เดินหน้าก็ชะงัก ถอยหลังก็สะดุด


เพิ่มเพื่อน    

    การเมืองจะถึง "ทางตัน" หรือ deadlock อีกครั้งหนึ่งหรือไม่อยู่ที่ความสามารถของนักการเมืองทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่ประชาชนเลือกเข้ามาครั้งนี้ ว่าจะสามารถใช้สติปัญญาในการเสาะแสวงหา "ทางออก" ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้หรือไม่
    นั่นหมายถึงการที่จะมีทางออกที่ไม่หวนกลับไปสู่ความขัดแย้งเดิมๆ ที่ทำให้ประเทศไทย "ติดกับดักแห่งความดักดาน" มาสิบกว่าปี
    และหมายถึงการที่จะทำให้เกิดรัฐบาลผสมที่เดินหน้าทำงานตามนโยบายที่พรรคต่างๆ หาเสียงเอาไว้
    อีกทั้งยังจะมีฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลใหม่ได้อย่างเข้มข้น
    ต้องไม่ใช่การ "สืบทอดอำนาจ" ของ คสช. และไม่ใช่การ "สานต่อผลประโยชน์" ของเครือข่ายทักษิณ
    สองพรรคใหญ่คือเพื่อไทยและพลังประชารัฐกำลังแย่งชิงโอกาสการตั้งรัฐบาล ขณะที่พรรคระดับกลางคือประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยกำลังจะเป็น "ตัวแปร" สำคัญกำหนดว่าฝ่ายไหนจะได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล
    แต่เมื่อทุกคะแนนมีความสำคัญตามกติกาการหย่อนบัตรครั้งนี้ ทุกที่นั่งก็มีความหมายเพราะทั้งสองฝั่งมีจำนวนพรรคที่อยู่ข้างตนเอง "ปริ่มน้ำ" ด้วยกันทั้งคู่
    โอกาสจะเกิด deadlock จึงมีสูง และอาจจะกลายเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า
    เดิมทีคาดกันว่าหลังจาก คสช.ปกครองประเทศมา 5 ปี เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วจะสามารถ "ปลดล็อก" การเมือง เดินหน้าสู่การบริหารประเทศด้วยนโยบายที่ประชาชนรอคอยมายาวนาน
    ที่สำคัญตามคำให้สัมภาษณ์ของรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม หากพรรคการเมืองยังรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ คณะรัฐมนตรีชุดนี้จะต้องอยู่ต่อไป 
    และไม่ได้อยู่ในฐานะ "รัฐบาลรักษาการ" ตามปกติ หากแต่จะบริหารประเทศต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ 
    แต่เพราะไม่มีกรอบกำหนดจึงไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ 
    แต่การจะอยู่ต่อไปเรื่อยๆ แบบไม่มีกำหนดย่อมจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกประหลาดสำหรับวิญญูชนที่พึงจะรับได้ 
    เหตุก็เป็นเพราะมีคนออกแบบมาอย่างนั้น
    รัฐธรรมนูญปี 2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 264 ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่
    ไม่แต่เท่านั้นยังมีมาตรา 265 ที่ระบุว่า ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่
    และโปรดทราบด้วยว่าในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้หัวหน้า คสช. และ คสช.ยังคงมีอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และให้ถือว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2560 ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจของหัวหน้า คสช.และ คสช.ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป
    นอกจากนี้ คสช.ยังคงมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกประการ 
    แปลว่า พล.อ.ประยุทธ์สามารถใช้มาตรา 44 ดำเนินการในเรื่องใดๆ ก็ได้
    ปมประเด็นที่กำลังถกกันอย่างเผ็ดร้อนในหลายๆ วงการก็คือ ถ้า กกต.รับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการและต้องมีการเปิดประชุมสภาภายใน 15 วัน และถ้าพรรคการเมืองยังจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลใหม่ไม่ได้ เหตุการณ์จะเป็นเช่นไร?
    หรือถามง่ายๆ คือ ส.ส.ที่ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้เข้าทำหน้าที่ในสภา ขณะที่ฝ่ายบริหารยังคงเป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อยู่กระนั้นหรือ
    แล้วจะทำงานกันอย่างไร?
    และจะอธิบายให้คนไทยและประชาคมโลกเข้าใจได้อย่างไร?
    กูรูวงการเมืองบอกว่าไม่ต้องสงสัยเลยว่า คนร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 เขียนอย่างนี้เพื่อให้ลุงตู่อยู่ต่ออยู่แล้ว
    วาดภาพไว้ก่อนได้เลยว่าถ้าเกิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หมดวาระลงก็จะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมาทำหน้าที่กำกับการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ 
    ถ้าโหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม ลุงตู่ก็จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปเรื่อยๆ 
    ในฐานะรัฐบาลรักษาการ แต่มีอำนาจเต็ม สามารถใช้มาตรา 44 ได้ เป็นไปตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264 และ 265
    คำถามก็คือเมื่อมีสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ แต่รัฐบาลเป็นชุดเก่า จะบริหารประเทศกันอย่างไร?
    มีคำถามต่ออีกว่า ถ้าสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ต้องการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลชุดเก่า จะสามารถทำได้หรือไม่
    และถ้าทำไปแล้ว จะมีผลทางกฎหมายคือ รัฐมนตรีคนที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจต้องพ้นจากเก้าอี้หรือไม่ 
    นี่คือคำถามที่ยังไม่มีคำตอบเพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้เขียนเผื่อสถานการณ์ที่ไม่ได้มีใครคาดการณ์ไว้ก่อน
    นี่กระมังเป็นแรงกดดันให้พรรคการเมืองทั้งหลายที่กำลังแย่งชิงโอกาสตั้งรัฐบาลกันอยู่ขณะนี้ จำต้องหาทางออกระหว่างกันให้ได้
    ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย...จึงเกิดสภาพ "เดินหน้าก็ชะงัก ถอยหลังก็สะดุด" อย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"