการเมืองมากขึ้นกว่าเดิม
    จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาทางป้องกันไม่ให้ความแตกต่างทางด้านความคิดทางการเมืองกลายเป็นสาเหตุแห่งความขัดแย้งในระดับต่างๆ
    จากเดิมเป็นเรื่องแบ่งระหว่างสีเสื้อ
    อีกทั้งยังซ่อนไว้ด้วยการแบ่งกลุ่มก้อนเรื่องชอบหรือไม่ชอบตัวบุคคล เพราะพฤติกรรมบางอย่าง
    ตามมาด้วยการสร้างความแปลกแยกด้วยความคิดทางการเมือง เช่น อนุรักษนิยม, เสรีนิยม และ “นิยม” อื่นๆ ที่ไม่มีคำนิยามชัดเจน
    และครั้งนี้เพิ่มมาเป็นการแบ่งตามวัยและรุ่น
    และอาจจะเพิ่มเป็นความขัดแย้งด้วยวาทกรรมเรื่อง “เผด็จการ” กับ “ประชาธิปไตย” ที่เพิ่มความรุนแรงของภาษาที่ใช้เพิ่มความเกลียดชังที่เรียกว่า hate speech อย่างน่าเป็นห่วง
    พอกลุ่มหนึ่งชี้นิ้วอีกกลุ่มหนึ่งว่าอยู่ฝ่าย “สืบทอดอำนาจ คสช.” ก็จะมีอีกกลุ่มหนึ่งชี้นิ้วกลับไปอีกฝ่ายหนึ่งเป็น “สืบทอดผลประโยชน์ของเครือข่ายทักษิณ”
    ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ว่านี้เป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิรูปประเทศให้เข้าสู่การสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ เพื่อให้เกิดพลังของคนในชาติร่วมกันอย่างจริงจัง ทิ้งความขัดแย้งเดิมๆ เอาไว้ข้างหลัง
    ความจริงการที่รุ่นคุณพ่อคุณแม่หย่อนบัตรให้พรรคการเมืองที่พวกท่านเชื่อว่าจะสามารถรักษาความสงบได้ และคนรุ่นใหม่ลงคะแนนให้กับพรรคใหม่ที่ชูนโยบายสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้นั้น ไม่ควรจะเป็นสาเหตุแห่งความขัดแย้งในครอบครัวหรือสังคมในส่วนรวมเลย
    เพราะเอาเข้าจริงๆ ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลที่ดี และการที่ได้พรรคที่มีแนวทางแตกต่างกันเข้าไปในรัฐสภา ก็ย่อมจะเป็นการปูทางไปสู่การถกแถลงเพื่อหาทางออกให้กับประเทศชาติ
    เพราะผลการเลือกตั้งเป็นกระจกสะท้อนวิธีคิด, อารมณ์และความต้องการในช่วงนั้นๆ 
    เมื่อประชาชนในวัยต่างกัน พื้นภูมิของอาชีพไม่เหมือนกัน มีมุมมองต่อการเมืองที่หลากหลาย ผลการเลือกตั้งก็ย่อมจะออกมาผสมผสานอย่างที่เห็น ไม่ควรจะต้องเป็นสาเหตุแห่งความขุ่นข้องหมองใจของผู้ใช้สิทธิ์ จนกลายเป็นความขัดแย้งจนไม่อาจจะพูดจาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้
    สังคมไทยกำลังเข้าสู่ช่วง “เปลี่ยนผ่าน” ที่มีนัยสำคัญยิ่ง จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะ “เปลี่ยนผ่านวิธีคิด” เพื่อไม่ให้ต้องหล่นลงไปใน “กับดักแห่งความดักดาน” อีกรอบหนึ่ง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"