เลือกตั้ง 24 มี.ค.ผ่านพ้นไปเหมือนจะเรียบร้อย ล่าสุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลเขตเลือกตั้งไหนพรรคใดชนะ ท่ามกลางข้อกังขาของหลายฝ่ายในความผิดปกติ เพราะแม้ กกต.จะประกาศได้ว่าแต่ละพรรคได้จำนวน ส.ส.เขตเท่าไหร่ แต่ไม่สามารถเปิดเผยผลการนับคะแนน
สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เรียกว่าการเลือกตั้งรอบนี้ยับเยิน ภาคใต้ โดนเจาะแทบทุกจังหวัด อดีตส.ส.ที่ว่าเก๋าก็ยังเสียม้าให้พลังประชารัฐ อาทิ วิรัช ร่มเย็น จังหวัดระนอง วิรัตน์ กัลยาศิริ จังหวัดสงขลา เฉลิมชัย ศรีอ่อน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น
แต่โชคดีที่จังหวัดสุราษฎร์ธานียังคงรักษาหน้าไว้ได้ เพราะ ส.ส.ประชาธิปัตย์ได้ยกจังหวัด ถือเป็นการให้บทเรียน “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่ก่อนหน้านี้เกรี้ยวกราดใส่บ้านเก่าอย่างแสนสาหัส และหวังจะได้พื้นที่เมืองหอยใหญ่ ไข่แดง แต่สุดท้ายคว้าน้ำเหลว
ส่วนสถานการณ์จังหวัดกรุงเทพมหานครถือว่าหนักที่สุดในประวัติการณ์ จากที่เคยเป็นฐานที่มั่นครองพื้นที่มากที่สุด ประชาธิปัตย์ไม่เหลือแม้แต่เขตเดียว และที่สำคัญ เมื่อจัดลำดับคะแนนนิยมตกไปอยู่อันดับที่ 4 ซึ่งถือว่าน่าเหลือเชื่อ และกลายเป็นพรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ และอนาคตใหม่เข้าวินแทน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเรียกว่าหักปากกาเซียนคงไม่ผิดแปลกอะไร เพราะเดิมส่วนใหญ่วิเคราะห์ว่าพื้นที่เมืองหลวงเป็นการแข่งขันระหว่างประชาธิปัตย์และเพื่อไทย แม้กระทั่งโพลของหน่วยงานภาครัฐเองทั้ง กอ.รมน. และสันติบาลยังประเมินว่าประชาธิปัตย์จะชนะเป็นส่วนใหญ่
หรือแม้แต่พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นคู่แข่งขันมาโดยตลอด มีรายงานว่า “ในที่ประชุมพรรคต่างแปลกใจผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น เพราะต่างมองว่าคู่แข่งคนสำคัญในสนามเลือกตั้ง กทม.คือ พรรคประชาธิปัตย์ แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมากลับกลายเป็นว่า พรรคพลังประชารัฐและอนาคตใหม่มีคะแนนนิยมมากกว่า ทั้งที่ระหว่างการหาเสียงก็ไม่ได้มีกระแสเหมือนที่ออกมา”
ผู้สมัครบางรายใน กทม.ของ ปชป. บอกทำโพลของตัวเองตลอดเวลา แม้แต่ในวันสุดท้ายก่อนเลือกตั้งยังคะแนนนำ แต่เมื่อนับคะแนนผลกลับพลิกล็อด ผิดคาดอย่างไม่น่าเชื่อ
ทว่าการเลือกตั้งรอบนี้ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่าเกิดปัญหาจำนวนมากจนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง เช่น ประเด็นยอดผู้มาใช้สิทธิ์ไม่ตรงกับจำนวนบัตรเลือกตั้ง ซึ่งส่อว่าเกิดการทุจริตในหลายพื้นที่หรือไม่
ที่เห็นเป็นรูปธรรมสุด คือ สุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัครส.ส.เขต 9 หลักสี่ กทม. พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์เรียกร้อง กกต.ตอบคำถามสังคมให้ได้ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง เพราะเขตเลือกตั้งที่ 9 มีปัญหาบัตรเลือกตั้งมากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ และปัญหาบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าของเขต 9 ถูกส่งไปนับคะแนนที่เขต 1 จนส่งผลให้บัตรทั้งหมดกลายเป็นบัตรเสีย กรณีดังกล่าวส่งผลกระทบกับคะแนนเสียงที่ออกมา
เช่นเดียวกับ ลีลาวดี วัชโรบล ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 กทม. พรรคเพื่อไทย ก็ระบุ กกต.เขต 1 ยอมรับว่ามีการส่งบัตรผิดพลาด แต่ระบุว่าปัญหาที่เกิดขึ้นต้องไปร้องต่อ กกต.กลางเท่านั้น ซึ่งทางพรรคจะรวบรวมหลักฐานเตรียมร้องขอความเป็นธรรมต่อไป โดย กกต.เขต 1 ก็พร้อมที่จะเป็นพยานให้
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความคลุมเครืออยู่นี้ พรรคที่ได้คะแนนมากต่างทยอยประกาศตัวจัดตั้งรัฐบาล ส่วนความเคลื่อนไหวค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผมก็ถูกตั้งคำถามว่า ภายหลัง อภิสิทธิ์ ลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคแล้ว จุดยืนของพรรคจะเป็นอย่างไร พรรคร่วมรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน
ฝั่งคู่แค้นของ อภิสิทธิ์ ตั้งแต่หยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และ ถาวร เสนเนียม ยืนยันเป็นเสียงเดียวกัน ประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐได้ โดยไม่ผิดอุดมการณ์ของพรรค เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
แต่กระนั้น ชวน หลีกภัย ผู้อาวุธโสสูงสุดและเป็นที่เคารพของคนในพรรค ออกมาเบรกแล้วว่า เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ผูกพันกับพรรคแต่ประการใด และจุดยืนของพรรคจะต้องขอมติจากที่ประชุมเท่านั้น
จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์มีความอ่อนไหวและต้องคิดให้รอบคอบ หลายคนในพรรคระบุว่า หากพรรคยอมเป็นพรรคร่วมรัฐบาลจะทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นพรรคใหญ่หายไปทันที
ฉะนั้นจึงมีการแก้เกมโดยระบุว่า ร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล ต้องตัดสินใจโดยกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.)และ ส.ส.ใหม่ แต่ตอนนี้มีปัญหาว่า ส.ส.ใหม่ยังไม่ได้รับการรับรองจาก กกต.
หรือหมายความว่า แนวโน้มอาจต้องให้ กก.บห.รักษาการ เป็นผู้ตัดสินใจเอง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง เท่ากับพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านแน่นอน เพราะ กก.บห.ชุดเก่าล้วนแต่เป็นผู้สนับสนุนอภิสิทธิ์
เหนือสิ่งอื่นใด นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความวุ่นวายทางการเมือง ที่สำคัญโจทย์ใหญ่ที่สุดคือ กกต.จะต้องเคลียร์ทุกข้อสงสัยให้ได้เสียก่อน ดังนั้น สงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหาร.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |