ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ ที่ปรึกษารมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธี MOU จับมือสสส. รักลูกเลิร์นนิ่งกรุ๊ป ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานสภาคณบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งทั่วประเทศเป็นสักขีพยาน พัฒนาหลักสูตรครูปฐมวัย 4 ปี EF ในเด็กและเยาวชน สร้างครูเมล็ดพันธุ์ใหม่ หมดยุคครูเรือจ้างสอนหน้ากระดานดำ พัฒนาเป็นครูไฮเทค รู้เท่าทันเทคโนโลยีใหม่ๆ ใช้ประโยชน์การสื่อสาร ชี้นำการเรียนการสอนด้วยคอมพิวเตอร์
ที่ห้องประชุมศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ชั้น 3 อาคารรัชมังคลาภิเษก กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนาหลักสูตรครูการศึกษาปฐมวัย (4 ปี) และฝึกอบรมอาจารย์ เสริมศักยภาพอาจารย์และนักศึกษาครู ระหว่างสภาคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ กับณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่งกรุ๊ป) และภาคีวิชาการ Thailand EF Partnership เพื่อมุ่งยกระดับการเรียนการสอนสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัยและภาควิชาอื่นๆ ของคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ เกี่ยวกับทักษะสมองส่วนหน้า Executive Functions (EF) ในเด็กและเยาวชน พร้อมด้วย ผศ. ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานสภาคณบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งทั่วประเทศร่วมเป็นสักขีพยาน
ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า วันนี้กระทรวงศึกษาธิการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 2 รายการเพื่อปฏิรูปการศึกษาของประเทศ ในเรื่องการเรียนการสอน บ่มเพาะทักษะชีวิต ด้วยการมองไปข้างหน้าใน ความรู้เดิมล้าสมัย ปรับสมรรถนะให้มีทักษะวางรากฐานในการคิดวิเคราะห์ ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น ความรู้จะช่วยในการขับเคลื่อนยกระดับความรู้ในการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีให้มีความเชี่ยวชาญ รู้จักการตั้งคำถามเพื่อพิสูจน์ความถูกต้องด้วยเหตุผล ความคิดเชิงตรรกะใช้คณิตศาสตร์เชื่อมโยงอย่างมีเหตุผล เป็นการใช้พฤติกรรมของมนุษย์มาใช้ให้เกิดทักษะชีวิต
เรื่องของ Stem Skill ต้องมีเหตุผล ไม่ใช่เชื่อทุกเรื่องไปทั้งหมด ต้องอยู่บนพื้นฐานสมรรถนะ การผลักดันหลักสูตรให้ครูมีสิ่งเหล่านี้ติดตัว เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้เด็กเป็นการปูพื้นฐานที่สำคัญ กระบวนการวิทยาศาสตร์การแพทย์ พฤติกรรม ทัศนคติ อุปนิสัยต้องปลูกฝังใน 6 ปีแรกส่งต่อเชื่อมโยงเป็นลำดับ การศึกษาในช่วงปฐมวัยต้องดูแลอย่างใกล้ชิดส่งต่อคุณภาพมาถึงเด็กในระดับประถม มัธยม อาชีวศึกษา ถึงระดับมหาวิทยาลัย เป็นการสร้างเมล็ดพันธุ์ที่ดีจึงจะต่อยอดขึ้นมาได้ ออกดอกออกผลสร้างเมล็ดพันธุ์ใหม่
การศึกษาต้องบ่มเพาะครูในการสอนเด็กปฐมวัย ทุกวันนี้เราขาดแคลนครูในระดับนี้มาก จึงต้องร่วมมือกับสถาบันรักลูก ก่อนหน้านี้ได้ทำงานร่วมกับสถาบันเด็กแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ สสส.ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตและครอบครัว ผนึกกำลังกันวางรากฐานเด็กปฐมวัยให้ดี ไม่ใช่เพียงการให้ความรู้อย่างเดียว แต่จะต้องปลูกฝังพฤติกรรมทั้งทัศนคติ อุปนิสัยใจคอ หน้าที่พลเมืองที่ดีต่อประเทศชาติ มีคุณธรรม จริยธรรม มีความคิดใฝ่รู้ ต่อต้านการคอร์รัปชัน เป็นการเปิดศักราชของการปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมวัย ต่อยอดอนาคตด้านการศึกษา 4.0 ไม่ใช่สร้างเด็กเก่งอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นคนดีสู่สังคมโลก ยกระดับเศรษฐกิจของประเทศด้วย
“การสร้างครูเมล็ดพันธุ์ใหม่ทั้งประเทศต้องเดินกลับเข้าสู่ห้องเรียนในหลักสูตร 4 ปี ไม่เพียงเก่งวิชาการอย่างเดียว แต่ต้องเป็นคนดีสู่สังคมโลก เป็นการยกระดับครูทั้งประเทศ สร้างคนดีครุศาสตร์ราชภัฏ พัฒนาการฝึกครูทั่วประเทศ สร้างวิทยากรกระจายถ่ายทอดองค์ความรู้ Stem ศึกษา ทักษะสมองในหลายโครงการ แม้แต่หลักสูตรแพทย์ก็ให้นักศึกษาแพทย์ทำงานอยู่กับคนไข้มากขึ้น ปี 1 เรียนอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ปี 2-ปี 6 ให้นักศึกษาแพทย์ดูคนไข้ในบริบทของเขา ปี 3 เข้มข้นมากยิ่งขี้น ปี 4 ให้อยู่ในทีมแพทย์รักษา เพิ่มความรับผิดชอบมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงปี 6 เป็นแพทย์ประจำบ้าน กระบวนการเรียนการสอนต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดียิ่งขึ้น”
ผศ.ดร.วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้รณรงค์เรื่องโรคเอดส์มา 30 ปี และอยู่ในแวดวงการศึกษามานาน มีความเชื่อมั่นว่าสื่อใหม่ๆ จากโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ตถ่ายทอดและแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้ให้กับผู้อื่น เป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาที่ออกนอกกรอบของห้องเรียน ให้ข้อคิดว่า การทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งร่วมกับ สสส.สถาบันรักลูก ฯลฯ ผนึกกำลังสร้างครูเก่งให้เป็นไปตามหลักสากล และยังมีความต่อเนื่อง เมื่อได้มีข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ยกระดับครูกองทุน Digital ไปสู่ครูมหาวิทยาลัยราชภัฏ ส่งผลให้นักเรียนได้ประโยชน์จากการเรียนการสอนเป็นระดับสากลด้วย
ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวถึงที่มาของความร่วมมือครั้งนี้ว่า โลกในศตวรรษที่ 21 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เรียกกันว่า “พลิกผวน หรือ Disruptive World” ฉะนั้นเป้าหมายและกระบวนการในการสร้างคนรุ่นใหม่ที่จะสามารถดำรงชีวิตให้อยู่รอด มีสุขภาวะที่ดีในทุกมิติ ทั้งร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญา รวมทั้งมีความสามารถสร้างสรรค์ เพื่อเป็นทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพ อันจะเป็นรากฐานของการสร้างสังคมสุขภาวะของประเทศไทย จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สสส.ได้สนับสนุนให้จัดทำโครงการ “การพัฒนาองค์ความรู้และส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะสมองเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชนในประเทศไทย” แก่สถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) และภาคี Thailand EF Partnership ให้ร่วมกันจัดการความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า นักวิชาการจากทั่วโลกในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามนุษย์ ทั้งจากประสาทวิทยาศาสตร์ จิตวิทยา และการศึกษา ค้นพบและยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า ทักษะสมองที่เรียกว่า Executive Functions (EF) นี้ เป็นทักษะที่สำคัญยิ่ง เป็นศักยภาพที่มนุษย์ทุกคนมีมาแต่กำเนิด แต่จะต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของการพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ของเด็กและเยาวชนในประเทศไทย โดยเฉพาะการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) การคิดสร้างสรรค์ (Creativity) การสื่อสาร (Communication) การทำงานรวมหมู่ (Collaboration) การมีบุคลิกภาพที่เข้มแข็ง แต่ยืดหยุ่นปรับตัว การยอมรับความแตกต่าง และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขในสังคม รวมถึงการมีสุขภาวะที่ดีในทุกมิติ สอดคล้องกับเป้าหมายแผนยุทธศาสตร์ระยะ 10 ปีของ สสส. ในด้านการเพิ่มสัดส่วนของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่มีความสุขในการดำรงชีวิต เพิ่มสัดส่วนของครอบครัวอบอุ่น ชุมชนและท้องถิ่นเข้มแข็ง
ในปี 2562 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ซึ่งเป็นสถาบันหลักในการผลิตครูกำลังอยู่ในช่วงปรับปรุงหลักสูตรผลิตครู สสส. สถาบันอาร์แอลจี และภาคีวิชาการ Thailand EF Partnership เห็นถึงโอกาสสำคัญนี้ว่าจะก่อเกิดคุณูปการแก่การศึกษาของชาติเป็นอย่างยิ่ง หากมีการพัฒนาความร่วมมือกันในด้านการศึกษากับสภาคณบดีของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในการนำองค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติการทำงานของสมองกับการเรียนรู้ และการพัฒนาสมองส่วนหน้า (Executive Functions (EF) พัฒนาเป็นหลักสูตรเพื่อให้อาจารย์ในภาควิชาปฐมวัยศึกษาและภาควิชาอื่นๆ ของคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งทั่วประเทศได้นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อปลูกฝังความรู้ความเข้าใจและทักษะแก่นักศึกษาครูในภาควิชาปฐมวัยและภาควิชาอื่นๆ ซึ่งจะนำไปจัดการเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัยและเด็กช่วงวัยอื่นๆ ต่อไป”
ในปัจจุบันการผลิตครูในมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง ยังไม่มีวิชาที่สร้างความรู้ความเข้าใจแก่นักศึกษาครูในเรื่องธรรมชาติ การทำงาน การพัฒนาสมองของเด็กปฐมวัย มีเพียงวิชา “ทักษะการคิด” ซึ่งเน้นสอนให้นักศึกษาครูรู้จักการคิดว่ามีกี่ประเภท เช่น การคิดพื้นฐาน การคิดขั้นสูง และให้นักศึกษาเรียนรู้กิจกรรมเพื่อฝึก เพื่อส่งเสริมการคิด เช่น การตั้งคำถาม เป็นต้น นอกจากนี้ ในวิชาพัฒนาการเด็กมีการสอนเรื่องการส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ลงลึกถึงการพัฒนาทักษะสมอง
ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานสภาคณบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏในการอบรมความรู้ EF พื้นฐานแก่อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏภาควิชาปฐมวัยกว่า 120 คนแล้ว ซึ่งอาจารย์เหล่านั้นได้นำความรู้ EF นี้ไปประยุกต์ใช้กับงานของตน บูรณาการเข้าไปในรายวิชาที่ตนเองสอน ซึ่งพบว่าเกิดประโยชน์ต่อตัวนักศึกษาครูอย่างมาก กล่าวคือนักศึกษาสามารถนำความรู้ไปใช้ในการออกแบบแผนการจัดประสบการณ์ในชั้นเรียนปฐมวัยเป็นรายบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สภาคณบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเห็นความสำคัญ และต้องการขยายความร่วมมือให้เข้มแข็งขึ้น โดยจะให้มีหลักสูตรสำหรับอาจารย์ที่จะสอนแก่นักศึกษาครูทั้งภาควิชาปฐมวัยและภาควิชาอื่นๆ อย่างเข้มข้นต่อไป
ผศ.ดร.รัฐกรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับความร่วมมือกันในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมอาจารย์สาขาการศึกษาปฐมวัยและจัดอบรมเพื่อพัฒนาอาจารย์สาขาการศึกษาปฐมวัยจำนวนประมาณ 240 คน เป็นระยะที่ 1 ภายในเดือนมิถุนายน 2562 ระยะ 2 พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมอาจารย์สาขาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเกี่ยวกับทักษะสมอง Executive Functions (EF) และจัดอบรมเพื่อพัฒนาอาจารย์สาขาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาจำนวนประมาณ 1,000 คน ภายในปี 2564 และสร้างวิทยากรแกนนำอีกจำนวน 38 คน ในปี 2563
บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (สครภ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนัก 4 และสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่งกรุ๊ป) ลงวันที่ 27 ก.พ. เพื่อร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อฝึกอบรมอาจารย์สาขาการศึกษาปฐมวัยและสาขาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในองค์ความรู้เรื่องทักษะสมองเพื่อบริหารจัดการชีวิต (Executive Functions:EF)
ทั้งสามฝ่ายตกลงที่จะร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมอาจารย์สาขาการศึกษาปฐมวัยและจัดอบรมเพื่อ 1.พัฒนาอาจารย์สาขาการศึกษาปฐมวัยจำนวน 240 คน เป็นระยะที่ 1 ภายในเดือน มิ.ย.2562 2.พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมอาจารย์สาขาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเกี่ยวกับทักษะสมองเพื่อบริหารจัดการชีวิต (Executive Functions:EF) และจัดอบรมเพื่อพัฒนาอาจารย์สาขาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาจำนวน 1,000 คน เป็นระยะที่ 2 ภายในปี 2564 3.พัฒนาอาจารย์ที่ผ่านการอบรมเพื่อเป็นวิทยากรด้านการพัฒนาทักษะสมองเพื่อบริหารจัดการชีวิต 38 คนภายในปี 2563
4.ค่าใช้จ่ายซึ่งเกิดจากข้อ 1-3 ทั้งสามฝ่ายกำหนดให้สถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่งกรุ๊ป) เป็นผู้สนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรและการฝึกอบรม ค่าตอบแทนวิทยากร ค่าเอกสารการฝึกอบรม มหาวิทยาลัยราชภัฏต้นสังกัดเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับอาจารย์ที่ร่วมพัฒนาเป็นคณะทำงานจัดหลักสูตร และอาจารย์ผู้เข้าร่วมรับการอบรม ค่าสถานที่จัดกิจกรรมการจัดประชุม ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าเบี้ยประชุม ทั้งนี้ สภาคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ (สครภ.) สนับสนุนค่าใช้จ่ายอื่นๆ สสส.จะสนับสนุนเชื่อมประสานนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือในครั้งนี้
รายการแรก MOU ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรื่องความร่วมมือในการพัฒนาอาจารย์และนักศึกษาในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตของมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อยกระดับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (สครภ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) (โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนัก 4) และสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่งกรุ๊ป).
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |