9 หน่วยงานร่วมลงนามสำรวจข้อมูล ‘คนไร้บ้าน’ ทั่วประเทศ ใช้เป็นข้อมูลพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตคนไร้บ้านอย่างยั่งยืน


เพิ่มเพื่อน    

กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ /  9 หน่วยงานร่วมลงนามสำรวจข้อมูลคนไร้บ้านทั่วประเทศ  ในพื้นที่เขตเทศบาล 70 เทศบาล 44 จังหวัด  เพื่อนำมาจัดทำระบบข้อมูลการวิจัยและการจัดการความรู้สำหรับใช้เป็นฐานข้อมูลการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านอย่างยั่งยืน เริ่มสำรวจข้อมูลเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้  ขณะที่งานวิจัยของสถาบันวิจัยสังคม  จุฬาฯ ระบุ  คนไร้บ้านจะมีอายุสั้นกว่าคนทั่วไป  มีปัญหาสุขภาพจากสภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิต  

 

วันนี้ (1 เมษายน) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  กรุงเทพฯ  มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ 9 องค์กร  ในการสำรวจข้อมูลประชากรคนไร้บ้าน  เพื่อนำมาจัดทำระบบข้อมูลการวิจัยและการจัดการความรู้  สำหรับใช้เป็นแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านอย่างยั่งยืน  โดยมีพลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมเป็นประธานสักขีพยานในการลงนาม  มีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ สมาชิกเครือข่ายคนไร้บ้าน  และเครือข่ายสลัม 4 ภาคเข้าร่วมงานประมาณ 100 คน

 

ทั้งนี้  9 หน่วยงานที่ร่วมลงนามประกอบด้วย 1.สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์   2.กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ  3.กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น   4.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  5.สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  6. สมาคมคนไร้บ้าน   7.มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  8.เครือข่ายสลัม  4 ภาค  และ 9. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) 

สาระสำคัญของการลงนามในครั้งนี้  คือ  1.เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินการสำรวจสถานการณ์  ปัญหาของกลุ่มประชากรคนไร้บ้านทั้งประเทศ  โดยมีเป้าหมายสำรวจในพื้นที่เขตเทศบาล จำนวน 70  เทศบาล  44 จังหวัด       2.เพื่อให้เกิดฐานข้อมูลประชากรคนไร้บ้านที่จะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนนโยบายในระดับพื้นที่และระดับประเทศและ  3.เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มประชากรคนไร้บ้านให้มีความครอบคลุมและยั่งยืน  โดยทั้ง 9 หน่วยงานจะบูรณาการการทำงานและสำรวจข้อมูลร่วมกันตั้งแต่เดือนเมษายน  โดยมีเป้าหมายจะสำรวจให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้

 

พลเอกอนันตพร  กาญจนรัตน์  รัฐมนตรี พม.กล่าวว่า  ปัญหาคนไร้บ้านในประเทศไทยเป็นปัญหาสังคมที่มีมาช้านาน  และแสดงออกถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม   ซึ่งรัฐบาลพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน  ลดความเหลื่อมล้ำ  สร้างความเป็นธรรม  และสร้างโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการและบริการของรัฐ   โดยเฉพาะประชาชนที่มีรายได้น้อยและด้อยโอกาส  เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น

พลเอกอนันตพร (กลาง) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

 

“ส่วนกลุ่มคนไร้บ้านนั้น  คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 มีนาคม  2559   เพื่อให้กระทรวง พม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน  โดยให้สร้างศูนย์พัฒนาและฟื้นฟูศักยภาพคนไร้บ้านใน  3  เมืองใหญ่  คือ  กรุงเทพฯ  เชียงใหม่ และขอนแก่น  โดยมีเป้าหมายกลุ่มคนไร้บ้าน 698 ราย    ใช้งบประมาณรวม 118  ล้านบาทเศษ  โดยกระทรวง พม.มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ดำเนินการ  ขณะนี้สร้างศูนย์ฯ เสร็จแล้ว 1 แห่งที่เชียงใหม่   ส่วนที่เหลือกำลังดำเนินการ  เพื่อให้ศูนย์เหล่านี้เป็นที่พักพิงชั่วคราวของคนไร้บ้าน โดยจะมีการส่งเสริมอาชีพต่างๆ  และพัฒนาคุณภาพชีวิต  เพื่อให้คนไร้บ้านกลับคืนสู่สังคมได้”  พลเอกอนันตพรกล่าว

 

รมว.พม.กล่าวด้วยว่า  จากการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านที่ผ่านมา  พบว่ายังมีกลุ่มคนไร้บ้านอีกจำนวนมากที่ยังขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต  โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามสถานที่สาธารณะ  กระจายอยู่ทั่วประเทศ   ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  9 หน่วยงานจึงมีการลงนามร่วมกันในวันนี้  เพื่อร่วมกันสำรวจข้อมูลประชากรคนไร้บ้านในเขตเทศบาลทั่วประเทศ จำนวน  70 เทศบาล   ในพื้นที่  44 จังหวัด  หลังจากนั้นจะนำผลที่ได้จากการสำรวจมาใช้เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านอย่างยั่งยืนต่อไป

นายสุชิน  เอี่ยมอินทร์

 

นายสุชินทร์   เอี่ยมอินทร์  นายกสมาคมคนไร้บ้าน  กล่าวว่า  ที่มาของคนไร้บ้านมาจากหลายสาเหตุ  บางคนมีปัญหากับครอบครัว  มีโรคประจำตัว  พิการ  ครอบครัวรังเกียจ  เป็นผู้สูงอายุไม่มีคนดูแล  ตกงาน  ไม่มีรายได้  ไม่มีเงินค่าเช่าบ้าน   บางคนเพิ่งออกมาจากคุกไม่มีทางไป  บางคนชอบอิสระ   ไม่ชอบทำงาน  ฯลฯ  จึงต้องออกมาใช้ชีวิตเร่ร่อน  ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามที่สาธารณะ  เช่น  ริมถนน  สวนหย่อม  สถานีรถไฟ  ใต้สะพานลอย  สถานีขนส่ง  ฯลฯ ส่วนใหญ่มีรายได้จากการเก็บขยะรีไซเคิลต่างๆ  เช่น  ขวด กระป๋องเครื่องดื่ม  เศษกระดาษ  และมีปัญหาต่างๆ  เช่น  สุขภาพไม่ดี  ไม่มีบัตรประชาชนหรือบัตรหาย  เมื่อเจ็บป่วยไปหาหมอไม่ได้  ทำให้เข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ

 

“ถ้ามีการสำรวจข้อมูลคนไร้บ้านทั่วประเทศก็จะดี  จะได้เอาข้อมูลมาใช้แก้ไขปัญหา  เพราะที่ผ่านมาเรามีแต่ข้อมูลเก่า  ตัวเลขเก่า  ซึ่งจากการสำรวจในปี 2544 มีคนไร้บ้านทั่วประเทศประมาณ 15,000 คน  โดยเฉพาะช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี  จะมีคนตกงานกลายมาเป็นคนไร้บ้านมากขึ้น  โดยเฉพาะเดี๋ยวนี้คนไร้บ้านไม่ใช่จะมีแต่คนแก่เท่านั้น  คนวัยทำงานก็ออกมาเป็นคนไร้บ้านมากขึ้น”  นายกสมาคมคนไร้บ้านกล่าวและว่า  จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นโดยเทศบาลต่างๆ จำนวน  109  เทศบาลทั่วประเทศ  พบคนไร้บ้านในขณะนี้จำนวน 615 ราย

ขณะที่ข้อมูลจากการศึกษาของ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้และประธานยุทธศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน  สถาบันวิจัยสังคม  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า  ปัญหาคนไร้บ้านเป็นปัญหาหนึ่งที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี  ทั้งนี้เพราะคนไร้บ้านคือกลุ่มประชากรที่มีสถานะทางเศรษฐกิจ  สังคมอยู่ต่ำสุดของสังคม   เป็นกลุ่มคนที่ขาดแคลนปัจจัย 4  โดยเฉพาะในด้านที่อยู่อาศัยขณะเดียวกันก็ขาดแคลนความมั่นคงทางชีวิตและรายได้  และการเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมเหมาะสม

 

“มีงานศึกษาในหลายๆ ประเทศชี้ว่า  การเพิ่มขึ้นของคนไร้บ้านในแต่ละเมืองเป็นภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นระดับของความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น   ประกอบกับปัญหาสวัสดิการที่ไม่ตอบสนอง  ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำ  ยกตัวอย่างในสหรัฐฯ   พอเกิดวิกฤติเศรษฐกิจแล้วมีคนว่างงานเป็นเวลานานจำนวนมากขึ้น  จนประกันการว่างงานไม่ครอบคลุม  ส่วนหนึ่งไม่สามารถเช่าหรือครอบครองที่อยู่อาศัยได้  เลยเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน”  นักวิชาการรายนี้ยกตัวอย่าง

 

อนรรฆบอกด้วยว่า  คนไร้บ้านในประเทศไทยจำนวนหนึ่งประสบปัญหาการเข้าไม่ถึงหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ   ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีรายได้ประจำหรือมั่นคง  การขยับฐานะทางเศรษฐกิจที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นก็เป็นไปได้ยาก   มิหนำซ้ำสภาวะทางสังคมที่ประสบ  ส่งผลให้ต้นทุนชีวิตของตนเองลดลงอีกด้วย

 

“งานวิจัยของเราพบว่า  ต้นทุนชีวิตของคนไร้บ้านลดลงเรื่อยๆ จากความเสี่ยงที่เกิดจากสภาวะแวดล้อม ในแง่ของความเสี่ยงทางสุขภาพ  กล่าวคือ  คนไร้บ้านจะมีอายุสั้นกว่าคนทั่วไป  เพราะมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 60 ปี  ขณะที่อายุขัยเฉลี่ยของประชากรไทยอยู่ที่ 75  และมักจะเริ่มมีปัญหาสุขภาพจากสภาพแวดล้อม  การใช้ชีวิต  นอกจากนี้การเข้าสู่ภาวะไร้บ้านส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเข้าใกล้วัยชรา”

 

งานวิจัยระบุด้วยว่า  คนไร้บ้านใน กทม. ร้อยละ 50 ย้ายถิ่นฐานมาจากต่างจังหวัดเพื่อเข้ามาหางานทำ  เพราะ กทม.เป็นพื้นที่แห่งโอกาสและมีตำแหน่งงานจำนวนมากเมื่อเทียบกับต่างจังหวัด  หากโชคดีก็จะได้งานที่สามารถขยับคุณภาพชีวิตได้   แต่หลายคนอาจประสบกับปัญหาและข้อจำกัดจนไม่สามารถเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงได้  เช่น  ที่อยู่อาศัยมีราคาสูงขึ้น  คนจนในเมืองที่จ่ายค่าเช่าบ้านไม่ไหว  พอจ่ายไม่ได้ส่วนหนึ่งก็เริ่มเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน

 

งานวิจัยชิ้นนี้มีข้อเสนอหลายประการในการแก้ปัญหาคนไร้บ้าน  โดยเฉพาะการป้องกันการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านถาวรของคนไร้บ้านหน้าใหม่  และกลุ่มเปราะบาง  เช่น  บ้านพักที่เอาไว้รองรับกลุ่มเปราะบาง  หรือกลุ่มคนที่ประสบปัญหาขาดแคลนที่พักพิง  เป็นบ้านพักที่มีความเหมาะสม  เอื้อต่อการยกระดับชีวิต  ภายใต้การสนับสนุนในการยกระดับความมั่นคงทางชีวิต  เช่น  การพัฒนาทักษะด้านแรงงานที่เหมาะสม  หรือการจัดหางานที่เหมาะกับทักษะในรูปแบบต่างๆ

 

ปัจจุบันกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สนับสนุนการจัดสร้าง “ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน” ขึ้นมา 3 แห่ง  คือที่เชียงใหม่  ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อกลางปี 2561 สามารถรองรับคนไร้บ้านได้ประมาณ 50 คน  ทำให้คนไร้บ้านในจังหวัดเชียงใหม่มีที่พักพิง  มีทั้งห้องพักส่วนตัวและห้องพักรวม  มีการฝึกอาชีพต่างๆ   ทำการเกษตร  เลี้ยงไก่  ฯลฯ  ส่วนที่ขอนแก่น (รองรับได้ 50 คน) และกรุงเทพฯ (รองรับได้ 100 คน)  กำลังดำเนินการก่อสร้าง

สภาพศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านเชียงใหม่

 

นอกจากนี้ยังมีศูนย์พักคนไร้บ้าน  สุวิทย์  วัดหนู  เขตบางกอกน้อย, ศูนย์พักคนไร้บ้านตลิ่งชัน  และโครงการบ้านหลังแรกของคนไร้บ้าน  ที่ริมทางรถไฟย่านพุทธมณฑลสาย  2  ดำเนินงานโดยมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยและเครือข่ายสลัม 4 ภาค  รองรับคนไร้บ้านได้ประมาณ  100 คน

 

ทั้งนี้แผนงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน  ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)  ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะยาว  และเสริมสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย  และครอบคลุมในทุกมิติ  มีเป้าหมายทั้งหมดประมาณ 3 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ รับผิดชอบประมาณ 1 ล้านครัวเรือน (บ้านมั่นคง บ้านพอเพียงชนบท  คนไร้บ้าน ฯลฯ) ส่วนการเคหะแห่งชาติรับผิดชอบ 2 ล้านครัวเรือน (บ้านเอื้ออาทร  บ้านการเคะฯ)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"