แก้ผ้า'ธนาธร'สร้างภาพหาเสียง


เพิ่มเพื่อน    


    “Blind Trust” ธนาธรฆ่าตัวเองซะแล้ว   นักวิชาการชำแหละแค่พีอาร์ไม่มีผลทางกฎหมาย โลกออนไลน์เปิดเอ็มโอยูไม่ตรงกับที่เจ้าตัวแถลงเพราะเป็นแค่หลักการตามกฎหมายจัดการหุ้นรัฐมนตรี “ธีระชัย-กรณ์” รุมสับ ชี้ไม่เชื่อป้องผลประโยชน์ทับซ้อนได้เพราะเป็นหุ้นกงสี ซ้ำร้ายมองไม่เห็นยิ่งน่ากลัว แนะแน่จริงต้องขายทิ้ง “ศรีสุวรรณ” ฟ้อง กกต.แล้วโม้เกินจริงหวังสร้างภาพลวงคะแนน
    เมื่อวันอังคาร ยังคงมีกระแสกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ได้แถลงถึงการจัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด ดูแลทรัพย์สินในรูปแบบ Blind Trust มูลค่า 5,000 ล้านบาท และนายธนาธรได้แถลงเรื่องดังกล่าวว่า หนึ่งในข้อสัญญาที่จะเขียนไว้คือไม่ซื้อหุ้นไทยทุกตัวเพื่อจำกัดข้อครหาว่านโยบายที่ออกไปจะไม่เอื้อผลประโยชน์ให้ และกำหนดว่า 3 ปีหลังจากออกจากตำแหน่งจะได้กรรมสิทธิ์กลับมาเป็นของตัวเอง
    ทั้งนี้ ในโลกออนไลน์ได้มีการนำเอ็มโอยูดังกล่าวของนายธนาธรมาเผยแพร่กันอย่างมาก และพบว่าไม่ตรงกับที่นายธนาธรกล่าวอ้างแต่ประการใด เพราะในเอ็มโอยูดังกล่าวในเรื่องการจัดการทรัพย์สินก็ไม่ได้มีการระบุมูลค่าไว้ แต่ที่สำคัญคือ ในข้อ 2.4 เรื่องการจัดการทรัพย์สินนั้นได้แบ่งเป็น 2 กรณี คือกรณีเป็น ส.ส.ก็ระบุเพียงว่าห้ามมิให้จัดการทรัพย์สินของลูกค้าโดยการลงทุนเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนกิจการอื่นอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และกรณีดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีก็กำหนดว่า ห้ามมิให้จัดการทรัพย์สินที่กำหนดไว้สำหรับกรณีเป็น ส.ส.ทุกประการ และห้ามมิให้คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไปตามตามจำนวนที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด 
ทั้งนี้ เนื้อหาเอ็มโอยูไม่ได้มีความแตกต่างหรือพิเศษไปจากพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 แต่ประการใด และที่สำคัญก็ไม่มีการกำหนดเวลา 3 ปีตามที่นายธนาธรได้แถลงไว้ด้วย
    นายเกริกฤทธิ์ เชาว์ปัญญานนท์ อาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โพสต์เฟซบุ๊กอธิบายและวิเคราะห์เอ็มโอยูว่า เป็นบันทึกที่บอกว่าจะเข้าทำสัญญา แปลว่ายังไม่มีการทำตอนนี้ ยังไม่มีผลอะไร ไม่มีผลเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ซึ่งถ้านายธนาธรไม่ได้รับเลือกตั้งเอ็มโอยูนี้ก็ไม่มีผลอะไร และถ้านายธนาธรได้เป็น ส.ส. แล้วเปลี่ยนใจไม่ทำสัญญาฉบับเต็มตามเอ็มโอยูนี้ก็ไม่มีผลบังคับอะไร และในสัญญาฉบับจริง อาจไม่นำมาแสดงต่อสาธารณะ ด้วยเงื่อนไขความลับของผู้ให้บริการก็ได้
    “อ่านดูแล้วข้อความสวยงามดี แต่ยังไม่เห็นข้อความที่แสดงความรับผิดชอบ ถ้าไม่ทำตามเอ็มโอยูก็แค่เอกสารประชาสัมพันธ์ความเป็นเทพบุตรของตัวเอง โดยไม่มีผลบังคับตามกฎหมายนั่นแหละ” นายเกริกฤทธิ์ระบุ
หุ้นกงสีป้องทับซ้อนไม่ได้
    ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) โพสต์เฟซบุ๊กในเรื่องนี้ว่า ไม่สามารถแก้ปัญหาประโยชน์ทับซ้อนได้จริงกรณีเป็นธุรกิจครอบครัว เช่น ประธานาธิบดีทรัมป์โอนหุ้นในบริษัททรัมป์ที่เดิมอยู่ในชื่อของตนเข้าไปในกอง Blind Trust นั้น ถึงกติกากำหนดว่า ผู้บริหารกอง Blind Trust จะเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องการลงทุนทรัพย์สินส่วนนี้แทนทรัมป์ก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติ ในฐานะผู้ถือหุ้น วันเดียวที่จะมีอำนาจคือวันประชุมผู้ถือหุ้น คือจะออกเสียงอะไรก็ไม่ต้องไปถามทรัมป์ ส่วนวันอื่นไม่มีอำนาจอะไรเลย เขาจะมีอำนาจมากขึ้น ถ้าหากผู้ถือหุ้นอื่นในครอบครัวเลือกให้ไปเป็นกรรมการบริษัทแทนทรัมป์ แต่ก็ไม่มีกติกาใดที่บังคับเรื่องนี้ นอกจากนี้ ต่อให้เข้าไปเป็นกรรมการก็มีเพียงเสียงเดียวในคณะกรรมการเท่านั้น ส่วนในทางทฤษฎีที่เขามีสิทธิที่จะขายหุ้นในบริษัททรัมป์ออกไป และเอาเงินที่ได้ไปลงทุนอื่นแทนนั้น ในทางปฏิบัติก็ไม่มีวันเกิดขึ้น
    “กรณีทรัพย์สินของนักการเมืองเป็นหุ้นในกิจการครอบครัว นอกจากไม่สามารถป้องกันประโยชน์ทับซ้อนได้จริงแล้ว ยังจะมีปัญหาอีกด้วย เนื่องจากมีภาพภายนอกเสมือนว่ามีเกราะป้องกัน นักการเมืองจึงอาจแอบส่งผ่านข้อมูล เพื่อให้กิจการครอบครัวรู้ข้อมูลภายในก่อน และปรับตัวได้ก่อนคู่แข่ง รวมทั้งนักการเมืองอาจออกนโยบายที่เป็นประโยชน์แก่กิจการครอบครัว โดยทำทีว่าตนเองไม่รู้ว่านโยบายจะมีผลออกมาเช่นนั้น ดังนั้น ในกรณีกิจการครอบครัว ป.ป.ช.จึงต้องคิดอ่านกำหนดข้อบังคับให้บริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลการทำธุรกิจที่ละเอียดมากขึ้น โดยเฉพาะการทำธุรกรรมกับภาครัฐ และที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของรัฐ เพื่อให้สื่อมวลชนและภาคประชาชนติดตามป้องปรามประโยชน์ทับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง”นายธีระชัยระบุ
    ก่อนหน้านี้ นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมว.การคลัง ได้โพสต์เฟซบุ๊กเช่นกันในหัวข้อ “ยิ่งมองไม่เห็น ยิ่งตรวจสอบไม่ได้” ระบุถึงการแถลงข่าวเรื่อง blind trust ของนายธนาธรว่าเป็นครั้งแรกที่มีการทำเช่นนี้ เป็นการอ้างไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เคยมีนักการเมืองอีกหลายท่าน รวมทั้งตนเองเคยทำมาก่อนแล้ว ส่วนเรื่อง Blind Trust นั้น ยังไม่มีจริงในไทย เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะฉะนั้นที่นายธนาธรลงนามไปนั้นไม่ใช่ blind trust และไม่มีใครเคยทำได้มาก่อน
    “คุณธนาธรได้โอนทรัพย์สินให้สถาบันการเงินดูแล อันนี้หลายคนน่าจะเคยทำเหมือนกัน ผมก็เคยและวันนี้ก็ยังมีอยู่ โดยที่ผมก็ได้ลงนามสัญญาให้เขาบริหารโดยอิสระเช่นเดียวกัน และผมเองเคยมี Trust อยู่ที่ต่างประเทศ และรายงานรายละเอียดทั้งหมดกับ ป.ป.ช.ตามกฎหมาย แต่หลายปีมาแล้วได้ตัดสินใจทำสวนทางกับที่คุณธนาธรพยายามทำคือ ผมยกเลิก Trust ที่มีอยู่ เพราะคิดว่าความโปร่งใสสำคัญกว่า”นายกรณ์ระบุ
ฟ้อง กกต.โม้สร้างภาพ
    นายกรณ์โพสต์อีกว่า ประเด็นที่น่ากังวลที่สุดในสิ่งที่นายธนาธรได้ประกาศคือ ไม่ใช่ว่าเป็นคนแรกหรือไม่ แต่ที่บอกว่าทรัพย์สินที่โอนไปนี้จะมองไม่เห็น เพราะเมื่อทุกคนบอดสนิทกับข้อเท็จจริงว่ามีทรัพย์สินอะไรบ้าง การตรวจสอบเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจะเกิดขึ้นไม่ได้ จริงๆ แล้ววิธีที่ชัดเจนที่สุดที่จะปลดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนคือการขายขาด แต่อย่าขายให้นอมินีกันอีก แต่หากไม่ขาย วิธีที่ดีที่สุดคือเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะว่าเรามีทรัพย์สินอะไรบ้าง เพื่อให้มีการตรวจสอบได้ และที่ไม่ควรคือการโอนเข้าไปในที่ที่มองไม่เห็น
    ส่วนนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นหนังสือต่อ กกต. เพื่อขอให้ไต่สวนและวินิจฉัยว่ากรณีนายธนาธรแถลงข่าวโอนทรัพย์สินไปให้กองทุน หรือ trust เป็นผู้ดูแล โดยแอบอ้างว่า เป็นนักการเมืองคนแรกที่ได้ดำเนินการในเรื่องนี้ ด้วยความสมัครใจ ไม่มีใครมาบังคับ ว่าข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นอย่างที่นายธนาธรได้นำเสนอ เพราะกฎหมายบังคับว่าต้องทำ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ การที่กฎหมายกำหนดว่าต้องโอนหุ้นให้กองทุนดูแลมีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 และมีนักการเมือง 14-15 คนแล้วที่โอนหุ้นให้กองทุนดูแล ไม่ใช่นายธนาธรเป็นคนแรก และที่นายธนาธรทำ เพราะกฎหมายบังคับ ไม่ได้สมัครใจ ไม่ได้สร้างบรรทัดฐานคนรุ่นใหม่ เพราะตามรัฐธรรมนูญปี 2560 หมวด 9 มาตรา 187 ที่กำหนดว่ารัฐมนตรีต้องไม่มีหุ้นส่วน หรือถือหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนของบริษัท และต้องไม่เป็นลูกจ้างของผู้ใด และหากประสงจะได้รับประโยชน์ ก็ให้แจ้งต่อ ป.ป.ช.ทราบ และโอนหุ้นให้แก่นิติบุคคล ซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น  
    “การที่คุณธนาธรออกมาแถลงอวดอ้างความดีในเรื่องดังกล่าว เข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73 อนุ 5 ในเรื่องการจูงใจ หลอกลวง ให้เข้าใจ ในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง เป็นการสร้างประเด็น เพื่อให้เกิดความนิยมในตัวคุณธนาธร มีเจตนาสร้างภาพลักษณ์ของตนเองให้ดูดีกว่านักการเมืองคนอื่นๆ เพื่อหวังผลทางการเมือง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ล่วงรู้ความจริงอาจหลงผิดไปเชื่อถ้อยแถลงของนายธนาธร โดยฐานความผิดตามมาตรา 73 ต้องจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับ 20,000- 200,000 บาท และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี” นายศรีสุวรรณกล่าว
    ขณะที่นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า การโอนทรัพย์สินเข้าไปไว้ใน Blind Trust เป็นการบริหารจัดการทรัพย์สินปกติเหมือนกองทุนต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้น ซึ่งต้องขออนุญาตจาก ก.ล.ต. โดยเฉพาะเรื่องรายได้ ผลประโยชน์ผลตอบแทน จากการโอนทรัพย์สินไปไว้ในกองทุน ผู้ที่บริหารจัดการต้องทำหน้าที่นำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษี เงินปันผลทุกประเภท 
เรื่องปกติตามกฎหมาย
    นายปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและส่งเสริมความรู้ผู้ลงทุน สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า การที่บุคคลทั่วไปประสงค์จะจัดตั้งกองทุนส่วนบุคคลเพื่อการบริหารจัดการทรัพย์สินก็สามารถทำได้ โดยแต่งตั้งบริษัทที่มีใบอนุญาตจัดการ แต่หากเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งรัฐมนตรี การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 
    วันเดียวกัน นายธนาธรได้ลงพื้นที่หาเสียงที่ จ.สุราษฎร์ธานีและกระบี่ โดยยืนยันว่า มีความมั่นใจว่าพรรคจะมี ส.ส.เขตในพื้นที่ภาคใต้แน่นอน และเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงในภาคใต้ เพราะมีแต่พรรคเท่านั้นที่มีเจตจำนงทางการเมืองที่ชัดเจนว่าจะหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช. พร้อมนำอำนาจกลับคืนสู่มือประชาชน ขจัดรัฐราชการรวมศูนย์ ซึ่งจะผลักดันประเทศไทยออกไปให้พ้นจากทั้ง คสช.และการเมืองแบบเก่าได้
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค อนค.ลงพื้นที่ภาคอีสาน โดยได้เดินสายปราศรัยถึง 5 เวทีรวด ซึ่งแทบทุกเวทีมีประชาชนจำนวนมากมารอต้อนรับ ฟังการปราศรัย และขอถ่ายรูปด้วย โดยบรรยากาศคึกคักเป็นอย่างยิ่ง โดยนายปิยบุตรระบุว่า ไม่ว่าจะเป็นเวทีไหนก็ได้ดอกดาวเรืองเต็มคอ ผ้าขาวม้าเต็มเอว นั่นแสดงว่าพ่อแม่พี่น้องชาวอีสานต้องการความเปลี่ยนแปลง ต้องการอนาคตใหม่ ซึ่งเราได้เตรียมนโยบายสำหรับคนอีสานไว้โดยเฉพาะ นั่นคือนโยบายที่เรียกว่าอีสานคืนถิ่น 
    “คนอีสานมีความสามารถ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา เหมือนมีก้อนหินใหญ่ๆ กดทับไว้ เหมือนมีแอกติดคอคนอีสานไว้ ทำให้ยืนตรงไม่ได้ พรรคเราจะทำให้ดูว่ามีวิธีการฟื้นชีวิตคนอีสานอย่างไร เราจะพาคนอีสานคืนถิ่นได้อย่างไร จึงขอโอกาสพ่อแม่พี่น้องคนอีสาน ขออาสาจะเข้าไปยกก้อนหินและปลดแอกเหล่านี้ เพราะเชื่อว่าถ้าปลดปล่อยศักยภาพของคนอีสาน เท่ากับปลดปล่อยศักยภาพประเทศไทย" นายปิยบุตรกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"