หลัง 24 มี.ค. ชิงนายกฯ


เพิ่มเพื่อน    

 

หลัง 24 มี.ค.ใครได้ตั้ง รบ.? วิเคราะห์กลเกมศึกชิงอำนาจ

                ทิศทางการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคมจะเป็นอย่างไร หลังจากเริ่มเห็นผลการเลือกตั้งในช่วงค่ำวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม มีทัศนะ-แนววิเคราะห์จากนักวิชาการ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ รักษาการผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ที่ก่อนหน้านี้เป็นนักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งร่วมจัดทำผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ภายใต้โครงการ จับตาการเลือกตั้ง 62 ของสถาบันพระปกเกล้าที่ได้เผยแพร่ผลสำรวจออกมาทั้งสิ้น 5 ครั้ง

ดร.สติธร วิเคราะห์ว่า การจัดตั้งรัฐบาลคงยังไม่เกิดขึ้นทันทีในคืนวันที่ 24 มีนาคม เพราะหลังเริ่มมีการรายงานผลการเลือกตั้งแล้วในคืนดังกล่าว สถานการณ์น่าจะมีความคลุมเครือไม่ชัดเจนไปอีกสักพัก ทำให้คืนวันที่ 24 มีนาคมยังไม่น่ามีคำตอบเรื่องการตั้งรัฐบาล หรือใครจะเป็นนายกฯ สถานการณ์น่าจะจะคลุมเครืออยู่เพราะต้องรอหลายกลไก โดยเฉพาะการรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส.ของ กกต.กับกลไกการต่อรองอำนาจของ 3 พรรคใหญ่คือ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ

...หลังเลือกตั้งคืนวันที่ 24 มีนาคม เราคงไม่ได้เห็นภาพแบบในอดีต ซึ่งจริงๆ หลังๆ ก็ไม่ค่อยเห็นบ่อยนัก กับภาพที่แกนนำพรรคการเมืองจะมาประกาศจับมือตั้งรัฐบาลในคืนวันเลือกตั้งเลย ผมคิดว่าภาพการจับมือแบบนี้คงไม่ได้เห็นกันทันทีในคืนวันเลือกตั้ง ด้วยเหตุผลจากปัจจัยต่างๆ เช่น กติกาเลือกตั้งแบบใหม่-อำนาจของ กกต.ในการประกาศรับรองผลเลือกตั้ง รวมถึงผลการเลือกตั้งที่ขั้วการเมืองต่างๆ จะได้จำนวน ส.ส.ค่อนข้างสูสีกัน ซึ่งช่วงหลังไม่ค่อยเกิดขึ้น ยกเว้นเสียแต่ว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ เช่น หากฝ่ายเพื่อไทยและพรรคพันธมิตรฯ ได้เสียง ส.ส.เห็นชัดเลยในคืนนั้นว่าเกิน 250 ที่นั่งเยอะๆ สักประมาณช่วงหลัง 3 ทุ่ม ก็น่าจะเห็น เพราะถึงตอนนั้นน่าจะนับไปได้ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ของบัตรเลือกตั้ง

...ซึ่งเมื่อการเมืองฉีกออกเป็น 2 ฝ่าย 2 ขั้วแล้ว ก็อยู่ที่ว่าใครจะรวมได้เกิน 250 เสียงก่อน คืนนั้นหากผลเลือกตั้งออกมาโดยเสียงเกิน 250 ที่นั่งไปมาก ก็อยู่ที่ใครจะชิงประกาศความชอบธรรมก่อน อย่างปี 2554 ตอนนั้นประชาธิปัตย์ประกาศยอมแพ้ เพราะผลออกมา เสียงทิ้งห่างเยอะ และต่อมาคืนนั้น คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ประกาศชัยชนะ แต่รอบนี้ผมว่า 3 พรรคใหญ่ คือ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ เสียง ส.ส.ที่จะได้ จะชนะไม่ขาด คือต่อให้เพื่อไทยได้เข้ามาเยอะ เช่น 180 ที่นั่ง แล้ว ปชป.มา 120 เสียง พลังประชารัฐได้ 100 เสียง ก็จะยันกันได้ เช่น หาก ปชป.กับ พปชร.จับมือกันได้ ก็อยู่ที่ 220 เสียง เพราะดูแล้ว โอกาสยากมากที่เพื่อไทยจะได้ระดับแตะที่ 200 เสียง วันนี้ดูแล้วเพื่อไทยโอกาสจะพลิกเกมทำได้ยาก ตอนนี้ใครๆ ก็มองว่ายังไงเพื่อไทยเต็มที่ก็ไม่เกิน 160 เสียง

...โอกาสที่จะทำให้พลิกได้อีกอย่าง คือคนที่อยู่นอกพื้นที่แล้วหลั่งไหลกลับไปใช้สิทธิ์ตัวเอง ซึ่งตรงนี้พวกโพล และการวิเคราะห์เชิงพื้นที่อาจจะยังไม่มีคำตอบที่แท้จริง เพราะยังไม่เคยฟังเสียงคนเหล่านี้ว่า ถ้าเขากลับบ้านแล้วออกไปเลือกตั้ง เขาจะฟังคนที่บ้านหรือเลือกจากข้อมูลที่เขามีมาชวนคนที่บ้านให้เปลี่ยนใจก็ได้ มันได้ทั้ง 2 ทาง จนทำให้เปลี่ยนผลได้ เพราะเวลานี้พรรคเพื่อไทยที่ผิดแผนก็คือ จำนวน ส.ส.เขตที่คาดว่าจะได้ อยู่ที่ 120 โดยสูงสุดคงไม่เกิน 160 เสียง แต่เพื่อไทยเขาอยากได้ 190-200 เสียง ตัวพลิกเกมจริงๆ ก็คือเพื่อไทย ที่ต้องทำงานหนักในเขตที่หวังไว้ ซึ่งหากผลเลือกตั้งออกมาโดยพรรคพลังประชารัฐจับมือกับประชาธิปัตย์ ตั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ เช่น 270 เสียง แบบนี้ก็อาจเป็นรัฐบาลอยู่ได้ประมาณแค่หนึ่งปีถึงหนึ่งปีครึ่ง เพราะจะมีการต่อรองในรัฐบาลเยอะ  โดยที่หากเป็นแบบนี้ เพื่อไทยที่ได้ ส.ส.มาอันดับ 1 แต่ต้องเป็นฝ่ายค้าน ก็ต้องกดดันเต็มที่

ถามถึงความเห็นว่า มีโอกาสเกิน 50 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะคัมแบ็กกลับมาเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง ดร.สติธร ระบุว่า มีความเป็นไปได้เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นคนที่มี เปอร์เซ็นต์สูงที่สุดในบรรดาทุก scenario คือหากถามว่าหลังเลือกตั้งนายกฯ จะเป็นใคร พลเอกประยุทธ์ก็น่าจะเป็นชื่ออันดับ 1 ในมุมของผม จากการประเมินจำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรคที่น่าจะได้หลังเลือกตั้ง และกลไกต่างๆ เช่น ส.ว. 250 เสียง รวมถึงกลไกวิธีการตั้งรัฐบาล การเลือกนายกฯ มันเอื้อและปูทางไปหมดเลย ขณะที่พรรคพลังประชารัฐและพรรคแนวร่วมที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ก็น่าจะได้เสียง ส.ส.มาระดับที่เพียงพอ

คืนวันที่ 24 มีนาคม ผมว่าคืนนั้นแต่ละฝ่ายก็ต้องพยายามจะจับเสียงกัน โดยฝั่งเพื่อไทยกับพันธมิตรฯ หากได้ระดับไม่น้อยกว่า 250 เสียง ก็จะมีการต่อสายกับพรรคกลางๆ อย่าง ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา ให้มาจับมือกันตั้งรัฐบาล แล้วประกาศว่าเขาได้เกิน 250 เสียงแล้ว เพื่อกดดันไปก่อน ยิ่งหากได้เกิน 280 เสียง ก็จะเป็นการล็อกไว้ก่อน แล้วแบบนั้นหาก กกต.แจกใบเหลืองใบส้ม กระแสสังคมก็อาจมองว่ากลั่นแกล้งหรือไม่ หลังเห็นฝ่ายเพื่อไทยรวมเสียงกันแน่นได้ขนาดนี้ มาแจกใบเหลือง ใบส้ม เพื่อหวังเปลี่ยนผลการเลือกตั้งเพื่อช่วยฝ่ายรัฐบาลหรือไม่ ก็คือเป็นการชิงไว้ก่อนว่าเขาคือพรรคเสียงอันดับ 1 และรวมเสียงตั้งรัฐบาลได้เกินกึ่งหนึ่งแล้ว หวังกดดันไปที่ กกต.ด้วยไม่ให้ใช้อำนาจให้ใบเหลืองใบส้มที่ไม่เป็นธรรม และยังหวังกดดันไปที่สมาชิกวุฒิสภา ว่าฝ่ายเขาได้เสียงข้างมากในสภาฯ แล้ว มองดูแล้วก็จะสู้ในแนวทางแบบนี้

ดร.สติธร ประเมินการเมืองไทยการชิงอำนาจตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งไว้อีกว่า อย่างไรก็ตามอีกฝ่ายคือ พลังประชารัฐ ก็ต้องขยับรีบรวมเสียงเหมือนกัน คือจะรีบไปชวนประชาธิปัตย์ และพรรคกลางๆ ให้ได้เกิน 220 กว่าเสียง เพื่อบอกว่ารวมเสียง ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งได้แล้ว แม้เพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งก็ตาม คือเอาเข้าจริง เพื่อไทยกับพรรคพันธมิตรฯ อาจรวมเสียงกันแล้ว อาจได้ 220-230 เสียง เช่นเดียวกันกับฝ่ายพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ที่ 2 พรรครวมกันก็อาจได้เสียงประมาณนี้ 220-230 เสียง โดยพวกพรรคขนาดกลาง-เล็ก ได้เสียงอยู่ที่ 30-40 เสียง ก็ทำให้พรรคเหล่านี้เป็นตัวแปร ตัวชี้วัด จนทำให้มีคนมาวิ่งต่อรอง

...ภาพรวมถึงตอนนี้ดูแล้วยังก้ำกึ่ง เพราะการเมืองสามก๊ก เมื่อสลายเป็นสองขั้วหลังเลือกตั้ง หากสองก๊กรวมเสียงกันแล้ว หากไม่มีใครได้เกิน 250 เสียง..ตัวชี้ก็จะไปอยู่ที่พรรคขนาดกลางๆ ที่จะเป็นตัวชี้ว่าฝ่ายไหนจะเป็นเสียงข้างมากในสภาฯ แล้วก็ยังมีตัวชี้อีกหนึ่ง คือเสียง ส.ว. 250 เสียง ที่จะบอกว่าใครจะเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง ทำให้ตัวชี้อยู่นอกเกมสามก๊กทั้งหมด แต่ไม่ถึงกับเดดล็อก ยกเว้นแต่จะตั้งใจให้เกิดเดดล็อก

สำหรับการเมืองไทยหลังวันที่ 24 มี.ค. จะเกิดเหตุการณ์วุ่นวายอะไรหรือไม่ ก็มองว่าหากเพื่อไทยและพรรคพันธมิตรรวมเสียงกันแล้วหลังเลือกตั้งเกิน 250 เสียง โดยอีกฝ่ายได้เสียงน้อยกว่า แต่ตั้งรัฐบาลได้ ไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม เช่นงูเห่าทางตรงที่ไปดึง ส.ส.จากอีกฝ่ายมาร่วมตั้งรัฐบาล หรืองูเห่าทางอ้อมที่ไปฝากเลี้ยงไว้ คือไม่ได้ดูดมาแต่ให้มาช่วยโหวตให้ตอนเลือกนายกฯ แล้วให้โหวตเป็นครั้งๆ ไป แบบนี้มันก็เสี่ยง เพราะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม มีการแทรกแซง โดยที่ฝ่ายซึ่งตั้งรัฐบาลได้ใช้เสียงข้างน้อยในสภาฯ แต่เอาเสียง ส.ว.มาตั้งรัฐบาล ก็ทำให้พอตั้งรัฐบาลได้ฝ่ายเพื่อไทยก็คงลุยเลย โดยบอกว่าการตั้งรัฐบาลมีความไม่ชอบธรรม มีหลักฐานมีข้ออ้าง แบบนี้ก็อาจวุ่นวาย ก็อาจมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แล้วก็ยังมีการเมืองนอกสภาฯ การเมืองในโลกออนไลน์ แบบนี้โดนถล่มแน่

ผลการเลือกตั้งที่จะออกมาวันที่ 24 มี.ค. สิ่งที่น่าสนใจและต้องจับตาคือ นับคะแนน และรวมไปถึงการรวมคะแนน ให้มันโอเค เพื่อให้ผลการเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับ เพราะด้วยกติกาปัจจุบัน ที่ให้ กกต.รับรองผลการเลือกตั้ง ที่ กกต.บอกว่าจะให้ไม่เกิน 9 พ.ค. ซึ่งก็นาน แล้วก่อนถึงตอนนั้น การเมืองก็ขยับอะไรมากไม่ได้ แล้วกติกาปัจจุบันให้อำนาจ กกต.ในการให้ใบส้ม ที่สามารถเปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้ เพราะใบส้มไม่ใช่แค่ทำให้ ส.ส.เขตหาย แต่ทำให้คะแนนรวมของพรรคหายไปด้วย ทำให้ต้องคำนวณคะแนนกันใหม่ โดยหาก กกต.ให้ใบส้มกันเยอะๆ ผลเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. ก็อาจเปลี่ยนโฉมไปเลย คาดว่า กกต.ก็จะทยอยรับรองผลการเลือกตั้งออกมาเป็นระลอก แต่ก็อาจต้องรอจนถึงวันสุดท้าย 9 พ.ค. ระหว่างนั้นหากมีการให้ใบเหลือง ใบส้ม ในบางเขต ก็จะมีเลือกตั้งใหม่ 

ดร.สติธร ยังได้กล่าวถึงบทบาทของ ส.ว. 250 เสียง..ที่มาจากการเลือกของ คสช. ต่อการโหวตเลือกนายกฯ หลังเลือกตั้งว่า เสียง ส.ว. 250 เสียง จะเป็นตัวชี้ ผมกำลังคิดว่าหากพลังประชารัฐได้มาเกินร้อยเสียงแล้วสูสีกับประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐก็ต้องอ้างความชอบธรรมตรงนี้ เวลาคุยกับประชาธิปัตย์โดยหากพลังประชารัฐได้ไม่ถึง 126 เสียง ก็ต้องไปหาพรรคขนาดกลางๆ มาอยู่ด้วย อาจสัก 3-4 พรรคการเมือง โดยอาจเริ่มดึงบางส่วนก่อน เช่น พรรค รปช. - พรรคประชาชนปฏิรูปของไพบูลย์ นิติตะวัน - พรรคพลังท้องถิ่นไท ของชัช เตาปูน ที่อาจหลุดกันเข้ามาบ้าง โดยรีบจับกันไว้ก่อนให้ได้เกิน 126 เสียง โดยที่ฝ่ายเพื่อไทยกับพรรคพันธมิตรรวมกันแล้วไม่เกิน 250 เสียง ซึ่งหากเป็นแบบนี้แล้วบางพรรค เช่น ภูมิใจไทย แม้ฝ่าย พปชร.จะไปดึงมา แต่ภูมิใจไทยอาจอ้างว่าขอรอก่อน เพราะรอ กกต.รับรองผล ก็จะไปเข้าทางฝ่ายนายกฯ ลุงตู่ คือลุยตั้งรัฐบาลไปก่อน ให้ได้ 126 เสียงไว้ก่อน โดยมี ส.ว.มาโหวตตอนเลือกนายกฯ เพราะคิดว่าสูตรแบบนี้ทำให้ฝ่าย พปชร.มองว่าอำนาจต่อรองอยู่ฝ่ายเขา จากนั้นพอเลือกนายกฯ เสร็จค่อยไปชวนพรรคอื่นมาร่วมรัฐบาล โดยเริ่มจากประชาธิปัตย์ มาบวกเพิ่มกับ พปชร.อีก โดยหากมี ปชป.แล้ว แต่เสียงยังไม่เกิน 250 เสียงอีก ก็ต้องเริ่มหางูเห่าแล้ว

...อย่างไรก็ตาม ความชอบธรรมที่ พปชร.จะทำตามเกมนี้ได้ พปชร.ต้องมี ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 100 ที่นั่ง ต้องมี ส.ส.สูสีกับประชาธิปัตย์ ห้ามต่ำกว่า ปชป. ซึ่งตัวเลขจากการวิเคราะห์ต่างๆ ณ ชั่วโมงนี้ ดูแล้วโอกาสของ พปชร.ดังกล่าวเป็นไปได้

...นอกจากนี้ การเลือกประธานสภาฯ จะเลือกก่อนโหวตนายกฯ หากพรรคการเมืองฝ่ายไหนรวมเสียงกันเกินกึ่งหนึ่ง จนเลือกประธานสภาฯ ได้ มันก็เป็นสัญญาณบอกอย่างหนึ่ง บางคนบอกว่าหลังเลือกตั้ง หากฝั่งเพื่อไทยรวมเสียงกันได้เกิน 250 เสียง ก็ได้เลือกประธานสภาฯ ซึ่งก็ไม่แน่หรอก ผมว่าการเลือกประธานสภาฯ จะไปเป็นแรงกดดันให้พรรคที่อยู่กลางๆ ต้องแสดงจุดยืนออกมา หลังจากพยายามจะบอกว่าให้รอผลการรับรองผลเลือกตั้งจาก ส.ส. เพราะพอ กกต.รับรอง จนมี ส.ส. 95 เปอร์เซ็นต์ จนเรียกประชุมสภาฯ นัดแรกเพื่อเลือกประธานสภาฯ ได้ มันก็จะเริ่มเห็นตัวเลขแล้วว่าฝ่ายไหนได้ ส.ส.ใกล้เคียงกับ 250 มากกว่ากัน ถึงตอนนั้นจุดยืนต้องชัดแล้ว พอจุดยืนชัด ก็จะไปแสดงออกวันประชุมสภาฯ ตอนโหวตเลือกประธานสภาฯ ซึ่งพอได้ประธานสภาฯ ก็จะเห็นขั้วการเมืองตอนตั้งรัฐบาลแล้ว

