ลุยจัดระเบียบรถสองแถว


เพิ่มเพื่อน    


    
    เป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาการจราจรในเมืองใหญ่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางเป็นอย่างมาก และจะเห็นว่าปัจจุบันมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าในหลายเส้นทางยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าปัญหาการจราจรจะอยู่กับคนกรุงเทพฯ ไปอีก 4-5 ปี ตามไทม์ไลน์ที่จะเปิดให้บริการรถไฟฟ้า
    แต่ขณะเดียวกันปัญหาอย่างหนึ่งที่พบคือการให้บริการรถสองแถวตามตรอกซอกซอยต่างๆ ที่ปัจจุบันไม่ได้มีการควบคุมดูแล จึงเป็นที่มาของการจัดระเบียบรถเหล่านี้ ที่ล่าสุดคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง มอบหมายกรมขนส่งทางบก (ขบ.) จัดทำแผนการปรับปรุงเส้นทางและมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะหมวด 4 ซึ่งเป็นรถที่ให้บริการอยู่ในซอยต่างๆ เช่น รถสองแถว และกะป๊อ เป็นต้น
    โดยมีจุดประสงค์คือปรับปรุงมาตรฐานให้มีความปลอดภัยและเหมาะกับสภาพถนนมากขึ้น โดยให้เปลี่ยนเป็นรถโดยสารขนาดเล็ก (มินิบัส) หรือรถที่มีเครื่องปรับอากาศ (รถแอร์) มาให้บริการแทนนั้น ขณะนี้ ขบ.เตรียมว่าจ้างที่ปรึกษา อาจจะเป็นมหาวิทยาลัยของภาครัฐหรือสถาบันวิจัยที่มีชื่อเสียงมาเป็นที่ปรึกษาให้ คาดว่าภายใน 3-4 เดือนจะได้ที่ปรึกษา และใช้เวลาศึกษา 4-5 เดือน คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในปี 62 หรือต้นปี 63
    สำหรับรายละเอียดนั้น จะมีการศึกษาตามนโยบายที่กระทรวงคมนาคมมอบหมายให้ ขบ.พิจารณา เส้นทางรถกะป๊อและรถสองแถวตามซอย ที่มีสภาพเส้นทางเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยเป็นซอยขนาด 1-2 ช่องจราจร เปลี่ยนเป็นถนนขนาด 2-4 ช่องจราจร เช่น ซอยทองหล่อหลายซอยมีสภาพเปลี่ยนไปและกลายเป็นถนน โดยต้องยกระดับและพัฒนารถกะป๊อและรถสองแถวที่ให้บริการในเส้นทางเหล่านี้ ด้วยการปรับปรุงสภาพรถให้เหมาะสม อาจจะเป็นรถที่มีขนาดใหญ่ขึ้น 
    ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องมีการพิจารณาตามสภาพถนนในซอยหากบางซอยหรือบางพื้นที่มีสภาพถนนขนาดเล็กรถที่มีขนาดใหญ่อาจจะกลับรถไม่สะดวก รวมทั้งการปรับเปลี่ยนจากรถขนาดเล็กเป็นรถโดยสารขนาดใหญ่อาจจะไม่มีความคุ้มทุนในการให้บริการเพราะลงทุนจำนวนมาก บางพื้นที่จำเป็นต้องใช้งานของรถขนาดเล็ก หรือรถกะป๊อ หรือสองแถวอยู่ ถ้าปัจจุบันซอยเล็กกลายเป็นถนนขนาดใหญ่ เช่น ย่านทองหล่อ ต้องปรับเปลี่ยน
    ขณะเดียวกันเมื่อมีการปรับปรุงรถโดยสารเหล่านี้แล้ว กรมขนส่งทางบกก็พร้อมรับฟังเสียงผู้ประกอบการ โดยจะต้องพิจารณาระยะเวลาที่เหมาะสมในการปรับเปลี่ยน เพราะต้องใช้เงินลงทุน และผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อม เหมือนมาตรการปรับเปลี่ยนรถตู้ที่มีอายุการใช้งาน 10 ปี ต้องเปลี่ยนเป็นรถโดยสารขนาดเล็ก (ไมโครบัส) ไม่ให้ผู้ประกอบการเดือดร้อนด้วย  
    สำหรับรถกะป๊อนั้นไม่ได้กำหนดอายุการใช้งาน แต่สามารถนำรถมาปรับเปลี่ยนทดแทนได้ เช่น เมื่อกะป๊อคันเดิมสิ้นสภาพแล้ว สามารถนำรถกะป๊อคันใหม่มาทดแทนให้บริการได้จึงไม่กำหนดอายุใช้งาน แต่ต้องคำนึงถึงจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการเพื่อกำหนดจำนวนรถให้เพียงพอในแต่ละเส้นทาง ตลอดจนพิจารณาเรื่องค่าโดยสาร ขณะเดียวกันระหว่างการศึกษาต้องทำความเข้าใจ เปิดรับฟังความคิดเห็นผู้ประกอบการรถกะป๊อกับรถสองแถว และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมด้วยเพราะมีผลกระทบในการยกระดับมาตรฐานและค่าโดยสาร
    ในการปรับปรุงในครั้งนี้ กรมขนส่งทางบกคาดว่าใน 5 ปีข้างหน้า กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีรถไฟฟ้าเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นอีกหลายเส้นทาง ดังนั้นรถดังกล่าวจึงควรทำหน้าที่เชื่อมต่อชุมชนที่อยู่ในตรอกซอกซอยกับรถไฟฟ้า โดยตอนนี้มีผู้ประกอบการจำนวนมากสนใจวิ่งรถเชื่อมกับรถไฟฟ้า เช่น บริเวณพื้นที่บางแค เชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีบางหว้า เป็นต้น
    ดังนั้น จะต้องกำหนดเส้นทางให้รถสองแถว รถกะป๊อ เชื่อมต่อรถไฟฟ้า แต่ขณะเดียวกันเส้นทางก็ต้องไม่ซ้อนทับกัน จนทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบการ และจะต้องไม่กีดขวางการจราจรเมื่อออกสู่ถนนใหญ่ด้วย ทั้งหมดทั้งมวลก็ถือเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีกว่าตามมานั่นเอง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"