New Dem กับบทบาท 'ฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์'


เพิ่มเพื่อน    

       พรรคประชาธิปัตย์ที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างสาหัสครั้งนี้จะปรับทิศทางของตัวเองอย่างไร คนรุ่นใหม่ในพรรคที่เรียกตัวเองว่า New Dem มีจุดยืนที่กำลังท้าทายผู้นำพรรครุ่นปัจจุบันอย่างไรเป็นหัวข้อที่น่าสนใจมาก

        ผมคุยกับหนึ่งใน New Dem คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ “ไอติม” ผ่าน Suthichai Live วันก่อน เขาประกาศจุดยืนร่วมกับเพื่อนๆ รุ่นใหม่ในพรรคให้ประชาธิปัตย์เป็น “พรรคฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์” เพื่อฟื้นฟูพรรคที่พ่ายแพ้อย่างยับเยินครั้งนี้

        ผมคัดบางตอนของบทสนทนานั้นมาให้ได้อ่านกันครับ

       สุทธิชัย : หายตกใจ หายเศร้าหรือยังครับ

        ไอติม พริษฐ์ : ก็พยายามจะถอดบทเรียนอยู่ครับ

       สุทธิชัย : คืนวันที่เลือกตั้งผมเห็นคะแนนที่เข้ามา ตกใจมากไหม และช่วงไหนที่รู้ว่ามันผิดความคาดหมายจากเดิมที่ประเมินเอาไว้ได้ครับ

        ไอติม พริษฐ์ : ต้องบอกว่าจากการพบปะประชาชนในพื้นที่มันก็เป็นผลการเลือกตั้งที่แตกต่างจากความคาดหมายพอสมควร ผมจะพูดเสมอว่าผมเป็นคนไม่ค่อยเชื่อโพล เวลาที่มีคนมาบอกว่าประชาธิปัตย์จะได้ที่นั่งกี่ที่ในกรุงเทพมหานคร ผมจะพูดเสมอว่า 2-3 ปีที่ผ่านมาจากการเลือกตั้งต่างประเทศ โพลมักจะผิดเสมอ ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้เมื่อเราห่างเหินมันมานานกว่า 7-8 ปี การคาดเดาตัวเลขจากผลการเลือกตั้งเก่าผมว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าแปลกใจ เพราะถือว่าการตอบรับในพื้นที่ดีพอสมควร

        ถ้าถามว่าแปลกใจอย่างไรหรือรู้เมื่อไหร่ ความจริงก็รู้ตั้งแต่แรกๆ แล้ว ตั้งแต่เมื่อผลเริ่มออกมาเราก็เริ่มรู้แล้ว เพราะว่ามีข้อมูล 3 อย่างเข้ามาในหัวผมพร้อมๆ กัน อย่างแรกคือ คะแนนหน่วยของผม 2-3 หน่วยแรกออกมา แล้วคะแนนของอนาคตใหม่สูงมาก ซึ่งเป็นหน่วยที่เราคาดว่าเราจะชนะ แต่เรามาเป็นอันดับ 3

        อย่างที่สองคือ ผมเห็นในหน้าจอทีวี เขตที่ประชาธิปัตย์เคยชนะเป็นหมื่นๆ ก็มาอยู่ในอันดับที่ 3 และท้ายที่สุดนี้ก็มีผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์เขตหนึ่ง ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเขตที่ผมและทุกคนคาดคิดว่าน่าจะเข้ามาอันดับ 1 อย่างค่อนข้างท่วมท้น ปรากฏว่าเขาแพ้ มันจึงเป็นเหมือนภาพรวมที่เป็นกระแสของพรรค ซึ่งก็ทำให้แม้ผู้สมัครคนเดียวก็เอาไม่อยู่ครับ

        สุทธิชัย : ดังนั้นคืนนั้นเมื่อเราเห็นแน่นอนแล้วว่ามันมีแนวโน้มเช่นนั้น ได้มีการปรึกษาหารือการวิเคราะห์อย่างฉับพลันใช่ไหม หรือว่ารอจนกระทั่งผลออกมาชัดเจน เพราะว่าคุณอภิสิทธิ์ออกมายอมรับความพ่ายแพ้ ลาออก นี่ก็เร็วนะครับ เพราะว่าผลยังไม่สิ้นสุดเลย

        ไอติม พริษฐ์ : เร็วครับ เพราะว่าตอนนั้นที่คุณอภิสิทธิ์ได้รับเลือกขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค มันเป็นระบบที่เรียกว่า Closed Primary คือ ถามแค่สมาชิกพรรค ถ้าผมจำไม่ผิดประมาณ 100,000 คน ทีนี้ถ้าเป็นอย่างนั้นผมว่าก็ไม่เป็นอะไรที่เสียหาย เพราะมันจะเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้สมัครได้มาแสดงความชัดเจนว่าแต่ละคนจะพาพรรคไปร่วมหรือว่าเป็นฝ่ายค้านอิสระ แล้วไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรมันก็จะมีความชอบธรรมในตรงนั้น แล้วก็ถ้าเรามองว่า 100,000 คน อาจจะไม่พอ เพราะนั่นเป็นเพียงสมาชิกพรรค ซึ่งเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของคนที่เลือกประชาธิปัตย์ เพราะมีคนที่จะได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ บางทีผมก็อยากให้เราใช้หรือลองพิจารณาเรื่องการใช้ Open Primary นะครับ

        สุทธิชัย : Open Primary 3.9 ล้านคนเลยหรือครับ

       ไอติม พริษฐ์ : คือคงไปกำหนดไม่ได้ว่าเป็น 3.9 ล้านคน เพราะเราไม่อาจไปตรวจสอบได้ว่าใครเป็นคนเลือกประชาธิปัตย์บ้าง แต่ว่าอย่างระบบเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ของพรรคเลเบอร์ที่อังกฤษ ตอนที่เจเรมี คอร์บิน เข้ามา เขาใช้ระบบที่เรียกว่า Open Primary คือสมาชิกที่แน่นอนว่ามีสิทธิ์อยู่แล้ว และคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่น

สามารถมีสิทธิ์เข้ามาเลือกตั้งได้เหมือนกัน

       สุทธิชัย : ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรค

        ไอติม พริษฐ์ : เขามีกฎที่ว่าต้องให้จ่าย 3 ปอนด์ หรือราว 100-150 บาท ซึ่งไม่ได้เป็นการคิดค่าธรรมเนียมเพื่อจะกีดกัน แต่เพื่อป้องกันไม่ให้คนที่อาจจะไปเอาบัตรของคนอื่นมาและสามารถโหวตได้ง่ายๆ

       สุทธิชัย : ข้อเสนอนี้จะนำสู่ที่ประชุมหรือไม่ครับ โดยมีคุณไอติมกับเพื่อนจำนวนมากแค่ไหนที่คิดเหมือนคุณไอติมตอนนี้

       ไอติม พริษฐ์ : อันนี้ไม่ทราบ แต่ว่าก็คิดว่ามีบางคนที่เห็นด้วยอยู่ จะมีการยื่นไปที่กรรมการบริหารพรรคหรือไม่ ความจริงอันนี้ผมไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการบริหารพรรค

        แต่ว่าก็เป็นอะไรที่ผมได้สะท้อนให้หลายคนในพรรคฟังแล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าจะถูกนำไปต่อยอดหรือเปล่า เพราะผมกลัวว่าถ้าหากว่าเราจะทำอะไรที่ขัดกับสิ่งที่เราได้ให้สัญญาไว้หรือได้พูดไว้ กับประชาชนที่เลือกเรา ผมว่ามันเป็นการไม่รักษาคำพูด ผมพูดง่ายๆ เลยตัวผมเองในฐานะผู้สมัครในเขตบางกะปิ มีคุณลุงวิ่งมาหาผมหลังจากที่คุณอภิสิทธิ์ประกาศ แล้วก็บอกว่าคุณอภิสิทธิ์เอาจริงใช่ไหม ถ้าเอาจริงผมเลือกคุณนะ ผมก็บอกว่าเอาจริงแกพูดความจริง ดังนั้นถ้าเกิดว่าวันหนึ่งเราไม่ทำตรงนั้นแล้วคะแนนเสียงที่คุณลุงได้ลงคะแนนให้ประชาธิปัตย์ในวันที่ 24 มันสูญเปล่า แล้วมันก็จะเป็นบนพื้นฐานที่เราได้คะแนนเสียงมาโดยที่เราไม่ทำตามสิ่งที่เขาเลือกเรามา

        สุทธิชัย : ถ้าอย่างนั้นในกรณีนี้มันก็อาจจะมีคนในพรรคบางคนที่บอกว่า ถ้ากลุ่มไหนได้เสียงข้างมากตั้งรัฐบาลได้เราก็ร่วมกับเขาแล้วกัน แปลว่าเราอยากเป็นรัฐบาล ไม่อยากเป็นฝ่ายค้าน ดังนั้นถ้าพรรคกลุ่มเพื่อไทยชวนประชาธิปัตย์ไปร่วม เพราะว่าสามารถรวมคะแนนได้ เป็นไปได้หรือไม่ที่ประชาธิปัตย์จะไปอยู่กับฝั่งพรรคเพื่อไทยเพื่อตั้งรัฐบาล

       ไอติม พริษฐ์ : เราประกาศชัดแล้วนะครับว่าเราจะไม่ร่วมกับรัฐบาลที่มีการสืบทอดอำนาจหรือว่าที่เราคิดว่าดีการสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตนะครับ ซึ่งคุณอภิสิทธิ์ก็หมายถึงพรรคเครือข่ายของเพื่อไทย เพราะฉะนั้นอย่างที่บอกครับหลักการผมชัดเจน ทำอะไรให้ซื่อตรงต่ออุดมการณ์ แล้วทำอย่างไรเพื่อไม่ขัดขวางให้ประเทศเดินไปข้างหน้าไม่ได้ ผมคิดว่าการประกาศตัวเป็นฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์ เป็นฝ่ายค้านอิสระตอบโจทย์ทั้งสองอย่าง

        หนึ่งไม่เป็นการละทิ้งอุดมการณ์เพื่อไปรับตำแหน่งใดในระยะสั้น แล้วข้อสองด้วยตัวเลขมันไม่ได้เป็นการที่ขัดขวางต่อการเดินหน้าของประเทศได้ ซึ่งในขณะที่พรรคเครือข่ายของเพื่อไทยก็มีการรวบรวมเสียงในสภาฯ ได้มากกว่า 250 เสียงอยู่แล้ว โดยที่ไม่ต้องมีประชาธิปัตย์เข้าไปเกี่ยวข้อง

        ส่วนพลังประชารัฐ พูดตรงๆ ว่าเขาสามารถตั้งรัฐบาลได้อยู่แล้วโดยที่ไม่ต้องมีประชาธิปไตยเกี่ยวข้อง เพราะเขามี ส.ว. 250 คน เพราะฉะนั้นสองหลักการนี้ตอบโจทย์และผลพลอยได้อย่างที่ 3 เมื่อพอเราเป็นฝ่ายค้านแล้วเราจะได้ทำงานเต็มที่ในการปฏิรูปพรรค ซึ่งผมคิดว่าไม่มีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ 70 ปีที่ผ่านมา ที่มีเสียงชัดเจนเท่ากับครั้งนี้ว่าพรรคต้องได้รับการปฏิรูป ปฏิรูปในทิศทางที่ว่าต้องชัดเจนขึ้นแล้วในวันนี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"