วิกฤติของมลพิษฝุ่นละอองภาคเหนืออย่างน้อย 9 จังหวัด กลายเป็นเรื่องที่จะต้องพิเคราะห์กันหลายมิติ
เช่นคำว่า “วาระแห่งชาติ” มีความหมายอะไรกันแน่
ใครเป็นเจ้าภาพแก้ปัญหาเฉพาะหน้า, ระยะกลางและระยะยาว
ใครเป็นผู้ประเมินความเสียหายอันเกิดจากวิกฤติที่ยืดเยื้อและไม่มีหน่วยงานหรือบุคคลที่ต้องรับผิดชอบ
มาตรการฉีดน้ำ, ใส่หน้ากาก, หยุดโรงเรียนทั้งหลายนั้นเป็นปลายเหตุใช่หรือไม่
ใครจะแก้ที่ต้นเหตุ และจะแก้อย่างไร...
พรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงเพื่อให้ประชาชนเลือกเข้ามาทำหน้าที่นั้นมีใครมีความชัดเจนในการเสนอทางออกให้กับประเทศชาติในประเด็นนี้หรือไม่
บทสรุปที่ผมได้จากการพูดคุยกันคนหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องคือ
ไม่มีใครมีคำตอบครับ
คุณหมอชายชาญ โพธิรัตน์ แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกผมว่า
“สภาพอากาศรายตำบลมีสีม่วงและน้ำตาล คล้ายผลองุ่นเน่า...นี่คือปรากฏการณ์ที่ผมเรียกว่าองุ่นเน่า” ครับ
เมื่อดัชนีมลพิษฝุ่นละอองของเชียงใหม่กระโดดขึ้นไปเป็นอันดับที่ 1 ของโลกสามสี่วันซ้อนกันในบางช่วงของวัน เราเห็นความกระตือรือร้นของรัฐบาลกลางและผู้รับผิดชอบในระดับจังหวัดเพียงใด
คนระดับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีบินไปตรวจงาน ให้สัมภาษณ์ว่าได้สั่งการให้หน่วยนั้นหน่วยนี้แก้ปัญหาแล้วก็บินกลับมากรุงเทพฯ เป็นพิธีกรรมซ้ำซากที่ไม่เคยแก้ปัญหาของบ้านเมืองนี้ได้เลย
แต่พิธีกรรมเดิมๆ ก็ยังมีอยู่ต่อเนื่องเช่นนี้
จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมบ้านเมืองเราจึงมีปรากฏการณ์ “วิกฤติซ้ำซาก”
สาเหตุสำคัญคือ ไม่มีใครเป็นมืออาชีพในการบริหาร เข้ามาทำงานในตำแหน่งต่างๆ ด้วยเหตุผลที่ไม่เกี่ยวกับความสามารถจริงๆ เลย
ส่วนคนที่มีประสบการณ์และมีฝีมือจริงกลับไม่ได้ทำงาน เพราะไม่มีอำนาจ, ไม่มีเส้นสาย, ไม่มีตำแหน่งทางการ
บ้านเมืองจึงตกอยู่ในสภาพเช่นนี้
ข้ออ้างที่ว่าปีนี้อากาศแห้ง ไฟลามได้เร็วและแรง แม้จะมีคำประกาศห้ามเผาในระยะนี้ แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะคนเผาอาจจะไม่ใช่ชาวบ้านในบริเวณนั้นๆ หากแต่เป็นคนที่ข้ามจากเขตอื่นเข้ามาเผา จึงกำกับดูแลและป้องกันยาก
ถามว่ากลไกการบริหารจังหวัดนั้นมิลงรายละเอียดไปถึงแต่ละหมู่บ้านหรือ
ชุมชนจำนวนไม่น้อยก็พร้อมที่จะร่วมมือในการสร้างเครือข่ายป้องกันการเผา แต่ไฉนผู้รับผิดชอบในแต่ละอำเภอแต่ละจังหวัดจึงไม่สามารถป้องกันการเผาได้
และทำไมเมื่อเกิดเหตุการณ์เผาขึ้นในเขตใดๆ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบนั้นๆ จึงไม่ถูกลงโทษ
ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดของจังหวัด ต้องเป็นผู้ทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ และประสานทุกฝ่ายให้ทำตามแผนรวมเพื่อรับกับปัญหาใช่หรือไม่
ไฉนจึงมีคำถามจากชาวบ้านหลายจังหวัดว่า “ท่านผู้ว่าฯ อยู่ไหน”
ทำไมจึงไม่มีการสื่อสารระหว่างผู้รับผิดชอบกับประชาชนในจังหวัดนั้นๆ ว่าเหตุการณ์แต่ละวันที่ปัญหามลพิษแพร่กระจายและเพิ่มความรุนแรงขึ้นนั้นเกิดจากอะไร มีการทำอะไรไปบ้าง ผลเป็นอย่างไร อุปสรรคอยู่ตรงไหน และมีแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวอย่างไร
ไฉนผู้รับผิดชอบจึงไม่รู้สึกเรียนรู้การใช้ social media ในการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้-ส่วนเสีย เพื่อสื่อสารให้ทุกฝ่ายได้รับทราบโดยทั่วกัน
ทำไมข้าราชการผู้มีความรับผิดชอบจึงยังไม่ปรับเปลี่ยนทัศนคติและวิธีคิดและวิธีทำงานของตนให้สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นวิกฤติระดับชาติเช่นนี้
พอเกิดวิกฤติมลพิษฝุ่นควันครั้งใดก็จะมีการพูดกันถึงมาตรการระยะกลางและระยะยาวกันอยู่พักหนึ่ง ผ่านไปไม่นานทุกอย่างก็กลับเข้าสู่สภาพเดิม จนกว่าจะเกิดวิกฤติอีกครึ่งหนึ่ง วาทกรรมเดิมๆ ก็จะกลับมาอีกรอบ วนเวียนอยู่ในวงจรแห่งความเฉื่อยแฉะและไร้ประสิทธิภาพเช่นนี้
เราจึงไม่สามารถหลุดจาก “กับดักแห่งความดักดาน” ได้จนถึงวันนี้
และวิกฤติมลพิษฝุ่นละอองเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ วิกฤติของบ้านเมืองที่เรากำลังเผชิญอยู่เท่านั้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |