ความวุ่นวายทางการเมืองของอังกฤษจากความขัดแย้งเรื่องข้อตกลงเบร็กซิตถูกจุดพีกเมื่อวันพุธ เมื่อนางเทเรซา เมย์ เสนอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากสภาลงมติผ่านข้อตกลง ขณะที่สภาลงมติคว่ำข้อเสนอทางเลือกทั้ง 8 ทาง ทำให้อนาคตข้อตกลงนี้ยังอึมครึม
หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์อังกฤษวันที่ 28 มีนาคม 2562 รายงานข่าวข้อเสนอลาออกของนายกฯ เทเรซา เมย์ / AFP
ข้อตกลงเบร็กซิตที่รัฐบาลของนายกฯ เทเรซา เมย์ เจรจาต่อรองกับสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อแยกทางกับอียูตามผลประชามติเบร็กซิตเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ไม่ผ่านความเห็นชอบของสภามาแล้วถึง 2 ครั้ง และสัปดาห์ที่แล้ว บรรดาผู้นำอียูเสนอขยายเวลาการเบร็กซิตจากเดิมที่อังกฤษต้องพ้นสมาชิกภาพในวันศุกร์ที่ 29 มีนาคมนี้ ออกไปจนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม แต่มีข้อแม้ว่าสภาอังกฤษต้องลงมติรับข้อตกลงฉบับนี้ภายในวันศุกร์นี้
หากสภาไม่ลงมติตามกำหนด นางเมย์จะต้องแจ้งต่อบรรดาผู้นำชาติอียูว่าอังกฤษจะดำเนินการต่อไปอย่างไรภายในเส้นตายวันที่ 12 เมษายน มิเช่นนั้นก็เสี่ยงที่อังกฤษจะออกจากอียูโดยปราศจากข้อตกลงรองรับ
รายงานเอเอฟพีเมื่อวันพฤหัสบดีอ้างคำแถลงของรัฐบาลว่า สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษเตรียมจะลงมติครั้งที่ 3 ในวันศุกร์
เมื่อวันพุธ นางเมย์ยอมทิ้งไพ่ตายด้วยการประกาศต่อที่ประชุมพรรคอนุรักษนิยมของนางว่า นางพร้อมจะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากสภาลงมติรับข้อตกลงเบร็กซิต เพื่อให้ผู้นำคนใหม่มารับช่วงต่อในการเจรจาต่อในช่วงที่ 2
ข้อตกลงที่เมย์ใช้เวลาเจรจาต่อรองนาน 17 เดือนฉบับนี้ถูกฝ่ายต่อต้านอียูภายในพรรคของนางคัดค้านอย่างแข็งขัน รวมไปถึงพรรคเล็กร่วมรัฐบาล พรรคสหภาพประชาธิปไตยแห่งไอร์แลนด์เหนือ (ดียูพี) ที่ยังคงยืนกรานไม่เห็นด้วยกับแผนแบ็กสต็อปไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งจะยังคงเปิดพรมแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือ กับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ซึ่งเป็นสมาชิกอียู ไว้ต่อไปเช่นเดิม ดียูพีวิตกว่าแผนแบ็กสต็อปนี้จะทำให้ไอร์แลนด์เหนือมีสถานภาพทางเศรษฐกิจที่แตกต่างจากอังกฤษ
สื่ออังกฤษอย่างเดลีเมล์พาดหัวหน้าหนึ่งกรณีจุดยืนของดียูพีว่า การเสียสละของเมย์จะสูญเปล่ามั้ย? ส่วนไฟแนนเชียลไทมส์ประกาศว่า กลเม็ดลาออกของเมย์โดนสกัดโดยการคัดค้านของดียูพี
ค่าเงินปอนด์ของอังกฤษอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐและยูโรเมื่อวันพฤหัสบดี เพราะความวิตกกังวลอย่างต่อเนื่องเรื่องความไม่แน่นอนของเบร็กซิต
ก่อนหน้านี้ การลงมติในสภาผู้แทนราษฎรยิ่งตอกย้ำความวิตกที่ว่าอังกฤษอาจไม่สามารถผ่านข้อตกลงเบร็กซิตได้ทัน เมื่อข้อเสนอแผนทางเลือกทั้ง 8 ทาง ที่สภาใช้วิธีการมัดมือชกยึดอำนาจมาจากรัฐบาลเมื่อวันพุธ ไม่ได้รับความเห็นชอบจากเสียงข้างมากในสภาแม้แต่ข้อเสนอเดียว แต่ในวันจันทร์หน้า สภานี้เตรียมจะลงมติกันอีกครั้งสำหรับข้อเสนอบางข้อ
ข้อเสนอทางเลือกที่ได้รับเสียงสนับสนุนมากที่สุดนั้นคือทางเลือกที่ยังคงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับอียูไว้ต่อไปหลังการถอนตัว ส่วนข้อเสนอให้จัดการลงประชามติครั้งที่ 2 ซึ่งได้รับความนิยมจากฝ่ายสนับสนุนอียู นั้นได้เสียงสนับสนุนมากเป็นอันดับ 2 ในขณะที่ทางเลือกที่ต้องการให้อังกฤษแยกทางกับอียูอย่างเด็ดขาดนั้นได้คะแนนเกือบรั้งท้าย
ที่กรุงบรัสเซลส์เมื่อวันพฤหัสบดี เอเอฟพีรายงานว่า มาร์การิทิส ชินัส โฆษกของอียู แถลงว่า คณะกรรมาธิการยุโรปรับทราบผลการลงมติของสภาสามัญชนของอังกฤษเมื่อคืนวันพุธแล้ว และอียูให้การเคารพต่อมติที่ไม่เห็นด้วยกับทางเลือกทั้ง 8 ทาง และตอนนี้อียูต้องการเห็นการลงมติ "รับ"
นายกฯ ชาร์ลส์ มิเชล ของเบลเยียม กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เมื่ออังกฤษหาทางออกไม่ได้ พวกผู้นำอียูก็จะต้องประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 10 เมษายน เพื่อหารือขั้นตอนต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |