20 มี.ค.62 -วินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ผู้อ่านหลายคนถามว่า จริงไหมที่ผมเป็นพวกอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว
งงไปวูบตอนได้ยินครั้งแรก ที่งงก็เพราะผมเชื่อว่าหากผมเป็นอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว ไม่มีทางทำงานสร้างสรรค์แบบที่ทำอยู่ได้เด็ดขาด หรือเขียนบทความแย้งโหราศาสตร์ เช่นบทความล่าสุดเมื่อสองวันก่อน ‘วันมงคลหรือวันเหลวไหล’
นักอ่านที่ทันยุคที่ผมเริ่มเขียนเรื่องสั้นแนวทดลอง จะรู้ว่าผมปฏิวัติการเขียนเรื่องสั้นหน้ามือเป็นหลังมือ ผมรื้อกฎเดิมทุกข้อจนถูกกล่าวหาว่าทำลายขนบเดิม อาจเรียกว่าเป็นลิเบอรัลตัวพ่อเลยก็ได้!
จึงเริ่มเข้าใจใหม่ว่า พวกเขาคงหมายถึงบริบททางการเมืองในเวลานี้
คำว่า อนุรักษ์นิยม (Conservatism) คือแนวคิดทางการเมืองที่ยึดถือแนวทางที่ดีในอดีต เปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่รื้อโครงสร้างทั้งหมด จึงมักสวนทางกับเสรีนิยม (Liberalism) ปรัชญาการเมืองที่วางบนเสรีภาพและความเสมอภาค แย้งความคิดอนุรักษ์นิยมและสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นแนวคิดของชาวยุโรปในศตวรรษที่ 18 ยุคที่เรียกว่า Century of Philosophy
นี่ไม่ใช่ ‘ป้ายแขวนคอ’ ป้ายเดียวที่ผมได้รับตั้งแต่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง ผมยังได้รับเกียรติให้สวมป้ายอื่นๆ เช่น เผด็จการ ซ่าหริ่ม ฯลฯ ทำให้นึกอยู่นานว่าไปเหยียบหัวแม่ตีนใครตั้งแต่เมื่อไร เพราะตลอดชีวิต หลักประจำตัวของผมคือไม่สร้างศัตรู เพื่อนๆ ผมก็รู้ดี นักเขียนซีไรต์อาวุโสคนหนึ่งเคยบอกว่า “คนอย่างวินทร์ไม่มีทางมีเรื่องกับใคร” เพราะผมอยู่เงียบๆ ในมุมของผมเสมอมา ไม่เคยปรากฏตัวในวงวิวาทะของใครสักครั้ง
แต่วงการเมืองมีคำกล่าวว่า “หากท่านไม่เล่นการเมือง การเมืองจะเล่นท่าน”
ผมไม่ได้ถือสาอะไรกับป้ายแขวนคอเหล่านี้ เพราะรู้ว่าคนพูดได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดามากในโลกวันนี้ที่ผู้คนไม่เคยตรวจสอบอะไร ยกตัวอย่างเช่น หากใครค้นหาชื่อผมในอินเทอร์เน็ต อาจจะได้รับข้อมูลว่าผมมีชื่อเดิมว่า สมวินทร์
ตั้งแต่เกิดจากท้องแม่ ก็ไม่เคยมีชื่อนี้ สมวินทร์โผล่มาได้อย่างไร?
ผมไม่ใช่นักเขียนที่ตามหาตัวยาก แต่ไม่เคยมีใครติดต่อผมเพื่อสอบถาม ต่างก็ copy-paste ต่อไป จนมันกลายเป็นข้อมูลที่ ‘ถูกต้อง’
อนุรักษ์นิยมอะไรนี่ก็เหมือนกัน นึกอยู่นานว่ามันมาจากไหน และอดไม่ได้ที่จะโยงเข้ากับบางบทวิจารณ์นวนิยาย น้ำเงินแท้ ที่ว่าไม่เป็นกลาง “เพราะคนเขียนเป็น royalist”
royalist ย่อมมีนัยของอนุรักษ์นิยม
เคยถามตัวเองว่าทำไมเขาสรุปอย่างนั้น? ใช่ไหมว่าเพราะผมไม่ร่วมลงนามขอให้ยกเลิกมาตรา 112 ?
ไหนๆ ก็พูดเรื่องนี้ ก็ขอขยายความสักนิด ผมไม่ได้ลงนาม ด้วยเหตุผลสองข้อ
ข้อแรก ผมมองไม่เห็นประโยชน์ของการยกเลิก ผมมองง่ายๆ ว่า ถ้ารั้วไม่ผุพัง ก็ไม่ต้องซ่อม
ข้อที่สองเป็นเหตุผล ‘emotional’ ส่วนตัว สมาชิกในครอบครัวผมคนหนึ่งได้รับทุนอานันทมหิดล ส่วนหนึ่งของทุนนั้นถูกเจียดมาส่งเสียผมเรียนหนังสือด้วย
ดังนั้นถ้าหากมีคนโยงเรื่องนี้เข้ากับการเป็นพวกอนุรักษ์นิยม ก็ so be it!
.………………..
