มาร์คชี้ฮ่องกงเอฟเฟกต์พาลงเหว


เพิ่มเพื่อน    

 “ปชป.” ประชุม 5 ชั่วโมงไร้บทสรุปเลือก “ทักษิณ” หรือ “ลุงตู่” จุรินทร์ชี้ต้องคำถึง 3.9 ล้านเสียงเลือก คาดหลัง กกต.ประกาศผลได้ข้อสรุป “มาร์ค” ขอโทษกลางที่ประชุมรับประเมินพลาด หลังเห็นโพลเชียร์ประยุทธ์แค่ 27% จึงประกาศจุดยืน เผยฮ่องกงเอฟเฟกต์ทำให้ความนิยมร่วง เหตุสังคมยังกลัว “ทักษิณ”

เมื่อเวลา 17.50 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค  แถลงหลังประชุมรักษาการกรรมการบริหารพรรค และอดีต ส.ส.พรรคนานเกือบ 5 ชั่วโมง โดยระบุว่า ที่ประชุมกำหนดให้มีการประชุมใหญ่ในวันที่ 24 เม.ย. เวลา 09.30 น. ที่พรรค โดยวาระพิจารณาคือ รายงานผลการดำเนินการของพรรคในรอบปี 2561 และการรับรองงบการเงินในปี 2561 ก่อนจะมีการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างอดีต ส.ส.ของพรรค ผู้สมัครบางส่วนและผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง
“เรื่องการกำหนดทิศทางอนาคตของพรรค ไม่ได้มีการเคลียร์ใจอะไร แต่เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเพื่อให้ประชาธิปัตย์กลับไปนั่งในหัวใจของประชาชนอีกครั้ง ส่วนการเตรียมเลือก กก.บห.ชุดใหม่ เห็นสอดคล้องกัน ควรเปิดให้ ส.ส.ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย และการเลือกต้องทำโดยเร็ว รวมทั้งรายละเอียดอื่นๆ ให้ กก.บห.เป็นผู้กำหนดในเรื่องวันเวลาต่อไป” นายจุรินทร์กล่าว และว่า จะมีการปรับปรุงรูปแบบการทำไพรมารีโหวตหัวหน้าพรรค เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย 
นายจุรินทร์กล่าวด้วยว่า ยังไม่มีการพิจารณาเกี่ยวกับการตัดสินใจทางการเมืองว่าจะร่วมรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งการตัดสินใจทางการเมืองต้องเคารพ 3.9 ล้านเสียงที่เลือกพรรคเข้ามาด้วย และยังเชื่อว่าเมื่อพรรคตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งไปแล้วจะไม่เกิดปัญหาพรรคแตก เพราะทุกคนเคารพมติพรรค ทั้งนี้ ต้องรอให้รักษาการ กก.บห.กำหนดกรอบเวลาที่จะประชุมใหญ่เพื่อเลือกผู้บริหารพรรคก่อน โดยจะเกิดขึ้นหลังจากที่ กกต.ประกาศรับรองผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการไปแล้ว ซึ่ง กกต.อาจประกาศก่อนวันที่ 9 พ.ค.ก็ได้
ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค ปชป. ให้สัมภาษณ์หลังประชุมว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เสนอในที่ประชุมให้ ปชป.เป็นฝ่ายค้านอิสระเหมือนในต่างประเทศ โดยอะไรที่เป็นประโยชน์ก็พร้อมสนับสนุน ส่วนอะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ก็ให้ทำหน้าที่ค้านเพื่อตรวจสอบถ่วงดุล ส่วนแนวทางเลือกหัวหน้าพรรคยังมีความเห็น 2 ทางคือ การทำไพรมารีโหวต แต่อาจไม่ทั่วประเทศ และอาจใช้วิธีการเดิม แต่ยกเว้นข้อบังคับ ซึ่งที่ประชุมก็ยังไม่ได้ข้อยุติเช่นกัน โดยจะมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีอีกครั้งในวันที่ 24 เม.ย.นี้
มีรายงานในการประชุม ปชป. ในช่วงเช้า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ได้กล่าวในที่ประชุมว่า มีเรื่องอะไรให้คุยในพรรค เพราะพรรคบอบช้ำมามากพอแล้ว ซึ่งการตัดสินใจของพรรคว่าจะเดินไปทิศทางไหนยังมีเวลา เพราะต้องรอให้ กกต.รับรองผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการก่อน จากนั้นค่อยมาตัดสินใจก็ยังไม่สาย โดยกรรมการบริหารพรรคปีก กปปส.ก็ไม่มีใครทักท้วง 
จากนั้นในช่วงบ่าย มีการแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันระหว่างรักษา กก.บห. ผู้สมัคร ส.ส.ทั้งที่สอบได้และสอบตก โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ปชป. ได้ชี้แจงในที่ประชุมถึงสาเหตุที่ตัดสินใจประกาศจุดยืนทางการเมืองว่า ได้พิจารณาผลสำรวจของโพลสำนักต่างๆ ของทั้งภาครัฐและเอกชน มีเพียง 27% เท่านั้นที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรอจนถึงสิบวันสุดท้ายก่อนเลือกตั้งผลก็ไม่เปลี่ยนแปลง แต่สาเหตุที่ทำให้คะแนนพลิกผันไปอย่างมาก เพราะเกิดเหตุการณ์คลิปที่ฮ่องกงจนทำให้ประชาชนเกิดความกลัวทักษิณ จนเทคะแนนไปอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งต้องขอโทษเพื่อนสมาชิกทั้งหมดที่ไม่สามารถนำชัยชนะมาให้พรรคได้
    จากนั้นกลุ่ม กปปส. ที่นำโดยนายชุมพล จุลใส และนายวิทยา แก้วภราดัย โจมตีว่าความพ่ายแพ้เกิดเพราะนายอภิสิทธิ์กำหนดยุทธศาสตร์ผิดพลาดที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ขณะที่นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เสนอให้ กก.บห.ชุดใหม่เป็นผู้ตัดสินใจทางการเมืองของพรรค และสนับสนุนให้พรรคไปร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ
    ด้านนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ กล่าวในที่ประชุมว่า ขอให้ยอมรับความจริง อย่าฝันว่าจะชนะเลือกตั้ง ตราบใดที่ยังไม่สามารถยึดครองพื้นที่ภาคเหนือและอีสานได้ ส่วนสาเหตุความพ่ายแพ้เป็นเพราะคนไม่เชื่อว่านโยบายพรรคจะทำได้ แม้เราจะทำงานหนัก อีกทั้งคนในสังคมกลัว จึงจำเป็นต้องเลือกข้างจากภาพเหตุการณ์ที่ฮ่องกงที่เกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน ทั้งหมดพรรคต้องรวมพลังเพื่อปรับทัพในพรรคใหม่ทั้งหมดให้เป็นหนึ่งเดียวกันก่อน โดยต้องปรับพื้นฐานความเข้าใจของสมาชิกให้ตรงกันก่อน และแผนยุทธศาสตร์เลือกตั้งควรมีหลายแผน ไม่ใช่ยึดแผนเดียว อย่าใช้คนทำงานที่ใจแคบ 
“การตัดสินใจร่วมรัฐบาลหรือไม่ ขอให้ข้อมูลว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อายุไม่ยืน เต็มที่ 6 เดือนถึง 1 ปี เพราะต้องยืนบนฐาน ส.ว. แค่กฎหมายงบประมาณในเดือน ก.ย.นี้ก็ต้องซื้อกลุ่มงูเห่ามาช่วยยกมือให้แล้ว ซึ่งไม่ว่าจะตัดสินใจทางการเมืองอย่างไรก็ถูกด่าอยู่ดี ทางเดียวที่จะสร้างพรรคในอนาคตคือสร้างพันธมิตรกับพรรคอื่นที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกัน หากกติกาเลือกตั้งยังเป็นอย่างนี้” นายชาญชัยกล่าวในที่ประชุม
    วันเดียวกัน ได้เกิดปรากฏการณ์ผ่านโลกโซเชียลในทวิตเตอร์ โดยมีการติดแฮชแท็ก #1ใน3ล้าน9 จนทำให้ติดอันดับ 1 ในท็อปเท็น 10 อันดับ ซึ่งเมื่อดูรายละเอียดในการทวีตของกลุ่มดังกล่าว พบว่าเป็นการให้กำลังใจนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ปชป. และระบุว่าเป็น 1 ใน 3,900,000 ที่เลือกพรรค ปชป.ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พร้อมโพสต์รูปนายอภิสิทธิ์และคำคมในการปราศรัย โดยเฉพาะเรื่องการรักษาอุดมการณ์ที่ระบุว่า “คนที่ตัดสินใจเก็บอุดมการณ์ไว้ในลิ้นชัก ผมไม่เคยเห็นใครเปิดมันออกมาอีกเลย” ซึ่งเป็นคำปราศรัยในเวทีสุดท้ายที่ลานคนเมือง
     อีกทั้งยังมีบางความเห็นที่เรียกร้องให้พรรค ปชป.เคารพเสียงประชาชนที่เลือกประชาธิปัตย์เข้ามาด้วย แม้จะมีจำนวนไม่มากพอให้พรรคชนะเลือกตั้ง แต่เป็นจำนวนเสียงดังกล่าวทำให้พรรคได้ ส.ส.กว่า 50 เสียง นอกจากนี้ยังมีบางส่วนแสดงความเห็นว่า 1 ใน 3,900,000 ไม่ใช่เสียงของฝั่งเผด็จการหรือฝั่งประชาธิปไตย แต่เป็นเสียงของกลุ่มคนที่ต้องการก้าวข้ามความขัดแย้ง ทั้งนี้ ยังมีชาวทวิตเตอร์บางส่วนนำนโยบายของพรรคทำเป็นการ์ตูนนโยบายโพสต์ลงในทวิตเตอร์ด้วย รวมทั้งยังมีเรื่องการแสดงจุดยืน ก็มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นด้วยเช่นกัน โดยส่วนใหญ่ต้องการให้ยืนหยัดจุดยืนเดิมคือการเป็นฝ่ายค้าน และกอบกู้ให้พรรคกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง
    นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประธานกรรมการนโยบายพรรค ปชป. ทวีตในทวิตเตอร์ @KornDemocrat ว่าขอบคุณน้องๆ คนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ครับ ทุกคนถ่ายทอดออกมาได้น่ารักมาก วันนี้ประชุมกรรมการบริหารพวกเราจะทำให้เต็มที่ที่สุดครับ ขอบคุณ #1ใน3ล้าน9 และชาว #Democratis ทุกคน. 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"