3 เม.ย. 62-ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดงานแถลงข่าว “ผลสำรวจการอ่านของประชากร ประจำปี พ.ศ. 2561” พบว่าคนไทยใช้เวลาอ่านเพิ่มมากขึ้นเป็น 80 นาทีต่อวัน โดยอ่านหนังสือเล่มร้อยละ 88 และอ่านบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์มาแรงถึงร้อยละ 75.4 ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น สะท้อนว่าหนังสือเล่มยังคงอยู่เคียงคู่สื่อใหม่ ทั้งนี้ในภาพรวมคนไทยมีการอ่านร้อยละ 78.8 ซึ่งหมายถึงยังมีคนไทยที่ไม่อ่านถึงร้อยละ 21.2 และกลุ่มวัยรุ่นคือกลุ่มที่ใช้เวลาอ่านสูงสุดเมื่อเทียบกับทุกวัย
นางสาววันเพ็ญ พูลวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวถึงภาพรวมสำรวจการอ่านของคนไทยในปี พ.ศ. 2561 พบว่าคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป อ่านร้อยละ 78.8 หรือคิดเป็นจำนวนประชากร 49.7 ล้านคน โดยในกรุงเทพฯ มีคนอ่านมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 92.9, ภาคกลางร้อยละ 80.4 ภาคเหนือและภาคอีสานร้อยละ 75 และ ภาคใต้ร้อยละ 74.3 ขณะที่เวลาในการอ่านสูงขึ้น พบว่าคนไทยอ่านหนังสือนานสุด 80 นาที/วัน เทียบจากปี 2558 อ่าน 66 นาที และและ 2556 อ่าน 37 นาที
ผลการสำรวจปี 2561 นี้ยังมีการจัดอันดับ 10 จังหวัดที่มีจำนวนคนอ่านหนังสือมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 92.9%, สมุทรปราการ 92.7%, ภูเก็ต 91.3% ขอนแก่น 90.5% สระบุรี 90.1% อุบลราชธานี 88.8% แพร่ 87.6% ตรัง 87.2% นนทบุรี 86.6% และ ปทุมธานี 86.2%
นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า การสำรวจในปีพ.ศ. 2556 และ พ.ศ. 2558 และพบว่าสถิติการอ่านของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป สำหรับในปีนี้ แม้ว่าจะมีตัวเลขคนอ่านเพิ่มขึ้นร้อยละ 78.8 ก็ตาม แต่เมื่อมองไปที่ตัวเลขของกลุ่มที่ไม่อ่าน พบว่ามีถึงร้อยละ 21.2 คิดเป็นจำนวนประชากร 13.7 ล้านคน ซึ่งเหตุผลของการไม่อ่าน มีตั้งแต่การดูทีวี ไม่มีเวลา อ่านไม่ออก ไม่ชอบ ไม่สนใจการอ่าน ชอบเล่นเกม รวมทั้งไม่มีเงินซื้อหนังสือ ในจำนวนนี้มีคนที่บอกไม่ชอบและไม่สนใจอ่านถึงร้อยละ 25.2 ถ้าคิดเป็นจำนวนประชากรก็ประมาณกว่า 3 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อยทีเดียว คนกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของอุทยานการเรียนรู้ TK park และหน่วยงานที่ทำงานด้านส่งเสริมการอ่านทั้งหลาย
อีกหนึ่งประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามคือกลุ่มเด็กเล็ก กิตติรัตน์ บอกว่า จากผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 63.8 ยังขาดความเข้าใจในเรื่องการอ่านหนังสือของเด็กเล็ก โดยให้เหตุผลว่าเด็กยังมีอายุน้อยเกินไป ทำให้เด็กกลุ่มนี้ คิดเป็นจำนวนราว 1.1 ล้านคน ไม่ได้รับการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านเหตุเพราะความเข้าใจผิดของผู้ปกครอง ดังนั้นการรณรงค์ให้ความรู้และทำความเข้าใจในการส่งเสริมการอ่านในเด็กเล็ก เช่น การเล่านิทานให้ลูกฟังเป็นประจำ และในกลุ่มอายุ 15-24 กลับพบว่าไม่ชอบการอ่านถึงร้อยละ 34.9
“ผลการสำรวจในปี 2561 ยังระบุถึงประเด็นการอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียวในเด็กวัยต่ำกว่า 6 ปี ที่มีจำนวนร้อยละ 5.4 เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากผลสำรวจเมื่อครั้งที่แล้ว นั่นหมายถึงมีเด็กจำนวนถึง 145,000 คน ถูกพ่อแม่เลี้ยงดูด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียว ในขณะที่งานวิจัยเรื่องผลกระทบของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านจอ ทีมแพทย์ระบุว่าการเสพสื่อผ่านจออิเล็กทรอสิกส์มีผลกระทบกับพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งไม่สมควรใช้กับเด็กเล็กแรกเกิดจนถึง 1 ขวบครึ่งอย่างสิ้นเชิง ซึ่งประเด็นนี้นับว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก” ผู้อำนวยการอุทยานการเรียนรู้ TK park กล่าว
กิตติรัตน์ย้ำทิ้งท้ายว่า การรณรงค์ให้รักการอ่าน ต้องเริ่มจากพ่อแม่ สถานศึกษา เนื้อหารูปเล่ม หาซื้อง่าย และห้องสมุด ที่ทั่วโลกต้องรู้จักปรับตัวเพื่อการอยู่รอด ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจที่แสดงตัวเลขผู้อ่านหนังสือในห้องสมุด คิดเป็นจำนวนกว่า 2.9แสนคน ซึ่งต่ำกว่า 3 แสนคนเป็นครั้งแรก โดยมีผู้ยืม-คืนหนังสือลดลง คิดเป็นร้อยละ 8.3 ซึ่งปรากฎการณ์การลดลงของผู้มาอ่านหนังสือในห้องสมุดนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในเมืองไทย ดังนั้นห้องสมุดเองจะต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่นอกเหนือการเป็นพื้นที่อ่านหนังสือ เพื่อรองรับการใช้งานที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนในชุมชนอย่างแท้จริง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |