29 มี.ค.62 - นายแก้วสรร อติโพธิ เผยแพร่บทความเรื่อง "คำถามถึง กกต. : ทำไมไม่ประกาศคะแนนให้ครบ ๑๐๐%" ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับวันที่ 29 มีนาคม 2562 โดยมีเนื้อหาดังนี้
ด้วยถามกันมามาก ว่า เหตุใดนับคะแนนเลือกตั้งครบ ๑๐๐% แล้ว ทำไมกกต.ไม่ประกาศให้หมด กลับขยักไว้ ๖% ซึ่งถ้าคิดเป็นคะแนนก็เกือบ ๒ ล้านคะแนนเลยทีเดียว โดย กกต.บอกว่า รอไปอีกเดือนกว่าถึง ๙ พฤษภาคมโน่น ถึงจะประกาศผลอย่างเป็นทางการ
ผมได้ค้นกฎเกณฑ์แล้ว พบระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ที่ออกเมื่อธันวาคม ๖๑ ระบุว่า
“ข้อ ๑๖๙ เมื่อสำนักงานได้รับรายงานผลการเลือกตั้งตามข้อ ๑๕๙ แล้ว ให้จัดให้มีการแสดงผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการต่อสาธารณะ โดยให้แสดงผลไม่เกินร้อยละเก้าสิบห้า ของจำนวนหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด”
ระเบียบนี้ตรวจสอบแล้วเป็นข้อที่ กกต.วางเอาเอง โดยในพระราชบัญญัติเลือกตั้งนั้นมิได้มีบทบัญญัติรองรับเลย คำถามจึงเกิดขึ้นดังนี้
คำถามที่ ๑ : ความแปรผันในระบบเลือกตั้ง
ในระบบปัจจุบันนั้น จำนวนที่นั่ง สส.จากการเลือกตั้งอาจเกิดขึ้นแล้วเปลี่ยนแปลง ได้ ๓ ช่วงคือ
๑.๑ เกิดทั้งประเทศในคราวเดียวกันจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ ๒๔ มีนา
๑.๒เกิดจากการตัดสินของ กกต. ให้นับคะแนนใหม่ หรือเลือกใหม่ด้วยแจกใบเหลือง ใบส้ม แล้วทราบผลรวมใหม่ จนประกาศที่นั่งและตัว สส.ได้ไม่น้อยกว่า ๙๕% หรือ ๔๗๕ คน ภายในไม่เกิน ๖๐ วัน ( ไม่เกิน ๒๔ พฤษภา ) แล้วเริ่มประชุมตั้งรัฐบาลในที่สุด
๑.๓เกิดจากการวินิจฉัยภายหลังประกาศตัว สส.แล้ว โดยการ “สอย” หรือการวินิจฉัยของ กกต.หรือศาล
จุดเปลี่ยนแปลงเมื่อประกาศผลในข้อ ๒. หรือเสร็จสิ้นกระบวนการสอยในข้อ ๓. นั้น เป็นที่แน่นอนว่า จะทำให้สัดส่วนที่นั่ง สส.ของพรรคต่างๆ เปลี่ยนไปจาก ๑ อย่างแน่นอน
สำหรับการเปลี่ยนจาก ๑. มาเป็น ๒ นั้น เปลี่ยนมากเท่าใดก็ไม่ใช่ปัญหาเช่น กกต.จับ สส.โกง แจกใบแดงได้ ๑๐ คน แถมยุบพรรคด้วย อย่างนี้ผลและสัดส่วนที่นั่งย่อมเปลี่ยนพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินเลยก็ได้ แต่ก็ไม่เป็นไร ดีเสียอีกที่กันคนโกงออกไปได้
ปัญหาจริงๆจะอยู่ที่การเปลี่ยนจาก ๒. มา ๓. ถ้าเปลี่ยนมากๆ การเมืองก็แปรปรวนหนัก จะรอให้ กกต.หรือศาลทำงานจนเสร็จตรวจจนหมดก็ไม่ได้ อาจใช้เวลาเป็นปีเลยก็เป็นได้ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงกำหนดว่าจะให้เวลาเพียง ๖๐ วันเท่านั้น คำถามจึงมีอยู่ว่า เราพร้อมจะรับความเสี่ยงของความแปรปรวนภายหลังตั้งรัฐบาลแล้วที่ตรงจุดไหน
คำถามที่ ๒ : การปรากฏตัวของตัวเลข สส. ๙๕%
รัฐธรรมนูญปัจจุบันเชื่อว่า ถ้าประกาศ สส.ไป ๙๕% หรือ ๔๗๕ คนแล้วก็น่าจะได้สภาที่ชอบธรรมแล้ว และสัดส่วนที่นั่งใน สส. ๙๕ % นี้ จะเลือกตั้งใหม่บ้าง ก็ไม่น่าจะเปลี่ยนไปเท่าใด ถ้าถอยไปประกาศที่ ๙๐% ก็ดูไม่ชอบธรรมและจะแปรปรวนได้มากกว่าเดิม
ด้วยเหตุนี้ นี่จึงเป็นที่มาของตัวเลข ๙๕% ซึ่งต้องเข้าใจให้ชัดเจนว่าเอามาใช้ตอนประกาศผลตัว สส.ทั้งหมดเพื่อเปิดประชุมได้เท่านั้น
คำถามที่๓: ตัวเลข ๙๕ % เอามาใช้กับการประกาศคะแนนนับได้อย่างไร?
เห็นว่าไม่มีเหตุผลใดๆในระบบมารองรับเลย คะแนนปัจจุบันนับไปแล้ว ๑๐๐% ก็ต้องประกาศทั้งหมด จะทำเหมือนทุกหน่วยนับไปแค่ ๙๔% แล้วหยุดนับไม่ได้
ช่วงเวลาจากนี้ไปจนถึง วันประกาศตัว สส. (คือ จาก ๑.๑ ไป ๑.๒) นั้น เป็นช่วงของการตรวจสอบ ผู้สมัครทุกคนมีสิทธิทราบคะแนนครบทุกหน่วยและทุกคะแนน ที่อยู่ในมือ กกต. และ กกต.ต้องประกาศผลรวมด้วย เพื่อประกอบการตัดสินใจร้องคัดค้านของเขา จะตรวจสอบเงียบๆเพียงฝ่ายเดียว แล้วประกาศตูมว่า สส.มีใครบ้างด้วยคะแนนเท่าใด แล้วให้เขาดิ้นรนไปสอยในศาลเท่านั้นไม่ได้
จุดนี้ช่วงนี้การตรวจสอบจึงต้องเข้มข้นที่สุดเร็วที่สุด และมีแต่การร้องเรียนของผู้สมัครโดยรู้ข้อมูลที่ครบถ้วนเท่านั้น ที่จะช่วยให้การตรวจสอบนี้มีคุณภาพได้การขยักไว้ไม่ประกาศคือการริดรอนสิทธิผู้สมัครและทำลายคุณภาพการตรวจสอบไปด้วยในตัว ยิ่งร่นเวลาตรวจสอบเพื่อประกาศผลที่กฎหมายให้ไว้ ๖๐ วัน มาเป็น ๔๕ วันเช่นนี้ด้วยแล้ว ก็ยิ่งเชื่อไม่ได้เลยว่า กระบวนการตรวจสอบจะสมบูรณ์ได้
ความสับสนเอาตัวเลข ๙๕ % มาใช้ในการประกาศคะแนนนับหลังวันเลือกตั้งจึงเป็นความผิดพลาด เพราะดังได้กล่าวแล้วว่าความแปรผันของสัดส่วนที่นั่ง สส.ที่จำเป็นต้องควบคุมจัดการนั้น มีแต่ตรงช่วงภายหลังประกาศผลเท่านั้น ส่วนช่วงประกาศคะแนนนับไปสู่การประกาศผล สส.นั้น จะแปรผันฟ้าถล่มดินทลายอย่างไรก็ไม่สำคัญเลย
ปัญหามาถึงวันนี้ หากคนเขาเชื่อว่าแนวทางนี้เป็นเพียงดุลพินิจที่ผิดพลาดก็พอทำเนา แต่ถ้าบานปลายจนคนเขาระแวงว่าเป็นแผนการทุจริตตุกติกเก็บคะแนน๖ %ไว้แต่งตัวเลขช่วยลุงตู่เมื่อใดล่ะก็
รับรองว่าประท้วง ชูป้าย “กูไม่กลัวมึง”กันเต็มถนนแน่ๆครับ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |