อายุวัยเกษียณละ ถือว่าได้เห็นภาพคนในสังคมไทยเริ่มรู้จักวัฒนธรรมการเข้าคิวมากขึ้นกว่าเมื่อตอนเราเป็นเด็กอย่างมากมายเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในที่สาธารณะยอดนิยม อย่างรถไฟฟ้า และห้องน้ำสาธารณะตามห้างสรรพสินค้า ตลอดจนในโรงภาพยนตร์ต่างๆ รวมถึงในสนามบิน
ถ้าประเมินแล้ว สถานที่ "วัฒนธรรมการเข้าคิว" ได้รับการปฏิบัติอย่างดี และมีผู้ปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพน่าชื่นชม ล้วนแต่เป็นโลกหรือพื้นที่รวมประชากรของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับความเจริญและพัฒนาของสังคมแห่งนั้น
สังเกตสิ ถ้าไปเดินตามตลาดสด หรือป้ายรถเมล์ริมถนน รวมทั้งห้องน้ำในปั๊มน้ำมันไกลๆ หลายแห่ง วัฒนธรรมการเข้าคิวดูเหมือนจะไปไม่ถึงค่ะ
ทำไมล่ะ?!? หรือมันจะเข้าหลัก ..เข้าเมืองตาหลิ่วเราก็ต้องหลิ่วตาตาม!!! แทนที่เราจะยึดถือปฏิบัติการเข้าคิวให้เป็นธรรมชาติเหมือนลมหายใจเข้า-ออก หรือเป็นเรื่องที่ต้องทำ ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานที่ใดก็ตาม
คำตอบ..มันคงอยู่ในใจ หรือรู้อยู่แก่ใจของคนไทยทุกคน นั่นคือ คนไทยไม่เคยชินและไม่ศรัทธาต่อวัฒนธรรมเข้าคิว ซ้ำร้ายบางคนนึกว่าการแซงคิวได้..คือความเก่งกาจสามารถ ฉลาดหลักแหลม มีปัญญามากกว่าคนอื่น?!?
มนุษย์ป้าเอง ..ยอมรับว่าเสียใจมากทุกครั้ง และจะหงุดหงิดทุกที ที่เห็นเด็กและเยาวชนยุคดิจิทัลไม่สนใจปฏิบัติตามวัฒนธรรมการเข้าคิว ทั้งๆ ที่มันเป็นพฤติกรรมพื้นฐานพึงปรารถนาที่เชื่อว่าโรงเรียนได้อบรมสั่งสอนอย่างสม่ำเสมอแน่นอน
มันน่าเอาไม้เคาะกบาลไหมล่ะ!! เพราะมนุษย์ป้ายังสามารถปรับทัศนคติเพื่อเข้าคิวให้เป็นระเบียบเรียบร้อยตามการเปลี่ยนแปลงสังคมในปัจจุบันได้เลย แต่เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่กลับไม่ทำ และมองมนุษย์ป้าว่าน่าเบื่อเรื่องมาก เมื่อมนุษย์ป้าอ้าปากถามหาความถูกต้องเหมาะสมในการเข้าคิว
ด้วยความสงสัยว่า ทำไมคนไทยไม่เข้าคิว แต่คนญี่ปุ่นเขาทำเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องชีวิตปกติประจำวัน ก็ไปเจอข้อเขียนของ อาจารย์ฮารา ชินทาโร ซึ่งเป็นอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี บอกเล่าถึงเหตุผลที่ว่าทำไมคนญี่ปุ่นเข้าแถว ไม่แซงคิว
อาจารย์บอกว่า เขาเองก็ไม่ทราบว่าทำไมคนญี่ปุ่นเข้าคิวทุกครั้ง และแทบจะไม่มีใครกล้าแซงคิว ที่สำคัญมันยังเป็นหัวข้อที่น่าสนใจสำหรับงานวิจัยด้วย
1.เป็นวัฒนธรรมในสังคมญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นถูกสอนตั้งแต่สมัยอนุบาลศึกษา ทั้งพ่อแม่ ทั้งครู และทั้งบรรดาผู้ใหญ่จะดุเด็กๆ ที่แซงคิวหรือไม่เข้าคิวตั้งแต่สมัยเด็ก ก็เข้าใจว่าการแซงคิวนั้นเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ นี่ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับดีหรือไม่ดี แต่อยู่ที่ว่าทำได้หรือทำไม่ได้มากกว่า
2.คนที่แซงคิวถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่มีคุณค่า เพราะคนนั้นเป็นคนที่เห็นแก่ตัว ไม่เกรงใจคนอื่น และทำให้คนอื่นรอนาน เพราะความเห็นแก่ตัวของตนเอง
3.สิทธิและความเท่าเทียมกัน แม้ว่าคนที่อยู่ข้างหน้าของแถวนั้นเป็นคนใดก็ตาม เราก็รู้สึกว่าเขามีสิทธิมากกว่าเรา แม้ว่าเราจะมีอำนาจสูงกว่า มีเงินมากกว่า มีการศึกษาสูงกว่า ตำแหน่งที่สูงกว่าก็ตาม ในแถวนั้น คนที่มีสิทธิมากที่สุดก็คือคนที่มาเร็วที่สุด คนนั้นเป็นใคร ไม่ใช่เรื่องสำคัญ
สรุปคือ สังคมญี่ปุ่นเชื่อว่าการเข้าคิวนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน เพราะถ้าไม่มีคิว คนที่ได้เปรียบที่สุดก็คือ คนที่ไม่รู้จักคำว่าอาย เราก็ไม่อยากจะให้สังคมของเราเป็นสังคมที่คนที่ไม่รู้จักคำว่าอายได้เปรียบ ทุกคนก็ยอมรับที่จะเข้าแถว แม้ว่าแถวนั้นจะยาวเป็นหลายกิโลก็ตาม.
"ป้าเอง"
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |