28 มี.ค. 2562 นายเกรียงศักดิ์ ประสงค์สุกาญจน์ รองอธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2562 เป็นต้นไป กรมฯ จะใช้มาตรการตรวจสอบภาษีในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนิติบุคคลที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 4.6 แสนรายทั่วประเทศอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการใช้ธุรกรรมเงินสด และมีการฝากเงินก้อนใหญ่เข้าสถาบันการเงิน เช่น ธุรกิจค้าขายออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ จะเป็นกลุ่มเสี่ยง ที่จะเข้าไปตรวจสอบเข้มข้นรุนแรง เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี
“ตอนนี้กรมสรรพากรมีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลในการตรวจสอบไว้แล้ว ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะแจ้งให้ธนาคารพาณิชย์ต้องนำงบการเงินที่แจ้งกับกรมสรรพากรประกอบการขอสินเชื่อ รวมถึงเชื่อมโยงข้อมูลการรายงานงบการเงินจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และบริษัทผู้ทำบัญชีด้วย จากนั้นจะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพื่อแยกประเภทธุรกิจที่มีความเสี่ยงออกมา โดยบทลงโทษนอกจากจะต้องจ่ายภาษีแล้ว ยังต้องเสียค่าปรับและเงินเพิ่มหรือดอกเบี้ย 1.5 เท่าด้วย” นายเกรียงศักดิ์ กล่าว
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ระหว่างนี้กรมสรรพากรจะเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีเข้ามายื่นแบบแสดงรายการปรับปรุงการเสียภาษีย้อนหลังให้ถูกต้อง โดยออก พ.ร.บ.ยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา พ.ศ. 2562 ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทะเบียนไม่ต้องรับภาระเสียเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม แต่ต้องเสียภาษีอยู่ โดยเริ่มลงทะเบียนเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 2562 จากนั้นต้องยื่นแบบทุกประเภทภาษีทางอินเทอร์เน็ตต่ออีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.62 -30 มิ.ย. 2563 แต่ยกเว้นคนที่ทำใบกำกับภาษีปลอมจะไม่ได้รับสิทธิเข้าร่วมมาตรการนี้
ทั้งนี้ มาตรการนี้เป็นส่วนหนึ่งในมาตรการส่งเสริมการจัดทำบัญชีเดียว ซึ่งครั้งนี้กรมฯจะเปิดโอกาสให้ปรับปรุงเป็นรอบสุดท้ายแล้ว จะไม่มีการเปิดอีก หากใครยังไม่เข้ามาลงทะเบียนภายใน 30 มิ.ย.นี้ กรมฯจะเข้าไปตรวจสอบการเสียภาษีอย่างเข้มข้นและรุนแรง แต่ถ้าใครเข้ามาแล้วก็จะไม่ใช่กลุ่มเสี่ยและได้รับการยกเว้นเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้ ส่วนภาษียังต้องจ่ายอยู่ ซึ่งแตกต่างจากรอบที่แล้วเมื่อปี 2558 ที่กรมฯนิรโทษกรรมให้ทั้งหมด
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนแจ้งใช้สิทธิ และยื่นแบบแสดงรายการภาษีอากรหรือยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงิน พร้อมทั้งชำระหรือนำส่งภาษีอากรให้ครบถ้วนภายในวันที่ 30 มิ.ย.62 จะได้รับการยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าปรับทางอาญา สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาที่เริ่มต้นในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค. 2559 -31 ธ.ค. 2560 ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับเดือนภาษีม.ค. 2559-ก.พ. 2562 อากรแสตมป์ ที่ชำระเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2559 -25 มี.ค. 2562 ภาษีอากรทุกประเภทที่มีหน้าที่ต้องหักหรือนำส่งสำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2559 -25 มี.ค. 2562
“พ.ร.บ.ยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา พ.ศ. 2562 มีวัตถุประสงค์สนับสนุนการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และทำธุรกรรมการเงินได้โดยสะดวก และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2562” นายเกรียงศักดิ์ กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |