เล็งผุด'สำนักงานแก้จน' 'ก.ค.'ทูลเกล้าฯแผน20ปี


เพิ่มเพื่อน    

    กก.ปฏิรูปเศรษฐกิจชงตั้งสำนักงานบูรณาการแก้จน ขจัดปัญหางบประมาณซ้ำซ้อน สศช.รับฟังความเห็นร่างยุทธศาสตร์ชาติครั้งที่ 3 คาดเสนอ ครม.เดือน พ.ค. ก่อนเข้าสภา-นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ก.ค.นี้  กทม.คิกออฟ "ไทยนิยม" 21 ก.พ. จัด 200 ทีมขับเคลื่อนชุมชน กำชับห้ามซื้อของแจก
    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ และนายรอยล จิตรดอน ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศไทย หัวข้อ "ทรัพยากรมีคุณค่า กับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน" 
    นายประสารกล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปฯ ได้เสนอแนวทางการจัดตั้งสำนักงานบูรณาการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ เพื่อแก้ปัญหาความซ้ำซ้อนของงบประมาณ เพราะจากการตรวจสอบข้อมูลปัจจุบัน พบว่ามีหลายหน่วยงานที่มีโครงการช่วยเหลือในด้านนี้รวมประมาณ 43 โครงการที่ทับซ้อนกัน  โดยโครงการทั้งหมดก็มีวงเงินที่ถูกบรรจุไว้ ทั้งที่เป็นงบประมาณด้านยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความยากจนของประเทศ วงเงิน 331,920 ล้านบาท และถูกบรรจุในงบประมาณด้านการดูแลสวัสดิการของประชาชน วงเงิน 579,490 ล้านบาท
    สำหรับข้อเสนอการจัดตั้งสำนักงานดังกล่าว เห็นว่าแนวทางมีหลายระดับ ระดับบุคคลที่มุ่งเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรและแรงงานไร้ฝีมือที่ยากจนในระดับฐานราก ระดับชุมชน มุ่งสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ด้วยการยกระดับสถาบันการเงินชุมชนและพัฒนาธุรกิจชุมชน รวมถึงการพัฒนาผู้นำชุมชน และระดับประเทศ มุ่งพัฒนาเมืองในภูมิภาค และจัดสรรงบประมาณให้กับจังหวัดที่ยากจนอย่างเหมาะสม การสร้างระบบสวัสดิการพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ระบบบำนาญให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม และขยายความคุ้มครองของกองทุนประกันสังคมไปยันกลุ่มแรงงานนอกระบบ
    นายประสารกล่าวว่า ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจที่ได้จัดทำเรียบร้อยจะได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบไปด้วยแผนการปฏิรูป 3 ด้าน ได้แก่ 1.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะประกอบไปด้วยการดำเนินการทั้งระยะสั้น กลาง และยาว 2.การสร้างความเท่าเทียมและการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม เพื่อการลดความเหลื่อมล้ำและกระจายประโยชน์จากการพัฒนาไปสู่ประชาชนให้ทั่วถึงมากขึ้น และ 3.การปรับกลไกและบทบาทภาครัฐให้เท่าทันกับบริบทที่เปลี่ยนแปลง
    "คณะกรรมการฯ ได้เสนอการปฏิรูปหน่วยงานการคลังและงบประมาณ ให้มีประสิทธิภาพและยั่นยืนในระยะยาว โดยจำเป็นต้องปฏิรูปหน่วยงบประมาณ ให้การจัดสรรงบประมาณสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ และปฏิรูปนโยบายการคลังและภาษีเพื่อรองรับภาระทางการคลังที่ในอนาคตจะเพิ่มขึ้นจากการดูแลผู้สูงอายุ ด้วยการปฏิรูประบบประกันสุขภาพของประเทศ และเพื่อเพิ่มรายได้รัฐบาลเสนอให้มีองค์กรจัดเก็บภาษีให้เป็นองค์กรกึ่งอิสระเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี รวมทั้งปฏิรูปหน่วยบริหารสินทรัพย์ของภาครัฐ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจให้บริหารสินทรัพย์ให้เพิ่มมูลค่าตามศักยภาพ" นายประสารระบุ
    ด้านนายรอยลกล่าวว่า การปฏิรูปในด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มี 3 ประเด็นหลัก คือ การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ที่ขยายผลแบบอย่างสำเร็จ ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การใช้เทคโนโลยีรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงของประเทศ รวมถึงการบริหารจัดการด้านกฎหมายที่ดี 
    วันเดียวกัน นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  (สศช.) กล่าวเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่ออนาคตของประเทศไทยในระยะ 20 ปี ระหว่างปี 2560-2579 เพื่อนำเสนอการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นว่า ครั้งนี้เป็นการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มภาคีการพัฒนาในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศเกี่ยวกับร่างยุทธศาสตร์เบื้องต้นทั้ง 6 ด้าน เป็นครั้งที่ 3 และครั้งสุดท้ายจะจัดขึ้นที่ภาคใต้ในวันที่ 22 ก.พ. ที่ จ.สงขลา จากนั้นจะนำความคิดเห็นทั้งหมดประมวลเสนอต่อคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 คณะ โดยวางกรอบระยะเวลาดำเนินการซึ่งเตรียมเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในวันที่ 9 เม.ย. และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในวันที่ 9 พ.ค. ก่อนที่จะนำเสนอให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาในวันที่ 8 ก.ค. และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในวันที่ 18 ก.ค.
    ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น)  พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เป็นประธานเปิดประชุมถ่ายทอดนโยบายและกรอบแนวทางปฏิบัติงานในการขับเคลื่อนตามโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีคณะผู้บริหารกทม. ข้าราชการ และทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศกว่า 3,000 คน ร่วมประชุม
    พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า กรอบการดำเนินการทั้ง 10 เรื่องนั้น สอดคล้องกับนโยบายของ กทม.ประจำปี 2561 คือ NOW! ทำจริงเห็นผลจริง ซึ่งกำหนดให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อน 3 ระดับ คือ ระดับกรุงเทพฯ ระดับเขต และระดับชุมชน มีนายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัดกทม.เป็นประธาน โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนระดับเขตจะแต่งตั้งทีมขับเคลื่อนระดับชุมชน จำนวน 200 ทีม แบ่งเป็นทีมละ 7-12 คน ประกอบด้วย ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร ปราชญ์ชาวบ้าน และจิตอาสาตามกิจกรรมเราทำความ ดี ด้วยหัวใจ ลงพื้นที่ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ รวม 2,067 ชุมชน ซึ่งจะคิกออฟครั้งแรกในวันที่ 21 ก.พ. พร้อมกับทีมอื่นทั่วประเทศ ทั้งนี้ พล.อ.อนุพงษ์ได้จัดสรรงบประมาณ รวม 430 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนละ 2 แสนบาท 
    นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ รองปลัด กทม. กล่าวว่า กทม.กำหนดให้วันที่ 12-19 ก.พ.​ เป็นการถ่ายทอดนโยบายให้แก่ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจในโครงการ ก่อนนำมาพูดคุยเพื่อดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 21 ก.พ.-20 มี.ค. โดยกำหนดให้ 1 ทีมดูแลให้ครบ 10 ชุมชน ซึ่ง พล.อ.อนุพงษ์ได้กำชับให้ กทม.ติดตามงานจนเห็นผลเป็นรูปธรรม ไม่ใช่การซื้อของแจกแล้วจบโครงการ ซึ่งโครงการของแต่ละชุมชนจะขึ้นอยู่กับลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ เช่น ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความปลอดภัย ความเป็นอยู่ ฯลฯ.  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"