ชีวิต ความตาย และงานไว้อาลัย


เพิ่มเพื่อน    

บรรยากาศในงานรำลึกและไว้อาลัยผู้ล่วงลับ (Memorial Service) ในเมืองโคควิทแลม รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา

แม้จะตื่นเช้าได้ตามสั่ง แต่อาการเจ็ตแล็กก็ยังไม่ไปไหน มีลักษณะมึนงง หนักศีรษะ และให้ความรู้สึกเหมือนเดินอยู่ใต้แสงจันทร์ยามค่ำคืน บวกกับอาการคล้ายๆ แฮ้งสุราหรือยานอนหลับ

จอห์นและลิเลียน คู่รักแห่งเมืองโคควิทแลมรออยู่ในครัว จอห์นรินกาแฟให้แล้วถามว่าจะกินไข่กับเบค่อนอีกไหม ผมยังไม่ทันตอบก็ได้ยินเสียงชาร์ล็อต ลูกสาวของบ้านตะโกน “เยส” มาแต่ไกล แต่จอห์นบอกว่าจะไม่ทำให้จนกว่าเราจะอาบน้ำให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน

อาบน้ำเสร็จเราก็ได้กินไข่ดาวกับเบค่อนทอดและขนมปังปิ้ง อาหารเช้าที่อาจจะเหมือนกันราว 20 วันใน 1 เดือนสำหรับชาวแคนาเดียนที่บรรพบุรุษมาจากอังกฤษ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่

ก่อนขึ้นรถของจอห์นผมสังเกตเห็นถังขยะนอกบ้านมีรอยขีดข่วนและบิดเบี้ยวตรงฝาเปิด ได้รับการเฉลยว่าหมีกริซลีลงจากภูเขามาหาของกินในหมู่บ้าน ส่วนมากจะโจมตีถังขยะแต่เปิดไม่ได้เลยขอฝากรอยเอาไว้

ผมเดินไปทางประตูหน้าฝั่งซ้าย จอห์นลดกระจกลงแล้วถามว่าจะขับเองหรือไง ยอมรับว่าระหว่างอยู่ในแคนาดาเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับผมหลายครั้งเพราะเคยชินจากเมืองไทย

แคนาดาไม่ได้ขับรถพวงมาลัยขวาอย่างชาติอื่นๆ ในเครือจักรภพ เพราะพรมแดนติดกับสหรัฐอเมริกาหลายพันกิโลเมตร และประเทศลุงแซมนั้นไม่เอาด้วยกับการสัญจรบนถนนแบบอังกฤษตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว แคนาดาก็เลยต้องขับรถฝั่งเดียวกันเพื่อให้การข้ามแดนไม่สะดุดรอยต่อใดๆ บรรดารถยนต์ที่ส่วนมากผลิตในสหรัฐฯ ก็ไม่ต้องย้ายพวงมาลัยไปอยู่อีกฝั่งให้เสียเวลา  

ปลายเดือนกันยายนที่รัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดาอากาศกำลังดี โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางวัน อุณหภูมิประมาณ 20 องศา แสงอาทิตย์ส่องสว่างจ้าไปทั่ว ใบไม้กำลังเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ส้ม และแดง ดูสดใส ชาร์ล็อตขึ้นรถของลิเลียน ขับตามกันไป 

จอห์นแวะรับเก้าอี้จำนวนหนึ่งสำหรับเป็นที่นั่งเสริมในงานไว้อาลัยปีเตอร์ เจ้าหน้าที่ประจำโกดังช่วยกันแบกเก้าอี้ใส่หลัง Nissan Rougeรถ SUV ใหม่เอี่ยมของจอห์น

พอทราบเรื่องว่าจะนำเก้าอี้ไปใช้ในงานรำลึกถึงผู้วายชนม์ เด็กหนุ่มที่โกดังก็กล่าวแสดงความเสียใจ ยิ่งเมื่อรู้ว่าปีเตอร์เป็นศิลปินก็แสดงสีหน้าเศร้าออกมา จอห์นเดินมาขอธูปจำนวนหนึ่งจากผมให้เขาไป เขาบอกว่าจะแบ่งกับเพื่อนร่วมงานจุดส่งวิญญาณคนไม่รู้จักไปสู่สุคติ

เวลาสายๆ เราก็ไปถึงสถานที่จัดงาน เป็นอาคารเล็กๆ ชั้นเดียว แยกโดดออกมาจากหมู่บ้านจัดสรร แต่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน เหมาะสำหรับใช้แสดงงานศิลปะ

จอห์นและผมช่วยกันขนเก้าอี้จากในรถไปสมทบกับที่มีอยู่แล้ว เราจัดเรียงเก้าอี้เป็นแถวหลายแถว เว้นที่ว่างไว้ด้านหน้าสำหรับวางโกศบรรจุกระดูกของปีเตอร์ ที่ตั้งจอโปรเจ็กเตอร์ ที่วางคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก เครื่องฉาย ภาพถ่ายปีเตอร์ ผลงานภาพเขียนบางชิ้นของปีเตอร์ พื้นที่สำหรับผู้ที่ออกไปยืนพูดหรือแสดงการไว้อาลัยตามถนัด ด้านหลังห้องวางอาหารว่างจำพวกแซนวิซ เค้ก บิสกิต ชีส และผลไม้ ด้านข้างมีตู้แช่เครื่องดื่ม มีเบียร์สาม-สี่ยี่ห้อ หนึ่งในนั้นคือเบียร์สิงห์ที่จอห์นตั้งใจซื้อเตรียมไว้เพื่อสื่อถึงความเป็นเอเชียของปีเตอร์ นอกจากนี้ก็มีโต๊ะวางไวน์แดง ไวน์ขาว ชาและกาแฟ  

แขกทยอยกันมาจนพื้นที่จัดงานดูคับแคบลงไปอีก จอห์นเป็นผู้โทรศัพท์เชิญทุกคนด้วยตัวเองแม้ว่าเขาประกาศลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในเซ็กชั่นที่เรียกว่า Obituary หรือ “การแจ้งข่าวมรณกรรม” ไว้แล้ว

ผมได้รู้จักกับน้องชายของปีเตอร์อีก 2 คน คือ อลัน และ แกรนท์ พวกเขาทั้ง 4 คนเกิดห่างกันคนละ 22 เดือน สาเหตุคงเพราะปีเตอร์ซีเนียร์ผู้พ่อเป็นนักบินของกองกำลังนาโตที่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านโดยเว้นช่วงเวลาห่างที่เท่าๆ กัน ปีเตอร์และจอห์นนั้นเกิดวันจันทร์เหมือนกันด้วย ส่วนอีก 2 คนผมไม่ได้ถาม ถ้าใช่วันจันทร์อีกละก็ต้องถือเป็นเรื่องอัศจรรย์ถึงขั้นออกทีวีได้เลยทีเดียว

ระหว่างทางไปสถานที่จัดงาน Memorial Service

อลันเกือบจะเสียชีวิตก่อนปีเตอร์ในช่วงต้นปีเดียวกันจากโรคหัวใจแต่เขาต่อสู้จนผ่านภาวะวิกฤติมาได้ แกรนท์ น้องคนสุดท้อง ไม่ค่อยกินเส้นกับปีเตอร์นัก แต่ฝากจดหมายรักไปกับจอห์นที่เดินทางไปหาปีเตอร์ที่กรุงเทพฯ เพราะเขารู้ลึกๆ ว่าเวลาในโลกนี้ของพี่ชายใกล้จะหมดลงแล้ว  

แขกเกือบทุกคนในงานทั้งที่เป็นญาติของปีเตอร์และเพื่อนของเขาล้วนเข้ามาทักทายผม รวมถึงแพท ป้าของปีเตอร์ที่อายุร่วม 100 ปี ยอมหอบสังขารขึ้นวีลแชร์มาไกลกว่าครึ่งประเทศ โดยมีสาวใช้ชาวฟิลิปปินส์คอยดูแล

ส่วนมากเข้ามาพูดขอบคุณผมที่ช่วยดูแลปีเตอร์ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต จอห์นคงให้ข้อมูลพวกเขาไว้ก่อนแล้ว บางคนถึงขั้นวิตกไปว่าปีเตอร์อาจจะเสียชีวิตข้างถนนโดยไร้คนดูใจก่อนสิ้นลม

ดอนน่า-ภรรยาคนแรกของปีเตอร์เข้ามาสวมกอด เราสนทนากันทางอีเมลมาก่อนหน้านี้ เธอขอให้จอห์นพาผมไปหาที่บ้านในวันพรุ่งนี้ โลรี-สตรีอีกคนเข้ามาทักทาย เธอคือเจ้าของสตูดิโอที่ปีเตอร์ใช้เวลาเขียนภาพระหว่างที่ยังอยู่แคนาดา ก่อนบ่ายหน้าสู่เอเชีย

สำหรับ Memorial Service นั้นคืองานไว้อาลัยและรำลึกถึงผู้วายชนม์ กระทำโดยที่ไม่มีร่างของผู้เสียชีวิตปรากฏในงาน หากมีร่างของผู้เสียชีวิตอยู่ด้วยก็จะเรียกว่า Funeral Service    

จอห์นกล่าวเปิดงาน ขอบคุณแขกที่เดินทางมา แนะนำตัวผมที่นั่งดื่มไวน์แดงอยู่ข้างเพื่อนเก่าคนหนึ่งของปีเตอร์ ผมลุกขึ้นยืนแล้วโค้งให้กับผู้มาร่วมงาน จากนั้นจอห์นฉายภาพพรีเซนเตชั่น ชีวิตและผลงานของปีเตอร์ชื่อชุด Course of the River – สายน้ำแห่งชีวิต เมื่อจบลงเสียงปรบมือก็ดังขึ้นนับนาที

น้องชายทยอยกันพูดรำลึกถึงพี่ชาย แกรนท์ผู้มีหน้าตาละม้ายแบรด พิตต์ ลุกขึ้นยืนจากเก้าอี้ที่มุมหนึ่งหลังห้อง ในมือมีแก้ววิสกี้ ไม่ขอเดินไปพูดด้านหน้า

“สำหรับผม รู้สึกว่าปีเตอร์จากเราไปตั้งแต่ตอนที่เราเดินทางไกลกันในสก็อตแลนด์ ผมยัง 5 ขวบ ปีเตอร์ 11 ขวบแล้ว แต่เขาก็เดินทิ้งเราจนไปถึงที่หมายเป็นคนแรก เขาอยากจะจากโลกตะวันตกและพวกเราไปตั้งแต่ตอนนั้น” แกรนท์พูดอะไรอีกบางอย่างแต่ผมจำได้แค่นี้

ปีเตอร์ไม่มีบ้านช่องในแคนาดานับตั้งแต่จากลาดอนน่าไปเอเชีย การกลับประเทศแต่ละครั้งเขาพักกับจอห์น น้องชายที่สนิทกันที่สุด รวมทั้งเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ทางการเงินให้ด้วย  

สตรีเพื่อนศิลปินของปีเตอร์คนหนึ่งขอลัดคิวเพราะเธอมีธุระสำคัญรออยู่ ออกไปเล่นกีตาร์โปร่งและร้องเพลง ผมไม่รู้จักชื่อเพลงนั้น แต่ดูจะกินใจคนทั้งห้อง เธอกล่าวคำไว้อาลัยหลังเพลงจบด้วยน้ำตาอาบใบหน้า

อาหารว่างภายในงาน Memorial Service

ดอนน่ากล่าวถึงอดีตคนรักที่กลายเป็นเพื่อนในช่วงครึ่งหลังของชีวิต เธอเล่าจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์อันนำไปสู่การวิวาห์ ของขวัญชิ้นแรกที่ปีเตอร์ให้คือลูกแมวผอมกะหร่องตัวหนึ่ง การลงเรือบรรทุกไม้ของรัสเซีย (สหภาพโซเวียตขณะนั้น) จากแวนคูเวอร์ไปยังญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1972โดยปีเตอร์ดันไปพูดผิดหูชาวรัสเซียในเรือเข้าจนเกือบโดนรุม ซึ่งขณะนั้นแคนาดาเพิ่งชนะโซเวียตในการแข่งขันฮ็อกกี้น้ำแข็ง Summit Series แบบเหย้า-เยือน 8 เกมมาอย่างสูสีและตึงเครียด   

“เราไม่เคยหย่ากัน เขาแค่เดินจากไป” ดอนน่าพูดประโยคนี้ด้วยรอยยิ้ม

จากนั้นเป็นคิวของชาร์ล็อต เธอเกริ่นว่าเขียนคำไว้อาลัยขึ้นระหว่างรอขึ้นเครื่องที่สนามบินมอนทรีออล รัฐควิเบก เธอกล่าวถึงความสัมพันธ์ของเธอกับลุงปีเตอร์ ถึงขั้นที่เธอบินไปหาถึงอินเดียตอนที่ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย และลุงปีเตอร์ก็คือคนที่เป็นแบบอย่างในการเลือกเส้นทางการใช้ชีวิต สร้างความเชื่อมั่นในหนทางศิลปินของเธอ

ผมนึกว่าชาร์ล็อตจะไม่ร้องไห้ แต่ช่วงท้ายๆ เธอก็กลั้นไว้ไม่อยู่  

คงจะมีเพียงผมคนเดียวที่ไม่มีน้ำตาในบรรดาผู้ที่ออกไปกล่าวคำไว้อาลัย ซึ่งจอห์นให้ผมพูดเป็นคนสุดท้าย คงเพื่อให้ความประหม่าลดลงเรื่อยๆ ขณะฟังคนอื่น

ผมพูดตามประโยคที่ร่างมาในกระดาษอยู่ได้ 2 ย่อหน้าก็ล้มเลิก เปลี่ยนเป็นพูดในสิ่งที่คิดไว้หลายตลบตั้งแต่รู้ว่าได้รับเชิญมา โดยเน้นไปที่บุคลิกพิเศษและเสน่ห์แปลกๆ ของปีเตอร์ เขาทำให้คู่สนทนารู้สึกสบายใจที่จะพูดออกมา และพูดออกมาได้ง่ายกว่าปกติ จนภาษาอังกฤษไม่เป็นอุปสรรคในการสื่อสาร เราคุยกันได้ทุกหัวข้อ ทั้งเรื่องสังคม การเมือง การเดินทาง วรรณกรรม มวย และฟุตบอล อีกทั้งแลกเปลี่ยนกันโดยไม่ต้องเกรงอกเกรงใจกันนัก

นอกจากนี้ผมก็เล่าเหตุการณ์สำคัญและตลกขบขันที่เผชิญมาด้วยกัน ทั้งในกรุงเทพฯ และกรุงเวียงจันทน์ จากนั้นนำจดหมายแสดงความรำลึกจากเพื่อนปีเตอร์ที่เป็นชาวเอเชียอีกสาม-สี่คนออกมาอ่าน จบด้วยบททวี On Death จาก “ปรัชญาชีวิต” ของคาลิล ยิบราน  

นอกจากผมที่โล่งใจหลังกล่าวจบแล้ว จอห์นก็ดูจะโล่งใจเช่นกัน เขาพูดข้างหูขณะที่เสียงปรบมือยังดังอยู่ว่า “นายทำได้ดีมาก” ผมบอกกลับไปว่า “ก็ปีเตอร์คือเพื่อนผมนี่”  

เพื่อนเก่าของปีเตอร์ที่นั่งข้างผมก่อนหน้านี้เข้ามาคุยด้วย “ตอนแรกผมนึกว่าคุณจะประหม่า แต่พอตอนพูดคุณดูไม่ประหม่าเลย” ผมขอบคุณเขา ความจริงแล้วต้องขอบคุณอาการเจ็ตแล็กที่เข้ามาครอบงำและมีชัยเหนือความประหม่า

หลังการกล่าวคำไว้อาลัยสิ้นสุดลง แขกร่วมงานก็จับกลุ่มพูดคุยกันอย่างอิสระ บ้างดูภาพเขียนของปีเตอร์ บางคนไปขอดูวิดีโอรำลึกอีกรอบ ด้านนอกจอห์นได้จัดบอร์ดนิทรรศการภาพถ่ายที่เกี่ยวกับปีเตอร์ขึ้นด้วย แต่ละคนล้วนถือของว่างในมือ

ผมผละจากไวน์แดงเดินเข้าไปหาแกรนท์ที่นั่งไขว่ห้างอยู่บนเก้าอี้ตัวเดิม ถามว่า “คุณดื่มอะไรอยู่หรือครับ ?”

ถ้าเขาไม่ตาย ผู้เขียนก็คงไม่ได้ไปเยือนแคนาดา  

“ซิงเกิลมอลต์น่ะ ยี่ห้อลาฟรอยก์” แล้วก็หยิบแก้วอีกใบรินวิสกี้ให้ผม จากนั้นยกแก้วขึ้น เอียงคอแล้วขยิบตา “สุขสันต์วันเกิด พรุ่งนี้วันที่ 26กันยายน เป็นวันเกิดปีเตอร์” ใช่แล้ว ปีเตอร์อายุครบ 66 ปีในวันพรุ่งนี้

ผมคุยกับชาร์ล็อตหลังจากนั้นว่า “อาของคุณเหมือนแบรด พิตต์ เลย แต่คุณอย่าไปบอกเขาล่ะ”

ชาร์ล็อตหัวเราะออกมาด้วยน้ำเสียงเจ้าเล่ห์ “ฉันจะบอก ยังไงฉันก็จะบอก”

“เพราะว่านั่นคือสิ่งที่เขาต้องการได้ยิน” เธอมั่นใจ  

โธ่ รู้งี้ผมบอกเองดีกว่า เผื่อได้ลาฟรอยก์ทั้งขวดนั้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"