สนทนาประสา 'คนรุ่นใหม่'


เพิ่มเพื่อน    

       วันนี้..........

      ลุยเรื่อง "อาจารย์เศรษฐศาสตร์คุยกับนิสิตรัฐศาสตร์" ให้จบ เป็นตอนที่ ๒ เริ่มเลยนะ

      Tan Thanyaporn Chankrajang

      5.ค่าแรงขั้นต่ำ:เศรษฐศาสตร์บอกว่าแย่เสมอไปจริงหรือ

      สรุป:ไม่จริง หลักฐานส่วนใหญ่ทางเศรษฐศาสตร์ที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากประเทศต่างๆ บ่งชี้ว่า

      การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่มากจนเกินไป และค่อยๆ ขึ้น จะไม่ทำให้เกิดการว่างงานหรือการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ (https://www.bloombergquint.com//u-s-economy-higher-minimum ; Card and  Krueger, 2015)

      จากทฤษฎีเบื้องต้นที่เด็กๆ เรียนกัน อัตราค่าแรงถูกกำหนดโดยกลไกตลาด ซึ่งค่าแรงจะเท่ากับ  marginal productivity ของแรงงาน

      อีกนัยหนึ่งก็คือ เราทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพแค่ไหน คุณค่าที่เราใส่ไปในงานให้กับนายจ้างมีมากเพียงไร ก็จะได้รับค่าตอบแทนกลับมาอย่างสมน้ำสมเนื้อ

      จากทฤษฎีเบื้องต้น ค่าแรงขั้นต่ำที่สูงกว่าจุดดุลภาพนี้ตามกลไกตลาด จะทำให้เกิดปัญหาการว่างงาน เพราะค่าแรงที่สูงขึ้นทำให้คนอยากทำงานมากขึ้น

      แต่นายจ้างต้องจ่ายค่าตอบแทนที่มากกว่า marginal productivity ของแรงงาน จึงไม่คุ้มทุนที่นายจ้างจะจ้างแรงงานที่อยากทำงานไว้ได้ทั้งหมด

      แต่ในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ขั้นสูงขึ้นไปที่มีการใช้ทฤษฎีเกมเข้ามาช่วยวิเคราะห์

      อัตราค่าจ้างไม่จำเป็นต้องถูกกำหนดโดยกลไกตลาด แต่มักขึ้นอยู่กับอำนาจต่อรองระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง

      เช่น ถ้าอำนาจต่อรองของนายจ้างมีมาก นายจ้างก็จะเป็นผู้กำหนดค่าแรง ค่าแรงที่แรงงานได้รับก็อาจถูกกดให้ต่ำกว่าคุณค่าของแรงงานที่แท้จริง หรือต่ำกว่า marginal productivity (Card and Krueguer, 2015)

      สหภาพแรงงานมีบทบาทในการช่วยลูกจ้างต่อรองค่าจ้างกับนายจ้าง

      ในประเทศไทย ที่มีสหภาพแรงงานอยู่น้อย รัฐบาลสามารถทำหน้าที่นี้แทนได้ โดยผ่านการกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำ

      ถ้าค่าแรงที่มีอยู่เดิม ต่ำกว่า marginal productivity เพราะลูกจ้างไม่มีอำนาจต่อรอง

      การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ นอกจากจะทำให้แรงงานที่มีรายได้น้อยและขาดอำนาจต่อรอง ได้รับค่าตอบแทนที่คุ้มค่ามากขึ้นกับคุณค่าของแรงงานที่ให้แก่นายจ้างแล้ว

      ถ้าค่าแรงที่ขึ้นไม่สูงขึ้นมากและเร็วจนเกินไป ก็จะไม่ทำให้เกิดการว่างงาน เพราะอัตราใหม่ไม่ได้สูงกว่า marginal productivity

      นอกจากนั้น ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ยังสามารถสร้างแรงจูงใจให้การทำงานของแรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย (efficiency wage)

      เพราะฉะนั้น ทั้งๆ ที่ค่าแรงสูงขึ้น ความต้องแรงงานของนายจ้างอาจจะไม่ได้ลดลง เพราะประสิทธิภาพของแรงงานที่สูงขึ้น ทำให้คุ้มค่าที่จะจ้างนั่นเอง

      จริงๆ แล้วนักเศรษฐศาสตร์ก็มีแนวทางการทำงานคล้ายๆ นักวิทยาศาสตร์

      เราสังเกตเหตุการณ์ในธรรมชาติทางด้านเศรษฐกิจและสังคม หาทฤษฎีเพื่ออธิบายเหตุการณ์นั้นๆ  เสร็จแล้ว ก็ต้องทำการทดสอบทฤษฎี โดยการใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์ทางสถิติ

      ถ้าพบว่าผลที่เจอไม่ตรงตามทฤษฎี เราก็เปลี่ยนความคิด หาทฤษฎีใหม่ แล้วก็ทดสอบกันต่อไป

      เราไม่ได้มีความคิดเป็นกรอบตายตัว ไม่ได้มีอุดมคติว่าโลกต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

      ในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำก็เช่นกัน Alan Krueger ที่เพิ่งเสียชีวิตไป ได้ทำการทดสอบทฤษฎีว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะทำให้เกิดผลเสียต่อการจ้างงานหรือไม่

      Card and Krueger (1993) เก็บข้อมูลจากแรงงานในร้านอาหารจานด่วนจำนวนมาก (ซึ่งผู้ทำงานเป็นผู้มีค่าแรงน้อย) จากรัฐ New Jersey ที่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และจากรัฐที่ติดกัน คือ Pennsylvania ที่ไม่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

      จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ไม่ได้มีการลดลงของการจ้างงานในร้านอาหารจานด่วนในรัฐที่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เมื่อเทียบกับการจ้างงานในรัฐที่ไม่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่อย่างไร

      หลังจากนั้น ก็มีงานวิจัยเกิดขึ้นอีกมากมาย เพื่อทดสอบผลกระทบของค่าแรงขั้นต่ำ (Card and  Krueger, 2015)

      งานเหล่านั้น ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ได้ข้อสรุปว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่มากจนเกินไป และค่อยๆ ขึ้น จะไม่ทำให้เกิดการว่างงานหรือการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

      "แล้วอาจารย์จะสรุปเรื่องนี้อย่างไร เกี่ยวกับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่เห็นในการหาเสียงครับ" เสียงหนึ่งถามขึ้น

      เราไม่อาจทราบได้เลยว่า นโยบายนี้จะมีผลเสียต่อเศรษฐกิจจริงอย่างที่มีคนออกมาวิจารณ์หรือเปล่า จนกว่าจะได้ทำการทดสอบตามหลักวิชาการที่น่าเชื่อถือได้ แต่จากผลการทดสอบส่วนใหญ่ที่มีการทำมาตลอดยี่สิบกว่าปีจากประเทศต่างๆ ชี้ให้เห็นว่า

      การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่มากจนเกินไปและค่อยๆ ขึ้น จะไม่ทำให้เกิดการว่างงานหรือการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เห็นว่า การเสนอนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของพรรคพลังประชารัฐที่จะค่อยๆ  ขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ 400-425 บาท

      เป็นการเสนอนโยบายที่มีรากฐานมาจากการศึกษางานวิจัยทางวิชาการมาแล้วเป็นอย่างดี

      6.Hyperinflation:เมืองไทยจะเป็นเวเนซุเอลา เป็นเรื่องมโน

      "อาจารย์คะ หนูไม่ได้เลือกอนาคตใหม่ แต่เลือกเศรษฐกิจใหม่ค่ะ อาจารย์เห็นว่าอย่างไรคะ"

      คำถามมาจากนิสิตที่ใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า

      เราเลยให้เด็กๆ ช่วยเล่าให้ฟังว่า พรรคนั้นพูดอะไรเกี่ยวกับเศรษฐกิจบ้าง นิสิตอีกคนเล่าว่า

      เค้าบอกว่า เมืองไทยจะเป็นเหมือนเวเนซุเอลา ที่ต้องเอาเงินมาโยนทิ้งเกลื่อนถนนกันเต็มไปหมด

      เราเลยบอกเด็กๆ ว่า คงจะหมายถึง hyperinflation ถ้าอย่างนั้นก็เป็นเรื่องดี เพราะบทเรียนที่จะเรียนกันในวันนั้น คือเรื่องเงินเฟ้อพอดี

      เงินเฟ้อ คือ การเงินมีค่าน้อยลง เพราะของแพงขึ้น สิบบาทของเราเคยซื้อก๋วยเตี๋ยวได้หนึ่งชาม  พอเงินเฟ้อ สมมติว่าก๋วยเตี๋ยวขึ้นไปเป็นชามละยี่สิบบาท เงินเท่าเดิมสามารถซื้อได้แค่ครึ่งชาม

      สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ Hyperinflation is a fiscal phenomenon.

      หมายความว่า เงินเฟ้ออย่างรุนแรง เป็นปรากฏการณ์ที่เริ่มมาจากการที่รัฐบาลขาดดุลงบประมาณอย่างมาก รายได้ (ส่วนใหญ่ได้มาจากภาษี) ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ก็เลยต้องหาวิธีหาเงินอย่างอื่น

      ถ้าหาเงินโดยวิธีพิมพ์เงินเยอะๆ เงินในระบบ (money supply) ก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อจำนวนเงินเพิ่มขึ้นมากๆ ค่าของเงินก็เลยลดลง

      อย่างในเวเนซุเอลา เงินไม่มีค่าขนาดนั้น ต้องเข้าขั้น hyperinflation คือเงินเฟ้อสูงกว่า 50% ต่อเดือน

       อีกตัวอย่างก็คือ เยอรมนี ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 รัฐบาลเยอรมันต้องการเงินมาจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมาก แต่ไม่มีเงิน ก็เลยพิมพ์เงินมาใช้แทน พอพิมพ์มากๆ เข้าก็มี hyperinflation ถึงขั้นมีเรื่องเล่าว่า ปกติการดื่มเบียร์ให้อร่อย ต้องดื่มที่รินมาใหม่ๆ เย็นๆ

      แต่ถ้ารอจนดื่มหมดแก้วแล้วค่อยสั่งใหม่ก็จะช้าเกินไป เพราะราคาเบียร์ขึ้นเร็วมากและตลอดเวลา  จึงต้องสั่งมาทีเดียวหลายๆ แก้ว

      คนเยอรมันในตอนนั้น ถึงกับต้องยอมดื่มเบียร์ไม่เย็นกันเลยทีเดียว

      ถ้าเงินเฟ้อรุนแรงขนาดนั้นในเมืองไทย นิสิตคงจะแย่แน่ๆ ถ้าต้องต่อแถวรอก๋วยเตี๋ยวที่คณะกัน (ก๋วยเตี๋ยวอดทนในตำนาน ที่คิวแสนยาว)...

      เด็กๆ ได้ฟังก็หัวเราะกันใหญ่

      "อาจารย์ขา แต่ว่าเค้าบอกว่ารัฐบาลไทยมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาก ขาดดุลงบประมาณเยอะมากนะคะ" นิสิตคนหนึ่งถามต่อขึ้นมาอย่างฉลาด เพราะถ้าหนี้มากก็มีความเสี่ยงที่ต้องพิมพ์เงินเยอะๆ เราเลยอธิบายเพิ่มว่า เวลาดูว่าหนี้สาธารณะว่าเพิ่มหรือลด ต้องดูสัดส่วนหนี้ต่อมวลรวมประชาชาติหรือ  GDP ไม่อย่างนั้นประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่ก็จะมีหนี้เยอะโดยปริยาย

      แต่ประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา หนี้เพิ่มเป็นสัดส่วนเท่าๆ กับ GDP ที่เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ก็ถือว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะมีประมาณเท่าเดิม

      7.แม่ค้าในห้างขายของไม่ออก ไม่ได้แปลว่าเศรษฐกิจไม่ดี

      "อาจารย์คะ หนูขออนุญาตถามเพิ่ม แล้วที่เค้าบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดี เพราะดูได้จากการที่แม่ค้าในห้างขายของไม่ได้เลยล่ะคะ" 

      เราจึงถามว่า "ทุกวันนี้นิสิตซื้อของออนไลน์กันหรือเปล่าคะ" 

      เด็กๆ อมยิ้ม พยักหน้ากันหงึกหงัก

      "อาจารย์ก็เหมือนกัน ชุดนี้อาจารย์ก็ซื้อออนไลน์ ฮ่าๆ"

      "เพราะฉะนั้น ก็ไม่น่าแปลกใจใช่ไหมคะ ที่แม่ค้าในห้างจะขายของได้น้อยลง ซึ่งตรงกันกับหัวข้อ  sectoral shift ที่เราเคยเรียนกันในบท unemployment ยังจำกันได้ไหมคะ" มีเสียงอืออา นิสิตชายที่ใส่แว่นเอาใจใส่ถามตอบเสมอ นั่งอยู่กลางห้อง ถึงกับตาเป็นประกาย

      Sectoral shift เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคหรือองค์ประกอบของความต้องการสินค้าที่เปลี่ยนไป (change in composition of demand)

      ในที่นี้ คนเปลี่ยนจากการซื้อสินค้าในห้างมาเป็นการซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า การจับจ่ายใช้สอยโดยรวมในประเทศลดลง

      Sectoral shift ทำให้เกิดการเพิ่มของรายได้และการจ้างงานในธุรกิจที่ขยายตัว แต่ก็ทำให้เกิดการลดลงของรายได้และงานในธุรกิจที่หดตัว

      ระยะเวลาของการว่างงานนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวและเพิ่มพูนทักษะเพื่อประกอบอาชีพใหม่...ในยุคดิจิทัลที่มีความต้องการทักษะทางเทคโนโลยีมากขึ้น กระทรวงพาณิชย์และมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้เปิดอบรมธุรกิจออนไลน์เพื่อช่วยแก้ปัญหาในจุดนี้กันด้วย

      Sectoral shift เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติในระบบเศรษฐกิจ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หรือความชอบ

      เราจึงพบว่า แม้แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจดี ก็ยังมีการว่างงานอยู่

      ก่อนจะกลับเข้าสู่บทเรียนกันต่อ เราบอกกับนิสิตว่า เราเชื่อและเข้าใจว่านิสิตมีอุดมคติที่ดีงาม แต่อย่าปล่อยให้อุดมคติหรือความเชื่อใดๆ เป็นบ่อเกิดแห่งความเกลียดชัง แตกแยก ดูหมิ่นผู้อื่น เหมือนที่ถูกชักชวน

      อย่าปล่อยให้อคติทางการเมือง เป็นตัวขวางกั้นการศึกษาหาความรู้

      เพราะถ้านิสิตต้องการจะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีงามยิ่งขึ้น สิ่งที่ต้องการมากกว่าการออกมาเรียกร้อง กดดันผู้อื่น ก็คือความรู้ และเครื่องมือว่า เราจะพัฒนาโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้อย่างไร

      ที่สำคัญ อย่าปล่อยให้อคติทางการเมืองมาเป็นกรอบจำกัดความสามารถในการเข้าใจสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง และในการใช้เหตุผล ตรรกะ และข้อมูลในการวิเคราะห์สิ่งต่างๆ

      เราขอบคุณนิสิตเป็นที่สุด ที่เปิดอกคุยกัน และรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน นิสิตแสดงให้เห็นว่า คนที่เห็นต่างทางการเมือง ก็สามารถคุยเรื่องการเมืองกันได้อย่างเป็นมิตรและสนุกสนาน ขอให้พวกเราจำบรรยากาศและความรู้สึกที่ดีเหล่านี้ไว้

      "โอย เลือกใหม่ได้ไหมอะ"

      เป็นสิ่งที่เราแอบได้ยินจากนิสิต ได้ยินแล้วก็ยิ้มในใจ...ไม่เลย จุดประสงค์ของเรา ไม่ใช่การชักชวนให้นิสิตเลือกในสิ่งที่เหมือนกับเรา

      แต่อยากให้เราเข้าใจกัน เราอยากเข้าใจนิสิต และยินดีอย่างที่สุดที่นิสิตก็อยากที่จะเข้าใจเรา

      ประโยค "โอย เลือกใหม่ได้ไหมอะ" นั้น ทำให้เรายิ้ม เพราะจริงๆ แล้วเราก็ไม่ต่างกันนี้นา

      บทส่งท้าย

      นิสิตจะทราบไหมนะ ว่าส่วนหนึ่งของเหตุผลที่เราตัดสินใจมาเปิดใจคุยกับนิสิตกันอย่างเพื่อน เหตุผลที่เราอยากเข้าใจนิสิต มากกว่าที่จะคิดเองเออเอง ว่าทำไมนิสิตจึงตัดสินใจอย่างนั้นอย่างนี้

      เพราะช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา เรานั่งดูข่าว ที่พลเอกประยุทธ์เข้าอวยพรปีใหม่แด่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

      ใจความที่เราจับได้จากโอวาทของพลเอกเปรมนั้น จับใจยิ่งนัก สรุปได้ว่า

      "ขอให้มีความเป็นมิตรกับคนทุกผู้ แม้กระทั่งกับคนที่เห็นต่างจากเรา"

      คำพูดนั้นกระทบใจเราอย่างแรง เพราะรู้ดีว่าตัวเองยังบกพร่องในเรื่องนี้อยู่ จึงตั้งใจไว้มั่น ว่าจะพยายามทำให้ได้มากที่สุด เป็น new year resolution

      และวันอังคารที่ผ่านมา เมื่อความรักและความปรารถนาดีมีเต็มเปี่ยมในใจแล้ว ความเป็นมิตรก็หลั่งไหลออกมาเอง โดยไม่ต้องบังคับบัญชา....

        มิตรภาพ เป็นของขวัญวันอังคารที่ผ่านมา ที่วิเศษที่สุดจริงๆ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"