'หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ' ผู้เปลี่ยนคำจาก 'พลิกแผ่นดิน' เป็น 'ปฏิวัติ'


เพิ่มเพื่อน    

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ (ศาสตราจารย์ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ประสูติ พ.ศ.2434 และสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.2519) ทรงเป็นโอรสพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กับหม่อมหลวงต่วนศรี วรวรรณ ทรงจบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนราชวิทยาลัยในปี พ.ศ.2448 และได้ทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษจนสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ทางด้านประวัติศาสตร์และการทูต 

หลังจากนั้นได้ทรงเข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ เป็นปลัดทูลฉลอง และเป็นอัครทูตไทย ณ กรุงลอนดอน อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ.2472 ได้ทรงลาออกจากราชการกระทรวงการต่างประเทศ และเสด็จกลับมาประเทศสยาม โดยเป็นศาสตราจารย์ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และในปี พ.ศ.2475 ได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ "ประชาชาติ" ขึ้น ทรงมีงานนิพนธ์เป็นจำนวนมากในทางรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การต่างประเทศ และภาษาศาสตร์ และเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงต่างประเทศ  รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีในทางกฎหมายและการเมืองอีกตำแหน่งหนึ่งด้วยนับตั้งแต่ปี  พ.ศ.2476 เป็นต้นมา 

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ได้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การเมืองอันใดไว้ ทั้งที่โดยส่วนลึกของพระทัย พระองค์ทรงกล่าวไว้ภายหลังเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ว่า "ข้าพเจ้านิยมการปกครองแบบรัฐธรรมนูญนี้มาช้านานแล้ว" เหตุผลประการหนึ่งคงเป็นเพราะทรงเป็นหม่อมเจ้า ย่อมทรงอยู่ในขอบเขตของโบราณราชประเพณีที่ถือว่าองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประมุขทั้งของประเทศและของพระราชวงศ์ ดังนั้น พระราชวินิจฉัยต้องผูกมัดพระราชวงศ์ทั้งหมดไม่ว่ากฎหมายบ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม  

ในประการต่อมาคงเป็นเพราะพระอัธยาศัยของพระองค์เอง ซึ่งในตลอดพระชนมชีพไม่ทรงเคยแสดงความคิดที่รุนแรงคัดค้านผู้มีอำนาจโดยตรงเลย แม้ว่าจะทรงมีความคิดความรู้ทางการเมืองก็เป็นของส่วนตัวไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปโฆษณาในที่สาธารณะ เพราะไม่ต้องด้วยวัฒนธรรมประเพณีภายในกลุ่มสังคมของตน นอกจากนี้เฉพาะในส่วนของหม่อมเจ้าวรรณไวทยากรในอีกประการหนึ่ง น่าจะเนื่องมาจากการที่ทรงเป็นนักการทูต เพราะโดยหลักวิชาชีพของนักการทูตของไทยไม่พึงแสดงความคิดทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่งให้ปรากฏอย่าง 

เห็นได้ชัด มีแต่ผลประโยชน์รวมของชาติเท่านั้นที่ต้องรักษา ทั้งนี้หลักการดังกล่าวย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ตามสถานการณ์การเมืองภายในและการเมืองระหว่างประเทศ

เมื่อมีการยึดอำนาจวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ได้สำเร็จเรียบร้อยแล้ว พระองค์ทรงแสดงความคิดเห็นอย่างสำคัญโดยไม่ชักช้าในสองประการ คือ 

หนึ่ง เรื่องภาษาการเมืองที่พึงใช้ในระบอบการเมืองสมัยใหม่ กับ สอง คือ หลักวิชารัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องด้วยกับรัฐธรรมนูญและสภาผู้แทนราษฎร ทั้งสองประการนี้กล่าวโดยทั่วไปแล้วเป็นเรื่องที่ผู้คนจำนวนหนึ่งอาจจะพอมีความนึกคิดอยู่บ้าง แต่ในเรื่องนี้ดังกล่าวนี้ เราสามารถกล่าวได้ว่า หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ทรงเป็นนักปราชญ์ของประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมากที่สุด 

