ความคิดคำนึงคืนหมาหอน : เลี้ยวกลับไปสู่วงจรอุบาทว์เดิมไม่ได้!


เพิ่มเพื่อน    

 

                การเลือกตั้งพรุ่งนี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าคนไทยพร้อมจะกลับเข้าสู่ “ความเป็นปกติ” ของระบอบการเมืองได้อย่างยั่งยืนถาวรหรือไม่

                เรามีทางเลือกเพียงสองทาง : ไปทางหน้าแม้จะมีขวากหนามมากมาย หรือเลี้ยวกลับไปสู่ความตีบตันทางเดิม

                ทางแรกคือการก้าวข้ามความขัดแย้งเก่าๆ เพื่อนำพาประเทศเข้าสู่ “ประชาธิปไตย” ในความหมายที่แท้จริง อันหมายถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน เคารพในกติกา รู้แพ้รู้ชนะ ยอมรับความเห็นที่แตกต่าง

                ในบรรยากาศเช่นนี้เท่านั้นที่เราจะสามารถร่วมกันออกแบบประเทศไปสู่การพัฒนาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างสรรค์บ้านเมืองไปสู่เส้นทางที่มีความหวังในอนาคตข้างหน้า

                เราต้องตระหนักว่า หลังจากใช้สิทธิ์เลือกตั้งพรุ่งนี้แล้ว เราจะไม่ทำตัวเป็นประชาชนที่นั่งรอให้ผู้แทนทำงานตามที่ตนต้องการ หากแต่จะตรวจสอบ, ติดตามและวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของนักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านอย่างคึกคักและกระตือรือร้น

                เราต้องเป็น “พลเมืองที่ตื่นรู้” หรือ active citizens ที่ไม่เพียงแต่นั่งบ่นและชี้นิ้วกล่าวหาคนอื่น แต่จะมีกิจกรรมที่คึกคักในฐานะเจ้าของประเทศร่วมกันในอันที่จะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่คนส่วนใหญ่ของประเทศต้องการ

                เราจะเคารพในกติกาที่ให้เสียงส่วนใหญ่บริหารประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็เคารพในสิทธิและฟังเสียงส่วนน้อยที่เรียกว่า Majority rules while respecting minority rights.

                หากเราไม่เลือกเส้นทางแรก ทางเลือกอีกทางหนึ่งก็คือการหวนกลับไปสู่วงจรแห่งความขัดแย้งแบบเก่าๆ อีกครั้งหนึ่ง

                ทางเลือกที่สองนี้หมายถึงการแบ่งแยกผู้คนตามผลประโยชน์ของตน คนชนะเหยียบย่ำคนแพ้ ใครหรือจังหวัดไหนไม่ลงคะแนนเสียงให้พรรคที่ชนะเลือกตั้งจะกลายเป็นประชาชนชั้นสอง

                ตามมาด้วยการที่กลุ่มการเมืองที่ชนะเลือกตั้งใช้ภาษีประชาชนเพื่อเอาใจกลุ่มคนที่สนับสนุนตน โดยหวังจะชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพื่อจะได้อยู่ในอำนาจอย่างต่อเนื่องยาวนาน

                คำว่า “เผด็จการ” จะถูกนำมาใช้เพื่อสร้างภาพทางลบให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง

                ไม่ว่าจะเป็น “เผด็จการทหาร” หรือ “เผด็จการเสียงข้างมาก” ล้วนแล้วแต่เป็นศัตรูร้ายกาจของประชาชนทั้งสิ้น

                เผด็จการทหารนั้นมีภาพและรูปแบบที่ชัดเจน เป็นสิ่งที่พึงจะต้องขจัดออกไปจากระบอบการเมือง เพราะประวัติศาสตร์การเมืองได้ยืนยันแล้วว่า รัฐประหารโดยผู้มีอาวุธนั้นไม่อาจจะนำพาประเทศให้พ้นจากความยากจนและล้าหลังได้

                ขณะเดียวกัน “เผด็จการพลเรือน” ในรูปแบบต่างๆ ก็เป็นอันตรายอย่างน่ากลัวเช่นกัน

                เราเคยเห็นรัฐบาลที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง และใช้อาณัติของประชาชนนั้นดำเนินนโยบายที่สร้างประโยชน์เฉพาะกลุ่มที่มาในรูปของการฉ้อราษฎร์บังหลวง เอื้อผลประโยชน์ธุรกิจและการเมืองบางกลุ่มเพื่อสร้างเป็นฐานการเมืองถาวร สกัดหนทางที่กลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อตนจะมีโอกาสทางการเมือง

                คนทำสื่ออย่างผมได้เห็นเผด็จการในทุกๆ รูปแบบ และยืนยันได้ว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารหรือมาจากการเลือกตั้ง ก็ล้วนแล้วแต่สามารถจะลิดรอนสิทธิของสื่อสารมวลชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ในการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้ทั้งสิ้น

                ผมจึงไม่เคยเชื่อว่าคนที่มีอำนาจ ไม่ว่าจะได้อำนาจนั้นมาอย่างไร มีความจริงใจที่จะเคารพในสิทธิเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

                จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องช่วยกันปกปักรักษาสิทธิเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็น หรือ freedom of expression อย่างเต็มที่, ตลอดเวลาและต่อเนื่อง

                เพราะเสรีภาพของสื่อก็คือเสรีภาพของประชาชน

                ยิ่งทุกวันนี้สถานภาพของสื่อดั้งเดิมอ่อนเปลี้ยเพลียแรงลงไป เพราะปัญหาเศรษฐกิจอันเกิดจาก “ความป่วน” หรือ disruption แห่งเทคโนโลยีด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ผู้มีอาชีพด้านสื่อขาดภูมิต้านทานในการยืนหยัดตั้งรับแรงเสียดทานทางการเมืองเหมือนเดิม

                ยิ่ง social media กลายเป็นปัจจัยใหม่แห่งวิถีการสื่อสาร มีทั้งด้านบวกและลบมากมาย ก็ยิ่งทำให้เราต้องสร้าง “พลังพลเมืองสร้างสรรค์” เพื่อใช้เครือข่ายสังคมเหล่านี้ให้เป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันนำพาประเทศออกจากห้วงเหวแห่งความขัดแย้งอย่างแข็งขันร่วมกัน

                พรุ่งนี้คือวันตัดสินชะตากรรมของประเทศร่วมกันครับ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"