...ซึ่งโอกาสที่ขั้วไหนตั้งประธานสภาฯ ได้ แล้วขั้วนั้นจะไปเป็นฝ่ายค้าน หลังโหวตนายกฯ ผมมองว่ามันก็ยากแล้ว เพราะหากเป็นแบบนั้นแสดงว่าแพ็กกันมาได้แล้ว มีการรวมพรรคกลางๆ มาได้หมดแล้ว มันก็จะโดดเดี่ยวพลังประชารัฐแล้ว แต่หากฝ่ายพลังประชารัฐแพ็กกันจนเลือกประธานสภาฯ ได้ มันก็จบเลย เพราะตอนโหวตนายกฯ ก็มี ส.ว.อีก 250 เสียง แบบนั้นก็เกมโอเวอร์

ดังนั้นจะเกมโอเวอร์หรือไม่ ก็อยู่ที่ตัวเลข ส.ส.ของ พปชร.หลังเลือกตั้งเป็นสำคัญ เช่น หาก พปชร.ได้ ส.ส.มาด้วยตัวพรรคเองสัก 120 เสียง แล้ว ปชป.มาสักประมาณ 100 เสียง เกมก็จบตั้งแต่คืนวันที่ 24 มีนาคม แต่หาก พปชร.ได้ต่ำกว่านั้น โดยตัวเลขเบียดกับ ปชป. ก็อาจใช้เวลาต่อรองกับ ปชป.สักระยะ นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้าระบุ 

ศึกชิงอำนาจสู้กันเข้มข้น

                ดร.สติธร ให้มุมวิเคราะห์กลเกมการจัดตั้งรัฐบาลไว้ว่า ผมว่ามันจะเกิดแบบนี้ คือ ตอนโหวตนายกฯ จะมี ส.ว.มาช่วย เขาจะล็อก โดยพลิกเกมใหม่ คืออีกฝ่ายอาจจะได้ประธานสภาฯ ก็ได้ไป แต่ฝ่าย พปชร.ก็จะดันโหวตนายกฯ โดยใช้เสียง ส.ว. เอาให้ได้นายกฯ ก่อน แล้วช่วงที่ว่างเว้น คือหลังได้นายกฯ แล้ว และต้องตั้ง ครม.ฟอร์มรัฐบาล ซึ่งช่วงนี้ไม่มีข้อกฎหมายกำหนดว่าต้องทำภายในกี่วัน ก็ต่อรอง แล้วดูดเสียงมาอยู่ฝ่ายตัวเองให้ได้ เช่น เปลี่ยนใจพรรคขนาดกลางมาให้อยู่ฝ่าย พปชร. ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ เพราะอาจบอกว่า ตอนไปโหวตประธานสภาฯ ก็แค่เลือกประธานสภาฯ ก็เลือกตามนี้ แต่การตั้งรัฐบาลก็อีกอย่างหนึ่ง มันไม่เหมือนกัน โดยหากฝ่าย พปชร.หากไม่ได้เสียงเกิน 250 เสียง เขาก็อาจไม่ตั้งรัฐบาล ก็อาจยื้อไปเรื่อยๆ

...การยื้อทำได้สองขยัก คือหนึ่ง ไม่เลือกนายกฯ หากดีลไม่ลงตัว วิธีคือ ส.ว.ก็จะงดออกเสียง โดย พปชร.กับพรรคพันธมิตร ที่รวมกันแล้วเกิน 126 เสียง..ก็งดออกเสียง ก็คือแทนที่ 376 เสียง ต้องมาโหวตนายกฯ ก็จะใช้วิธีงดออกเสียงแทนตอนโหวตนายกฯ ก็ทำให้อีกฝ่ายก็ได้ไม่ถึง 375 เสียง ก็โหวตไม่ได้ ทำจนกว่าจะดีลลงตัว แล้วค่อยเลือกนายกฯ เพราะหากชิงเลือกเลย สังคมก็จะบอกว่า มาเอาเสียงข้างน้อยคือ ส.ส.ที่มีไม่ถึง 250 เสียง มาเลือกนายกฯ ก็เลยยังไม่ออกเสียง แล้วไปคุยกับประชาธิปัตย์ให้ลงตัวก่อน แล้วพอได้ ก็ให้ ปชป.มาร่วมโหวตหนุนพลเอกประยุทธ์ด้วย ต่อรองจน ปชป.ยอมเมื่อใด ก็ค่อยประชุมรัฐสภา ให้ ปชป.มายกมือหนุนพลเอกประยุทธ์พร้อมกัน 

ดร.สติธร ชี้ว่า วิธีการดังกล่าวก็คือยื้อไปเรื่อยๆ เพราะ รธน.ไม่ได้บัญญัติว่ารัฐสภาต้องเลือกนายกฯ หลังเลือกตั้งภายในกี่วัน หรือไม่ก็อาจเป็นแบบ ล็อกเลือกนายกฯ ไปก่อน แล้วค่อยต่อรอง โดยระหว่างการตั้ง ครม. ที่ไม่มีข้อกำหนดเหมือนกันว่าต้องตั้งรัฐบาลภายในกี่วัน แต่หากทำแบบนี้ ก็น่าเกลียดหน่อย ตรงที่คนก็จะถามตัวนายกฯ ว่า ทำไมยังไม่ตั้งรัฐบาลเสียที แต่ก็อาจอ้างว่า ก็ไม่มีใครมาร่วมรัฐบาลกับเขา

                การยื้อจึงทำได้สองขยักแบบนี้ ถึงได้บอกกันว่ามันจะเดดล็อก แบบที่หนึ่ง หากเป็นไปตามที่บอก พลเอกประยุทธ์ก็จะยังไม่ได้เป็นนายกฯ ใหม่หลังเลือกตั้ง ก็เป็นนายกฯ เก่าไปเรื่อยๆ แบบที่สอง พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ใหม่เข้ามาหลังเลือกตั้ง แต่ไม่มี ครม.ใหม่เลยทันที อย่างไรก็ตาม หากฝ่ายเพื่อไทยกับพรรคพันธมิตร รวมกันแล้วเกิน 250 ที่นั่ง แล้วตอนโหวตเลือกนายกฯ ไม่มีใครแตกแถวเลย ไม่มีงูเห่า แล้วมีพรรคกลางๆ มาร่วมอยู่ฝ่ายนี้ มาเติมให้อีกสัก 30-40 เสียง กลายเป็น 280-290 เสียง..ซึ่งแม้เสียงจะไม่ถึง 376 เสียง ไม่สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้ แต่ก็เป็นการส่งสัญญาณชัด

...หากเป็นแบบนี้ ประชุมรัฐสภากันแล้ว ส.ว.เห็นเสียง ส.ส.เป็นแบบนี้ ส.ว.ก็อาจต้องยอม คือโหวตครั้งแรก อาจโหวตไปตามทางของเขา แต่พอเห็นเสียงฝั่งเพื่อไทย ระดับเกือบสามร้อยเสียง ส.ว.ก็อาจคิดว่า แล้วจะสวนกระแสประชาชนหรือ

-เรื่องงูเห่าการเมืองตอนโหวตเลือกนายกฯ เช่นงูเห่าในพรรค ปชป.ที่อาจหนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ แม้นายอภิสิทธิ์ประกาศไม่สนับสนุน?

