(การแสดงสุดอลังการในงานดอกลำดวนบาน)
นับว่าเป็นความโชคดีที่มีโอกาสได้กลับมาเยือน “ศรีสะเกษ” อีกครั้ง ผ่านการเชิญชวนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คราวนี้ได้ไปเยือนทั้งสถานที่ใหม่ๆ ที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาแล้ว แต่อาจจะไม่เคยได้ไปสัมผัส วันนี้ก็เลยเก็บมาบอกกล่าวอีกครั้ง
(สะพานไม้ไผ่กลางบึงบ้านบกมีมุมให้ถ่ายรูปเพียบ)
แห่งแรกที่ไปเยือนก็คือ “สะพานไม้ไผ่กลางบึงบ้านบก” หรือสะพานไม้ไผ่บึงกระแส ตั้งอยู่ที่ อ.โนนคูณ ได้ยินมาว่าเป็นสะพานไม้ไผ่แห่งนี้ ชาวบ้านได้สร้างไว้เพื่อให้คนได้มาเที่ยวชมความสวยงามของบัวแดงที่ลอยเด่นอยู่ในบึง ทันทีที่รถจอดสายตาก็มองเห็นด้านหน้าทางเข้าสะพาน เป็นซุ้มไม้ไผ่รูปบ้าน มีที่นั่งทำด้วยไม้ไผ่สวยงาม ด้านบนมีตัวหนังสือว่า จุดชมวิวบัวแดงบุ่งกระแซ สองข้างของซุ้มมีข้องใส่ปลา
(สะพานไม้ไผ่ยาว 300 เมตร กลางบึงบุ่งกระแซงบ้านบก)
สะพานไม้ไผ่ทอดยาวสู่กลางบึง 300 เมตร กว้าง 1 เมตร เริ่มตั้งแต่ทางเข้า ด้านล่างของสะพาน ยังเป็นพื้นปกติอยู่ ไม่หวาดเสียว แต่พอเดินมาสักพัก ระดับของสะพานเริ่มสูงขึ้น จนไปถึงศาลาที่คนอีสานเรียกว่า ‘เถียงนา’ เป็นที่นั่งพักหลบแดด ใครจะพักก็พักไป เพราะถ้าอยากเดินต่อ ด้านล่างก็เป็นน้ำแล้ว บางคนอาจจะกลัวหน่อยๆ เมื่อเดินไปถึงกลางสะพาน แต่บอกได้เลยว่าสะพานนี้ยังใหม่ สร้างเมื่อปีที่แล้วนี่เอง แต่ดูแล้วคาดว่าสะพานรองรับน้ำหนักคนได้พอประมาณ น่าเสียดายที่ช่วงที่มาไม่มีบัวแดงให้ดู ไม่งั้นคงจะสวยกว่านี้
(ร้านกาแฟสยาม ให้บรรยากาศชิลๆ เหมือนพักผ่อนอยู่บ้าน)
จากนั้นเราเดินทางไปที่ อ.ยางชุมน้อย เพราะได้ยินมาว่ามีร้านกาแฟเปิดใหม่ชื่อ "ร้านกาแฟสยาม" ซึ่งได้รับการการันตีความอร่อยโดยบาริสต้าที่มีประสบการณ์ชนะการเเข่งขันระดับประเทศ บรรยากาศของร้านดูธรรมชาติ ไม่ได้ดูหรูหราอลังการ ให้อารมณ์ชิลๆ เหมือนมานั่งจิบกาแฟอยู่บ้าน ส่วนเมนูเด็ดที่ต้องลองคือ กาแฟน้ำอ้อย เป็นอเมริกาโน่ผสมน้ำอ้อย โดยใช้อ้อยสดๆ ที่มาจากไร่ของชาวบ้าน มาคั้นก่อนผสมกับกาแฟสด ไม่รู้ว่ารสชาติเป็นอย่างไร เพราะไม่ชอบดื่มกาแฟ แต่พอสอบถามคนอื่นๆ ทุกคนบอกว่ารสชาติดี แปลกใหม่ คนดื่มกาแฟต้องชอบแน่ๆ ส่วนใครที่ไม่ดื่มกาแฟก็มีเมนูพวกชาไว้เป็นทางเลือก เราเลือกสั่งชาเขียวมา 1 แก้ว รู้สึกสดชื่นมากรสชาติไม่หวานเกินไป
ช่วงที่ไปเป็นช่วงที่กำลังจัดงาน "เทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทยศรีสะเกษ" พอดีงานนี้เป็นงานประจำจังหวัด จัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนมีนาคม เพราะว่าเป็นช่วงที่ดอกไม้ประจำจังหวัดอย่างดอกลำดอนกำลังบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอม ก็เลยไปเที่ยวชมงานนี้สักหน่อย ต้องบอกก่อนว่าสถานที่จัดงานอยู่ที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ตั้งอยู่ภายในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ บนเนื้อที่ 237 ไร่
(ชาวบ้านร้อยดอกลำดวนที่งานเทศกาลดอกลำดวน)
พอมาถึงสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ก็รีบมองหาต้นลำดวนก่อนเลย พบว่าขึ้นนอยู่หนาแน่นเป็นดงใหญ่ ออกดอกสีเหลืองบานสะพรั่ง ได้ยินมาว่ามีมากถึง 5 หมื่นต้น มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่นั่งอยู่หน้างานกำลังร้อยพวงมาลัยลำดวนอยู่ จำได้ว่าเคยเห็นพวงมาลัยลำดวนหน้าตาแบบนี้เมื่อช่วงวัยเด็ก ซึ่งนานมากแล้วจนลืมว่าเคยมีดอกไม้ชนิดนี้อยู่ เพราะส่วนใหญ่ที่เห็นตอนนี้จะมีแต่ดอกมะลิ ดอกรัก ดาวเรือง ที่นิยมมาร้อยพวงมาลัย ถ้าไม่มาที่นี่คงไม่ได้เห็นพวงมาลัยดอกลำดวนอีกครั้ง แล้วการร้อยของชาวบ้านไม่ได้ใช้ด้ายกับเข็มเหมือนร้อยดอกมะลิ แต่ใช้เชือกฟาง พวงมาลัยก็จะยาว ใช้คล้องคอ พวงละ 10-20 บาทตามขนาด
ในงานมีสินค้าหลายอย่างที่เป็นของพื้นเมืองที่ชาวศรีสะเกษนำมาจำหน่าย โซนแรกเป็นพวกผ้าไหม ผ้าพื้นเมืองของแต่ละชนเผ่า ผ้าแต่ละผืนแม้ดูเผินๆ จะเหมือนกันมาก แต่พอดูดีๆ แล้วจะเห็นว่าไม่เหมือนกัน อย่างของชนเผ่าลาวก็จะเป็นเสื้อม่อฮ่อมสีเข้ม กับผ้าซิ่นตีนจก อธิบายไปก็อาจจะชวนงงๆ ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ต้องเห็นภาพจริงๆ จึงจะแยกออก ขณะที่ผ้าของชาวเขมรก็จะคล้ายๆ ลาว แต่วิธีการผลิตต่างกัน
นอกจากนี้ยังมีอาหารการกินหลายอย่างให้เลือกสรร ที่ห้ามพลาดก็คือขนมตดหมา ซึ่งก็คือขนมจาก เวลาที่เรามาศรีสะเกษหรือฝั่งอีสานใต้ก็มักจะได้รับคำแนะนำว่าต้องกิน เพราะถ้าไม่กินแสดงว่ามาไม่ถึง
(ผ้าสีสันสดใสจากชนเผ่าต่างๆ จัดแสดงที่ งานเทศกาลดอกลำดวนบาน)
ตกเย็นก็มีการแสดงอลังการ ทั้งการแสดงชนเผ่า 4 เผ่า และการแสดงอารยธรรมแห่งศรัทธา มนตรา ศรีพฤทเธศวร ซึ่งเป็นเรื่องราวเล่าตำนานการสร้างบ้านแปงเมืองศรีสะเกษ ดินแดนแห่งดอกลำดวนที่ยิ่งใหญ่ตระการตา ใช้เวลาชมประมาณชั่วโมงกว่า ทีแรกนึกว่าจะเป็นการแสดงเล็กๆ ไม่มีอะไรมาก แต่ปรากฏว่าชาวศรีสะเกษจัดเต็มมาก ทั้งฉาก เสียง แสง การแสดงก็มีนักแสดงกิตติมศักดิ์จากภาคราชการและภาคเอกชนที่มาร่วมกันถ่ายทอดให้ผู้ชมได้ชมกัน ไม่น่าเบื่อ ทั้งลุ้นและสนุกมาก เป็นครั้งแรกที่ได้ชม ประทับใจสุดๆ และคิดว่าปีหน้าถ้ามีโอกาสได้มาศรีสะเกษอีกครั้งก็จะต้องมาในช่วงนี้ และมางานนี้ให้ได้ น่าเสียดายที่งานนี้หมดไปแล้วและมีแค่ปีละครั้งเท่านั้น แต่ทุกคนก็ยังสามารถมาชมดอกลำดวน 5 หมื่นต้นได้ที่นี่
(ชมพระอาทิตย์ที่ผามออีแดง)
วันที่สองของทริป ตื่นกันแต่เช้าตรู่ ใครที่ไม่เคยไปดูพระอาทิตย์ตกที่ผามออีแดง อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร อ.กันทรลักษณ์ ควรไปอย่างยิ่ง เพราะมีอะไรให้เราได้เห็นอีกหลายอย่าง แต่เนื่องจากเคยไปมาแล้วหลายครั้งและเคยเขียนมาแล้ว เลยจะขออนุญาตข้ามไปยังวัดป่ามหาเจดีย์แก้ว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดล้านขวด แค่ชื่อก็น่าสนใจแล้วว่าต้องเกี่ยวกับแก้วแน่ๆ ตั้งอยู่ที่บ้านดอน ต.โนนสูง อ.ขุนหาญ วัดนี้ทำเอารู้สึกทึ่ง สิ่งแรกที่เห็นคือศาลากลางน้ำ รูปทรงศาลาสีเขียวมรกตสลับสีน้ำตาล เพราะก่อสร้างด้วยขวดแก้วต่างๆ ได้ข้อมูลจากผู้รู้มาว่า ขวดแก้วที่เห็นนั่นคือที่มาของวัดล้านแก้ว
