หมัดต่อหมัดเปิดตัวเลขเศรษฐกิจ รัฐบาล"ปชป.-พท.-ประยุทธ์"


เพิ่มเพื่อน    

                เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมารองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลให้สัมภาษณ์ว่า “ที่ผมฟังแล้วคันหู ก็คือหาว่าเศรษฐกิจเสียหายต้องรีบเข้ามาฟื้นฟู ผมก็งงเหมือนกัน เพราะเมื่อถามรัฐมนตรีคลังว่าที่รายงานเข้ามา รายงานไม่หมดหรืออย่างไร ขอร้องเวลาจะพูดอะไรให้ระมัดระวังด้วย เพราะต่างชาติฟังอยู่เดี๋ยวจะงงว่าตกลงประเทศไทยมีกี่ประเทศกันแน่ ยืนยันเศรษฐกิจของเรายังดีวันดีคืน ขอให้ไปดูตัวเลขให้ดีๆ ไปดูว่าฝรั่งมองไทยอย่างไร”

                จากคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวของรองนายกรัฐมนตรี ดูจะขัดแย้งกับสิ่งที่พรรคการเมืองหลายพรรคกำลังหาเสียงในขณะนี้ ที่ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา 5 ปีนั้นเสียหายมากจนต้องเร่งฟื้นฟู ซึ่งน่าสงสัยว่าเหตุใดมุมมองของรัฐบาลปัจจุบัน จึงต่างจากพรรคการเมืองที่อาสาเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก จนเหมือนกับว่าทั้ง 2 ฝ่ายนั้นดูข้อมูลคนละชุดกันอยู่

           ตัวเลขระดับมหภาคไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของ GDP, ดุลบัญชีเดินสะพัด, อัตราเงินเฟ้อ และทุนสำรองระหว่างประเทศ ภายใต้ช่วงเวลาที่รัฐบาลปัจจุบันบริหารประเทศนั้น พบว่าล้วนแล้วแต่เป็นตัวเลขที่ขยับดีขึ้นจริง จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดี อัตราเงินเฟ้อต่ำ รายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการไปต่างประเทศอยู่ในระดับสูง จนสามารถสร้างรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศได้อย่างต่อเนื่อง

                แต่ประเด็นที่หลายฝ่ายมาตั้งคำถาม คือ ในเมื่อภาพรวมของเศรษฐกิจดีขึ้นนั้น แต่ประชาชนต่างพูดตรงกันว่าเศรษฐกิจไม่ดีนั้น เศรษฐกิจไปโตอยู่ที่ใคร

           อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจีดีพีของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นภาคการเกษตร และนอกภาคเกษตร จะพบว่าในช่วงที่รัฐบาลคสช.บริหารประเทศนั้น GDP ของภาคการเกษตรในปี 2558 หดตัวสูงสุดถึง 6.46% ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้นจนกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในปี 2560 และ 2561 ทว่า การหดตัวในปี 2557-2559 นั้นเอง ทำให้ขนาดของภาคการเกษตรในพ.ศ. 2561 แทบจะไม่แตกต่างจากปี 2556 หรือ 5 ปีที่ผ่านมาเลย ดังนั้น เกษตรกรไทยที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ จึงไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนักจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

                ในขณะที่จีดีพีของนอกภาคการเกษตรมีการขยายตัวเฉลี่ยอย่างต่อเนื่องถึงปีละ 4% ในระหว่างปี 2558-2561 ทำให้ GDP ของนอกภาคการเกษตรในปี 2561 มีการขยายตัวถึง 18% เมื่อเทียบกับปี 2556 คำถาม คือ เหตุใดจึงมีการขยายและการหดตัวของภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรอย่างมาก

                นอกจากนั้น ข้อมูลการสำรวจรายได้และค่าใช้จ่ายครัวเรือนระหว่างปี 2558-2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติก็เป็นข้อมูลอีกชุดหนึ่ง ที่ย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของครัวเรือนทั่วไปในประเทศ น่าสังเกตว่าในช่วงเวลา ระหว่างปี 2556-2560 นั้น

                รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ยังน้อยกว่าค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่นระหว่าง พ.ศ. 2558-2560 รายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 31 บาทต่อเดือน ส่วนรายจ่ายเพิ่มขึ้น 280 บาทต่อเดือน หรือหมายความว่า แต่ละครัวเรือนมีรายจ่ายเพิ่มมากว่ารายได้ 249 บาทต่อเดือน ซึ่งผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติดังกล่าวก็สอดคล้องกับความเห็นของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ว่าจะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเศรษฐกิจฐานราก

                จากตัวเลขทางเศรษฐกิจทั้ง 2 ชุดที่ได้นำเสนอไปนั้น คงพอช่วยให้เห็นภาพได้ว่า แม้สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ในส่วนของการกระจายผลประโยชน์ที่ได้จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้นยังเป็นปัญหา

                หากลองเปรียบเทียบผลงานรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในรัฐบาลก่อนหน้า เช่น ในช่วงรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่บริหารประเทศระหว่างปี 2554-2557 ก็ทำให้รายได้เฉลี่ยครัวเรือนสูงกว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 300 บาทต่อเดือน เป็นต้น

                สำหรับรัฐบาลสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เข้ามาบริหารประเทศระหว่าง ปี 2551-2554 ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ และปัญหาภายในที่เกิดการชุมนุมประท้วงในประเทศอย่างกว้างขวาง แต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ยังสามารถทำให้ประชาชนมีรายได้เข้ากระเป๋ามากกว่าที่จ่ายออกไปอยู่ประมาณ 1,135 บาทต่อเดือน

                อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งรอบนี้ พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) มีนโยบาย 10 จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย ที่เน้นปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โครงสร้างภาษีให้เป็นธรรม การประกันรายได้ และการสร้างดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจใหม่หรือ PITI

                ขณะที่นโยบายของพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ จะเน้นพูดกว้างๆ ไม่ลงรายละเอียดภายใต้ 5 มาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ที่ชูประเด็นหลักเรื่องการเติมเงินในมือประชาชน แต่อาจด้วยความกังวลเรื่องตัวเลขงบประมาณจากโครงการ จึงทำให้ครั้งนี้พรรคเพื่อไทยมีภาพของนโยบายไม่ค่อยชัดเจนเมื่อครั้งที่ผ่านมา แต่ยังคงเน้นกลุ่มฐานรากเป็นหลัก

                ส่วนกลุ่มนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ที่ดูเหมือนจะครอบคลุมทุกอย่าง แต่หลายส่วนก็ยังดูคล้ายคลึงกับนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย(พท.) จนดูไม่ออกว่าใครออกนโยบายมาก่อน เพียงแต่จ่ายมากกว่า จนหลายฝ่ายเองก็เป็นห่วงเรื่องของค่าใช้จ่ายจ่ายที่สูงมากเช่นกัน ที่สำคัญ รัฐบาลนี้ซึ่งคือเนื้อเดียวกับพรรคพลังประชารัฐกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเมื่อเทียบกับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ตลอดจนเทียบการบริหารของรัฐบาลก่อนหน้า 2 ชุด ดูจะมีแนวโน้มว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้นไปอีก

                ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่รัฐบาลน่าจะต้องเผชิญในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ คือ 1.ภาวะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ 2.ความเสี่ยงของนโยบายประชานิยมแบบแจกแถม 3.ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเมือง หากจะมีม็อบหรือการประท้วงหลังเลือกตั้ง

                สิ่งเหล่านี้ก็น่าจะเป็นปัจจัยที่ใช้ประเมินเลือกพรรคการเมืองที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ท่ามกลางกระแสความร้อนแรงของการต่อสู้ทางการเมือง.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"