ความขัดแย้งทางการเมืองในรอบสิบปีนี้รุนแรงมาก ในช่วงของการเผชิญหน้าระหว่างสีเหลืองกับสีแดงถึงขีดสูงสุด มีคนเขียนมาต่อว่าผมว่า ทำไมผมไม่ประกาศตัวชัดๆ ว่า อยู่ฝ่ายไหน
ผมบอกว่าผมเป็นกลาง ผมว่ากันที่เนื้อผ้า ถูกก็ว่าถูก ผิดก็ว่าผิด พวกเขาก็ไม่เชื่อเพราะ “การเมืองเป็นกลางไม่ได้”
หลังรัฐประหาร ก็มีคนคล้องป้ายผมว่าพวกรักเผด็จการ “เพราะไม่เห็นคุณวินทร์เขียนประนามพวกเผด็จการที่ก่อรัฐประหาร”
อีกนั่นแหละ ผมก็มีวิธีคิดและมองโลกตามสติปัญญาของผม เพื่อนๆ ที่รู้จักผมดีย่อมรู้ว่าผมไม่เคยสนับสนุนรัฐประหารครั้งใดๆ แต่ผมก็เข้าใจความคิดของทั้งสองฝ่าย
การเขียนประนามน่ะง่าย แต่คงเลี่ยงไม่พ้นที่จะเท้าความว่า ใครทำให้เกิดเงื่อนไขรัฐประหาร แล้วก็ทะเลาะต่ออีกในเรื่องกลัดกระดุมผิดเม็ด ใครกลัดผิดเม็ดแรก ต่อความยาวสาวความยืดไปเพื่ออะไร?
ครั้นเขียน สามก๊กบนเส้นขนาน ก็ถูกหาว่าเป็นพวกต้านแดง ทั้งที่มันเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ล้วนๆ ไม่ใช่หนังสือแสดงความเห็นหรือประกาศจุดยืน
ทำให้ปลงตกว่าประเทศนี้ทำเป็นแค่แบ่งสีเสื้อและติดป้ายให้คนอื่น
นักเขียนอาชีพที่ทำงานมานานหลายสิบปีอาจกลายเป็นผู้นำความคิด มีผู้อ่านจำนวนหนึ่งพร้อมที่จะเชื่อ ผมเห็นว่ามันมีอันตราย นี่คือเหตุผลที่ผมไม่ชี้นำผู้อ่านอย่างโจ่งแจ้ง บอกให้ผู้อ่านวิเคราะห์ คิดเองเสมอ อย่าเชื่อแม้แต่สิ่งที่ผมเขียนโดยไม่ไตร่ตรอง
แน่ละเป็นเรื่องธรรมดาที่นักอ่านจำนวนหนึ่งรู้สึกผิดหวัง หากนักเขียน “ไม่อยู่ฝ่ายเรา” แต่พวกเขาอาจลืมไปว่านักเขียนก็เป็นพลเมืองคนหนึ่ง มีสิทธิและความเห็นเช่นที่คนอื่นมี และผู้อ่านก็พึงเคารพสิทธินั้น
วิธีคิดวิธีมองโลกของผมอาจต่างจากคนจำนวนมาก แต่มันก็คือผม ตลอดชีวิตการทำงานสร้างสรรค์ของผม วิธีมองของผมคือไร้กรอบเสมอ ผมเลิกมองโลกแบบขาวกับดำมานานปีแล้ว
.………………..
หลังจากเขียนเรื่องสั้นแนวทดลองที่ฉีกกฎ ‘อนุรักษ์นิยม’ ทั้งหลายมาหลายปี ผมก็ตกในกับดักของความพยายามเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ผมพลันพบสัจธรรมข้อหนึ่งว่าไม่ทุกอย่างที่จำเป็นต้องรื้อถอน
วิธีเขียนแบบขนบก็ดีตามแนวทางของมัน วิธีทดลองก็ดีตามแนวทางของมันเช่นกัน นักเขียนที่ฉลาดย่อมพลิกแพลงไปตามสถานการณ์ แนวไหนดีสำหรับไอเดียหนึ่ง ก็ใช้แนวนั้น ไม่ต้องสนใจว่าจะต้องฉีกกฎหรือไม่ฉีกกฎ
ระบอบการปกครองก็เหมือนกัน ถ้ามองให้ทะลุก็จะเห็นว่า อิสรภาพที่แท้จริงคือการไม่ติดกับของกรอบแห่งรูปแบบ ไม่ยึดติดกับการรื้อหรือการไม่รื้อ พลิกแพลงไปตามสถานการณ์และความเหมาะสม
เพราะนี่ไม่ใช่โลกขาวกับดำ
ดังนี้จะบอกว่าผมเป็นอนุรักษ์นิยมก็ถูก บอกว่าเป็นเสรีนิยมก็ถูก บอกว่าเป็นสังคมนิยมก็ถูก แม้กระทั่งบอกว่าเป็นเผด็จการก็ถูก ขึ้นกับว่าจะมองแค่ป้ายที่คล้องคอหรือมองทะลุเข้าไปถึงแก่นของสาระ และเปิดใจกว้างต่อความคิดต่างหรือไม่
มนุษย์แต่ละคนย่อมมีความคิด มุมมอง โลกทัศน์ต่างกัน ตามข้อมูล ความรู้ พื้นฐาน สิ่งแวดล้อม และประสบการณ์ที่ต่างกัน และเราก็ควรเคารพความแตกต่างนั้น และใช้ประโยชน์จากความแตกต่างนั้น
อย่าลืมว่าทุกครั้งที่เราชี้นิ้วคนอื่น มีอีกสามนิ้วที่ชี้กลับมายังตัวเราเสมอ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |