หนุนขับเคลื่อน 'แผนแม่บทน้ำ' ลดวิกฤติภัยแล้ง


เพิ่มเพื่อน    

 

 

     ปีนี้จากการคาดการณ์ลักษณะอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาภัยแล้งในประเทศไทย อาการน่าเป็นห่วงทุกภูมิภาค ทั้งเหนือ อีสาน กลาง และภาคตะวันออก และจะเผชิญปัญหารุนแรงกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากปี 2562 เข้าสู่ฤดูร้อนเร็วกว่าทุกปี สาเหตุเกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญอ่อนๆ และจะลากยาวถึงกลางปีก่อนกลับมาสู่สภาพปกติ ขณะที่การคาดการณ์ปริมาณฝนจะลดลงต่ำกว่าค่าปกติเฉลี่ยรอบ 30 ปี ร้อยละ 5 โดยมีพื้นที่มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าปกติ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และซีกตะวันตกของภาคอีสาน รวมถึงฝนจะทิ้งช่วง ไม่มีน้ำเติมเข้ามา 

ถือเป็นการส่งสัญญาณเฝ้าระวังแล้งหนัก ซึ่งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชนต้องเตรียมแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อบรรเทาวิกฤติภัยแล้ง โดยหลายจังหวัดสั่งการรับมืออย่างเร่งด่วน ปรับแผนรับมือภัยแล้งให้เท่าทันสถานการณ์ เวลานี้หลายพื้นที่สั่งซื้อน้ำจากภาคเอกชนเพื่อใช้ในสถานประกอบการและอุปโภคบริโภคตามบ้านเรือนแล้ว 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำมีความผันผวนอย่างมาก การบริหารจัดการมีความท้าทายยิ่งขึ้น ทั้งการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ภาวะน้ำท่วมในฤดูฝน ยังไม่รวมปัญหาความขัดแย้งหนักระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำ ตลอดจนปัญหาคุณภาพของน้ำ น้ำเสียที่ไม่อาจนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้

จากเวทีสาธารณะนโยบายน้ำ สกว. ครั้งที่ 10 ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดขึ้นในสัปดาห์อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำแห่งชาติและวันน้ำโลก เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หยิบยกเรื่องการบริหารจัดการน้ำภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับยุทธศาสตร์น้ำของประเทศ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) โดยนำเสนอกรอบการบริหารจัดการน้ำภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ แนวทางจัดการน้ำเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำ แนวทางจัดการน้ำเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมถึงประเด็นวิจัยให้ตอบสนองยุทธศาสตร์น้ำ ไม่ใช่วิจัยขึ้นหิ้ง 

 

สราวุธ ชีวะประเสริฐ

   

  สราวุธ ชีวะประเสริฐ รักษาการที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)  กล่าวว่า แผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมา แม้มีการพัฒนา แต่ยังพบข้อบกพร่องให้ปรับปรุงแก้ไข คือ เรื่องฐานข้อมูลและขาดการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเฉพาะข้อมูลที่จะนำมาวิเคราะห์สถานการณ์ ไม่เพียงพอในการกำหนดเป้าหมายเชิงพื้นที่หรือเชิงปริมาณ อีกทั้งบางหน่วยงานไม่มีแผนและทิศทางที่ชัดเจน ขาดการเชื่อมโยงกับนโยบายอื่น ทำให้แผนงานเดิมไม่ตอบสนองนโยบายประเทศ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการประเมินผลหรือตัวชี้วัดไม่ชัดเจนจะต้องเร่งปรับตัวชี้วัดและวิธีจัดเก็บข้อมูลและระบบติดตาม รวมถึงขาดการสื่อสารทำความเข้าใจต่อแผนแม่บท จะต้องสร้างความเข้าใจให้เห็นภาพที่ตรงกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแผนงานหรือโครงการที่มีผลกระทบต่อยุทธศาสตร์น้ำ

     แผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สราวุธให้ข้อมูลว่า มีเป้าหมายด้วยกัน 6 ด้าน คือ ด้านการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค โดยกำหนดว่า ประปาหมู่บ้านจะต้องมีคุณภาพตามมาตรฐานให้ได้ภายในปี 2573 ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน  ขยายเขตประปา สำรองน้ำต้นทุนเพื่อรองรับเมืองหลัก เมืองท่องเที่ยว หรือพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ อีกทั้งปริมาณการใช้น้ำต่อประชากรต้องไม่เพิ่มขึ้น และมีอัตราลดลงภายในปี 2570

      ด้านการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต ให้มีการจัดการด้านความต้องการน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพโครงการแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำเดิม พัฒนาแหล่งกักน้ำและระบบส่งน้ำใหม่ พัฒนาระบบผันน้ำและระบบเชื่อมโยงแหล่งน้ำเพิ่มน้ำต้นทุน จัดหาน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน รวมถึงการเพิ่มผลิตภาพและปรับโครงสร้างการใช้น้ำ การประหยัดน้ำในภาคอุตสาหกรรม การจัดการในพื้นที่พิเศษ และเร่งรัดการเตรียมความพร้อมโครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ

     " ในแผนแม่บทให้ลดความเสี่ยงในพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพหรือความเสียหายในพื้นที่วิกฤติร้อยละ 50 แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถแยกแยะพื้นที่ในส่วนนี้ได้" สราวุธ กล่าว 

 

 

    การวางแผนบริหารจัดการน้ำ สทนช. ได้วางแผนร่วมกับหน่วยงานเจ้าภาพหลัก เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการป้องกันอุทกภัยและภัยแล้ง ด้านการป้องกันน้ำท่วม รักษาการที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ สทนช. กล่าวว่า แผนน้ำจะเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ มีการปรับปรุงการระบายน้ำและสิ่งกีดขวางทางน้ำ จัดทำผังลุ่มน้ำและบังคับใช้ในผังเมืองรวมและจังหวัดทุกลุ่มน้ำ ป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง 764 เมือง โดยมีผังน้ำบังคับใช้ทุกจังหวัด การบรรเทาน้ำท่วมระดับลุ่มน้ำและพื้นที่วิกฤติ ลดความเสี่ยงและความรุนแรงลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 การจัดการพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่ชะลอน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการปรับตัวและเผชิญเหตุในพื้นที่น้ำท่วม ร้อยละ 75

     ส่วนการจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำเขาระบุในแผนแม่บทจะป้องกันและลดการเกิดน้ำเสียที่ต้นทาง เพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดและควบคุมการระบายน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน การนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ จัดสรรน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ อนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติ

     " การจัดการน้ำยังรวมการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ  มุ่งเน้นฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม จำนวน 3.5 ล้านไร่ ป้องกันการเกิดการชะล้างและการพังทลายของดินในพื้นที่เกษตรลาดชันชั้นที่ 1, 2 จำนวน 1.45 ล้านไร่ และชั้น 3,4,5 จำนวน 22 ล้านไร่ รวมถึงจะมีการปรับปรุงกฎหมายน้ำและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย จัดตั้งองค์กรด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ พร้อมทั้งการติดตามและประเมินผล แผนการจัดสรรน้ำ พัฒนาระบบฐานข้อมูล ศึกษาวิจัยและพัฒนาแนวทางการจัดการน้ำเพื่ออุดช่องว่างการดำเนินงาน" สราวุธเผย  

     สราวุธยอมรับว่า การดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ยังมีปัญหาและความท้าทายรออยู่อีกมาก โดยเฉพาะแนวทางการขับเคลื่อนแผนแม่บทว่าทำอย่างไรให้การดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายทั้งเรื่องการประเมินความมั่นคงด้านน้ำภายใต้กรอบ Asian Water Development Outlook (AWDO) เป็นกรอบระดับนานาชาติที่ไทยนำมาประยุกต์ใช้ หรือการประหยัดน้ำ ขณะนี้มีเสนอไว้เพียงกิจกรรมเดียวซึ่งไม่เพียงพอที่เราจะลดปริมาณการใช้น้ำลงได้ เพื่อให้มีน้ำประปาเพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอีก 5-10 ปีข้างหน้า รวมถึงประเด็นจุดอ่อนที่ต้องเร่งแก้ไข แต่ทิศทางเริ่มดีขึ้นและน่าว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นใน 1-2 ปี

 

รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์

 

     ด้าน รศ.ดร.สุจริต คุณธนกุลวงศ์ นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สถานภาพการบริหารจัดการน้ำของประเทศที่ผ่านมารัฐบาลมีความมุ่งมั่นในแก้ไข แต่ยังมีอีกหลายปัญหาที่รออยู่ ปัจจุบันจึงมีการวางเป้าหมายแผนแม่บท เพื่อแก้ปัญหาและสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต ภายใต้การบริหารจัดการน้ำในหลายมิติและหลายระดับทั้งในส่วนของการซ่อม สร้าง และการพัฒนาที่ต้องก้าวกระโดดเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการลดจน ลดการใช้น้ำในปี 2570 และการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ที่ต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กับการเตรียมพร้อมคน วิชาการ ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และการปรับตัว ตลอดจนการสร้างแพลตฟอร์มการทดลองใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน เช่น การวิจัยเชิงปฏิบัติการมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงเทคโนโลยี 5 G ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเรื่องน้ำ ส่วนภัยแล้งที่เริ่มขึ้น รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องบูรณาการบริหารจัดการน้ำอย่างเท่าทันสถานการณ์ เพื่อรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น พื้นที่นอกเขตชลประทานต้องสำรวจและวางแผนป้องกันครอบคลุมทั้ง 25 ลุ่มน้ำหลัก

     ขณะที่ ดร.ปิยธิดา เรืองรัศมี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ รั้วจุฬาฯ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิเคราะห์สถานะของความมั่นคงด้านน้ำผลิตภาพจากน้ำและภัยพิบัติ กล่าวว่า แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในประเด็นที่ 19 ประเด็นการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ได้มีการเสนอเป้าหมายตัวชี้วัดและแนวทางพัฒนาด้วยแผนย่อย 3 แผน ประกอบด้วย 1.แผนย่อยพัฒนาการจัดการน้ำเชิงลุ่มน้ำทั้งระบบเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ 2.แผนย่อยเพิ่มผลิตภาพของน้ำทั้งระบบในการใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้น้ำให้ทัดเทียมกับระดับสากล และ 3.แผนย่อยอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วประเทศ โดยได้กำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายทุกช่วง 5 ปี ในช่วงปี พ.ศ.2561-2580 ของการเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำ การเพิ่มผลิตภาพของน้ำ และการอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วประเทศ

ดร.ปิยธิดา เรืองรัศมี

     สำหรับแนวทางการประเมินความมั่นคงด้านน้ำของไทยในระดับจังหวัดและระดับลุ่มน้ำ ที่ได้มีการศึกษาเบื้องต้นภายใต้กรอบ AWDO 2016 มีการประเมิน 5 ด้าน ได้แก่ 1.ความมั่นคงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 2.ความมั่นคงน้ำเพื่อเศรษฐกิจ โดยการใช้ทรัพยากรน้ำในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคพลังงาน 3.ความมั่นคงน้ำสำหรับเมือง 4.ความมั่นคงน้ำด้านสิ่งแวดล้อม และ 5.ความมั่นคงน้ำด้านการฟื้นตัวจากภัยพิบัติจากน้ำ

     ดร.ปิยะธิดาเผยว่า จากผลการศึกษาในระดับประเทศ พบว่า คะแนนประเมินของไทยอยู่ใน “ระดับปานกลาง” โดยความมั่นคงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค แยกประเมินเป็นพื้นที่นอกเขตเทศบาล (ชนบท) และพื้นที่ในเขตเทศบาล (เมือง) พบว่า ระบบประปาหมู่บ้านมีการเข้าถึงเกือบครบทุกหมู่บ้าน แต่ปัญหาเรื่องของคุณภาพน้ำและการบำรุงรักษาระบบประปา รวมถึงปัญหาการบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสียยังเป็นเรื่องสำคัญ เพราะประเทศไทยไม่มีการจัดเก็บค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียภาคครัวเรือน เพื่อให้ทุกบ้านร่วมรับผิดชอบในการทำน้ำเสีย 

"การขาดแคลนน้ำต้องเตรียมการวางแผนแก้ไข โดยเฉพาะด้านการเพิ่มผลิตภาพของการใช้น้ำภาคเกษตรควรจะประเมินผลิตภาพการใช้น้ำในแง่ของประสิทธิภาพ พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการปลูกข้าว พัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพสูง นอกจากนี้ ต้องมีดัชนีชี้วัดเพิ่มเติม อาทิ การใช้น้ำเพื่อการท่องเที่ยว การพิจารณาปริมาณน้ำที่มาจากแม่น้ำระหว่างประเทศ ความขัดแย้งของการใช้น้ำ" หัวหน้าโครงการกล่าวในท้าย ทุกภาคส่วนต้องช่วยใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"