คนข่าวต้องรู้ทัน 'การตลาด' ของนักการเมือง


เพิ่มเพื่อน    

     พาดหัวหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งเช้าเมื่อวานสะท้อนถึงความน่าสับสนงุนงงของการนำเสนอข่าวที่นักการเมืองค่ายต่างๆ กำลังบอกกล่าวกับประชาชน
    และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ “ปฏิบัติการแย่งพื้นที่ข่าว” ของนักการเมืองเท่านั้น จากนี้ไปเราจะเห็นความพยายามที่จะเสนอเนื้อหาข่าวสารที่ฝ่ายตนได้ประโยชน์
    เป็นหน้าที่ของคนข่าวยุคนี้ที่จะต้อง “รู้เท่าทัน” นักการเมืองด้วยการไม่ยอมเพียงแค่จดถ้อยคำของผู้ให้สัมภาษณ์และรายงานตามตัวอักษรที่พวกเขาต้องการเท่านั้น
    กรณีคุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่เป็นตัวอย่างที่ควรจะเป็นจุดกระตุ้นให้นักข่าวที่ติดตามนักการเมืองต้องตื่นรู้และไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง
    ผมไม่ได้ตำหนิคุณมิ่งขวัญที่แถลงข่าวแล้วทำให้คนข่าวตีความที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะเขาเป็นนักการเมือง, นักการตลาดและนักสร้างแบรนด์
    คนข่าวต่างหากที่ต้องรู้เท่าทัน
    นักการเมืองที่ใช้การตลาดและวิธีการปรับโยกประเด็นให้เข้าสู่แนวทางที่เขาต้องการนั้นย่อมสามารถกำหนดพาดหัวและเนื้อหาข่าวได้หากคนทำข่าวไม่รู้เท่าทัน
    ผลเสียหายก็คือ ประชาชนผู้บริโภคข่าวจะไม่ได้รับรู้ข่าวสารที่ได้รับการตรวจสอบ ซักถามให้ตรงประเด็น เพราะนักข่าวยอมให้นักการเมืองนำพาไปในประเด็นที่ตนต้องการมากกว่าที่จะตอบคำถามตรงไปตรงมา
    เหตุการณ์เฉพาะการแถลงข่าวของ 6 พรรคการเมืองที่นำโดยพรรคเพื่อไทยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เป็นกรณีศึกษาสำหรับคนทำข่าวได้อย่างดีว่าจะเจาะหาความจริงด้วยคำถามมากกว่าเพียงแค่ “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” ได้อย่างไร
    การแถลงข่าวเปิดด้วยการบอกว่า 7 พรรคการเมืองรวมกันแล้วได้ 255 เสียง มาลงนามในสัตยาบันต่อหน้านักข่าว
    แต่พรรคที่ 7 ไม่มาปรากฏตัว เพราะอ้างว่าคุณมิ่งขวัญมีนัดสำคัญกับผู้ใหญ่ก่อนหน้านั้น
    แต่ก็ยืนยันว่าพรรคเศรษฐกิจใหม่จะอยู่กับฝ่ายนี้
    นั่นคือ “ข้ออ้าง” แต่ “ข้อเท็จจริง” ก็คือว่าคุณมิ่งขวัญไม่มาปรากฏตัว ไม่มาลงนามร่วม และปิดโทรศัพท์ไม่ตอบคำถามใครจนกระทั่งค่ำวันเดียวกันนั้นก็เปิดแถลงข่าวที่ห้องส่งของ The Standard โดยที่ตอบคำถามแบบที่เหมือนไม่ได้ตอบ
    คุณมิ่งขวัญบอกว่าเป็นคนรักษาคำพูด พูดคำไหนก็คำนั้น ฟังดูขึงขัง แต่เมื่อถูกนักข่าวถามย้ำว่า ความจริงเป็นอย่างไร คนตอบก็เล่นคำและใช้ลีลาด้วยน้ำเสียงที่ทำให้เกิดการพาดหัวที่ไปกันคนละทางของหนังสือพิมพ์
    ความจริง หากเป็นการถามตอบที่เข้าสาระแห่งประเด็นจริงๆ ก็ไม่น่าจะยากเกินไปที่จะนำเสนอข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับทราบได้
    เช่น ถามว่าถ้าคุณมิ่งขวัญอยู่ฝั่งนี้จริง ก็คงจะต้องการแสดงให้สาธารณชนเห็นว่าเป็นเช่นนั้นด้วยการมาปรากฏตัวเพื่อลงนามและแถลงข่าว
    หากคุณมิ่งขวัญอ้างว่ามีนัดหมายกับผู้ใหญ่ไว้ก่อนหน้านี้ ก็ควรจะถามต่อได้ว่า ทำไมไม่นัดหมายเวลากันใหม่ จะเป็นวันเดียวกันหรืออีกวันหนึ่งก็ได้ ซึ่งไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไรมากมาย
    เพราะประชาชนย่อมคาดหวังว่านักการเมืองต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าอยู่ข้างใด ด้วยเหตุผลอันใด และเปลี่ยนแปลงไปจากที่พูดไว้ช่วงหาเสียงหรือไม่
    เมื่อไม่มีคำถามเจาะลงไปในรายละเอียด และคุณมิ่งขวัญก็ใช้ลีลา, สีหน้าและภาษาที่ลากเรื่องไปอีกทางหนึ่ง การสัมภาษณ์วันนั้นก็ไม่ได้ความชัดเจนว่าตกลงคุณมิ่งขวัญ
    ตัดสินใจอยู่กับกลุ่มพรรคเพื่อชาติ
    หรือกำลังต่อรองกับพรรคพลังประชารัฐ
    หรือกำลังแทงกั๊ก
    ความจริงคุณมิ่งขวัญจะยิ้มหรือไม่ยิ้ม อารมณ์เครียดหรือไม่เครียดไม่ใช่ประเด็น
    ประเด็นอยู่ที่ว่านักข่าวจะต้องซักถามให้คุณมิ่งขวัญตอบคำถามที่ประชาชนต้องการรู้จนเกิดความกระจ่าง
    คุณมิ่งขวัญมีสิทธิ์จะไม่พบนักข่าว
    มีสิทธิ์จะไม่ตอบคำถาม
    มีสิทธิ์จะไม่รับโทรศัพท์ใครๆ
    แต่ในฐานะที่เป็นนักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน เพราะชอบนโยบายเศรษฐกิจที่นำเสนอ คุณมิ่งขวัญไม่ควรจะหลบเลี่ยงคำถามเกี่ยวกับจุดยืนของตัวเองเสมือนหนึ่งคิดว่าคนไทยทั้งหลายคง “ตามไม่ได้ ไล่ไม่ทัน” ความคล่องแคล่วของนักการตลาดตัวยงของประเทศ
    เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตลาด, การสร้างแบรนด์หรือการเมือง การใช้ “ลีลาและลูกเล่น” ที่ฝรั่งเรียกว่า marketing gimmicks นั้นใช้ได้เฉพาะในช่วงโปรโมชั่นเท่านั้น ท้ายที่สุดคุณภาพและเนื้อหาสาระแท้ๆ เท่านั้นที่จะกำหนดว่า “สินค้า” ตัวนี้เป็น “ของจริง” หรือไม่
    การเมืองยุคนี้จึงท้าทายต่อการปรับตัวของคนข่าวให้ทันกับลูกเล่นของนักการเมืองเป็นอย่างยิ่ง!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"