นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาและรองผู้อำนวยการสถานศึกษา โดยต่อจากนี้ไปการบรรจุแต่งตั้งผอ.และรองผอ.สถานศึกษาจะกระจายอำนาจให้ส่วนราชการดำเนินการไม่ต้องผ่าน ก.ค.ศ. ซึ่งในส่วนของ ก.ค.ศ.ก็จะทำหน้าที่เหมือนคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่เป็นหน่วยงานกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานตำแหน่งเท่านั้น สำหรับวิธีการคัดเลือกจะใช้วิธีสอบหรือไม่สอบนั้น ก็จะขึ้นอยู่กับส่วนราชการนั้นๆ เป็นผู้พิจารณา เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียน สพฐ.ก็มีอำนาจตัดสินเองว่าจะสอบหรือไม่สอบ หรือจะใช้วิธีการไหนก็ได้ โดยไม่ต้องมาผ่าน ก.ค.ศ.แล้ว เป็นต้น และเท่าที่ตนทราบขณะนี้เหมือนจะไม่มีการสอบแล้ว ทั้งนี้การใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวฉบับปรับปรุงใหม่จะเริ่มดำเนินการได้หลังจากที่มีการบรรจุแต่งตั้ง ผอ.สถานศึกษาที่ขึ้นบัญชีไว้ก่อนหน้านี้เรียบร้อยแล้ว
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบในหลักการการวางกรอบแนวทางการจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือเหตุพิเศษ ใน 4 กรณี ได้แก่ กรณีมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เช่น ครม.อนุมัติให้นักเรียนได้รับทุนจากโครงการสำคัญและต้องบรรจุเป็นข้าราชการครู เป็นต้น กรณีมีสัญญาผูกพันตามโครงการพิเศษ/นักเรียนทุน กรณีบรรจุในพื้นที่เกาะบนภูเขาสูง เสี่ยงภัย หรือพื้นที่พิเศษ หรือการบรรจุและแต่งตั้งในสถานศึกษาที่มีลักษณะพิเศษตามที่ส่วนราชการกำหนดและกรณีความจำเป็นพิเศษอื่นกศจ./อ.ก.ค.ศ.อนุมัติ ทั้งนี้ที่ประชุมหารือในหลักเกณฑ์นี้นาน เนื่องจากผู้ทรงคุณวุฒิมีข้อโต้แย้งหลายประการ เช่น พื้นที่ภูเขาสูงต้องระบุความสูงของภูเขาด้วยว่าสูงเท่าไหร่ และยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าหลักเกณฑ์จะเปิดทางให้มีการวิ่งเต้นบรรจุคนของตัวเองเข้าสู่ตำแหน่งได้ ซึ่งตนคิดว่าไม่ต้องกังวล เพราะการดำเนินการเรื่องนี้ทำในรูปแบบองค์คณะที่เป็นคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) อีกทั้งสังคมยังสามารถเข้ามาตรวจสอบได้
“ สำหรับการปรับแบบประเมินความดีความชอบปี 2562 นั้น ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแบบประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนแล้ว โดยเกณฑ์การประเมินจะทำตามตัวชี้วัดประกอบด้วย ด้านการจัดการเรียนการสอน การบริหารจัดการชั้นเรียน การพัฒนาตนเองและพัฒนาวิชาชีพ และงานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย โดยให้ผู้บังคับบัญชา (ผู้อำนวยการโรงเรียน) ประเมินจากการประเมินตนเองของผู้รับการประเมิน ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าการประเมินรูปแบบใหม่จะไม่เป็นธรรมนั้น ยืนยันว่าแบบประเมินนี้เป็นธรรม เพราะมีระเบียบการประเมินอย่างรัดกุมเข้มข้น รวมถึงหากเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่อาจทำให้ผู้อำนวยการโรงเรียนดูแลไม่ทั่วถึงนั้นก็สามารถมอบหมายให้รองผอ.ร.ร.ช่วยดูแลได้ อีกทั้งผู้รับการประเมินไม่พอใจก็สามารถยื่นอุทธรณ์และร้องเรียนได้ตามลำดับขั้นตั้งแต่ กศจ.ไปจนถึง ปลัด ศธ. ซึ่งแบบประเมินดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ทันที”รมว.ศธ.กล่าว