การเมืองไทยหลังเลือกตั้ง จะก้าวพ้นความขัดแย้ง-วงจรอุบาทว์หรือไม่


เพิ่มเพื่อน    

             การเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 24 มี.ค.นี้ถือว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง จากที่ว่างเว้นมากว่า 5 ปี ภายหลังเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 และเป็นการเลือกตั้งที่น่าจับตาว่าจะทำให้การเมืองไทยหลุดพ้นจากความขัดแย้งในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาหรือไม่

                ซึ่งการจะนำประเทศให้หลุดพ้นจากความขัดแย้งทางการเมืองได้นั้น ประชาชนทุกภาคส่วนต้องยอมรับข้อเท็จจริงให้ได้ก่อนว่า รากเหง้าของปัญหา ต้นสายปลายเหตุทั้งปวงมาจากเหตุใด แล้วร่วมกันพิจารณาหาทางออกที่เป็นไปได้และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

                ในทั่วทุกมุมของโลกก็มีความขัดแย้งในลักษณะที่แตกต่างกันไป ทั้งเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง ปัญหาเชื้อชาติ ศาสนา แล้วก็นำไปสู่การรบราฆ่าฟันของคนในชาติเช่นเดียวกัน แต่ก็ต้องหาทางแก้ไขปัญหาตามบริบทของสังคมและเงื่อนไขที่ไม่เหมือนกัน

                สำหรับสังคมไทยจุดปะทุความขัดแย้งหนักจนเกิดการแบ่งขั้วการเมือง กลายเป็นสงครามเสื้อสี ระหว่าง สีเหลือง กับ สีแดง ในช่วง นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เกิดการชุมนุมประท้วงของกลุ่มคนเสื้อเหลือง เนื่องจากไม่พอใจปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของผู้นำรัฐบาล การใช้อำนาจในทางมิชอบ แทรกแซงองค์กรอิสระ ทำลายกลไกการตรวจสอบ รวมทั้งการก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ จนเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 ฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

                จากนั้นได้เกิดกลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร และรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 หลังจากนั้นก็ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ยุบสภาฯ เพราะเห็นว่ามีที่มาไม่ชอบธรรม จนเกิดการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค.53

                ต่อมาในรัฐบาลที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี พยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบสุดท้าย เพื่อล้างคดีให้กับ นายทักษิณ ชินวัตร กลุ่มคนเสื้อเหลือง ก็ลุกขึ้นมาชุมนุมต่อต้านอย่างยืดเยื้อ กระทั่งกองทัพในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า คสช.เข้ามายึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557

                โดย คสช.ได้ประกาศความจำเป็นในการเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ตอนหนึ่งว่า "เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคี เช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทั่วทุกฝ่าย"

                และในช่วง 5 ปีที่รัฐบาล คสช.คุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ทุกฝ่ายยอมรับว่าเหตุการณ์บ้านเมืองอยู่ในความสงบเรียบร้อย แตกต่างจากช่วงก่อน คสช.จะเข้ามาที่มีการชุมนุมจากกลุ่มเสื้อสีทั้ง 2 ขั้วอย่างต่อเนื่องมาหลายปี

                สำหรับผลงาน 5 ปีของรัฐบาล คสช.ได้ทำตามสัญญาประชาคมตามประกาศ คสช.มากน้อยแค่ไหน แต่ละฝ่ายก็ยังมองแตกต่างกันไป แต่ในที่สุดประเทศก็ต้องเดินไปตามโรดแมป มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้

                อย่างไรก็ตาม เมื่อดูบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้ง บรรดานักการเมืองไทยและพรรคการเมืองต่างๆ ก็ยังหาเสียงแบบ เอาดีเข้าตัว เอาชั่วใส่คนอื่น ไม่มีใครยอมว่าเป็นส่วนหนึ่งของเหตุความขัดแย้ง ยังใช้นโยบายหาเสียงแบบลดแลกแจกแถม จนเป็นที่น่าห่วงใยว่าจะมีผลกระทบต่อประเทศในระยะยาวแค่ไหน

                ที่น่าสนใจ นายแก้วสรร อติโพธิ เผยแพร่บทความ เรื่อง เมนู 24 มีนา ก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. มีเนื้อหาน่าสนใจดังนี้

                เผด็จการ จอมเขมือบ - เป็นสายพันธุ์เผด็จการแบบฮิตเลอร์ที่เพาะตัวแล้วลอยออกมาจากหีบเลือกตั้ง เติบโตจากการอัดฉีดความโลภ-ความเกลียดชังเข้าไปในสังคม ตะกละเขมือบทุกอย่างจนบ้านเมืองเสียหายเป็นแสนล้าน เหี้ยมฆ่าคนมาแล้วหลายร้อยทั้งตากใบและสงครามยาเสพติด เคลื่อนไหวสร้างมวลชนจากความเกลียดชังแบ่งแยก เผาบ้านเผาเมืองก็ทำได้ลุแก่อำนาจ ไม่เคยเคารพเสียงข้างน้อยและระบบกฎหมายทั้งปวง ปัจจุบันแตกตัวแบบไอ้มดแดงเป็น 4 พรรคด้วยกัน

                รัฐประหารลิเก - เป็นคณะรัฐประหารที่ไม่ได้ให้อำนาจทำอะไรเป็นโล้เป็นพาย รัฐประหารแล้วก็กลับวุ่นจมอยู่กับงานรัฐบาลมา 5 ปี แต่งเพลง 4 เพลง ออกลีลาบทบาท แสดงอารมณ์มาตลอด เมื่อต้องยอมให้มีเลือกตั้ง ก็พยายามจะอยู่ใช้อำนาจรัฐบาลต่อไปด้วยการตั้งพรรครองรับยกตนอยู่ในบัญชีนายกฯ คนนอก ผู้รับเชิญมาดับทุกข์เข็ญทุกวันนี้ถูกฝ่ายเผด็จการจอมเขมือบป้ายสียกให้เป็นเผด็จการ ทั้งๆ ที่เป็นแค่รัฐประหารลิเกเท่านั้นเอง

                ผู้แทนลำตัด - เป็นพรรคเก่าแก่ แต่เก่าเก็บทำงานกอดคอกับระบบราชการจนเป็นข้าราชการไปแล้ว มีทักษะสูงในการอภิปรายปัญหาต่างๆ ให้ยืดยาว ซับซ้อนยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ แต่วนเวียนขาดการลงไม้ลงมือที่แท้จริง จนกลายเป็นเช่นลำตัดไป พรรคนี้ผู้คนเคยชินมานาน จนเห็นว่ามีดีกว่าไม่มี แต่ก็ไม่หวังอะไรมาก

                หำน้อยชังโลก - มาแปลก คัดผู้สมัคร ส.ส.ล้วนอายุน้อย แล้วลงทุนโฆษณาว่าเป็น “อนาคตใหม่” แต่ดูความคิดยังไม่ใหม่พอ ใช้ท่าที เทคนิคหาคะแนนเสียงจากการสร้างความเกลียดชังในชีวิตปัจจุบันจนออกนอกหน้า พอเห็นใครยิ้มก็หาว่าไม่มีจุดยืน จนพอมองออกได้ว่า เป็นพวกมีทัศนคติจงเกลียดจงชังผิดหวังในชีวิตปัจจุบันอย่างฝังหัว ต้องจมลึกหาความหมายใหม่ด้วยอนาคตใหม่ๆ ที่เห็นเจิดจ้าอยู่ในพวกเดียวกันเองเท่านั้น

                ค้างคาวไทย - พรรคนี้บินไปบินมาไม่มีขั้วแน่นอน สมาชิกเป็นนักบิน บินมาแล้วหลายพรรค ปัจจุบันแห่มาเกาะกันอยู่เต็มถ้ำ ประกาศนโยบายว่าจะลดอำนาจรัฐ แต่ต้องการโครงการก่อสร้างของรัฐมาตลอด รัฐบาลหน้าอยู่กับขั้วไหนก็ได้ แต่ปักหลักว่าต้องได้คุมโครงการหลักของคมนาคมและมหาดไทยเท่านั้น

                ออร์เดิร์ฟ - เป็นพรรคเล็กพรรคน้อยส่งสมัครไม่มาก เพราะมีฐานหรือกลุ่มเป้าหมายจำกัด ด้านรสชาติก็แตกต่างกัน ต้องมาอยู่รวมจานเดียวกันให้ดูหลากหลายจึงจะมีความหมายได้บ้าง

                นี่คือภาพสะท้อนสังคมการเมืองไทยที่ยังไม่พัฒนาก้าวหน้าไปถึงไหน ผู้นำกองทัพที่เข้ามายึดอำนาจก็ยังไม่สามารถสะสางปัญหาต่างๆ ให้ลุ่ลวงไปได้

จึงเป็นที่น่าจับตาว่า หลังการเลือกตั้งพรรคการเมืองใดจะได้เสียงข้างมาก ใครจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยประเพณีและวัฒนธรรมทางการเมือง ต้องให้พรรคการเมืองที่ได้เสียงอันดับ 1 เป็นแกนนำในการรวบรวมเสียง ส.ส.ให้ได้เสียงข้างมาก หากไม่สามารถรวบรวมได้ ก็ต้องให้พรรคที่มีเสียงลำดับถัดไป

                แต่ที่กำลังกลายเป็นประเด็นปัญหาคือ ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 กำหนดไว้ว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก ให้ ส.ว.จำนวน 250 คน มีส่วนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต้องได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ 2 สภา

ทำให้นักการเมืองส่วนหนึ่งมองว่าเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ แต่อีกฝ่ายบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากการลงประชามติของประชาชนทั้งประเทศถึง 16 ล้านเสียง ดังนั้นทุกฝ่ายต้องเคารพกติกา

                เมื่อการเมืองไทยยังออกจากความขัดแย้งและวงจรอุบาทว์ไม่ได้ หากได้พินิจพิจารณา ธรรมนิพนธ์ เรื่อง "ธรรมกับไทย ในสถานการณ์ปัจจุบัน" ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เรื่อง ประเทศเป็นประชาธิปไตย ประชาชนต้องถือธรรมเป็นใหญ่ ก็จะพบแสวงสว่างทางความคิดและภายในจิตใจ ที่บอกว่า…

 “เวลานี้เรามีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ประชาชนเป็นผู้ปกครอง หรือเป็นเจ้าของอำนาจในการปกครอง ดังนั้น ประชาชนแต่ละคนจึงต้องเป็นธรรมาธิปไตย คือถือธรรมเป็นใหญ่ หมายความว่า ถือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ถือหลักการและกฎกติกาเป็นใหญ่ เมื่อคนเป็นธรรมาธิปไตย สังคมจึงจะเป็นประชาธิปไตยได้ และระบอบประชาธิปไตยจึงจะสำเร็จ ทำอย่างไรจึงจะให้คนไทยเป็นธรรมาธิปไตย เพราะปัจจุบันนี้สังคมไทยยังหาคนที่เป็นธรรมาธิปไตยได้ยาก คือ ยังมัวหวังพึ่งเทพเจ้าหรือสิ่งดลบันดาลภายนอกทั้งหลาย ยังไม่มั่นใจในธรรม”

                                                                                                ทีมข่าวการเมือง

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"