ตัวอย่างเช่น ในคราวแสดงปาฐกถาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปลายปี พ.ศ.2475 พระองค์ทรงกล่าว
ถึงเรื่องภาษาไว้ว่ามีความสำคัญในอันที่จะช่วยให้มีการเปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกันก็มีการรักษาระเบียบแบบเดิมๆ เอาไว้ 

“…ภาษาไทยนี้แหละจะเป็นหลักประกันแห่งความมั่นคงของประชาชาติไทยต่อไป เพราะว่าถ้าเรานิยมใช้คำฝรั่งทับศัพท์ในคำที่เกี่ยวกับความคิดเห็นแล้ว เราอาจเดินเร็วเกินไปก็ได้ กล่าวคือเราอาจถ่ายแบบของเขามาโดยตรง แทนที่จะดัดแปลงเสียก่อนให้เข้ารูปเข้าทำนองความคิด…”

และจากฐานทางปรัชญาความคิดว่าด้วยภาษาเป็นตัวกำกับวิธีคิดของมนุษย์และกำกับการเปลี่ยนแปลงของโลกนี้เอง ส่งผลให้พระองค์มีบทบาทอย่างแข็งขันและต่อเนื่องในการถ่ายศัพท์จากต่างประเทศให้เข้ารูปกับทำนองความคิดของไทย ซึ่งมีตัวอย่างที่น่ากล่าวถึงในที่นี้ ได้แก่ พระอธิบายในความหมายของคำว่า "ปฏิวัติ" เพื่อใช้ทดแทนคำว่า "พลิกแผ่นดิน" หรือ "เปลี่ยนแปลงการปกครอง" ซึ่งปัญญาชนหลายคนในเวลานั้นได้ใช้กันอยู่ 

คำว่า "ปฏิวัติ" เป็นคำซึ่งพระองค์ทรงบัญญัติขึ้นเพื่อเรียกเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475  แทนคำว่า "รัฐประหาร" หรือคำว่า "ยึดอำนาจ" หรือ "เปลี่ยนแปลงการปกครอง" ซึ่งฝ่ายคณะราษฎรในสมัยแรกๆ นั้นนิยมใช้ รวมทั้งคำว่า "พลิกแผ่นดิน" ซึ่งหลวงวิจิตรวาทการได้ใช้อยู่ในปี พ.ศ.2475 พระองค์ทรงให้เหตุผลว่า คำที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นคำเก่า ไม่เหมาะสำหรับการสื่อความหมายของการเปลี่ยนแปลงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เนื่องด้วยมีความสำคัญมาก 

ดังนั้น จึงควรมีคำใหม่ที่ถอดมาจากคำว่า Revolution ในการนี้พระองค์ทรงแปลคำดังกล่าวว่าการ "ปฏิวัติ" ซึ่งมีความหมายทางการเมืองแฝงไว้อย่างสำคัญ ว่าคือการหมุนกลับหรือหมุนรอบของหลักมูลฐานในทางการเมืองการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ประชาธิปไตย 

"...การเปลี่ยนแปลงของเรานั้น ไม่ใช่การพลิกแผ่นดินแต่เป็น Revolution การเปลี่ยนแปลงจากราชาธิปไตยมาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญนั้น แม้ไทยจะว่ากระไร ฝรั่งก็ว่าเป็น Revolution เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง เพราะฉะนั้นถ้าไม่ใช่คำว่าปฏิวัติก็จะเข้าใจความคิดเห็นของฝรั่งในเรื่องนี้หาได้ไม่"

คำอธิบายข้างต้นมีหลักเหตุผลเป็นที่ยอมรับของชนชั้นนำจำนวนมากในสมัยนั้น และในระยะต่อมาด้วย ทั้งที่ตามความจริง คณะราษฎรฝ่ายพลเรือนยังนิยมเรียกเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475  ว่าคือการยึดอำนาจ (coup d’etat) มากกว่า ทั้งนี้เพื่อให้ราษฎรเข้าใจว่าสิ่งสำคัญที่ต้องกระทำต่อไปในวันข้างหน้ายังมีอีกมาก นับตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การบำรุงสุขสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ และการแสวงหาเอกราชสมบูรณ์

ส่วนหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ กลับทรงเห็นว่า การแปรสภาพมูลฐานทางสังคมการเมืองได้เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้วในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 เพียงแต่อาการที่จะเป็นไปในวันข้างหน้าย่อมอยู่ในเงื่อนไขแห่งกาลเทศะ ขยายความได้ว่า 

“…ในการปฏิวัติหรือเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองนั้นเปรียบประดุจการแกว่งแห่งลูกตุ้มนาฬิกา  ถ้าแกว่งไปข้างซ้ายไกลย่อมกลับแกว่งไปข้างขวาไกล ถ้าแกว่งแรงไปข้างหนึ่งก็ย่อมกลับแกว่งแรงไปอีกข้างหนึ่ง แต่ถ้าแกว่งพอประมาณตามสมควรแล้ว อาการแกว่งก็จะเป็นไปตามปรกติวิสัยด้วยความราบรื่นเรียบร้อย”

นั่นหมายความว่า การเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่มากเกินกว่าในเรื่องของหลักมูลย่อมเกิดขึ้นได้ เนื่องด้วยผู้คนนั้นมีอารมณ์มากกว่าหลักเหตุผล แต่การเปลี่ยนแปลงชนิดนั้นก็เหมือนลูกตุ้มนาฬิกา คือแกว่งไปแกว่งมาเท่านั้นเอง ต่างจากอาการแกว่งที่พอดีจากฐานของหลักมูลซึ่งเป็นสิ่งที่พึงปรารถนามากที่สุด  เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญที่จะทำให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อยเป็นปกติสุขได้ 

นอกจากคำดังกล่าวแล้ว หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ยังได้ทรงบัญญัติศัพท์ทางการเมืองขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายคำเลยทีเดียวได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น คำว่า ประชาชน ลัทธิรัฐธรรมนูญ รัฐศาสตร์ สัญญาประชาคม มติมหาชน เป็นต้น 

สำหรับแนวความคิดของหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร ในอีกประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญและกิจกรรมของสภาผู้แทนราษฎร เป็นเรื่องที่แน่ชัดว่าพระองค์ทรงสนับสนุนระบอบใหม่อย่างแข็งขัน  โดยทรงใช้วิชาความรู้อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ ตัวอย่างเช่น คำว่า "รัฐธรรมนูญ"  เป็นคำที่พระองค์ทรงมีส่วนบัญญัติขึ้นใช้แทนคำว่า "พระธรรมนูญ" และแทนคำว่า "พระราชบัญญัติ" 

พระองค์ทรงกล่าวว่าทรงนิยมชมชอบหลักการของลัทธิรัฐธรรมนูญมาเป็นเวลานานแล้ว เนื่องด้วยหลักการนี้มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นหลักแห่งชีวิตการเมืองของประเทศ พระองค์ทรงเห็นว่ารัฐธรรมนูญของไทยควรเปรียบเทียบได้เฉพาะแต่อังกฤษและฝรั่งเศส และไม่ควรนำรัฐธรรมนูญของไทยไปเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นเป็นอันขาด เนื่องจากมีภาพลวงตาอยู่มาก เพราะในประเทศญี่ปุ่นสมเด็จพระจักรพรรดิมิได้ทรงใช้อำนาจมานานแล้ว และรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นเป็นรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายพระมหากษัตริย์พระราชทานเองโดยตรง ซึ่งตรงกันข้ามกับประเทศไทยที่มีคณะราษฎรเป็นผู้ก่อการ ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ 

สำหรับกิจกรรมของสภาผู้แทนราษฎรนั้น หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ทรงมีความเห็นว่า การเมืองภายในระบอบรัฐสภาต้องให้สภาผู้แทนราษฎรควบคุมรัฐบาลอยู่เนืองนิตย์ นั่นคือสมัยของการประชุมของสภาควรมีประมาณครึ่งปีเป็นอย่างน้อย รัฐบาลเป็นเพียงอุปกรณ์ดำเนินการของอำนาจอธิปไตย ฉะนั้น หากมีประชุมสภาแต่น้อยวัน หรือมีสมัยการประชุมไม่นานนัก อำนาจทางการเมืองและการบริหารย่อมตกไปอยู่ในมือของคณะผู้บริหารประเทศจำนวนน้อยคน และเรื่องนี้ประชาชนในระบอบประชาธิปไตยต้องระมัดระวังมากที่สุด

พิจารณาแนวความคิดของหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ดังกล่าว ย่อมเห็นได้ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ที่มีความรอบรู้และทรงนิยมหลักลัทธิรัฐธรรมนูญอย่างมากคนหนึ่งของยุคสมัยนี้ พระองค์มีความประสงค์ประคับประคองระบอบใหม่ให้แกว่งต่อไปแบบ "ลูกตุ้มนาฬิกาที่แกว่งพอประมาณ" กล่าวคือ ให้การเปลี่ยนแปลงเป็นดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยเป็นไป และเป็นที่ยอมรับได้ของคนส่วนใหญ่ 

บทบาทในทางการเมืองของหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ มีจุดเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในช่วงต้นปี พ.ศ.2476 เมื่อรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ตราพระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 รวมทั้งตราพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2476 ในวันถัดมา 

ในสถานการณ์เช่นนี้ ดูจะเป็นเหตุการณ์เพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่พระองค์ได้ตัดสินพระทัยเสี่ยงภัยทำการวิจารณ์รัฐบาลอย่างรุนแรง โดยมีบทความในหน้าหนังสือพิมพ์ประชาชาติ กล่าวว่าการประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราของฝ่ายรัฐบาลทำให้รัฐธรรมนูญคงเหลือแต่มาตรา "ที่ไม่มีสาระเป็นอย่างยิ่ง"

ทรงกล่าววิจารณ์พระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลว่า "ถ้ากล่าวพูดตามหลักวิชาแล้ว เรากำหนดความหมายในลัทธิคอมมิวนิสต์กว้างกว่าที่ฝรั่งเขาเข้าใจกันคือเรารวมลัทธิคอเล็คติวิสต์  (Collectivism) หรือลัทธิสเตตโซเซียลิสม์ (State Socialism) เข้าไปด้วย"

จากเหตุการณ์ความผันผวนทางการเมืองในครั้งนี้ และถัดต่อมา เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีนับจากเดือนมิถุนายน 2476 เป็นต้นไป ปรากฏว่าทางรัฐบาลได้เชิญให้หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ไปเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล พระองค์ทรงเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นประจำในฐานะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ 

และเมื่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีข้อติดขัดในเรื่องหลักวิชารัฐศาสตร์ ทางรัฐบาลก็ร้องขอประธานสภาผู้แทนราษฎรอนุญาตให้หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรทรงให้คำอธิบายแก่ที่ประชุม 

อาจกล่าวได้ว่าความคิดเห็นของพระองค์ทรงมีความสำคัญต่อการจรรโลงการปกครองในระบอบใหม่ และช่วยเสริมเจตนารมณ์ของฝ่ายคณะราษฎรในการจัดการปกครองในระบอบกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย และยังช่วยประคับประคองระบอบรัฐธรรมนูญให้เดินทางสายกลาง ที่มีความต่อเนื่องจากระบอบเก่าและไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงไปอย่างถอนรากถอนโคน ซึ่งแนวทางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองและทางความคิดแบบค่อยเป็นค่อยไปนี้ เชื่อว่าจะทำให้ระบอบใหม่ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและมีเสถียรภาพ.
-------------
อ้างอิง: คำอธิบายของปัญญาชนฝ่ายที่สนับสนุน กับฝ่ายที่ต่อต้านการปฏิวัติสยาม 2475, รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"