"ด้วยศักยภาพทั้งทางด้านความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงานครบวงจร พร้อมผู้บริหารและพนักงานที่มีศักยภาพ รวมทั้งการมีความแข่งแกร่งด้านเงินลงทุน เราเชื่อว่าบ้านปูเป็นอีกหนึ่งภาคเอกชนที่สามารถเป็นฟันเฟืองสำคัญในการช่วยพัฒนาพื้นที่อีอีซีและประเทศไทยกลายเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการแข่งขันทัดเทียมกับนานาประเทศ และเป็นเมืองแห่งอนาคตที่เติบโตอย่างยั่งยืน"
หลังจากที่องค์การสหประชาชาติได้เปิดเผยผลการศึกษาล่าสุดที่ว่า ปัจจุบันมีประชากรทั่วโลกอาศัยอยู่ในชุมชนเมืองมากถึง 55% และคาดการณ์ว่าภายในปี 2593 จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองจะเพิ่มขึ้นเป็น 68% หรือประมาณ 25,000 ล้านคน ซึ่งสวนทางกับปริมาณทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด จะทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในหลายด้าน โดยเฉพาะชุมชนในเมือง
ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกจึงพยายามคิดค้นวิธีรับมือกับปัญหาดังกล่าวด้วยการขับเคลื่อนเมืองสำคัญให้ก้าวสู่การเป็น ‘สมาร์ทซิตี้’ หรือ ‘เมืองอัจฉริยะ’ โดยการนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการทรัพยากรของเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่ภาครัฐมีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์และโครงการต่างๆ มากมายในการขับเคลื่อนประเทศไทยภายใต้กลุยทธ์ ‘ไทยแลนด์ 4.0’ ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีเป้าหมายหลักพัฒนาให้เขตเศรษฐกิจพิเศษฯ ใน 3 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ให้เป็นพื้นที่ที่มีการเชื่ยมโยงโครงข่ายด้านคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งและทันสมัยที่สุด ยกระดับอุตสาหกรรม เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว พร้อมพัฒนาไปสู่เมืองแห่งความสมดุลของสถานที่ทำงานและที่พักอาศัยในอนาคต พลังงานถือเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะนำประเทศไทยไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ภาครัฐจึงมีการวางแผนการจัดการพลังงานตามนโยบาย ‘พลังงาน 4.0’ ด้วยการใช้พลังงานทดแทน พัฒนาระบบจัดเก็บพลังงาน สนับสนุนให้มีการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า พร้อมนำนวัตกรรมด้านพลังงานเพื่อพัฒนาเมืองไทยให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะโดยภาครัฐได้วางยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานไว้ 5 แผนงานหลัก ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)
รวมถึงการที่ภาครัฐเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนมีส่วนร่วมและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาสังคมในด้านต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้เร็วขึ้น จะเห็นได้ตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไปทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างเมืองไทยให้สมาร์ทมากขึ้น เพียงแค่หันมาใช้พลังงานทดแทน หรือนำสมาร์ทโซลูชั่นเข้ามาใช้ในภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือน และการดำเนินชีวิตประจำวันก็ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเราให้ดีขึ้นได้
มุ่งสู่สมาร์ทซิตี้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจะเห็นการตื่นตัวของภาคเอกชนหลายแห่งที่มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนประเทศไทยให้เป็นสมาร์ทซิตี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม และให้คนไทยได้เข้าถึงพลังงานทดแทนได้อย่างง่ายดายในราคาที่เหมาะสม มีความเสถียร และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บ้านปูให้ความสำคัญกับระบบนิเวศทางธุรกิจทั่วทั้งองค์กร เพราะเชื่อมั่นว่าการที่ธุรกิจของบริษัทจะเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยระบบนิเวศทางธุรกิจที่เอื้อประโยชน์และส่งเสริมซึ่งกันและกัน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้ผนึกกำลังระหว่างกลุ่มธุรกิจหลัก 3 กลุ่ม ประกอบไปด้วย
กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ได้แก่ ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การตลาด การค้า โลจิสติกส์ และการจัดหาเชื้อเพลิง และสายส่ง กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน ได้แก่ โรงไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป และจากพลังงานหมุนเวียน และ กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ได้แก่ ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจร ระบบจัดเก็บพลังงาน และระบบการจัดการเทคโนโลยีพลังงาน ซึ่งกลุ่มนี้จะดำเนินการโดยอาศัยทั้งนวัตกรรม เทคโนโลยี และศักยภาพของบุคลากร ด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันใน 10 ประเทศ การต่อยอดลงทุนหรือมองหาโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการมองถึงระบบนิเวศทางธุรกิจที่สมบูรณ์ที่จะตอบโจทย์ความเป็นผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรด้วยพันธสัญญา พลังบ้านปูสู่พลังงานที่ยั่งยืน “Our Way in Energy”
นางสมฤดี กล่าวว่า บ้านปู ได้สร้างฐานการเติบโตอย่างยั่งยืนตามกลยุทธ์ Greener&Smarter ใน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย ลาว มองโกเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม และเพื่อสานต่อกลยุทธ์ Greener&Smarter กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีด้านพลังงานของบ้านปูที่ดำเนินการภายใต้ บริษัท บ้านปู อินฟิเนอร์จี จำกัด
ซึ่งมุ่งมั่นคัดสรรนวัตกรรมและให้บริการพลังงานสะอาดในราคาที่เหมาะสม มีความเสถียร และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อนำเสนอสมาร์ทซิตี้โซลูชั่นที่ดีที่สุดมาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ "สมาร์ทซิตี้" ในรูปแบบเฉพาะของประเทศไทยที่ยั่งยืน ประกอบด้วยนวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ระบบไมโครกริด ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System : ESS) ระบบการบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System : EMS) รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) และสถานีประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
รักบี้โรงเรียนต้นแบบ
นางสมฤดีกล่าวว่า เพื่อให้มั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะมีพลังงานสะอาดใช้อย่างยั่งยืน ด้วยประสบการณ์และความชำนาญในการให้บริการด้านพลังงานแบบครบวงจรจากหลายประเทศ บ้านปูจึงมั่นใจว่าการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโซลูชั่นเทคโนโลยีด้านพลังงานอื่นๆ ให้กับโรงเรียนนานาชาติรักบี้ฯ จะช่วยส่งเสริมให้โรงเรียนเป็นหนึ่งในต้นแบบสมาร์ทแคมปัสที่มีการใช้งานพลังงานอย่างชาญฉลาด และส่งเสริมการเรียนของเด็กยุคใหม่ผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
สำหรับการในเฟสแรกของการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อรองรับระบบไมโครกริดในอนาคตของโรงเรียนนานาชาติรักบี้ฯ ที่บ้านปูเข้าติดตั้งมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 1 เมกะวัตต์ ด้วยกำลังการผลิตรวมในปัจจุบัน คาดว่าภายใน 1 ปีโรงเรียนนานาชาติรักบี้ฯ จะสามารถลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้กว่า 740 ตัน เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้มากกว่า 43,000 ต้นต่อปี ลดการใช้น้ำได้กว่า 1.5 ลิตรต่อปี สามารถประหยัดไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 4.3ล้านบาท
นอกจากจะติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่หลังคาของโรงเรียนและบริเวณลานจอดรถแล้ว ยังมีการนำเทคโนโลยีด้านพลังงานอื่นๆ เช่น โซลาร์คีออส (Solar Kiosk) ระบบออนและออฟกริด ที่ใช้ได้ทั้งไฟบ้านและพลังงานแสงอาทิตย์ และโซลาร์แชร์ (Solar Chair) ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้แบบ 100% ตั้งอยู่บริเวณจุดรับรองผู้ปกครองและแขกของโรงเรียนให้สามารถชาร์จโทรศัพท์มือถือหรือใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ รวมถึงการอำนวยความสะดวกแก่อาจารย์ในการเดินทางภายในโรงเรียนด้วยรถพลังงานไฟฟ้า (EV) คือสกูตเตอร์ไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าอีกด้วย
ในเฟสต่อไปนั้นบ้านปูมีแผนจะพัฒนาและนำเสนอสมาร์ทซิตี้โซลูชั่นอื่นๆ ที่เหมาะสมตามการเติบโตของโรงเรียน หรือความต้องการของนักเรียนและครูมาให้บริการที่โรงเรียนเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมแนวคิดสมาร์ทแคมปัสของโรงเรียนนานาชาติรักบี้ฯ และช่วยบริหารจัดการการใช้พลังงานภายในโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ถือเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญในการผลักดันประเทศไทยไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
