เราคงจะต้องทำใจกันหน่อยว่ากว่าเราจะรู้ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป และรัฐบาลใหม่จะมีส่วนผสมของพรรคการเมืองไหนบ้าง คงต้องรอไปอีกระยะหนึ่ง
คงจะเป็นกลางปีจึงจะมีความชัดเจน
และหวังว่าจะไม่มี "อุบัติเหตุทางการเมือง" ทางใดทางหนึ่งที่จะทำให้ "รถไฟตกราง" อีกด้วย
เสียงจากนักการเมืองที่เราได้ยินอยู่ขณะนี้เป็นเพียงการแย่งชิงพื้นที่สื่อ และเป็นลีลาท่าทางเพื่อการต่อรองให้กลุ่มของตนได้ประโยชน์สูงสุดเท่านั้น
เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาเช่นนี้ แปลว่าไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งสามารถจะตั้งรัฐบาลด้วยตนเองได้ ต้องวิ่งชักชวนพรรคกลางพรรคเล็กต่างๆ มาให้ได้เสียงในสภาผู้แทนราษฎรเกินครึ่งหรือ 250 ที่นั่ง
ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับฝ่ายใดทั้งสิ้น
โอกาสที่จะเข้าสู่ "ทางตัน" หรือ deadlock ทางการเมืองจึงมีความเป็นไปได้สูง
นั่นย่อมหมายความว่าใครหรือฝ่ายไหนตั้งรัฐบาลได้ก็ไม่มีเสถียรภาพ และเมื่อมีการต่อรองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลกันอย่างเข้มข้นเช่นนี้ ก็ย่อมแปลว่าไม่มีพรรคไหนสามารถนำเอานโยบายหาเสียงของตัวเองมาใช้ได้อย่างเต็มที่อย่างที่รับปากเอาไว้กับประชาชน
การแบ่งสรรปันส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีจะกลายเป็นประเด็นหลักในการต่อรองเพื่อตั้งรัฐบาลผสม
เนื้อหาสาระของนโยบายจะกลายเป็นประเด็นรอง
จึงไม่ต้องแปลกใจหากจะมีการทำนายทายทักกันตั้งแต่ตอนนี้ว่า รัฐบาลใหม่ทำงานได้ไม่นานก็อาจจะมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่
หรือหากพรรคการเมืองต่างๆ ไม่สามารถหาทางออกร่วมกันเพื่อตั้งนายกฯ หรือรัฐบาลใหม่ได้ รัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชาก็จะอยู่ในอำนาจต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีกำหนด
อีกทั้งหากสถานการณ์เป็นเช่นว่านี้ พลเอกประยุทธ์ก็ยังมีอำนาจเต็มภายใต้มาตรา 44 ซึ่งแน่นอนว่านั่นย่อมเป็นการขัดเจตนารมณ์ของการจัดให้มีการเลือกตั้งเพื่อให้ประเทศชาติกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่จากการหย่อนบัตรเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ดังนั้น พรรคการเมืองจึงถูกกดดันให้ต้องหาทางออกร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดสภาวะ "ต่อรองไปเรื่อยๆ" หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรองผลการเลือกตั้งภายในวันที่ 9 พฤษภาคมปีนี้
เพราะหากไม่มีสูตรที่ยอมรับกันได้ การเมืองก็จะเข้าสู่ภาวะ "ไม่ปกติ" ไปโดยไม่มีกำหนดจะมีรัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชน
ระหว่างนี้ต้องระวัง "วิชามาร" จากหลายๆ ฝ่ายเพื่อทำให้สถานการณ์เข้าข้างตัวเอง
เมื่อ "คะแนนไม่นิ่ง" ก็ยังมีโอกาสที่ตัวเลขจำนวน ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อจะเปลี่ยนไป
นั่นเป็นสาเหตุที่การต่อรองเจรจาเพื่อตั้งรัฐบาลร่วมกันยังปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา
เพราะหากพรรคใหญ่พรรคใดพรรคหนึ่งเสนอให้พรรคกลางที่มีที่นั่งพอประมาณมาร่วมด้วยการเสนอเงื่อนไขบางอย่าง ก็อาจมีคำถามย้อนกลับว่า
"ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม คุณยังมีที่นั่งเท่านี้หรือเปล่า"
ทุกพรรคต้องรอความแน่ชัดเพราะไม่แน่ใจว่า กกต.จะแจกใบแดงเท่าไหร่ และจะมีการเลือกตั้งใหม่ในกี่เขต
อีกทั้งยังไม่อาจจะรู้ว่าการสอบสวนข้อร้องเรียนเรื่องทำผิดกฎหมายเลือกตั้งมีทั้งหมดเท่าไหร่ จะต้องใช้เวลาในการพิจารณาว่ามีมูลเพียงใดอีกนานเท่าไหร่
หรือจะมีการ "สอยทีหลัง" อีกหรือไม่อย่างไร
ความพยายามด้านหนึ่งคือการ "ดับสวิตช์" ของสมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ด้วยการระดมพรรคการเมืองส่วนใหญ่ (ยกเว้นพลังประชารัฐ) ให้มีเสียงรวมกันไม่น้อยกว่า 376 เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถยกมติเลือกนายกรัฐมนตรีโดยไม่ให้ ส.ว.มากำหนดทิศทางการเมือง
นั่นย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแกนนำของบางพรรคเช่นผู้บริหารของพรรคประชาธิปัตย์บางคน ได้ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่ยอมร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยเป็นอันขาด
พรรคภูมิใจไทยที่มีคุณอนุทิน ชาญวีรกูลเป็นหัวหน้า ก็คงต้องคิดหนักว่าจะจับมือกับฝ่ายไหน เพราะไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไรก็มีปัญหาตามมา ที่อาจกลายเป็นประเด็นร้อนในวันข้างหน้าได้ทั้งสิ้น
พรรคประชาธิปัตย์เจอกับความสลับซับซ้อนเพิ่มเติมอีก เพราะมีความเห็นที่แย้งกันอยู่หลายฝ่าย การตัดสินใจไปทางใดทางหนึ่งย่อมจะเสี่ยงกับการทำให้พรรคแตก ทำให้วิกฤติของความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปครั้งนี้หนักหน่วงรุนแรงเพิ่มขึ้นอีก
ความผันผวนไม่แน่นอนจะกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไปอีกหลายปีจนกว่า "ประชาธิปไตยไทย" จะหาสูตรของตัวเองเจอ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |