เลือกตั้งประเทศไทยเสร็จ ก็ต้องจับตาการเลือกตั้งประเทศต่างๆ ในเอเชีย เช่น อินเดีย, อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ในอีกไม่นานนี้
ผลการเลือกตั้งประเทศไทยครั้งนี้ตอกย้ำสัจธรรมที่ว่า ทุกการเลือกตั้งล้วนสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคม
การเลือกตั้งเป็นเพียงกระบวนการหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย แม้จะมีความสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าคือการที่ประชาชนจะตื่นรู้และมีบทบาทคึกคักต่อเนื่องหลังการหย่อนบัตร
เพราะการใช้สิทธิ์เลือกเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการสร้างประชาธิปไตย ซึ่งมีทั้งเรื่องของสิทธิและความรับผิดชอบ เรื่องของการอาสาทำงานและการตรวจสอบ เรื่องการสร้างศักยภาพของคนในสังคมเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันสำหรับคนทั้งประเทศ
อินเดียจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ระหว่าง 11 เมษายนถึง 19 พฤษภาคม
อินโดนีเซียจะมีการเลือกตั้งวันที่ 17 เมษายน
และฟิลิปปินส์จะมีการเลือกตั้งกลางเทอมวันที่ 13 พฤษภาคมนี้
การเลือกตั้งของอินเดียซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีประชากรมากที่สุดในโลก จะเป็นการตัดสินใจของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 900 ล้านคนว่าจะให้นายกฯ นรินทรา โมดีอยู่ในตำแหน่งอีกสมัยหนึ่งหรือไม่
คู่ท้าชิงของนายกฯ โมดีก็ยังเป็นราหุล คานธี หัวหน้าพรรค Indian National Congress (INC) ซึ่งเป็นแกนนำฝ่ายค้าน
ชัยชนะของโมดีในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเป็นการโค่นอิทธิพลทางการเมืองของตระกูลคานธี กลายเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของประเทศนั้น
โพลหลายสำนักสรุปสอดคล้องต้องกันว่าครั้งนี้โมดีก็จะชนะการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง เพราะยังได้เสียงสนับสนุนจากคนอินเดียรากหญ้าและชนชั้นกลางที่นิยมนโยบายเศรษฐกิจของแก
ยิ่งมีเรื่องเผชิญหน้ากับปากีสถานกรณีแคชเมียร์เมื่อเร็วๆ นี้ก็ยิ่งสร้างภาพความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวของโมดี เพราะแกสั่งเครื่องบินถล่มปากีสถานอย่างเร่งด่วนหลังจากกลุ่มติดอาวุธจากฝั่งปากีสถานเข้ามาโจมตีฐานที่มั่นของอินเดียตรงชายแดน
กระแส "ชาตินิยม" มีส่วนสำคัญเสมอในการเลือกตั้งทุกครั้งในเกือบทุกประเทศ
ส่วนการหย่อนบัตรของอินโดฯ วันที่ 17 เมษายนนี้ ก็เป็นการทดสอบว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งของประเทศนั้น 190 ล้านคนจะให้ประธานาธิบดี Joko Widodo หรือ Jokowi อยู่ต่ออีกหนึ่งสมัยหรือไม่
การแข่งขันรอบใหม่นี้เหมือนกับเอาหนังเก่ามาฉายใหม่ เพราะผู้ท้าชิงก็เป็นคนเดิมคืออดีตนายพล Prabowo Subianto
การเลือกตั้งของอินโดฯ ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาที่ปรึกษาประชาชนระดับชาติ หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการที่นั่นว่า People’s Consultative Assembly (MPR) กับสภาระดับท้องถิ่น พร้อมๆ กันไปโดยมีพรรคการเมืองทั้งหมด 16 พรรคเข้าแข่งขัน
คนอินโดฯ ที่ไปหย่อนบัตรวันนั้นจึงต้องกาบัตรเลือกตั้งหลายใบพร้อมๆ กัน (ยุ่งกว่าคนไทยที่เมื่อวานนี้ไปกาเพียงบัตรใบเดียว แล้วเอาคะแนนรวมไปตัดสินทั้ง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อไปด้วย)
การเลือกตั้งสภานิติบัญญัติของอินโดฯ ในทุกระดับในวันเดียวกันจะเลือกผู้แทนกว่า 20,000 คนใน MPR และสภาท้องถิ่นและจังหวัดทั่วประเทศ
ผู้เสนอตัวเข้าแข่งขันเป็น ส.ส.เข้าสภา People’s Representative Council มีถึง 8,000 คน
เลือกตั้งของฟิลิปปินส์วันที่ 13 พฤษภาคมจะเป็นการเลือกตั้งกลางเทอม ซึ่งก็คือการที่ประชาชนมาหย่อนบัตรเพื่อเลือกสมาชิกวุฒิสภา 12 คน กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด กับตำแหน่งตัวแทนประชาชนทั้งหมดของเขตปกครองพิเศษมินดาเนาที่เรียกว่า Autonomous Region in Muslim Mindanao (ARMM) รวมไปถึงการเลือกตั้งตำแหน่งระดับจังหวัดทั้งหลายอีกด้วย
เสียงประชาชนเป็นเสียงสวรรค์เสมอ...หากผู้ได้รับเลือกไปเป็นตัวแทนทำหน้าที่ให้ตรงกับความต้องการของเจ้าของอาณัตินั้นอย่างแท้จริง
หาไม่แล้ว ผู้อาสาเหล่านั้นจะถูกลงโทษและสาปแช่งอย่างแน่นอน!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |