เมื่อคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในคืนวันเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นไปตามที่ได้ประกาศเอาไว้ช่วงหาเสียงว่า หากพรรคได้ที่นั่งต่ำกว่าร้อยก็จะขอแสดงความรับผิดชอบด้วยการอำลาตำแหน่งนี้ ผมถือว่านั่นเป็นฉากการเมืองที่น่าประทับใจ
คุณอภิสิทธิ์ได้วางมาตรฐานของนักการเมืองที่ซื่อตรงต่อคำมั่นสัญญาต่อประชาชน และควรจะเป็นตัวอย่างสำหรับนักการเมืองอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
เพราะศรัทธาของประชาชนต่อนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ เราเชื่อว่าคำสัญญาของพวกเขาและเธอมีความหมาย และถือเป็นพันธสัญญาต่อสังคม
จากนี้ไปคนทั้งสังคมไทยก็คงจะร่วมกันวิเคราะห์ถึงสาเหตุของความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับของพรรคที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ
เพราะการพยายามหาคำตอบของคำถามนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นบทเรียนสำคัญต่อคนในพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น แต่ยังเป็นประเด็นที่คนในสังคมไทยทั้งหมดต้องนำมาสังเคราะห์ เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับเราในการวินิจฉัยบทบาทของพรรคการเมืองในการตัดสินใจวันข้างหน้าด้วย
บางคนบอกว่าเพราะพรรคประชาธิปัตย์ไปโอนเอียงเข้าข้างทหาร ไม่ยึดแนวทาง "เสรีประชาธิปไตย" ที่เป็นตัวของตัวเองอย่างจริงจัง
อีกบางคนบอกว่า เพราะพรรคเก่าแก่ที่สุดของประเทศพรรคนี้ไม่ปรับตัวเองให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก
บางสำนักวิเคราะห์ว่ากลไกของพรรคนี้ยังติดยึดอยู่กับระบบอาวุโส ไม่คล่องตัว ไม่คิดอะไรนอกกรอบ
อีกกระแสหนึ่งบอกว่าความพ่ายแพ้ครั้งนี้เกิดจากภาพลักษณ์เดิมๆ ที่ว่า "พูดเก่งแต่ทำงานไม่เป็น"
บางคนบอกว่าพรรคนี้แม้จะไม่มีเจ้าของพรรค แต่ก็มีผู้บริหารกลุ่มเดียวที่ไม่เปิดทางให้มีความคิดใหม่ๆ ที่ท้าทายวิธีคิดเดิมๆ
อีกบางนักวิเคราะห์บอกว่าเพราะพรรคนี้หมกมุ่นอยู่กับการต่อต้านทักษิณ ไม่สามารถจะฝ่าข้ามวิธีคิดแบบนี้ได้ จึงวางนโยบายและวิธีการหาเสียงที่ยังผูกติดอยู่กับ "ศัตรูทางการเมือง" คนเดียว ทั้งๆ ที่คนไทยไม่น้อยอาจจะต้องการเห็นอะไรใหม่ๆ ที่ข้ามพ้นความขัดแย้งเก่าๆ
ข้อวิพากษ์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนที่ติดตามข่าวสารการเมือง และคนในพรรคก็คงได้รับทราบข้อติติงเหล่านี้เป็นระยะๆ
คอการเมืองก็คงได้ยินได้ฟังเสมอว่าผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ได้พยายามจะปรับแก้จุดอ่อนเหล่านี้เสมอมา
ความพยายามแก้ไขปรับเปลี่ยนข้อบกพร่องเหล่านี้ได้ทำกันอย่างจริงจังเพียงใด และประสบความสำเร็จมากน้อยอย่างไร ไม่มีอะไรมาวัดได้ดีเท่ากับผลการเลือกตั้ง เพราะนั่นคือการตัดสินของประชาชนที่เป็นรูปธรรมที่สุด
แต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีปัจจัยใหม่ๆ มาเพิ่มเติม จนอาจจะกลายเป็นประเด็นซ้ำเติมทำให้เกิดปรากฏการณ์ "ล่มสลาย" ต่อหน้าต่อตาขึ้นมาฉับพลัน
ปัจจัยใหม่ที่สำคัญที่สุดและมีผลกระทบต่อประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งนี้มากที่สุด น่าจะเป็นการก่อเกิดของพรรคอนาคตใหม่ที่มีทั้ง "ความสด" และ "ความกล้าท้าทายอำนาจเดิม" ด้วยน้ำเสียงของคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีภาระที่จะต้องปกปักรักษา "สมบัติเก่า" ไม่ว่าจะเป็นของเก่าที่มีคุณค่าหรือที่เป็นภาระทางประวัติศาสตร์ก็ตาม
ความจริงเมื่อมีสัญญาณค่อนข้างชัดว่าพรรคการเมืองใหม่พรรคนี้กำลังจะมาแย่งความโดดเด่นเรื่องการเสนอให้ปฏิรูปการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม คนในพรรคประชาธิปัตย์ไม่น้อยก็เกิดความตื่นตัว เพราะตระหนักว่ากำลังจะถูกท้าทายด้วย "ของใหม่และสด" มากกว่า
ความจริงพรรคประชาธิปัตย์ได้วางตัวนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เรียกว่า "เยาวประชาธิปัตย์" หรืออะไรทำนองนั้น อีกทั้งยังมี New Dem มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ไม่ค่อยจะโดดเด่นหรือได้ออกไปสัมผัสกับประชาชนมากนัก
แต่เมื่อเกิดพรรคอนาคตใหม่ เราเห็นการเปิดตัวของ New Dems ที่มีคุณภาพและความสดใหม่ไม่แพ้ทีมของอนาคตเท่าใดนัก ความแตกต่างอยู่ตรงที่คนของพรรคใหม่มายืนอยู่แถวหน้า มีหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคที่สามารถสื่อให้สังคมเห็นถึงนโยบายที่ชัดเจน อีกทั้งยังใช้ Social Media อย่างคล่องแคล่วและคึกคัก
ขณะที่ New Dems ยังยืนอยู่แถวหลัง เหมือนเป็นเพียงหน่วยเสริมของทัพหน้าที่เป็นคนหน้าเดิมและนำเสนอนโยบายด้วยลีลาแบบประชาธิปัตย์เดิม
อยู่ดีๆ ชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่ที่เคยเห็นประชาธิปัตย์เป็นแนวทาง "เสรีนิยม" ของการเมืองไทยก็มีทางเลือกใหม่ขึ้นมาทันที.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |