ขอแค่ความเป็น 'คน' เท่ากัน 'ชวธีร์ คุปตะวาทิน' พรรคมหาชน


เพิ่มเพื่อน    

        ถือเป็นมิติใหม่ทางการเมืองสำหรับการเลือกตั้ง 24 มีนาคมนี้ หลัง “พรรคมหาชน” ที่มีนายอภิรัต ศิรินาวิน เป็นหัวหน้าพรรค นำเสนอนโยบาย “เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ” เป็นนโยบายหลัก พร้อมกับเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.ที่เป็น “เพศทางเลือก” จำนวนหลายคน

        หนึ่งในนั้นคือ “เฟิสตี้” ชวธีร์ คุปตะวาทิน ผู้สมัคร ส.ส.เขต 4 จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในแวดวง “เพศทางเลือก” จากผลงานมากมายในอดีต 

        “ชวธีร์” เปิดใจถึงการตัดสินใจลงสู่สนามการเมืองครั้งนี้ว่า เนื่องจากปัจจุบันมีอายุ 25  ปี ซึ่งสามารถเข้ารับสมัคร ส.ส.ได้ตามกฎหมาย กอปรกับที่ผ่านมาได้เป็นตัวแทนของกลุ่ม LGBT ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิทางเพศมาตลอด และโดยพื้นฐานเป็นคนที่ไม่ชอบเห็นอะไรที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคม เวลาเห็นการล่วงละเมิดสิทธิ หรือต้องการความช่วยเหลือ กลุ่มของพวกเราจะให้ความช่วยเหลือทันที

        พอดีกับพรรคมหาชนได้หยิบยื่นโอกาสมาให้กับพวกเรา ซึ่งเป็นโอกาสที่พวกเราไม่เคยได้รับจึงคว้าไว้ ซึ่งจริงๆ เราไม่ต้องรับก็ได้ เพราะปัจจุบันด้วยอาชีพของเรามันก็พอจะซัพพอร์ตได้ดีอยู่แล้ว แต่คิดว่าถ้าเราเข้าไปอยู่ตรงนั้นได้ มันจะช่วยซัพพอร์ตกลุ่ม LGBT อีกหลายคนในประเทศ ที่ยังไม่ได้รับสิทธิอันเท่าเทียมในสังคม เราสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้นมันไม่มีอะไรเสียหายที่จะตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.ในครั้งนี้

        “เฟิสตี้” ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีคนรุ่นใหม่เข้าสู่สนามการเมืองจำนวนมาก ดังนั้นการเข้าสู่สนามการเมืองของกลุ่ม LGBT จึงไม่ได้เป็นเรื่องแปลกอะไร อีกทั้งปัจจุบันสังคมยังเปิดใจกับเรื่องเพศทางเลือกมากขึ้นกว่าแต่ก่อน คนเริ่มมองเห็น เริ่มให้ความสนใจ การที่กลุ่ม LGBT เข้าสู่การเมืองจึงไม่แตกต่างอะไรกับกลุ่มอาชีพอื่นที่เข้ามา 

         “จริงๆ อยากให้สังคมยอมรับมากขึ้นว่า ความสามารถของกะเทยเองเป็นได้ทุกอาชีพ ไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์ที่คนมองว่าเราเป็นได้แค่นางโชว์ หรือช่างแต่งหน้า เราทำอะไรได้มากกว่านั้น แม้แต่เรื่องการเมืองเองเราก็สามารถทำได้”

        ส่วนที่มีการมองว่า การเข้าสู่การเมืองอาจเป็นการเปลืองตัวโดยใช่เหตุนั้น? “ชวธีร์” ยอมรับว่าเป็นความจริง เพราะเป็นการเข้าสู่การเมืองเสมือนดาบสองคม แต่ทุกอย่างมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย

        "แต่ยอมรับให้ได้ก่อนว่า ถ้าจะทำตรงนี้ ต้องการจะผลักดันเรื่องสิทธิความเท่าเทียม เราต้องอยู่ในที่สว่าง และถ้ามั่นใจว่าเรามีเจตนาที่ดี ไม่ได้เบียดเบียดใคร ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ก็ควรต้องทำ มันไม่ได้น่ากลัวอะไร"

        ผู้สมัคร ส.ส.เขต 4 นนทบุรี บอกอีกด้วยว่า หากได้รับเลือกเป็น ส.ส.ต้องการเข้าไปผลักดันเรื่องสิทธิเท่าเทียมในหลายเรื่อง เพราะมีกฎหมายหลายฉบับที่ร่วมผลักดันมาเป็นสิบๆ ปี แต่ยังไม่ผ่านสภาฯ ในขณะที่ พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ ซึ่งคุ้มครองสุนัข แมว กลับผ่านไปก่อนแล้ว แต่ชีวิตคนอย่างเพศทางเลือกที่มีอีกเป็นล้านๆ คนในประเทศยังไม่ผ่าน

       “การไม่ได้รับความเท่าเทียมมันส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ทั้งเรื่องปากท้อง การเข้าถึงสิทธิต่างๆ ยังเข้าไม่ถึง ยกตัวอย่างอย่างเรื่องคำนำหน้าชื่อ เวลาเดินทางออกนอกประเทศ ร่างกายเราเป็นผู้หญิง แต่เวลาเขาประกาศเรียกในที่สาธารณะว่านาย มันกลายเป็นตัวตลกในสายตาคนอื่น”

       อีกจุดคือ กรณีจดทะเบียนสมรส ซึ่ง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ยังไม่ได้ครอบคลุมในหลายๆ ข้อ แม้กฎหมายจะเข้าสภาฯ ไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ผ่าน อีกทั้งตัว พ.ร.บ.ดังกล่าวเองก็ยังแบ่งให้เพศทางเลือกเป็นพลเมืองชั้นสอง ไม่ได้ให้สิทธิเท่าเทียม เช่น ค่ารักษาพยาบาลกรณีแต่งงานกับข้าราชการ คนที่เป็นเพศทางเลือกจะไม่สามารถรับสิทธิได้

        “ขอยกตัวอย่างกรณีหนึ่ง มีคู่รักเป็นเลสเบี้ยน ปรากฏว่า ฝ่ายชายที่เป็นทอมเกิดประสบอุบัติเหตุ และต้องเข้ารับการผ่าตัด ฝ่ายหญิงจะเซ็นอนุมัติ แต่เซ็นไม่ได้ เพราะต้องให้ญาติเซ็นก่อน ซึ่งพ่อและแม่ฝ่ายชายอยู่ต่างจังหวัด ทำให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างล่าช้ามาก ซึ่งปัจจุบันทอมคนดังกล่าวได้กลายเป็นเจ้าหญิงนิทราไปตลอดชีวิต เพราะการเซ็นที่ล่าช้า ดังนั้นเราต้องผลักดันเรื่องนี้”

        นอกจากสิทธิในการยินยอมรักษาพยาบาลข้างต้น “ชวธีร์” ยังกล่าวอีกว่า มีอีกหลายข้อที่เป็นข้อจำกัดของเพศทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการกู้ร่วม การดำเนินคดีอาญาแทนคู่ชีวิต การเรียกร้องสินไหมทดแทนจากการขาดไร้อุปการะ การจัดการทรัพย์สิน การรับมรดก และการประกอบอาชีพ ที่บางครั้งกำหนดคุณสมบัติรับเฉพาะชาย และหญิง ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างเป็นเรื่อง “คุณภาพชีวิต”

       “วันนี้ที่สังคมบอกว่ายอมรับพวกเรา โดยระบุว่าเป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ แม้แต่ความเป็นคนคนหนึ่งเท่าคนอื่นเรายังไม่ได้รับเลย เราจึงคิดว่าถ้าอยากให้เท่าเทียมกัน เราต้องปูพื้นฐานสังคมให้มันเรียบเสียก่อน ให้เท่าเทียมจริงๆ ก่อน”

        อดีต “เน็ตไอดอล” ชื่อดังรายนี้ระบุว่า คาดหวังจะได้รับโอกาสไปเป็น ส.ส.เพื่อผลักดันเรื่องต่างๆ โดยปัจจุบันมีประชากรกลุ่มเพศทางเลือกประมาณ 7 ล้านคน จึงอยากจะเป็นตัวแทนของคนกลุ่มนี้เข้าไปเรียกร้องสิทธิและผลักดันเพื่อความเสมอภาค

        “อยากให้ประชาชนให้โอกาสพวกเรา พรรคมหาชนเข้ามาเพื่อทำเรื่องความเท่าเทียมจริงๆ แล้วไม่ใช่แค่เรื่องเพศอย่างเดียว แต่ทำเพื่อทุกเพศ ทุกสาขาอาชีพในสังคม ที่ยังไม่ได้รับสิทธิและความเท่าเทียมที่ควรจะได้”

        “เฟิสตี้” กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากพรรคมหาชนเปิดตัว กระแสตอบรับค่อนข้างดีระดับหนึ่ง แต่อาจจะยังมีบางคนที่ยังไม่เข้าใจว่า ทำไมเราต้องออกมาเรียกร้องอะไรแบบนี้ แต่อยากชี้แจงว่า พวกเราไม่ได้เรียกร้องหรืออยากได้อะไรมากกว่าคนอื่น แค่ขอให้ได้ “เท่ากัน” ในความเป็นมนุษย์เท่านั้น.

 

ชื่อ เฟิสตี้ ชวธีร์ คุปตะวาทิน

การศึกษา : ระดับ ปวช.จากวิทยาลัยไทยบริหารธุรกิจ, กำลังศึกษาสาขาประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

 

อาชีพ นางแบบ/อินฟลูเอนเซอร์

 

ประสบการณ์ : พิธีกรบันเทิงช่องไบรท์ทีวี, นางแบบ, นางแบบข้ามเพศไทยคนแรกที่ได้ถ่ายแบบลงนิตยสาร VOGUE italia (2018) และนิตสาร FAB UK(2019), ได้รับรางวัลนรสิงห์บุคคลต้นแบบ ปี 2559, รางวัล FEVER AWARD 2016 สาขาเน็ตไอดอลยอดนิยมแห่งปี


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"