อันนี้แหละที่น่ากลัว คือหลังเลือกตั้งใครจะเป็นงูเห่า คนนั้นก็เสีย ขึ้นอยู่กับว่าใครจะกล้าเป็น เพราะจะกลายเป็นแพะในรายการเลือกนายกฯ รอบนี้ จะโดนกดดันจากข้างนอก ว่าต้องฟังเสียงประชาชน ทำให้งูเห่า รอบนี้ไม่ว่าจะไปเกิดที่พรรคไหน ถ้าไม่มีคำอธิบายที่ดีพอ แล้วสถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นที่ต้องแสดงออกว่าต้องโหวตแบบนี้ เพื่อชาติ ผมว่าคนที่จะเป็นงูเห่าก็เหนื่อย ไม่มีใครอยากเป็นแพะหรอก

..การเกิดรัฐบาลหลังเลือกตั้ง หากวันที่ 24 มีนาคม หากฝ่ายพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ สองพรรคนี้มาแล้วรวมกันได้ระดับ 220-230 เสียง การตั้งรัฐบาลก็น่าจะจบง่าย เพราะถ้าแบบนี้พรรคอื่น เช่นภูมิใจไทยก็จะมาแน่ โดย พปชร.ก็ไปเคลียร์กับ ปชป.ให้ลงตัวว่าอภิสิทธิ์อย่าดื้อ ซึ่งสำหรับผมก็มองว่ายังมีลุ้นว่า พปชร.อาจจะชนะได้ คือมีโอกาสเป็นไปได้ แต่เปอร์เซ็นต์อาจไม่มาก ต้องดูคะแนนรวม คือ ปชป.ไม่น่าจะต่ำร้อย แต่มีโอกาสเกินร้อยไม่เยอะ เช่น ไม่เกิน 110 เสียง แบบนี้มีโอกาส

โพลเพื่อไทย ทำตำบลละ 400 ตัวอย่าง

รักษาการ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์โอกาสของแต่ละพรรคการเมืองในสนามเลือกตั้งที่จะรู้ผลกันในช่วงค่ำวันที่ 24 มี.ค.นี้ โดยไล่ไปทีละพรรคเริ่มที่ พรรคเพื่อไทย ว่า สำหรับเพื่อไทยผมยังประเมินอยู่ที่ 160 เสียง ส่วนพรรคพันธมิตรของเพื่อไทยรวมกันก็น่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 60 เสียง ขณะที่ประชาธิปัตย์กับพลังประชารัฐรวมกันสองพรรคก็น่าจะอยู่ที่ 220 เสียง.. เมื่อดูตามนี้ฝ่ายเพื่อไทยจะเป็นตัวเปลี่ยนสมการ หากเขาได้ไปถึงระดับ 180-190 เสียง ระบบการคิดฐานคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ก็จะเปลี่ยนหมด จากเดิมที่คิดว่าอยู่ที่ 7 หมื่นกว่าคะแนน ก็จะเปลี่ยนไปที่หลักแสนคะแนน เพราะเพื่อไทยจะได้เกินความนิยมตัวเอง ยิ่งเกินมากเท่าใดเลขที่หารออกมามันจะสูงขึ้น

...คนที่กระทบมากสุดคือพวกผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์เพื่อไทย ที่มีโอกาสที่เพื่อไทยอาจไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ยิ่งหากเพื่อไทยได้ ส.ส.เขตมาก เขาก็ยิ่งมีโอกาสจะไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพราะคะแนนที่เขานำมาตุนไว้กับตัวเองมันไม่พอ จริงๆ หากเพื่อไทยได้ ส.ส.เขต 160 เสียง เขาก็ไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์แล้วเพราะคะแนนเพื่อไทยจริงๆ ก็มีแค่นี้ คะแนนที่เขามีจาก 250 เขต หากประเมินจากฐานการเลือกตั้งปี 2554  มันจะอยู่ที่ 11 ล้านเสียง... ทำให้มีโอกาสที่รอบนี้เพื่อไทยอาจไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งหากเป็นแบบนี้เพื่อไทยก็จะไปดีลกับพรรคอนาคตใหม่ได้ยาก เพราะเขาประกาศแล้วว่าเขาจะไม่สนับสนุนยกมือให้นายกฯ ที่ไม่ได้เป็น ส.ส.

...ส่วนผลโพลของบางฝ่ายที่ออกมาเช่นโพลวัดกระแสความนิยมของพรรคการเมืองโดย รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะผู้อำนวยการโครงการสำรวจความนิยมของนักการเมืองที่ประชาชนปรารถนาให้เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาล่าสุดบอกว่า เพื่อไทยและ ปชป.อาจไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลย ผมว่าของอาจารย์สังศิตประเมินยอดรวม ปชป.ต่ำไปหน่อย เพราะใช้วิธีแปรตัวเลขที่มีให้เป็นคะแนนหลักล้าน ที่ผมว่ามีปัญหาตรงการกระจายคะแนน คือโพลดังกล่าวหากนำพรรคที่เรียกว่าฝ่ายประชาธิปไตยมาบวกกัน จะได้ตัวเลขที่ 14-15 ล้านเสียงที่ใกล้เคียงกับของเดิมปี 2554 แปลว่าฝ่ายนี้ยังไงก็ยันตัวเลขอยู่ที่ 40 เปอร์เซ็นต์...ก็ทำให้รวมเสียงกันแล้วยังไงก็อยู่ที่ระดับ 200 กว่าเสียงอยู่แล้ว แต่ไม่ถึง 250 เสียง เพราะไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แต่โพลของ ดร.สังศิตไปให้เพื่อไทยน้อยเกินไป คือให้คะแนนรวมอยู่ที่ไม่เกิน 6 ล้าน เท่าที่ทราบเขาสำรวจกลุ่มตัวอย่าง  16,000 เท่ากับเขตละ 40 ตัวอย่าง ซึ่งถือว่าน้อย ควรต้องอยู่ที่เขตละ 400 ตัวอย่างผลโพลถึงจะแม่น

...จริงๆ โพลเพื่อไทยจะแม่น เท่าที่ทราบเขาทำแล้ว โดยกลุ่มตัวอย่างอยู่ที่ตำบลละ 400 ชุด โดยมีคนมาบอกผมว่าเขาเห็นผลโพลที่ออกมา ก็ได้แค่ที่ 140 กว่าเสียง ที่ก็น่าตกใจเหมือนกัน แต่โพลของพรรคเขาค่อนข้างแม่นกว่ารายอื่น เพราะใช้วิธีทำรายตำบล ทำให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีการสำรวจกันระดับหลายพันตัวอย่าง 

...คนที่ทำเขาบอกว่าหากเขตไหนผลออกมาสูสี เขาขอให้ทำรายหมู่บ้านให้เลย เขาต้องการจะรู้ว่าจะต้องไปเจาะตรงไหน แต่หากเขตไหนเห็นเค้าลางว่าผู้สมัครของพรรคแข็ง คะแนนนำอยู่ ก็ขอทำแค่รายตำบลพอเพื่อให้มั่นใจว่าชนะ ก็ต้องระดับแบบนี้ผลถึงจะแม่น อย่างของประชาธิปัตย์ที่ ดร.สังศิตทำออกมาว่าจะได้ประมาณเจ็ดล้านคะแนน ผมมองว่ามีทั้งเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ เพราะ 7 ล้านเท่ากับประมาณ 100 ที่นั่ง แปลว่าหาก ปชป.ได้ ส.ส.เขตสัก 80 ไม่เกิน 90 ที่นั่ง ก็จะได้ปาร์ตี้ลิสต์ไม่เกิน 20 ที่นั่ง อันนี้เท่าที่ผมประเมิน เพราะผมมองว่า ปชป.เหลือคะแนนน้อย คือเขายังรักษาเขตเลือกตั้งที่ กทม.-ภาคใต้แบบเป็นกอบเป็นกำ แต่คะแนนตกน้ำของพรรคในภาคเหนือ-อีสาน-กลาง ปชป.จะได้น้อย

พปชร.จะได้ปาร์ตี้ลิสต์เยอะ

ดร.สติธร กล่าวต่อไปว่า สำหรับ พรรคพลังประชารัฐ ประเมินว่าอาจจะได้เยอะ โดย ส.ส.เขตอาจได้ไม่มาก ก็อาจประมาณ 50-60 ที่นั่ง แต่ พปชร.จะมีคะแนนเหลือเยอะ เช่นจากที่แพ้ในภาคต่างๆ  เช่นเหนือ-อีสาน ส่วนของกรุงเทพฯ แม้แพ้แต่หากได้แค่เขตละอย่างต่ำสองพันคะแนนก็ถือว่ากำไรแล้ว  เพราะผลเลือกตั้งปี 2554 ใน กทม.ที่แข่งกันสองพรรคคือเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ คนที่ได้อันดับสาม ต่ำกว่า 2,000 เกือบทั้งสิ้น พปชร.เอาแค่ได้ 3,000-4,000 คะแนนก็ถือว่ากำไรแล้ว หาก พปชร.แพ้ในกทม.ทั้งหมด 30 เขต เอาคะแนนแพ้มาบวกรวมกันก็เยอะแล้ว ผมคิดง่ายๆ แค่ภาคอีสานอย่างเดียว อย่าง 80 เขต ที่เพื่อไทยประเมินว่าจะชนะในภาคอีสาน หมายถึงว่า 80 เขตที่เพื่อไทยชนะ ก็คือพลังประชารัฐแพ้ แล้วที่ พปชร.แพ้หลายเขตคะแนนก็ไม่ห่างมาก อาจแพ้สูสีซึ่งน่าจะมีเยอะ เอาแค่ได้  20,000 คะแนน จาก 80 เขตที่แพ้ก็ 1,600,000 คะแนนแล้ว ก็เท่ากับได้ปาร์ตี้ลิสต์ 20 ที่นั่งแล้ว อันนี้ไม่รวมเหนือ-ใต้-กลาง-กทม.

...ทำให้ พปชร.ดูแล้วจะได้ ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 100 ที่นั่ง ก็น่าจะพอๆ กับประชาธิปัตย์ ทำให้สองพรรคนี้ ปชป.กับ พปชร.จะเบียดกัน โดย ปชป.จะได้เขตมากกว่า พปชร. แต่ปาร์ตี้ลิสต์จะน้อยกว่า ที่สวนกับ พปชร.ที่จะได้ ส.ส.เขตน้อยแต่จะได้ปาร์ตี้ลิสต์เยอะ ทำให้จำนวน ส.ส.สองพรรคนี้ค่อนข้างสูสีกัน

 ทั้งหมดขึ้นอยู่กับคะแนนรวม พรรค พปชร.ตัวเลขวิ่งไกลมากน่าจะอยู่ที่ 90-120 เสียง ประชาธิปัตย์ก็คล้ายกัน แต่น่าจะอยู่ที่ 100-120 เสียง โดย พปชร.สัปดาห์สุดท้ายก็อยู่ที่พลเอกประยุทธ์ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคจะทำคะแนนให้ พปชร.เพิ่มได้หรือไม่

รักษาการ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ยังวิเคราะห์กรณี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จะส่งผลต่อคะแนนของ พปชร.และ ปชป.หรือไม่ว่า เรื่องนี้มองได้สองแบบคือ อภิสิทธิ์เขามองว่าเขามีโอกาสจะได้เป็นพรรคอันดับสอง เขาจึงย่อมมองว่าเขามีโอกาสและความชอบธรรมในการตั้งรัฐบาล ที่จะอยู่กับขั้วพลังประชารัฐหากสองพรรคนี้จับมือกัน อภิสิทธิ์ก็คงมองว่าหากเป็นแบบนี้ พปชร.ต้องยกมือสนับสนุนเขาเป็นนายกฯ ไม่ใช่ให้ ปชป.ไปหนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ

...ยุทธศาสตร์ที่ ปชป.ให้อภิสิทธิ์ประกาศจุดยืนไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จึงหวังเอาคะแนนจากคนในบางกลุ่มโดยเฉพาะเช่นกรุงเทพฯ ที่เป็นพื้นที่หลักของ ปชป. และไปกระตุ้นให้ประชาชนที่ไม่โอเคกับผู้สมัคร ส.ส.เขตของพลังประชารัฐให้หันมาเลือก ปชป. ซึ่งผลที่ออกมาผมมองว่า ปชป.เท่าทุนหรือไม่ก็ขาดทุนเล็กน้อย เพราะทำแล้วกระแสตอบรับไม่ได้ดีมาก คือทำแล้วอาจจะไปได้เสียงจากกลุ่มที่ปชป.หวัง เช่นกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกที่เบื่อยุคสมัยลุงตู่ ปชป.ก็หวังว่าการประกาศจุดยืนไม่หนุนนายกฯ ประยุทธ์จะทำให้ ปชป.เข้ามาแชร์คะแนนจากคนกลุ่มนี้ แทนที่จะไปเทคะแนนให้พรรคอนาคตใหม่หมด เพราะ ปชป.ก็เชื่อว่าในพรรคก็มีคนรุ่นใหม่เยอะ รวมถึงการหวังฐานเสียงคนชั้นกลางที่ไม่โอเคกับผู้สมัครของ พปชร.ที่มีนักการเมืองรุ่นเก่าอยู่แต่ก็ยังหนุนพลเอกประยุทธ์ ปชป.ก็หวังให้คนกลุ่มนี้หันมาเลือก ปชป.มากขึ้น

กระนั้น ดร.สติธร มองท่าทีดังกล่าวว่า สิ่งที่ ปชป.จะเสียก็คือฐานเสียงบางแห่งเช่นภาคใต้ที่เขาหนุนพลเอกประยุทธ์ โดยคิดว่าเมื่อเลือก ปชป.แล้วจะได้พลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ เพราะสุดท้ายเชื่อว่า ปชป.กับ พปชร.จะมารวมกันตั้งรัฐบาล พออภิสิทธิ์ประกาศแบบนี้ฐานเสียงกลุ่มนี้ที่เดิมจะเลือก ปชป.ก็จะหายไป เพราะเกรงว่าหากเลือก ปชป.แล้ว ปชป.จะไม่ไปหนุนพลเอกประยุทธ์ ก็จะไปเลือกพรรคอื่นเช่นเลือก พปชร.ไปเลยหรือไม่ก็พรรครวมพลังประชาชาติไทย

ผมเลยมองว่าสิ่งที่อภิสิทธิ์ประกาศออกมาอาจทำให้ ปชป.เสียมากกว่าได้ แต่หากมองเป็นเกมก็มองได้ว่า การที่ ปชป.ยอมเสียคะแนนไปให้พรรคการเมืองอื่น แต่เป็นพรรคที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน อย่างเช่นพรรค รปช.หรือพลังประชารัฐ มันก็เทียบได้เท่ากับที่เพื่อไทยใช้วิธีการแตกแบงก์ตั้งพรรค

มุมวิเคราะห์ดังกล่าว ดร.สติธร ขยายความไว้ว่า เพราะจริงๆ ผู้สมัคร ส.ส.เขตของ ปชป.ยังไงในภาคใต้ก็ไม่แพ้อยู่แล้ว แต่คะแนนส่วนเกินแทนที่จะตกอยู่กับ ปชป.ก็ไปบวกให้กับ รปช.และ พปชร.แทน ก็เลยทำให้ช่วงหลังมีการมองกันว่าพรรค รปช.ของสุเทพ เทือกสุบรรณ อาจได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ระดับ 10-20 เสียงขึ้นมาได้ หาก รปช.ได้เสียงเทขึ้นมาได้ เช่นในภาคใต้ที่มี 50 เขต...หากพรรค รปช.ได้เขตละ 10,000 เสียง...ก็ทำให้พรรค รปช.ได้แล้ว 5 แสนคะแนน คือแทนที่ ปชป.จะได้ 8 หมื่นคะแนน ก็เอาแค่ 7 คะแนนก็พอแล้ว ก็ทำให้ ปชป.ชนะได้ ส.ส.เขตเท่าเดิม แต่พรรค รปช.ได้มาเขตละ 1 หมื่นคะแนน จนได้ 5 แสนคะแนน ก็ทำให้ รปช.ได้ปาร์ตี้ลิสต์แล้ว 7 คน โดย ปชป.ก็ได้ ส.ส.ภาคใต้ตามเป้าเท่าเดิม ไปๆ มาๆ หากไม่ใช่เรื่องอะไรอื่นก็มองได้ว่าเป็นการแก้เกมแตกแบงก์พัน สไตล์ฝั่งนี้เหมือนกัน ทว่าก็มีการพูดกันว่าในภาคใต้เอง ปชป.ก็อาจแพ้ในบางเขต เพราะผู้สมัครพรรคอื่นมาแรง เช่น พรรคภูมิใจไทยที่ระนอง-สตูล หากออกมาแบบนี้ก็เท่ากับ ปชป.ผิดแผนเพราะเกิดมาแพ้ที่ภาคใต้

                ดร.สติธร ยังวิเคราะห์ถึงพรรคการเมืองอื่นว่า สำหรับพรรคอย่างรวมพลังประชาชาติไทย ที่มีสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำ มองว่าพรรค รปช.ยังดีที่ว่าสุเทพพอมีฐานในภาคใต้ ทำให้ได้คะแนนขึ้นมาได้บ้าง โดยคนที่เคยร่วมหนุน กปปส.ผมว่ากว่าครึ่งตัดสินใจไปทางพลเอกประยุทธ์ หรือไม่ก็พรรค รปช.

...ส่วนภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา ผมมองว่าภูมิใจไทยยังพอมีอนาคตมากสุด ด้วยความที่เก็บอดีต ส.ส.เก่าไว้ระดับหนึ่ง ทำให้อาจได้ ส.ส.เขตประมาณ 20-30 เขต พอเป็นไปได้ รวมกับคะแนนที่จะไปบวกในส่วนของปาร์ตี้ลิสต์เพราะเป็นพรรคที่ส่งครบหมดทุกเขต แต่ในส่วนของชาติไทยพัฒนากับชาติพัฒนา คงเอาแค่ประคองตัวเอาพวกอดีต ส.ส.เดิมกลับมาให้ได้ เมื่อดูตอนปี 2554 สถานการณ์ดีกว่านี้ยังได้แค่ล้านกว่าคะแนน มารอบนี้สถานการณ์ของสองพรรคนี้ยังลำบากเมื่อเทียบกับปี 2554 ให้ได้สัก 5-10 เสียงก็ถือว่าน่าจะพอแล้ว ส่วนพรรคเสรีรวมไทยของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส มองดูแล้วเป็นพรรคตัวแปรของฝั่งตระกูลเพื่อ บางพื้นที่ก็พบว่าเหมือนกระแสจะมา แต่บางพื้นที่ก็เฉยๆ จุดหนึ่งอยู่ที่การเทมาจากอดีตไทยรักษาชาติในหนึ่งร้อยเขตที่เพื่อไทยไม่ได้ส่ง แม้บางแห่งดูแล้วอาจจะไปเลือกอนาคตใหม่แทน ทางเสรีรวมไทยก็ต้องไปลุ้นเอาจะได้คะแนนส่วนนี้มาเท่าใด 

ดร.สติธร-นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า มองถึงผลสำรวจทุกสำนักก่อนหน้านี้ ที่พบว่ากลุ่มผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่ยังไม่ตัดสินใจร่วม 51 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มดังกล่าวจะมีผลต่อการเลือกตั้งที่จะออกมาอย่างไรว่า คนที่ตอบโพลว่ายังไม่ได้ตัดสินใจ จริงๆ ผมว่าเขาตัดสินใจแล้ว 25 เปอร์เซ็นต์แต่ไม่บอก แต่อีก 26 เปอร์เซ็นต์ยังไม่ได้ตัดสินใจ โดยจะมาตัดสินใจช่วง วันศุกร์-เสาร์ 22-23 มีนาคม โดยใน 51เปอร์เซ็นต์ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจจริงๆ ก็จะมีสองแบบ คือแบบแรก พวกที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารจริงๆ ดูข่าวการเลือกตั้งแบบผ่านๆ คนส่วนนี้เดาแนวทางได้ยากมาก โดยคาดว่าจะตัดสินใจจริงๆ ก็ช่วงคืนวันเสาร์ 23 มีนาคม หรือเช้าวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม แต่ก็จะไม่มากเท่ากับอีกส่วนหนึ่งคือตัดสินใจแล้ว แต่ยังสองจิตสองใจรอจนถึงนาทีสุดท้ายแล้วค่อยเลือก อาจจะมีพรรคตัวเลือกในใจแล้ว 2-3 พรรคการเมือง แต่ยังรักพี่เสียดายน้องว่าจะโหวตอย่างไรดี เป็นสไตล์คิดเยอะ คือจะรอดูว่าในช่วงโค้งสุดท้าย พรรคที่เขาเล็งไว้จะมีอะไรพิเศษออกมาหรือไม่

ดร.สติธร-รักษาการผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ยังส่องกล้องมองกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกหรือ first-time voter ว่า เป็นกลุ่มที่จะออกมาใช้สิทธิ์กันมาก และอาจเป็นไปได้ที่คะแนนกลุ่มนี้จะโหวตให้พรรคอนาคตใหม่ โดยจากตัวเลขผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในกลุ่มนี้ที่มีประมาณ 7,300,000 เสียง อาจจะมีคนออกไปใช้สิทธิ์มากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด ก็ประมาณ 5 ล้านคน ประเมินว่าน่าจะเทเสียงไปที่พรรคอนาคตใหม่อย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่งเป็นอย่างน้อย โดยคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของอนาคตใหม่จะแปรผกผันไปตามจำนวนเขตของบรรดาพรรคการเมืองใหญ่ที่ได้คะแนนเขตมาเกินคะแนนนิยม เช่นเพื่อไทย ก็จะทำให้ตัวหารเยอะขึ้น อย่างตอนแรก 2 ล้าน 5 แสนเสียงที่อนาคตใหม่อาจจะได้ เมื่อคะแนนหารเพิ่มขึ้นก็ทำให้จากเดิมที่หากใช้ 70,000 เสียงหาร ปาร์ตี้ลิสต์หนึ่งที่นั่งแล้ว อนาคตใหม่อาจได้ 35 ที่นั่งในปาร์ตี้ลิสต์ พอเมื่อคะแนนหารมากขึ้นเป็นหลักแสน ก็จะทำให้ปาร์ตี้ลิสต์ลดลงเหลือแค่ 25 เสียงเท่ากับหายไปเลยสิบเสียง

ตอนนี้คนรุ่นใหม่จับกระแสยังไง ก็ยังเจอแต่พรรคอนาคตใหม่ ไม่ไปทางอื่นมากเท่าใด

...อาจมีไปที่ประชาธิปัตย์-เพื่อไทยบ้างแต่ไม่มาก โดยสาเหตุที่เลือกอนาคตใหม่เท่าที่คุยก็คือ อยากได้อะไรก็ได้ที่แตกต่างจากตลอดห้าปีที่ผ่านมา เขารู้สึกแค่นี้ คืออยากเปลี่ยนแปลงไปจากห้าปีที่ผ่านมา  ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของกลุ่มนี้ก็จะกระจายไปยังพรรคอื่นๆ ทั้งพรรคหลัก และพรรคเช่นภูมิใจไทยที่มีกระแสบางอย่างเช่นนโยบายกัญชา จะไปทางนั้นเพราะคนกลุ่มนี้ฐานการตัดสินใจก็จะเป็นแบบนี้คือ อะไรที่แปลกใหม่ มีความแตกต่าง โดยตอนหลังๆ ก็มีเหมือนกัน บอกว่าจะไปเลือกพรรคเศรษฐกิจใหม่ของมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ก็มีเหมือนกัน

จุดนี้ทำให้พรรคอนาคตใหม่ก็ต้องประคองตัวเองไปให้ได้ คือกระแสพรรคมา แต่พบว่ามันไม่ขึ้นไปต่อจากนี้ ไม่เหมือนตอนพีกช่วง "ฟ้ารักพ่อ" เพราะตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ผมสังเกตว่ากระแสอนาคตใหม่เริ่มทรงๆ ต้องไม่ลืมว่าคนรุ่นใหม่เสียงจะสวิงง่าย อย่างกรณีมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ จากพรรคเศรษฐกิจใหม่เป็นตัวอย่างชัด.

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"