'บ้านก้างปลาโมเดล' พลิกชีวิตเกษตรอาบสาร ลดเขาหัวโล้น


เพิ่มเพื่อน    

สภาพเขาหัวโล้นพื้นที่ อ.ด่านซ้าย จ.เลย  สะท้อนปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ

 

     เขาหัวโล้นเป็นโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมสำคัญของจังหวัดเลย เพราะชาวบ้านและนายทุนบุกรุกอย่างหนักจนพื้นที่เสื่อมสภาพ เมื่อผืนป่าถูกทำลายและแหล่งอาหารทางธรรมชาติของชุมชนตกอยู่ในภาวะเปราะบาง ทำให้คนด่านซ้ายเมืองเลยจำนวนหนึ่งพร้อมใจกันทำเกษตรทางเลือกแบบผสมผสาน ปลูกพืชผักพื้นบ้านแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญทำให้ภูเขารอบหมู่บ้านเปลี่ยนเป็นเขาหัวโล้น ชาวด่านซ้ายยืนยันว่า ป่าที่นี่คือความมั่นคงทางอาหารของคนเลยและประเทศไทย 
    อย่างน้อย 24 ครัวเรือนจาก 73 ครัวเรือนของหมู่บ้านก้างปลา หมู่บ้านขนาดเล็กบนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 700 เมตร เป็นหัวหอกขับเคลื่อนการฟื้นฟูทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ของอำเภอด่านซ้าย ภายใต้โครงการ Smart Farmer เกษตรทางเลือกและความมั่นคงทางอาหาร และโครงการการเพิ่มศักยภาพเกษตรกรและหมู่บ้านต้นแบบการผลิต และการตลาดสีเขียวมาตรฐานด่านซ้ายกรีนเนต โดยประยุกต์ใช้แนวทางระบบการรับรองมาตรฐานอย่างมีส่วนร่วม โดยการสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) 

 

บรรยากาศคึกคักตลาดสีเขียวมาตรฐานด่านซ้ายกรีนเนตที่ รพ.สมเด็จพระยุพราช ด่านซ้าย 


    แม้การปรับเปลี่ยนความคิดของชาวบ้านไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวต่อเนื่องมานับสิบๆ ปี แต่ทีมนักวิจัย สกว. และผู้นำชุมชนไม่ยอมแพ้ง่ายๆ  พัฒนา ลองผิดลองถูกตลอด 2 ปี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทำเกษตรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เลิกใช้สารเคมีเกษตร ปัจจุบันกลายเป็นหมู่บ้านต้นแบบการจัดการป่าชุมชน และความสำเร็จดังกล่าวกำลังถูกยกระดับเป็นด่านซ้ายโมเดล 
    รศ.ดร.เอกรินทร์ พึ่งประชา  จากภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ปี  2557 ทำโครงการจัดการลุ่มน้ำหมัน อ.ด่านซ้าย จ.เลย ซึ่งลุ่มน้ำหมันเป็นแม่น้ำสายหลักของชุมชนในพื้นที่ด่านซ้าย ความยาว 65 กิโลเมตร มีการปูพรมสำรวจหมู่บ้านต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพราะลุ่มน้ำนี้ขาดการบริหารจัดการที่เหมาะสมและขาดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่วิกฤติเขาหัวโล้นไม่ต่างจาก จ.น่าน มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ใช้สารเคมีเข้มข้นมาก สภาพดินเสื่อมโทรม  และขยายที่ทำกินเข้าผืนป่ามากขึ้นทุกปี ภาวะวิกฤตินี้กระทบต่อการดำรงชีวิตของชาวด่านซ้าย ปัญหาเหล่านี้นำมาสู่โจทย์วิจัยและสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยคนเป็นเครื่องมือสำคัญขับเคลื่อนงานวิจัยนี้ เพราะวิถีชีวิตคนด่านซ้ายมากกว่าร้อยละ 90 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
    " เราได้พูดคุยกับเกษตรกร คนในชุมชน และพานักวิจัยชาวบ้าน 30 คน จากหมู่บ้าน 12 แห่งใน อ.ด่านซ้าย ไปศึกษาดูงานบ้านน้ำมีด จ.น่าน ชุมชนต้นแบบชาวบ้านเปลี่ยนจากพืชเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรผสมผสานและรื้อฟื้นการจัดการลุ่มน้ำได้ ผลการถอดบทเรียนมีหมู่บ้านก้างปลาที่เดียวไม่อยากให้ป่าเป็นเขาหัวโล้น สกว.รับฟัง และนำเสนอ ฝ่ายเกษตร สกว. พร้อมรับฟังเสียงชาวบ้านต้องการอะไร นำมาสู่โครงการสมาร์ทฟาร์มเมอร์ สำรวจครัวเรือน ภาวะหนี้สินและรายได้ของชุมชน ในการพัฒนานั้นต้องรู้ฐานข้อมูลชุมชน จากการศึกษาโครงการ กระบวนการผลิตเดิมสร้างวงจรหนี้สิน ทำเกษตรในพื้นที่ 40 ไร่ ขายผลผลิตได้ 6 แสนบาท แต่ต้นทุน 3.5-4 แสนบาท ชาวบ้านไม่เคยบวกลบต้นทุนที่ใช้ไป อีก 2 แสนที่เหลือไม่ตกถึงครัวเรือน ส่งไปที่กองทุนเงินล้าน และชำระหนี้ ธ.ก.ส. นี่ยังไม่พูดถึงเรื่องสุขภาพเจ็บป่วยจากใช้สารเคมี" รศ.ดร.เอกรินทร์ กล่าว 