(แม้แต่พระพุทธรูปยังสร้างด้วยขวดแก้ว ที่วัดล้านขวด)
สถานที่ต่างๆ ภายในวัด ไม่ว่าจะเป็นซุ้มประตูทางเข้า ลานจอดรถ โบสถ์ ศาลา หอระฆัง กุฏิ หรือแม้แต่ห้องน้ำ ต่างถูกประดับประดาด้วยขวดแก้วหลากสีหลายแบบรวมกันกว่า 1.5 ล้านใบ ได้ยินมาว่าความคิดนี้ไม่ได้เกิดจากศิลปินหรือนักออกแบบคนไหนเลย แต่มาจาก “พระครูวิเวกธรรมาจารย์” หรือ “หลวงปู่ลอด” ชาวบ้านเล่าว่า ครั้งหนึ่งหลวงปู่ลอดได้เข้าไปพักปักกลดในป่าช้าหนองใหญ่ ที่เป็นที่ตั้งของวัดในปัจจุบันนี้แหละ โดยในระหว่างนั้นก็มีญาติโยมและชาวบ้านแวะเวียนมาปฏิบัติธรรมด้วย ทำให้หลวงปู่เกิดความคิดที่จะสร้างวัดขึ้นบนพื้นที่ป่าช้านี้ แต่บริเวณใกล้เคียงมีขยะพวกขวดอยู่เยอะมาก แล้วขวดก็มีสีสัน ก็เลยประหยัดงบค่าสีค่ากระเบื้องในการก่อสร้างด้วยการใช้ขวดนี่แหละสร้าง ชาวบ้านก็นำขวดมาบริจาคร่วมอีก เลยเป็นวัดล้านขวดสวยงามในปัจจุบัน
(วัดล้านขวดที่สร้างจากขวดแก้ว)
ใช้เวลาเดินชมวัดรอบๆ ก็เห็นว่าด้านนอกที่เป็นศาลาให้คนมาทำบุญ แม้แต่องค์พระพุทธรูปนอนก็ยังมีส่วนที่สร้างด้วยขวดแก้ว สวยงามและกลมกลืนมาก คุ้มค่าที่ได้มา
(ป้าฉลวยโชว์ผ้าที่ทอลายลูกแก้ว ภูมิปัญญาบ้านเมืองหลวง)
ยังไม่หมดเท่านี้ เรายังมีโอกาสได้ไปชิมอาหารอีสานพื้นบ้านฝีมือชาวบ้านชุมชนบ้านเมืองหลวง อ.ห้วยทับทันด้วย ซึ่งเป็นสถานที่สุดท้ายของทริป เมนูก็มีน้ำพริกปลาร้า ส้มตำ แกงไก่ เมนูต้อนรับแขกที่มาเยือน ที่นี่เป็นหมู่บ้านเก่าแก่กว่า 200 ปี เกี่ยวข้องกับเจ้าเมืองเขมรที่ยกทัพมาสู้รบ และใครที่ชอบเรื่องผ้าต้องมาที่นี่ เพราะชาวบ้านมีการสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าไหมลายลูกแก้วที่ใช้กันมากในหลายชนเผ่าศรีสะเกษ แต่ที่บ้านเมืองหลวงก็มีสไตล์เป็นของตนเอง ป้าฉลวย ชาวบ้านเมืองหลวง เล่าให้ฟังว่า สไตล์ผ้าของที่นี่คือลายแกะสลักหอระฆังในหมู่บ้าน และส่วนหนึ่งก็ได้ลวดลายมาจากผู้ชายสมัยก่อนได้สานฝาซึ่งเรียกว่าฝากระแตะ หรือฝาขัดแตะ โดยสานเป็นลวดลายที่สวยงาม ก็มีการแกะลายดังกล่าวมาทอบนผืนผ้า โดยลวดลายที่ทอขึ้นมาจะมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมขนมเปียกปูนเล็กใหญ่ซ้อนกันเป็นจุดกระจายทั้งผืน นี่คือที่มาลายลูกแก้ว
มาที่นี่ต้องไม่ลืมอุดหนุนผ้าชาวบ้าน ราคามาตรฐานทั่วไปคือหลักพัน แล้วยังมีการสาธิตกระบวนการผลิตผ้าแต่ละผืนให้ชมด้วย โดยชาวบ้านนำเอาวัสดุธรรมชาติมาเป็นสีของผ้า แม้แต่กาบมะพร้าวยังนำมาต้มกลั่นเป็นสีชมพูสวยงาม แล้วก็มีพืชสมุนไพรอย่างมะเกลือ ต้นขน ขมิ้น ใบเล็บครุฑ หนามครอง ฯลฯ แต่ละชนิดฟังแค่ชื่อก็แปลกแล้ว แต่ที่นี่ทำจริง มาชมได้เลย ติดต่อที่ ป้าฉลวย 08-5763-4261.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |