กกต.ปรับกลยุทธ์ ประกาศตั้งโต๊ะแถลงโต้ข่าวลวงบนโซเชียลฯ “อิทธิพร” น้อมรับเสียงโจมตี ยอมรับจัดเลือกตั้งมีข้อผิดพลาด บกพร่องจริง พร้อมเร่งแก้ไขให้ดีที่สุด ยันยังไม่เห็นมีประเด็นให้นำไปสู่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ นักร้องยื่นหนังสือพิจารณาบัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์ใหม่ ไม่เช่นนั้นเข้าชื่อถอดถอน
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของ กกต. ว่า เสียงโจมตีและการให้ความเห็นของประชาชนเป็นสิ่งที่ กกต.เคารพ เพราะความผิดพลาดก็มีอยู่จริง สิ่งที่ กกต.ต้องทำคือตอบให้ได้ว่าข้อผิดพลาดเกิดจากอะไร และจะแก้ไขอย่างไร ตรงนี้เป็นประเด็นหลัก การถูกโจมตีเป็นเรื่องปกติของการทำงานในลักษณะนี้ จะไม่รับฟังเสียงโจมตีคงเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้ามองในแง่สร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องเตือนใจให้คำนึงถึงการทำงานต่อไปให้ดีที่สุด
ส่วนที่มีการขอให้ กกต.เปิดเผยผลคะแนนเป็นรายหน่วยเลือกตั้งนั้น ในความเป็นจริง ทุกหน่วยเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. เมื่อนับคะแนนเสร็จแล้ว ก็จะติดประกาศผลคะแนนไว้ที่หน้าหน่วย ขั้นตอนในขณะนี้ คือกรรมการประจำหน่วยจะส่งผลคะแนนมาที่ กกต.เขต ให้รวบรวมส่งมายัง กกต.จังหวัด เพื่อส่งต่อมายังกกต.กลาง
ประธาน กกต.กล่าวอีกว่า ข้อมูลผลคะแนนมีการเปิดเผยตั้งแต่ระดับหน่วยเลือกตั้งอยู่แล้ว ประชาชนสามารถขอข้อมูลผลการนับคะแนนได้จาก กกต.เขต หรือ กกต.จังหวัด โดย กกต.ได้กำชับกับสำนักงานให้แจ้งไปยังสำนักงาน กกต.จังหวัด ให้ส่งรายงานผลการนับคะแนนจากทุกเขตมายัง กกต.กลางเพื่อดำเนินการตรวจสอบอีกครั้ง และคิดว่าข้อมูลหลังจากนั้นไม่น่าจะมีอะไรที่เปิดเผยไม่ได้
สำหรับการเรียกร้องให้นับคะแนนใหม่ทั้งหมด ตนอยากให้ดูประเด็นว่า ทุกหน่วยเลือกตั้งที่เปิดให้ลงคะแนนเมื่อวันที่ 24 มี.ค. เมื่อถึงเวลาปิดหีบ มีการนับคะแนนอย่างเปิดเผย โดยมีประชาชนและผู้สังเกตการณ์ไปเฝ้าดูอยู่ จึงอยากให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าการนับคะแนนในที่สาธารณะ โดยมีผู้มีส่วนได้เสียร่วมสังเกตการณ์อยู่ด้วย เป็นการนับคะแนนที่ถูกต้องชอบธรรมในเบื้องต้น ข้อร้องเรียนในความผิดปกติในบางหน่วยมีอยู่จริง แต่จะนำไปสู่การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ยังตอบไม่ได้
นายอิทธิพรกล่าวถึงประเด็นที่ประชาชนยังค้างคาใจต่อการทำงานของ กกต.ว่า ขอแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นข่าวลือ ซึ่งเรามีกลไกตรวจสอบ ถ้าเป็นข่าวลือ ข่าวเท็จ ข่าวให้ร้าย เราก็คงต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป และกลุ่มที่ 2 เป็นการรายงานข้อมูลบกพร่องผิดพลาด เราก็จะตรวจสอบว่าข้อผิดพลาดบกพร่องเกิดจากอะไร และจะแก้ไขได้อย่างไร ซึ่งก็จะชี้แจงให้ประชาชนทราบอย่างสม่ำเสมอทั้งในรูปของเอกสารหรือตั้งโต๊ะแถลงข่าว เรามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข่าวทั้งข่าวจริง ข่าวเท็จ และจะมีการให้ข้อมูล
เขากล่าวถึงกรณีบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ที่ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่ง กกต.มีมติไม่นำบัตรมานับคะแนนว่า การประชุมเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา กกต.ใช้เวลาพิจารณาว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับบัตรเลือกตั้งของนิวซีแลนด์ที่ส่งมาถึง ซึ่งตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง มาตรา 114 มีหลายสาเหตุที่คณะกรรมการ กกต.มีอำนาจสั่งไม่ให้นับคะแนน และให้ถือว่าเป็นบัตรเสีย
โดยเฉพาะเรื่องของการส่งบัตรล่าช้า ซึ่งบัตรจากนิวซีแลนด์ในข้อเท็จจริงยังไปไม่ถึงสถานที่เลือกตั้ง ยังอยู่แถวนี้ จึงไม่เข้าข่ายมาตรา 114 ซึ่งระบุว่า "เมื่อมีการส่งบัตรเลือกตั้งไปยังสถานที่เลือกตั้งภายหลังเริ่มนับคะแนนแล้ว" การพิจารณาเราต้องให้มั่นใจว่า กฎหมายให้อำนาจอะไรเราบ้าง เมื่อเราเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เข้ามาตรา 114 สิ่งที่เราทำได้คือมีมติไม่ให้นับคะแนน ซึ่งก็คล้ายกับกรณีที่มีการส่งบัตรล่าช้าในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา คือส่งมาไม่ทันการนับคะแนน จึงต้องนำบัตรดังกล่าวมาเก็บรักษาไว้
เมื่อถามว่า หากนำบัตรจากนิวซีแลนด์มาเปิดนับ จะเกิดปัญหาการเลือกตั้งไม่เป็นความลับ และนำไปสู่การร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ตรงนี้ยังตอบไม่ได้ แต่ที่ กกต.มีมติก็อยู่บนพื้นฐานที่ได้อธิบายให้ฟังว่าบัตรเหล่านี้ไม่ใช่บัตรเสีย เป็นเพียงบัตรที่ส่งมาล่าช้า ส่งมาถึงภายหลังปิดการนับคะแนน ส่วนจะมีการนำไปสู่การฟ้องร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่นั้น ตนคงตอบไม่ได้ เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันหลายแง่มุม ขึ้นอยู่กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ จะพิจารณาไปในแง่มุมใด แต่ในชั้นนี้ กกต. คิดว่าเหตุผลที่เราตัดสินใจว่าไม่สามารถนับเป็นคะแนนได้ เพราะบัตรส่งมาไม่ทัน
ถามถึงภาพรวมการเลือกตั้งว่ามีประเด็นใดจะนำไปสู่การวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ ประธาน กกต.ตอบว่า โดยส่วนตัวยังไม่เห็นว่ามีประเด็นใด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มี ที่ผ่านมาก็มีการนับคะแนนผิด ส่งบัตรเลือกตั้งผิด ในบางหน่วยเลือกตั้ง เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ กกต.ไม่อยากให้เกิด ขณะนี้จึงอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย กกต.จะทยอยชี้แจงเป็นรายกรณีไปให้เร็วที่สุด
ซักว่าเป็นห่วงหรือไม่ว่าการประกาศผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พ.ค. อาจไม่เป็นที่ยอมรับ นายอิทธิพรตอบว่า ยังไม่กลัว เพราะสิ่งที่ถามเป็นข้อเท็จจริงที่ยังไม่เกิดขึ้น จึงยังไม่ขอตอบ สิ่งที่ กกต.ต้องทำในขณะนี้คือการเลือกตั้งที่ผ่านไป มีการร้องเรียนในประเด็นใดบ้าง และผลของการร้องเรียนจะนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่หรือไม่
เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรที่มีการเข้าชื่อถอดถอน กกต.แล้วถึง 8 แสนรายชื่อ ประธาน กกต.ตอบว่า สิ่งที่อยากทำในตอนนี้คือ ดูว่ามีอะไรผิดพลาด และสิ่งใดสำคัญ ขอทำในสิ่งที่ต้องรับผิดชอบให้ดีก่อน แก้ไขสิ่งผิดพลาดให้ดีที่สุด เรื่องอื่นก็สุดแล้วแต่ ส่วนที่มีการเรียกร้องให้ กกต.แสดงสปิริตด้วยการลาออกนั้น ตนยังไม่ขอตอบ เพราะยังมุ่งเน้นทำงานให้มีประสิทธิภาพดีที่สุด โดยขณะนี้ กกต.เริ่มพิจารณาเรื่องร้องเรียนและร้องคัดค้านแล้ว แต่ไม่ได้กำหนดว่าวันหนึ่งจะต้องพิจารณาให้ได้กี่เรื่อง ทราบว่าในอดีตมีเรื่องร้องเรียนมากกว่า 500 เรื่อง แต่ในครั้งนี้มีประมาณ 100 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการร้องคัดค้านการเลือกตั้งในต่างจังหวัด
ที่ที่ทำการพรรคอนาคตใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค แถลงข่าวว่า วันนี้ กกต. นับคะแนนเสร็จแล้ว แต่ไม่ยอมบอกคะแนน บอกเพียงผู้สมัครคนไหนชนะเลือกตั้งในเขตใด แต่ไม่ได้บอกคะแนนดิบ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมาก เพราะไม่เคยมีการเลือกตั้งครั้งไหนที่แปลกเท่าครั้งนี้ หลังการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว 2 วัน แต่ละพรรคก็ยังไม่สามารถคำนวณเก้าอี้ ส.ส.ของตัวเองได้
“ผมเรียนว่า กกต.กำลังปฏิบัติหน้าที่โดยมีการจับตาของประชาชนและสื่อมวลชน ด้วยความเคลือบแคลงสงสัย เพราะ กกต.ชุดนี้มาจาก สนช.ที่แต่งตั้งโดย คสช. หากจะแสดงออกว่า กกต.เป็นองค์กรอิสระ ที่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างแท้จริง ประชาชนออกไปใช้สิทธิแล้ว เช่นเดียวกับพรรคการเมือง หาก กกต. โปร่งใสจริง ก็ไม่จำเป็นต้องปิด เพื่อให้แต่ละพรรคสามารถคำนวณคะแนนเสียงและจำนวนเก้าอี้ให้ถูกต้อง” นายปิยบุตรกล่าว
นายราเมศ รัตนะเชวง กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้ กกต.ทบทวนมติไม่นับบัตรคะแนนจากนิวซีแลนด์ เพราะหลักกฎหมายและเจตนารมณ์กฎหมายทำได้ อยู่ที่ กกต.คิดจะปกป้องหรือไม่เท่านั้น
“กระบวนการของ กกต.ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ยึดหลักสุจริต ดังนั้นคะแนนต้องเปิดเผย จังหวัดหนึ่งมีกี่หน่วยควรเปิดเผยอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ทุกฝ่ายตรวจสอบได้” นายราเมศกล่าว
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือถึง กกต. ระบุว่า หากคณะกรรมการ กกต.ยังคงยืนยันในคำวินิจฉัยเดิมให้บัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์เป็นบัตรเสีย สมาคมฯ จะดำเนินการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ได้ 2 หมื่นรายชื่อ เพื่อยื่นถอดถอนและเอาผิดคณะกรรมการ กกต.ทั้ง 7 คน และขอเชิญชวนให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ ที่เห็นว่าคณะกรรมการ กกต.จัดการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ขัดต่อกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ได้ออกมาแสดงพลังกันมาร่วมเข้าชื่อถอดถอนในครั้งนี้ด้วย
นางธิดา ถาวรเศรษฐ ในฐานะประชาชนคณะอาสาสมัครตรวจสอบทุจริตการเลือกตั้ง ยื่นเรื่องต่อ กกต. เรียกร้องให้ตรวจสอบการรายงานคะแนนจากทุกหน่วยเลือกตั้ง จำนวนบัตรดี บัตรเสีย พร้อมตรวจสอบจำนวนบัตรเสียที่มีมากผิดปกติ หรือนับใหม่ทั้งหมด
“กกต.ชุดนี้ถูกแต่งตั้งโดยรัฏฐาธิปัตย์ ส่วนตัวมองว่าการทำหน้าที่ของ กกต.ในการจัดการเลือกตั้งสอบไม่ผ่าน ตั้งแต่การจัดเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร ที่มาเลเซีย ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนไว้ 4,000 คน แต่กลับมีแค่ 3 คูหาไว้รองรับเท่านั้น และเชื่อว่าถ้าเรื่องของผลคะแนนยังไม่เป็นที่ชัดเจน เชื่อว่าจะมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลอย่างแน่นอน เพราะจะมีการแจกใบส้ม ใบแดง ใบดำ ให้กับผู้สมัครบางพรรคการเมือง อาจจะมีผลให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้” นางธิดากล่าว
องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการตรวจสอบ พร้อมประณาม กกต. ถึงความบกพร่องต่อการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งส่งผลอย่างร้ายแรงต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในแง่ความสุจริตและเที่ยงธรรมของผลการเลือกตั้ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |