ผลการเมืองตั้งครั้งนี้มีบทเรียนสำหรับทุกฝ่ายหลายด้าน ผมจะค่อยๆ จับประเด็นมาถกแถลงกันให้เกิดสติปัญญาสำหรับคนไทยที่กำลังมีคำถามใหญ่ข้อหนึ่งเหมือนๆ กันว่า ประเทศไทยเราจะไปทางไหน และการเมืองจะมีคุณภาพดีขึ้นหลังจากการใช้สิทธิ์ใช้เสียงครั้งนี้มากน้อยเพียงใด
หนึ่งในปรากฏการณ์ใหญ่ที่น่าจะต้องมีการศึกษาวิจัยและวิเคราะห์กันอย่างกว้างขวางคือ “ดาวรุ่งและดาวร่วง” จากการตัดสินใจของผู้ใช้สิทธิ์หย่อนบัตรเลือกตั้งครั้งนี้
ดาวรุ่งคือพรรคอนาคตใหม่
ดาวร่วงคือพรรคประชาธิปัตย์
ทำไมพรรคอนาคตใหม่จึงได้ที่นั่งถล่มทลายเกินความคาดการณ์ของคนทั่วไป
และทำไมประชาธิปัตย์จึงพ่ายแพ้อย่างหมดรูปได้ขนาดนี้
บางคนบอกว่าเพราะพรรคหนึ่งเป็นตัวแทนความเปลี่ยนแปลง
อีกพรรคหนึ่งมีภาพของความพยายามจะรักษาฐานเสียงเก่าเป็นหลัก
ความจริงอาจจะสลับซับซ้อนมากกว่านั้น
แต่เป็นการเปรียบเทียบที่น่าสนใจและหากเราพิจารณาศึกษาอย่างรอบด้านก็อาจจะช่วยให้เกิดปัญญาในสังคม เพื่อที่จะได้ติดตามความเคลื่อนไหวของสองพรรคการเมืองนี้อย่างเป็นรูปธรรม
หากเราติดตามข่าวสาร ทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงของการเมืองอันเนื่องมาจาก “ความป่วน” หรือ disruption ในทุกๆ ด้านด้วยใจเปิดกว้างและเป็นธรรม ไร้อคติ และนำเสนอทางออกอย่างสร้างสรรค์แล้ว ก็น่าจะทำให้เราช่วยกันส่งเสริมให้คนที่เสนอตัวมาทำงานสาธารณะเพื่อบ้านเมืองมีกำลังใจที่จะทำหน้าที่ของตนอย่างรับผิดชอบ โปร่งใสและเปิดกว้างได้
การก่อเกิดของพรรคอนาคตใหม่อย่างน่าตื่นตาตื่นใจนั้น น่าจะมาจากคนรุ่นใหม่ที่ต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้านของสังคม
และอาจจะมาจากความเชื่อที่ว่านักการเมืองเก่าๆ เดิมๆ ไม่น่าจะสามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาและเธอต้องการได้
อีกปัจจัยหนึ่งอาจจะมาจาก "ความเบื่อการเมือง" แบบเก่าที่ไม่มีทางออกสำหรับคนที่ต้องการเห็นประเทศชาติข้ามพ้นความขัดแย้งที่เป็นปัญหาของสังคมไทยมากว่าสิบปีแล้ว
คนที่ "เบื่อการเมืองเก่า" ไม่จำกัดแต่เฉพาะคนรุ่นใหม่หรือคนมีสิทธิ์หย่อนบัตรครั้งแรกเท่านั้น หากแต่ยังเป็นความรู้สึกของชนชั้นกลางและผู้วัย babyboomers ในวัยเกษียณที่ต้องการแสดงออกถึงความสิ้นหวัง และหวังว่าพรรคใหม่นี้จะนำมาซึ่งสิ่งใหม่ๆ ที่คนรุ่นพวกเขาไม่สามารถจะทำให้เกิดขึ้นได้
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่เกิดได้อย่างรวดเร็วฉับพลันนั้น หนีไม่พ้นว่าเป็นเพราะนวัตกรรมของการสื่อสารยุคดิจิตอลที่มาในรูปของ social media ทุกรูปแบบ ทำให้นักการเมืองรุ่นใหม่สามารถสื่อสารกับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งนี้อย่างรวดเร็ว กว้างขวางและตรงจุดได้อย่างที่ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์การเมืองของไทยมาก่อน
อาจจะมีคำถามว่าทำไมพรรคอื่นๆ ก็ใช้โซเชียลมีเดียเหมือนกัน ไฉนจึงไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับพรรคใหม่นี้
คำตอบก็คือการสื่อสารที่ตรงเป้าและบรรลุจุดประสงค์นั้น ไม่เพียงแต่จะใช้ platforms ที่เข้าถึงผู้รับสารเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ "เนื้อหาสาระ" ของการสื่อสาร และรูปแบบการนำเสนอที่สร้างความน่าเชื่อถือ โน้มน้าวความคิด และกระตุ้นให้เกิดการแชร์ต่ออย่างกว้างขวาง
คนรับสารในกรณีนี้จึงไม่ใช่เพียงผู้รับรู้ว่าใครมาบอกกล่าวอะไรเท่านั้น แต่เมื่อพวกเขาและเธอเห็นพ้องกับสารนั้นๆ แล้วก็ยังสวมบทบาทเป็น "พันธมิตร" และ "โฆษกอาสาสมัคร" ด้วยการชักชวนคนอื่นๆ ให้มาร่วมขบวนการเดียวกันด้วย
พวกเขาไม่เพียงแค่ชื่นชมเนื้อหาที่ได้รับ แต่ยังถือว่าตัวเองเข้าร่วมขบวนการทางการเมืองที่พวกเขาเชื่อว่าจะทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่พวกเขาต้องการจะเห็นอีกด้วย
ยุคก่อนเราเรียกว่า "หัวคะแนน" ยุคนี้เป็น "ผู้ร่วมสานฝัน"
ซึ่งมีความแตกต่างในมิติความรู้สึกร่วม ความทุ่มเท กระตือรือร้น และจิตอาสาเหมือนฟ้ากับเหวเลยทีเดียว
แน่นอนว่าสิ่งที่ท้าทายที่สุดของพรรคอนาคตใหม่เมื่อยืนอยู่ตรงที่ประสบความสำเร็จเร็วและแรงเช่นนี้ คือจะ "บริหารความคาดหวังของสาธารณะ" อย่างไร
เป็นประเด็นที่น่าติดตามศึกษาและร่วมกันวิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการผลักดันให้กระบวนการการเมืองของประเทศเดินไปในทิศทางที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับทุกคนได้อย่างไร
ยังมีประเด็นต้องเขียนต่อกันอีกหลายวันครับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |