2โพลสวนทางเรื่อง'กกต.' ก๊วนเดิมตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ


เพิ่มเพื่อน    


    เคลื่อนไหวสองจุด ตั้งโต๊ะล่าชื่อถอดถอน 7 กกต. กุนซือบิ๊กป้อมเตือน 3 เหตุการณ์ควันหลงเลือกตั้ง ระวังเป็นชนวนนำไปสู่เหตุวุ่นวายซ้ำรอย เวเนซุเอลา โพลไปคนละทาง นิด้าโพลบอกประชาชนเชื่อมั่นการเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่สวนดุสิตโพล คนส่วนใหญ่กังวลไม่โปร่งใส 
    ความเคลื่อนไหวการตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อการจัดการเลือกตั้งยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่บริเวณร้านชาศรีสุวรรณ ตลาดยิ่งเจริญ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดโต๊ะล่ารายชื่อเพื่อถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยมีประชาชนที่สัญจรไปมาร่วมลงชื่อ ขณะเดียวกัน ได้มีการตั้งเครื่องถ่ายเอกสารและป้ายไวนิลข้อกล่าวหา 7 กกต. บริเวณหน้าร้านด้วย
    นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ที่ผ่าน กกต.ทำงานด้วยความไม่รอบคอบ ทำให้การจัดการเลือกตั้งเกิดปัญหา ซึ่งประเด็นที่ได้รวบรวมมานั้น มีทั้งหมด 9 ประเด็น อาทิ การวินิจฉัยให้บัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของนิวซีแลนด์เป็นบัตรที่ไม่สามารถนับคะแนนได้ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย ที่ทุกสิทธิ์ ทุกเสียงมีคุณค่า มีการประวิงเวลา การประกาศผลการเลือกตั้ง และมีผู้มาใช้สิทธิเพิ่มขึ้น จากเดิมที่แถลงไว้กว่า 4.4 ล้านใบ โดยไม่มีเหตุอันสมควร นอกจากนี้ ในกรณีที่มีผู้ใช้สิทธิ์ไม่ตรงกับยอดบัตรเลือกตั้ง กกต.อ้างว่าเป็นบัตรเขย่ง ซึ่งตามกฎหมายไม่สามารถใช้กล่าวอ้างได้ ขณะเดียวกัน กกต.ยังไม่ได้มีการตรวจสอบนโยบายของพรรคการเมือง ที่หลายนโยบายกระทบกับงบประมาณของประเทศจำนวนมาก ทั้งๆ ที่เป็นหน้าที่ของ กกต.โดยตรง
     “การล่ารายชื่อประชาชนจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันนี้ เพื่อนำไปยื่นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในสัปดาห์หน้า เพื่อถอดถอน กกต.ออกจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 234 (1) จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยกล่าว
    เมื่อถามว่า การที่ คสช.มองว่าการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ กกต.ลาออก อาจเป็นการสร้างความวุ่นวายนั้น นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ทุกวันนี้ไม่เห็นมีอะไรที่จะสร้างความวุ่นวาย อีกทั้งการชุมนุมเป็นสิทธิของประชาชนบนพื้นฐานของกฎหมาย
    วันเดียวกัน ที่สกายวอล์ก อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อการเลือกตั้งที่เป็นธรรม นำโดยนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ คนอยากเลือกตั้ง ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อประชาชน จำนวน 20,000 รายชื่อ เพื่อถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีประชาชนประมาณ 50 คนเข้าร่วม พร้อมชูป้ายระบุว่า เห็นหัวกูบ้าง, หยุดโกงเลือกตั้ง พร้อมตะโกนร่วมกันว่า ไม่เอาบัตรเขย่ง นอกจากนี้ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยรักษาชาติ ได้เข้ามาร่วมสังเกตการณ์ด้วย 
    นายพริษฐ์กล่าวตอนหนึ่งว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา กกต.ใช้งบประมาณในการเลือกตั้งไปถึง 5.8 พันล้านบาท แต่ผลที่ออกมากลับไม่คุ้มค่า จากความโปร่งใสที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ หากเป็นการขายของก็ต้องใช้คำว่ามีการหลอกลวงผู้บริโภค ขณะที่บางหน่วยเลือกตั้งกลับปรากฏรายชื่อของประชาชนที่อายุไม่ถึง หรือรายชื่อของประชาชนที่เสียชีวิตไปแล้ว 
    ต่อมา นายสิรวิชญ์อ่านแถลงการณ์ ระบุตอนหนึ่งว่า สังคมไทยเห็นความผิดปกติของการเลือกตั้งครั้งนี้หลายจุด ตั้งแต่ก่อนเริ่มการเลือกตั้ง ทั้งการแบ่งเขตการเลือกตั้งใหม่ โดยเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคที่สนับสนุน คสช. การพิมพ์บัตรเลือกตั้งที่สร้างความสับสนแก่ประชาชน กำหนดวันเลือกตั้งเอง บางหน่วยเลือกตั้ง มีเจ้าหน้าที่ทหารชะโงกเข้าไปดูในคูหาขณะที่พลทหารกำลังลงคะแนนอยู่ เช่นเดียวกับภายหลังการเลือกตั้งที่มีความล่าช้าในการประกาศคะแนน 100% โดยต้องใช้เวลาถึง 4 วัน เช่นเดียวกับตัวเลขผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง จำนวนบัตรเลือกตั้ง และคะแนนของผู้ลงสมัคร ส.ส.ในบางเขต ที่มีความผิดปกติเป็นจำนวนมาก รวมทั้งกรณีบัตรเลือกตั้งที่เป็นโมฆะจากประเทศนิวซีแลนด์ จำนวน 1542 ใบ ที่ไม่ถูกนำมานับคะแนน
    "ทางกลุ่มขอเรียกร้องให้ กกต.เปิดเผยคะแนนเลือกตั้งทุกหน่วยอย่างละเอียดที่สุดภายในวันพรุ่งนี้ หากยังไม่มีการเปิดเผย จะยกระดับการชุมนุม รวมทั้งแสดงออกถึงสถานะความโปร่งใส โดนการลงโทษ หากพบว่ามีการกระทำผิดในช่วงการเลือกตั้งโดยที่ไม่เอื้อประโยชน์กับพรรคใดพรรคหนึ่ง และนับบัตรเลือกตั้งที่มาจากต่างประเทศทั้งหมด รวมถึงบัตรจากประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อให้เป็นตามเจตนารมณ์ของประชาชน เราไม่ต้องการให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ กกต.สามารถแสดงออกถึงความโปร่งใสโดยทำตามข้อเรียกร้องเหล่านี้ให้ถูกต้อง หรือไม่ก็ต้องกลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใสมากที่สุดครั้งหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นมา”
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางกลุ่มได้ใช้พื้นที่บนสกายวอล์ก อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อให้เกิดปัญหาในการสัญจรแก่ประชาชนที่ต้องใช้ทางเดินเป็นจำนวนมาก  ก่อนต้องย้ายลงมาตั้งโต๊ะล่ารายชื่อบริเวณเกาะดินแดง จากการขอความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งนี้ ทางกลุ่มสามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนได้แล้วประมาณ 4,000 รายชื่อ โดยประชาชนที่มาร่วมลงชื่อ ต้องนำสำเนาบัตรประชาชนมาด้วย
แนะจับตาอย่าให้เกิดเหตุวุ่นวาย 
    ส่วนนายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์เฟซบุ๊กมีเนื้อหาว่า พี่น้องประชาชนต้องจับตาสถานการณ์นี้ให้ดี 1.การที่นักศึกษาเกือบทุกสถาบันเรียกร้องให้ กกต.รับผิดชอบอย่างพร้อมเพรียงกัน นี่เกิดอะไรขึ้น 2.เริ่มมีการก่อเค้าชุมนุมกันอีกแล้ว          3.ต่างชาติหลายประเทศเริ่มกดดันแทรกแซงประเทศไทย อันเป็นการละเมิดต่อกฎบัตรสหประชาชาติ          ทั้ง 3 เหตุการณ์นี้ พี่น้องประชาชนต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง และต้องช่วยกันอย่าให้เกิดความรุนแรงเด็ดขาด มิฉะนั้นเราอาจจะกลายเป็นเวเนซุเอลาที่ 2 ก็ได้
    อย่างไรก็ตาม พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงการล่ารายชื่อและชุมนุมเรียกร้อง กกต.ลาออกว่า ขณะนี้ กกต.ได้เร่งทำงานเพื่อประกาศเลือกตั้ง ส.ส.อย่างเป็นการในวันที่ 9 พ.ค. อะไรที่เป็นเรื่องร้องเรียนก็เร่งตรวจสอบอยู่ ก็ไม่น่าจะมีอะไร แม้มีบางกลุ่มที่พยายามกดดัน กกต. คิดว่าแต่ละฝ่ายก็อยากให้ กกต.ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ขณะเดียวกันก็เป็นไปได้ที่มีบางกลุ่มพยายามใช้เหตุตรงนี้เป็นช่องทางสร้างผลประโยชน์ให้กับตัวเอง และสร้างความวุ่นวายปลุกให้เกิดกระแสออกมาเพื่อกดดัน กกต.ให้มาก ซึ่งต้องรอดูไปอีกสักระยะ แต่ถึงแม้พยายามกดดัน แต่เชื่อว่าช่วงนี้ไม่มีอะไร เพราะกกต.ก็ทำตามขั้นตอนอยู่แล้ว
    ขณะที่ความเห็นจากฝ่ายการเมือง นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า หลังออกมาเปิดเผยคลิปและหลักฐานการทุจริตปูพรมซื้อเสียงใน จ.พัทลุง “ถ้าท่านเป็นนักการเมืองที่มาจากการซื้อเสียงประชาชน ท่านเริ่มต้นอย่างนี้ ท่านก็รู้ว่าถ้าท่านพลาดจุดจบท่านต้องติดคุก และถูกยึดทรัพย์ตามกฎหมายฟอกเงิน อย่าโกรธผมนะครับ ถือว่าเราต่างคนต่างทำหน้าที่ ท่านซื้อเสียง ผมก็หาทางจับท่านจนได้ จะหาว่าผมไม่เตือนก็ไม่ได้ ผมเตือนมาตลอด ผมว่าแฟร์นะ”
นิด้าโพลเผยคนมองเลือกตั้งโปร่งใส 
    วันเดียวกันนี้ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 2562” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25-26 มีนาคม 2562 จากผู้ที่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,182 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 2562 ที่ผ่านมา     
    การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล”
    ผลสำรวจระบุว่า จากการสำรวจเมื่อถามถึงการไปลงคะแนนเสียงของประชาชนในการเลือกตั้งที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 91.96 ระบุว่า ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ขณะที่ร้อยละ 8.04 ระบุว่าไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 17 มีนาคม 2562           
    ส่วนการไปเฝ้าดูการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งที่คูหาของประชาชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.83 ระบุว่าไม่ได้ไปเฝ้าดูการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งที่คูหา รองลงมา ร้อยละ 17.17 ระบุว่าได้ไปเฝ้าดูการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งที่คูหา
    ด้านความคิดเห็นต่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมในการจัดการเลือกตั้งที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนร้อยละ 7.02 ระบุว่ามีความบริสุทธิ์ยุติธรรมมากที่สุด, ร้อยละ 18.95 ระบุว่ามีความบริสุทธิ์ยุติธรรมมาก, ร้อยละ 38.16 ระบุว่ามีความบริสุทธิ์ยุติธรรมปานกลาง, ร้อยละ 14.81 ระบุว่ามีความบริสุทธิ์ยุติธรรมน้อย, ร้อยละ 18.44 ระบุว่ามีความบริสุทธิ์ยุติธรรมน้อยที่สุด, ร้อยละ 0.50 ระบุว่าไม่ทราบ, ร้อยละ 0.34 ระบุว่าไม่แน่ใจ และร้อยละ 1.78 ระบุว่าไม่แสดงความคิดเห็น
    ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความพึงพอใจของประชาชนต่อคะแนนเสียงที่ได้ของผู้ลงสมัคร ส.ส. หรือพรรคการเมืองที่ตนเลือก พบว่า ประชาชนร้อยละ 25.72 ระบุว่า พึงพอใจมาก, ร้อยละ 43.15 ระบุว่าค่อนข้างพึงพอใจ,  ร้อยละ 20.47 ระบุว่ายังไม่ค่อยพึงพอใจ, ร้อยละ 10.07 ระบุว่าไม่พึงพอใจเลย และร้อยละ 0.59 ระบุว่า ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ
    วันเดียวกัน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,752 คน ระหว่างวันที่ 26-30 มีนาคม 2562 สรุปผลได้ ดังนี้
    1.ประชาชนคิดอย่างไร? กับการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา อันดับ 1 มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น ความไม่โปร่งใส การทำงานของ กกต.และข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น 45.20%, อันดับ 2 ประชาชนตื่นตัว ออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก 21.28%, อันดับ 3    เป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญ มีผลต่อบ้านเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ 16.55%, อันดับ 4 รอลุ้นผลการเลือกตั้ง พรรคไหนจะได้จัดตั้งรัฐบาล ใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี 13.07%, อันดับ 5 เป็นข่าวใหญ่ ถูกจับตามองทั้งสื่อในประเทศและต่างประเทศ                10.15%
    เมื่อถามว่า สิ่งที่ประชาชนประทับใจในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา คือ อันดับ 1 ได้ออกมาใช้สิทธิ ทำตามหน้าที่ของตนเอง 66.14%, อันดับ 2    ประชาชนตื่นตัว ช่วยกันตรวจสอบ/บรรยากาศการเลือกตั้งคึกคัก 17.30%, อันดับ 3 ผู้สมัครที่ชื่นชอบได้เป็น ส.ส. 14.14%, อันดับ 4 หน่วยเลือกตั้งอยู่ใกล้บ้าน เดินทางสะดวก 9.67%, อันดับ 5 ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น 8.56%
      ขณะที่เมื่อถามว่า สิ่งที่ประชาชนวิตกกังวลในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา คือ 
อันดับ 1 ความไม่โปร่งใส ทุจริตการเลือกตั้ง ผลคะแนนไม่ชัดเจน 69.47%, อันดับ 2 การจัดตั้งรัฐบาล ผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี                28.88%, อันดับ 3 ความขัดแย้ง ความวุ่นวายทางการเมืองที่อาจจะมีมากขึ้น 11.32%, อันดับ 4 ผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เป็นโมฆะ ต้องเลือกตั้งใหม่ 10.37%, อันดับ 5 กลัวทำบัตรเสีย กาผิด เข้าใจผิด 4.26%
    เมื่อถามว่า จากผลการเลือกตั้งในภาพรวม ประชาชนมีความสมหวังหรือผิดหวังอย่างไร? 
อันดับ 1 ผิดหวัง 48.74% เพราะความไม่โปร่งใสในการเลือกตั้ง การทำงานของ กกต. การนับคะแนน ประกาศผลล่าช้า ผู้สมัครที่ชื่นชอบแพ้ ฯลฯ, อันดับ 2    เฉยๆ 30.71% เพราะไม่อยากคาดหวัง ใครก็ได้ที่จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ยอมรับกับคะแนนเสียงส่วนใหญ่ ฯลฯ, อันดับ 3 สมหวัง 20.55% เพราะได้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งของตนเอง ผลการเลือกตั้งเป็นไปตามที่หวังไว้ ผู้สมัครที่ชื่นชอบได้เป็น ส.ส. ฯลฯ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"