 

รศ.ดร.เอกรินทร์ พึ่งประชา คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร หัวหน้าโครงการฯ 
 


    หัวหน้าโครงการบอกด้วยว่า ชุมชนบ้านก้างปลาทำได้เป็นรูปธรรม เพราะได้แกนนำเข้มแข็งขับเคลื่อน พยายามปรับเปลี่ยนความเชื่อให้ชาวบ้านทำเกษตรผสมผสาน จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลผลิตก็ปลอดภัย ส่งผลดีต่อสุขภาพตนเองและผู้บริโภค และการพัฒนาจะนำไปสู่การลดเขาหัวโล้น  
    " ครึ่งปีแรกชาวบ้านปลูกพริกพื้นที่ 1 ไร่ รายได้เท่ากับทำข้าวโพด 40 ไร่ แต่ครึ่งปีหลังเจอฝนและโรคแมลงพริกเสียหาย สะท้อนความเสี่ยงสูง ก็ช่วยกันคิดใหม่ ปลูกพืชผักผสมผสาน พืชผักปลอดภัย ช่วยสร้างรายได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่องให้เกษตรกร เฉลี่ยวันละ 500-800 บาท คนที่ขายเก่งรายได้สูงสุด 4,000 บาทต่อวัน สมาร์ทฟาร์มเมอร์สร้างการเปลี่ยนแปลงให้คนด่านซ้ายและอำเภอด่านซ้าย มีการเปิดตลาดสีเขียวหรือตลาดด่านซ้ายกรีนเน็ตที่ รพ.สมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย และที่ว่าการอำเภอด่านซ้ายเปิดตลาดสีเขียวหนุนเสริม เกิดกระแสบริโภคสีเขียวในด่านซ้ายเพิ่มขึ้น" รศ.เอกรินทร์เผยตลาดสีเขียวก็บูม เขาหัวโล้นก็ลด
    นอกจากนี้ รศ.ดร.เอกรินทร์ บอกด้วยว่า ที่นี่ยังมีการจัดทำป่าชุมชนบ้านก้างปลา แรกเริ่มไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะชาวบ้านไม่เข้าใจการจัดตั้งป่าชุมชน กลัวว่าพื้นที่เกษตรจะถูกยึดคืนถ้ามีปักเขตแดนและกฎระเบียบ ช่วงปี 57-59 ขับเคลื่อนการจัดตั้งป่าชุมชนไม่ได้ ก็ถอดบทเรียนและแก้ไขสร้างเครือข่ายผ่านกิจกรรมนักสืบสายน้ำ โดยคณะวิจัยจากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย รวมถึงชวนคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ดำเนินการสำรวจฐานทรัพยากรของชุมชนเพื่อจัดทำฐานข้อมูลป่าชุมชน พบว่ามีชนิดพรรณป่ากว่า 136 ชนิด จากการศึกษายังชี้ว่า ป่าลดลงกว่า 315 ไร่ ทำให้คนในชุมชนหันมาอนุรักษ์ จัดประชุม และมีมติให้กำหนดแนวเขตป่าชุมชนของหมู่บ้าน มีกฎกติกาที่ชุมชนร่วมกันทำขึ้น กรมป่าไม้มาทำแนวเขตแปลงป่าชุมชนบ้านก้างปลาสำเร็จเมื่อตุลาคมปีที่แล้ว  

 

พืชผักปลอดสาร ผลผลิตสู่ผู้บริโภค ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวด่านซ้าย 


    ลงแรงลงใจจัดการดิน น้ำ ป่า บัวลอง ศิริ ผู้ใหญ่บ้านบ้านก้างปลา เผยว่า ทีมวิจัยชาวบ้านลุ่มน้ำหมันเกิดขึ้นครั้งแรกปี 58 เพราะหมู่บ้านก้างปลาเป็นลุ่มน้ำสาขาน้ำหมัน ทีม สกว.นำโดยอาจารย์เอกรินทร์ เข้ามาอบรม พัฒนาทักษะในชุมชน มีการตั้งคณะกรรมการป่าชุมชน ปี 59 เจ้าหน้าที่ป่าไม้สำรวจพื้นที่ทำกินในพื้นที่ป่า จากนั้นประชาคมร่วมกับชาวบ้านจะจัดตั้งป่าชุมชนบ้านก้างปลา  เดินแนวเขต และในที่สุดก็ตั้งป่าชุมชนได้ ชาวบ้านหยุดบุกรุกพื้นที่ป่าและผลักดันออก ทำให้ได้ป่ากว่า 200 ไร่ กลับมา มีการปลูกต้นไม้เพิ่ม ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม เวลานี้มีเห็ด หน่อไม้ คนในชุมชนใช้ประโยชน์เพื่อยังชีพได้ ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ การฟื้นป่าทำให้แหล่งน้ำและแหล่งอาหารกลับมา    

 

     

บัวลอง ศิริ ผู้ใหญ่บ้านก้างปลา 


    แปลงไร่รับลมชมดาวเป็นอีกพื้นที่ตัวอย่างในบ้านก้างปลา สองสามีภรรยาเจ้าของพื้นที่หักดิบเลิกปลูกข้าวโพด หันมาทำไร่นาสวนผสม ปลูกไม้ผล เลี้ยงไก่บ้านไก่ไข่ มีรายได้ มีความสุขกับแนวทางที่เลือก
    วิโรจน์ อินทรวงษ์ เกษตรกรบ้านก้างปลา บอกว่า ตลอด 5 ปีที่ทำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่ 10 ไร่ ประสบภาวะหนี้สิน ทำให้ต้องขยายพื้นที่ทำกินเพิ่มเป็น 20-30 ไร่ เพื่อหาเงินใช้หนี้ เมื่อนักวิจัย สกว.เข้ามาในชุมชน พาไปดูงานบ้านน้ำมีด จ.น่าน ก็อยากทำเกษตรผสมผสาน ชวนภรรยาหักดิบไม่ทำแล้ว ครั้งแรกหัดปลูกพริก ได้ผลดีช่วงแรก แต่ตอนหลังเจอโรคแมลง จึงพูดคุยกันเปลี่ยนทำแปลงเกษตรพืชผักปลอดภัย เลี้ยงไก่ดำและไก่ไข่เสริม แล้วก็เพิ่มปลูกแก้วมังกร ได้ผลดี 
    " ตอนนี้มีรายได้จากแปลงเกษตรทั้งรายวันและรายสัปดาห์ หนี้จากข้าวโพด 4 แสนบาท คาดว่าจะปลดหนี้ให้หมดภายใน 2 ปีนี้ เชื่อมั่นกับแนวทางทำเกษตรที่ได้จากงานวิจัย สกว. มาถูกทางแล้ว และรู้สึกสุขภาพดีขึ้น เพราะไม่มีสารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้อง ตอนนี้มีคนมาดูงานที่ไร่ นักท่องเที่ยวก็เข้ามา เพราะผมปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม" วิโรจน์เล่าด้วยรอยยิ้ม โดยมีภรรยาเคียงข้าง   

 

'ไร่รับลมชมดาว' แปลงเกษตรผสมผสานต้นแบบ ปลูกแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

    ส่วนราชการจับมือชุมชนและทีมวิจัย สกว.ขับเคลื่อนก้างปลาโมเดล ภูมารินทร์ คงเพียรธรรม นายอำเภอด่านซ้าย กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนรักษาป่าและต่อยอดโครงการพระราชดำริลดการบุกรุกป่า ตลอดจนมีโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ ขณะที่อำเภอด่านซ้ายทำงานหนุนเสริมผ่านแผนงานพืชผักปลอดภัยและสร้างเครือข่ายเกษตรปลอดภัย ต่อยอดตลาดเพิ่มวันขายที่หน้าอำเภอ รวมทั้งสร้างเครือข่ายกับผู้ประกอบการที่พัก โรงแรม ร้านค้าในด่านซ้าย อ.ด่านซ้าย มี 10 ตำบล จะนำก้างปลาโมเดลลงทุกตำบลขยายพื้นที่เกษตรปลอดภัยสู่หมู่บ้านต่างๆ ต่อไป
    "จะนำยุทธศาสตร์จังหวัดเลยมาขับเคลื่อนไป โดยใช้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นเครื่องมือต่อยอด ทั้งบ้านก้างปลา บ้านป่าหมัน บ้านนาหมูหม่น ที่ใช้เกษตรทางเลือกฟื้นฟูทรัพยากร นอกจากมีจุดเด่นเรื่องการจัดการทรัพยากรชุมชนช่วยสร้างเศรษฐกิจแล้ว ยังผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของเมืองเลยได้ด้วย" นายอำเภอหญิงย้ำทิ้งท้ายไทยแลนด์ 4.0 มุ่งเกษตรผสมผสาน ลดพืชเชิงเดี่ยว หยุดป่าหาย และสร้างความเข้มแข็งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"