(สมฤดี ชัยมงคล)
นางสมฤดี กล่าวว่า ปัจจุบันบ้านปูได้ให้บริการการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แบบครบวงจร ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรมทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล โรงงาน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ตลาด และสถานีบริการน้ำมันโดยมีกำลังการผลิตรวมทั้งหมดจากการดำเนินการในประเทศและต่างประเทศประมาณ 151เมกะวัตต์ รวมถึงการให้บริการด้านสมาร์ทซิตี้โซลูชั่นที่บ้านปูได้เริ่มดำเนินบ้างแล้วในเขตพื้นที่อีอีซี คือ โรงเรียนนานาชาติรักบี้ ประเทศไทย ในจังหวัดชลบุรี เพื่อผลักดันโรงเรียนเข้าสู่การเป็น สมาร์ทแคมปัสอย่างเต็มรูปแบบ หรือศูนย์การศึกษาอัจฉริยะ
นอกจากนี้ บริษัท บ้านปูฯ ถือเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มีการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business Ecosystem) ทั้งจาก 3 กลุ่มธุรกิจหลัก และในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่แข็งแกร่ง จากการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีพลังงาน ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ซันซีป กรุ๊ป (Sunseap Group Pte Ltd.) ธุรกิจการให้บริการพลังงานแสงอาทิตย์รายใหญ่ของสิงคโปร์ บริษัท ดูราพาวเวอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ธุรกิจจัดเก็บพลังงานของสิงคโปร์ และ บริษัท ฟอมม์ คอร์ปอเรชั่น บริษัทออกแบบและผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กจากประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งนอกจากการลงทุนแล้ว ยังมีการก่อตั้งหน่วยงาน Banpu Innovation & Ventures หรือ BIV ขึ้นมา เพื่อมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ในการรองรับรูปแบบการใช้พลังงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าบริษัทมีโซลูชั่นที่ดีที่สุดที่จะตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละราย พร้อมนำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการดำเนินกิจการทั้งหมดของกลุ่มบ้านปูมาใช้ในการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญ และภาคเอกชนอื่นๆ เพื่อพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ผ่านการนำเทคโนโลยีด้านพลังงานมาใช้เพื่อเกิดการใช้แหล่งพลังงานได้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน
"ด้วยศักยภาพทั้งทางด้านความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงานครบวงจร พร้อมผู้บริหารและพนักงานที่มีศักยภาพ รวมทั้งการมีความแข่งแกร่งด้านเงินลงทุน เราเชื่อว่าบ้านปูเป็นอีกหนึ่งภาคเอกชนที่สามารถเป็นฟันเฟืองสำคัญในการช่วยพัฒนาพื้นที่อีอีซีและประเทศไทยกลายเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการแข่งขันทัดเทียมกับนานาประเทศ และเป็นเมืองแห่งอนาคตที่เติบโตอย่างยั่งยืน" นางสมฤดี กล่าว
นางสมฤดีกล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างทำแผนงานในช่วง 5 ปี (64-68) โดยมุ่งเน้นดำเนินธุรกิจไปสู่พลังงานสะอาด ตั้งเป้าปี 2568 บริษัทจะมีสัดส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย, ภาษี, ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่มาจากธุรกิจถ่านหินลดลงเหลือ 44% จากปัจจุบันอยู่ที่ 60% ส่วนที่เหลือจะมาจากธุรกิจอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม แผนงานดังกล่าวจะครอบคลุมปัจจัยที่องค์กรทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่มีมติให้จำกัดกำมะถันในน้ำมันเตาของเรือขนส่งให้ไม่เกิน 0.5% จากปัจจุบัน 3.5% โดยจะมีผลในปี 63 ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งบริษัทมีแผนนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ในเหมืองเพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันดีเซลด้วย นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาลงทุนในธุรกิจปลายน้ำในประเทศสหรัฐเพิ่มเติม โดยจะรวมอยู่ในแผนงานปี 64-68 โดยการลงทุนจะมีความเป็นไปได้ทุกรูปแบบ
สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้เติบโต 20% มาอยู่ที่ 3.2 พันล้านเหรียญฯ เป็นไปตามปริมาณการขายถ่านหินที่เพิ่มขึ้นเป็น 45 ล้านตัน จากปีก่อนที่ทำได้ 42 ล้านตัน.
บุญช่วย ค้ายาดี รายงาน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |