เปิดปมโอนหุ้นวีลัคมีเดีย ‘คำนูณ’ชี้‘ธนาธร’พลาด


เพิ่มเพื่อน    

  วิบากกรรม "ธนาธร" ยังไม่พ้นบ่วงหุ้นวี-ลัค "คำนูณ" ชำแหละ ลักษณะต้องห้ามผู้สมัคร ส.ส. เปิดประเด็น คนนอกอย่าง กกต. ซึ่งมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะสกรีนบุคคล ส.ส.จะรู้ได้อย่างไรว่าหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ยังถือหุ้นปัญหาอยู่หรือไม่ ถ้าแนบหลักฐานโอนหุ้น 8 ม.ค.ให้ กกต.แต่แรกก็จบ แต่ไม่ทำ หนาวแน่ มีคำพิพากษาศาลฎีกาให้เทียบเคียงหลายคดี

    ประเด็นการโอนหุ้นบริษัท วี-ลัคมีเดีย จำกัด ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง หลังสำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 มีการแจ้งวันเปลี่ยนแปลงทะเบียนผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัคมีเดียฯ อันเป็นกิจการผลิตนิตยสารที่เขากับภรรยาเคยถืออยู่จำนวนหนึ่งไปให้มารดาของเขาต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นวันหลังวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. 6 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเข้าลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ
    เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา นายคำนูณ สิทธิสมาน   สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn ระบุว่าเดิมทีรัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม ไว้ในมาตรา 48 หมวดสิทธิเสรีภาพ ต่อท้ายมาตราว่าด้วยคลื่นความถี่ และย้ำอีกทีไว้ในมาตรา 265-268 ว่าด้วยการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ ห้ามทั้ง ส.ส., ส.ว. และรัฐมนตรี
    หมายความว่า ถ้ามีหุ้นดังกล่าวอยู่ก็ให้จัดการเสียให้เรียบร้อยก่อนเมื่อจะดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ใช่ต้องจัดการให้เรียบร้อยก่อนมาสมัครรับเลือกตั้ง
    ส่วนโทษของการกระทำต้องห้ามนั้น ถ้ายังคงมีหุ้นกิจการดังกล่าวอยู่ในระหว่างดำรงตำแหน่ง ไม่ว่าจะโดยเหตุใด ถือเป็นเหตุที่จะทำให้ขาดจากสมาชิกภาพและพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 106, 119 และ 182 ทั้งนี้ โดยกระบวนการที่จะไปจบที่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 91
    แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ยกระดับขึ้นไปอีกในทุกมิติ คือห้ามตั้งแต่ขั้นตอนสมัครรับเลือกตั้ง โดยเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (3) ลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ซึ่งก็ถูกโยงไปเป็นลักษณะต้องห้ามของการเป็น ส.ว. และรัฐมนตรีด้วย ตามมาตรา 108 และ 160
    "(3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ" โดยพ.ร.ป.เลือกตั้งฯ นำมาเขียนรับไว้ในมาตรา 42 (3) ตรงนี้แตกต่างจากเดิมชัดเจน คือห้ามถือหุ้นฯ ตั้งแต่ก่อนสมัครรับเลือกตั้งเลย ต้องจัดการให้เรียบร้อยก่อนวันไปยื่นใบสมัคร
    นอกจากนั้น โทษของการกระทำการอันมีลักษณะต้องห้ามประการนี้ยังไม่ใช่แค่ขาดสมาชิกภาพและพ้นจากตำแหน่งเหมือนรัฐธรรมนูญ 2550 เท่านั้น
    แต่ถ้ารู้อยู่แล้วยังคงกระทำไป มีโทษหนักทั้งทางอาญาและทางการเมือง บัญญัติอยู่ใน พ.ร.ป.เลือกตั้งฯ มาตรา 151 จำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000- 200,000 บาท เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี
ลักษณะต้องห้าม
    หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ชี้แจงในวันรุ่งขึ้นโดยมีเอกสารประกอบว่า ความจริงแล้วเขาขายหุ้นให้มารดาตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 ก่อนวันสมัครรับเลือกตั้งประมาณ 1 เดือน คือกำลังบอกว่าโอนหุ้นก่อนสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แต่บริษัทแจ้งต่อนายทะเบียนฯ หลังวันสมัคร มีผู้ไปร้องเรียนต่อ กกต.ให้สอบสวนเรื่องนี้
    ต่อมาในวันที่ 27 มีนาคม 2562 สำนักข่าวอิศราได้เผยแพร่เอกสารลงวันที่ 22 มีนาคม 2562 ที่บริษัทวี-ลัค มีเดียฯ แจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทถึงการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 มีนัยให้เข้าใจได้ว่า วันที่ 19 มีนาคม 2562 มีการประชุมกรรมการและผู้ถือหุ้น กรรมการและผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุม 10 คน ซึ่งน่าจะรวมธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และภรรยาด้วย
    คำถามคือ ถ้าทั้งสองโอนหุ้นตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 แล้วจะมาเข้าร่วมประชุมในวันที่ 19 มีนาคม 2562 อีกทำไม
    ล่าสุด เจ้าตัวชี้แจงว่าตนและภรรยาไม่ได้ร่วมประชุมในวันที่ 19 มีนาคม 2562 ส่วนทำไมมีเอกสารแจ้งไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทฯ เช่นนั้นไม่ทราบ และเปิดประเด็นใหม่ว่าสาเหตุที่ขายหุ้นให้มารดาเพราะบริษัทกำลังจะเลิกกิจการ
    ประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาคือ ในกรณีสมัครรับเลือกตั้งโดยปราศจาก 'ลักษณะต้องห้าม' นี้จะยึดถือวันใดเป็นวันโอนหุ้นจริง
    1.ยึดวันที่บริษัทฯ แจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ - วันที่ 21 มีนาคม 2562
    หรือ 2.ยึดถือวันที่มีการโอนกันจริงตามที่อ้าง-วันที่ 8 มกราคม 2562
    มีข้อกฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกรณีนี้คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 1129 วรรคสาม
    "มาตรา 1129 อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น ซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น
    "การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอนมีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้นๆ  ด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ อนึ่งตราสารอันนั้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย
    การโอนเช่นนี้จะนํามาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกไม่ได้จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น"
กกต.จะรู้ได้อย่างไร
    ประเด็นตามวรรคสามนี้ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าโดยตัวบทแล้วหมายถึงการจดแจ้งลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นหมายถึงสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นที่ตั้งอยู่ ณ บริษัทเท่านั้น ไม่ใช่ต้องไปแจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทฯทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะโดยปกติจะไปแจ้งต่อนายทะเบียนฯ ปีละ 1 ครั้ง
    โต้อีกฝ่ายเห็นว่าสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นอยู่ที่บริษัท คนภายนอกจะรู้ได้อย่างไรหากไม่แจ้งต่อนายทะเบียนฯ ที่กระทรวงพาณิชย์ เอกสารโอนหุ้นทำกันโดยลงวันที่ใดก็ได้ คนภายนอกจะรู้ได้อย่างไรว่าโอนจริงตามวันที่ในเอกสารหรือทำขึ้นย้อนหลัง
    โดยเฉพาะในกรณีนี้ที่ 'คนภายนอก' เป็น 'กกต.' ที่ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะสกรีนบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามออกไปจากการอาสามาเป็นผู้แทนประชาชน !
    กกต.จะรู้ได้อย่างไรว่าหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ยังถือหุ้นปัญหาอยู่หรือไม่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 เพราะเอกสารที่ทางราชการรับทราบการโอนหุ้นของเขาเป็นครั้งแรกคือวันที่ 21 มีนาคม 2562?
    หากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะได้แนบสำเนาตราสารโอนหุ้นวันที่ 8 มกราคม 2562 ต่อ กกต.เสียในวันสมัครรับเลือกตั้งวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ก็น่าจะจบปัญหา แต่ก็ไม่ได้ยื่น เพราะ กกต.ไม่ได้กำหนดให้ยื่น โดยใช้วิธีเพียงให้ผู้สมัครทุกคนลงนามรับรองคุณสมบัติโดยรวมของตนเองไว้เท่านั้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 นี้ให้เทียบเคียงหลายคดี
    ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และอดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่ามีข้อสังเกตสำหรับนายธนาธรเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจครอบครัว ทุกสังคมจะระมัดระวังการที่บุคคลที่มีธุรกิจส่วนตัว หรือธุรกิจของครอบครัวที่บริหารโดยคนใกล้ชิด ที่ก้าวเข้ามาทำงานการเมือง และเคยเกิดตัวอย่างมาแล้วกรณีนายทักษิณ ชินวัตร นายแบร์ลุสโกนีที่อิตาลี และต่อไปอาจจะมีกรณีของนายทรัมป์
    ธุรกิจครอบครัวที่มีขนาดใหญ่มากนั้น ย่อมอยู่ในฐานะจะได้ผลดีผลเสียจากนโยบายของรัฐเป็นธรรมดา และการโอนหุ้นในธุรกิจครอบครัวออกไปจากตัว ก็ไม่มีทางที่จะป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนได้ 100% โดยเฉพาะกรณีคุณธนาธร ที่ครอบครัวอาจจะหวังให้กลับไปร่วมบริหารธุรกิจในภายหลัง
    "ผมเองเห็นว่าสังคมไม่ควรปิดกั้นคนเก่งที่มีใจจะทำประโยชน์ให้แก่ประเทศ แต่คุณธนาธรจะต้องยอมรับว่าจะมีการตรวจสอบติดตามทุกบริษัทที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้น จะมีการมองย้อนกลับไปในอดีตสำหรับพฤติกรรมการทำธุรกิจ จะมีการค้นหาการกระทำผิดกฎหมาย การเลี่ยงภาษี หรือดีลที่ไม่เป็นธรรมแก่แรงงานหรือสังคม เรื่องหุ้นสื่อครั้งนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้น"
กกต.เรียกข้อมูล 3 แหล่ง
    ขณะที่สำนักข่าวอิศรา อ้างแหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงาน กกต. เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการรับเรื่องร้องกรณีหุ้นสื่อมวลชนของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ว่า ขณะนี้สำนักงาน กกต.ได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวแล้ว และทำหนังสือขอข้อมูลจาก 3 แหล่ง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.), กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TSD เพื่อตรวจสอบตามข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอ 
    แหล่งข่าวระบุว่า ประเด็นนี้จะดูภาพรวมในการถือหุ้นของนายธนาธรทั้งหมดในช่วงก่อนและตอนยื่นสมัคร ส.ส. ว่าถือหุ้นอะไรบ้าง ส่วนบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด นั้น เข้าข่ายประกอบธุรกิจกิจการสื่อมวลชนหรือไม่ด้วย นอกจากนี้อีกประเด็นคือจะดูว่าการโอนหุ้นดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์ตามขั้นตอนกฎหมายเมื่อไหร่ โดยดูทั้งเอกสารตราสารโอนหุ้นที่นายธนาธรแจง และเอกสารที่สำนักข่าวอิศรานำมาเปิดเผยด้วย เบื้องต้นทำการไต่สวนมากว่า 1 สัปดาห์แล้ว หลังจากนี้คงต้องรอข้อมูลจาก ก.ล.ต. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ TSD ก่อนนำมาประกอบการพิจารณา และนำเสนอที่ประชุม กกต. เพื่อพิจารณาต่อไป
    ขณะที่รองศาสตราจารย์สุวินัย ภรณวลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความ  "เราเห็นต่างกันตรง" ไหนลงบนเฟซบุ๊ก Suvinai Pornavalai  โดยมีเนื้อหาว่า ผมเข้าใจว่าเรามิได้เห็นต่างกันมากนักในเรื่อง สมควรมีการดิสรัปชันระบอบการปกครองไทย แต่ที่เราเห็นต่างกันมากๆ น่าจะเป็นเรื่องการประเมินคุณค่าและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยต่างหาก
    การที่คุณธนาธรพูดปลุกระดมตลอดว่า "เผด็จการทำให้เศรษฐกิจพังไปแล้ว" ก็เป็นอะไรที่ตรงข้ามกับตัวเลขเศรษฐกิจและข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์มาก แต่ผมเข้าใจนะว่านั่นเป็นการพูดเพื่อต้องการโน้มน้าวให้ประชาชนในกลุ่มเป้าหมายหลงเชื่อคล้อยตาม มากกว่าเคารพข้อเท็จจริง เคารพความจริง ด้วยความสัตย์จริงและซื่อตรง ตรงนี้แหละที่ผมมองเห็นความไม่ซื่อตรงในการรับรู้โลก และรับรู้ความเป็นจริงของคุณธนาธร
    "ถ้าคุณธนาธรพูดบิดเบือนความจริงยังไงก็ได้ เพื่อให้พรรคของตนเองชนะการเลือกตั้ง ผมไม่คิดว่าคุณธนาธรจะเป็นผู้นำที่เราฝากความหวังได้ในอนาคตนะ".


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"